ภาวะโลกร้อนนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อสุขภาพทางกายและการเจ็บป่วยของผู้คนทั่วโลกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ดูเหมือนว่าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอีกด้วย การศึกษาวิจัยล่าสุดที่ทำการศึกษาข้อมูลจาก 60 ประเทศตลอดกว่า 37 ปี พบรายงานความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความชื้นในอากาศ ที่เป็นผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนนั้นทำให้สุขภาพจิตของประชากรมีแนวโน้มแย่ลง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงและความถี่ในการฆ่าตัวตายของกลุ่มคนหนุ่มสาว โดยในการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า ประเทศไทยติดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับความชื้นในอากาศกับการฆ่าตัวตายด้วย

ภาวะโลกร้อน

ผลงานการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports บนเว็บไซต์ Nature ได้เผยแพร่งานการวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของมนุษย์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations University) มหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (University of Sussex), มหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) โดยพบหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่เกิดจากการเก็บและศึกษาข้อมูลจากพื้นที่ 60 ประเทศในหลาย ๆ ภูมิภาคทั่วโลกในระหว่างปี 1979 – 2016 หรือกว่า 37 ปี

พบว่า การที่สภาวะอากาศของโลกมีความเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ที่ส่งผลทำให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้มีความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้นนั้น มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้คนที่อยู่ในสังคมตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย มากกว่าประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนกว่า โดยในวิจัยได้ระบุว่า คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชนนั้นเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุด เนื่องจากการที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม

ภาวะโลกร้อน

‘ดร.ซอนญา อาญิบ คาร์ลสัน’ (Sonja Ayeb-Karlsson) แห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ (University of Sussex) และสถาบันสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของมนุษย๋ แห่งมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ ผู้เขียนวิจัยร่วม ได้ให้คำอธิบายว่า ความชื้นจะเข้าไปส่งผลกระทบต่อร่างกาย รวมถึงการใช้ยาต้านโรคซึมเศร้า จะยิ่งทำให้ระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายถูกรบกวน ทำให้ร่างกายรู้สึกว่ากำลังไม่สบาย และความไม่สบายนี้ก็จะส่งผลกระทบซ้ำเติมแก่คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตอยู่แล้ว หรือในกรณีของผู้ที่มีภาวะนอนไม่หลับ ความชื้น (และอากาศร้อน) จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกยิ่งนอนได้ยากกว่าเดิม และถ้ายิ่งนอนไม่หลับ สุขภาพกายและสุขภาพจิตก็จะยิ่งแย่ซ้ำเติม และก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้คนรู้สึกมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า มี 40 ประเทศที่พบอัตราการฆ่าตัวตายที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิและความชื้นในอากาศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเขตร้อน เช่น ประเทศกายอานา (Guyana) และประเทศไทย รวมทั้งประเทศในทวีปยุโรปเช่น สวีเดน เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีภูมิอากาศที่เย็นกว่า โดยการศึกษานี้ไม่ได้เป็นการศึกษาเป็นรายประเทศ แต่เป็นการศึกษาในระดับพื้นที่ ซึ่งทำให้พบว่า ความชื้นในอากาศเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตายอย่างไร ดร.อาญิบ คาร์ลสันได้อธิบายในกรณีนี้ว่า “มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เมื่ออุณหภูมิที่เย็นกว่าเปลี่ยนไปแบบสุดขั้ว ซึ่งส่งผลกระทบที่อันตรายต่อสุขภาพจิต”

ภาวะโลกร้อน

“ผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับอัตราการฆ่าตัวตายกับความชื้นในอากาศที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผู้หญิงและเด็กนั้นมีความทุกข์จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว อันเกิดจากโครงสร้างทางสังคมและความสัมพันธ์ทางอำนาจ เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์เหล่านี้ และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และความหลากหลายในสังคม”

การศึกษานี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลอันตรายต่อสุขภาพจิตได้ ถึงขนาดที่พจนานุกรม ‘Oxford English Dictionary’ ได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่ ‘Eco-Anxiety’ ที่แปลว่า “ความวิตกกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อันเกิดจากความกังวลของผู้คน เกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาวะโลกร้อน

‘มาลา ราโอ’ (Mala Rao) และ ‘ริชาร์ต พาวเวลล์’ (Richard Powell) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจาก ‘Imperial College London’ ได้กล่าวในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ‘British Medical Journal’ กล่าวว่า “ผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง การตอบสนองทางจิตวิทยา เช่น การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ความกลัว ความสิ้นไร้หนทาง และการยอมแพ้ ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการร่วมมือกันเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน และการคิดหากลยุทธ์ในการยืดหยุ่นและปรับตัว การละเลยความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทวีความรุนแรงต่อสุขภาพ และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น และส่งผลกระทบอันรุนแรงในทางจิตวิทยาไม่มากก็น้อย”


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส