ตัวเลข 11.11 กลายเป็นกิมมิคของงานช้อปปิ้งออนไลน์ระดับโลก และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์หลายคนเกิดอาการล้มละลายเฉียบพลัน หลังตกเป็นทาสการตลาดของแคมเปญนี้
เดิมที 11.11 ไม่ใช่เลขที่เกี่ยวข้องกับด้านการตลาดเลยแม้แต่น้อย แท้จริงแล้วเลข 11 สำหรับคนเอเชียนัยหนึ่งมีความหมายที่แปลว่า ‘คนโสด’ ซึ่งมาจากเทศกาลคนโสดของประเทศจีนที่เรียกว่า ‘กวงกุ่ยเจี๋ย’ แต่หากให้เล่าถึงที่มาและแรงบันดาลใจของวันช้อปปิ้ง 11.11 คงต้องย้อนกลับไปช่วงปี 1993
ในตอนนั้นมีนักศึกษามหาวิทยาลัยนานกิง 4 คน เกิดอารมณ์อยากประชดชีวิตโสดและความรักของตัวเอง พวกเขาจึงนึกสนุกโดยการนำเลข 1 มาเป็นตัวแทนของคนคนเดียว ก่อนจะนำเลข 1 มาเรียงกัน 4 ตัว จนกลายเป็นที่มาของวันคนโสดนั่นเอง
ต่อมากิจกรรมนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง จนมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มบริษัท อีคอมเมิร์ชรายใหญ่ของโลกอย่าง อาลีบาบา ที่นำโดยนักธุรกิจชื่อดังอย่างแจ็ก หม่า (Jack Ma) นั่นเอง
อาลีบาบาเริ่มต้นโปรโมตแคมเปญนี้ครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งหม่ามองว่าเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจะทำแคมเปญโละสต็อกสินค้า บวกกับไอเดียลดแลกแจกแถมของแคมเปญ Black Friday และ Cyber Monday ที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศตะวันตก ถึงขนาดสร้างปรากฏการณ์คนแห่กันแย่งซื้อของอย่างกับซอมบี้มาแล้ว
อีกทั้งเรื่องราว ‘วันคนโสดแห่งชาติ’ ก็แอบมีความน่าสนใจในตัวเอง ทั้งหมดจึงได้กลายเป็นที่มาและแรงบันดาลใจให้กับอาลีบาบาในการเนรมิตวันธรรมดาวันหนึ่งให้กลายมาเป็นวันที่มีเงินสะพัดทั่วโลกเฉลี่ย 1,000,000-2,000,000 ล้านบาท
แล้วทำไมต้องวันคนโสดล่ะ? ในตอนนั้นหม่า และทีมงานคนสำคัญอย่าง แดเนียล จาง (Daniel Zhang) มีความเชื่อว่า ‘คนโสด’ มักจะเป็นพวกที่ช้อปปิ้งเก่งกว่าคนที่มีคู่ และคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นกิมมิคที่ดีในการสร้างความจดจำให้กับผู้คน
สุดท้ายอาลีบาบาก็ได้นำวันดังกล่าวมาพัฒนาจนกลายเป็นมหกรรมช้อปปิ้งขนาดใหญ่ในชื่อ ‘วันช้อปปิ้งแห่งชาติจีน’ โดยจะยึดวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปีเป็นตัวชูโรง
จากความสำเร็จของ 11.11 ก็ได้ถูกต่อยอด จนทุกบริษัทอีคอมเมิร์ช ได้ผุดไอเดียวันเลขสวย อย่าง 7.7 / 8.8 / 9.9 หรือ 12.12 เพื่อออกมากระตุ้นความไคล้อยากช้อปปิ้งของคน จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้ผู้คนไม่วายต้องเสียตังค์ทุกราย
เครดิตภาพและอ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส