ในช่วงไม่กี่วันมานี้ กระแสวลี “ความจริงแล้วฉันคือประธานบริษัท” มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวลีดังกล่าวมาจาก “ละครคุณธรรม“ หรือ “หนังสั้นสะท้อนสังคม” ละครสั้นที่สร้างเหตุการณ์จำลองพร้อมสอดแทรกคุณธรรมให้ผู้ชมได้คิดตามไปพลาง ๆ ในแต่ละคลิปจะสร้างเนื้อหาในลักษณะต่าง ๆ เช่น ไอโซที่ดูมีฐานะกล่าวดูถูกพนักงานตัวเล็ก ๆ หรือคนในองค์กรกระทำการบางอย่างที่ไม่เหมาะสม แล้วผู้หวังดีเข้ามาห้ามปรามและเตือนสติ โดยที่ยังไม่ทราบว่าผู้หวังดีผู้นั้นเป็นประธานบริษัทที่ปลอมตัวมา เพื่อดูการกระทำของลูกน้องตัวเอง หรือในบางครั้งมักเฉลยว่าตัวเองนั้นเป็นหุ้นส่วนคนใหม่ที่มาซื้อกิจการ โดยละครคุณธรรมนี้ เป็นหนึ่งในคลิปที่ได้รับความนิยม มีการรับชมในแต่ละคลิปตั้งแต่หลักแสนวิว ไปจนถึงหลักล้านวิว บนแอปพลิเคชัน TikTok
แต่ถ้าพูดถึงวลี “ความจริงแล้วฉันคือประธานบริษัท” หรือการที่เจ้านายลงมาปลอมตัวเป็นพนักงานคนหนึ่ง สิ่งที่ว่ามานี้มีการนำมาใช้ในรายการเรียลลิตี้เกาะติดชีวิตซีอีโอในคราบพนักงาน “Undercover Boss” ซึ่งออกอากาศในต่างประเทศ
Undercover Boss เป็นรายการเรียลลิตี้ที่สร้างขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2009 รูปแบบของรายการดังกล่าว เป็นการเชื้อเชิญซีอีโอ หรือประธานบริษัทขนาดใหญ่ ๆ และมีชื่อเสียง จากหลากหลายกิจการ อาทิ เจ้าของโรงแรม, เจ้าของร้านสะดวกซื้อ,เจ้าของร้านอาหาร, เจ้าของโชว์รูมรถ, เจ้าของร้านเสริมสวย ไปจนถึงเจ้าของกิจการรับส่งพัสดุ มาปลอมตัวและแปลงโฉมให้กลายเป็นพนักงานธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ไปใช้ชีวิตในแบบพนักงานทั่วไป ทำงานในหลากหลายแผนก หรือในบางครั้งก็มีการปลอมตัวเป็นลูกค้าผู้มาใช้บริการ พร้อมทั้งเฝ้าดูพฤติกรรมต่าง ๆ ของเหล่าพนักงานด้วยตัวเอง เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงการทำงานของบุคลากรภายในองค์กร ทดลองทำงานหลากหลายรูปแบบ และต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยตัวเอง แถมยังต้องระวังตัวเองไม่ให้พนักงานของตัวเองจับไต๋ได้ว่าเป็นเจ้านายที่ปลอมตัวมา ก่อนที่จะเฉลยในตอนท้ายว่าตนเองนั้นเป็นเจ้าของกิจการ หรือเป็นประธานบริษัท แล้วให้คำแนะนำและตอบแทนความทุ่มเทให้กับพนักงานดังกล่าวอีกด้วย
ในบางครั้ง คุณอาจได้เห็นมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของซีอีโอบางท่าน อย่างมุมมองที่มีต่องานที่อยู่ตรงหน้า มุมมองต่อพนักงานที่อยู่ร่วมงาน หรือแม้แต่ความอ่อนโยนของซีอีโอที่มีต่อพนักงานที่ทำงานได้ดีแต่ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก
หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน คือเฉลยตัวเอง แล้วสั่งไล่ออกแก่พนักงานที่ยืนอยู่ตรงหน้า
ด้วยเนื้อหาที่น่าติดตามและกระแสตอบรับที่ไปในทางที่ดี ทำให้มีการสร้างต่อหลายต่อหลายซีซัน และมีการขายลิขสิทธิ์การผลิตให้กับผู้ผลิตหลากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, อิตาลี, แคนาดา, บราซิล, ฝรั่งเศส รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา
สำหรับ Undercover Boss ในเวอร์ชันอเมริกานั้น เริ่มออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2010 ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส (CBS) ออกอากาศต่อจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลครั้งที่ 44 รอบชิงชนะเลิศ (Super Bowl XLIV) นับจากวันนั้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ Undercover Boss ในเวอร์ชันอเมริกา มีการผลิตมาแล้ว 10 ซีซัน จำนวนตอนรวมกันมากถึง 120 ตอน และตอนนี้อยู่ในการผลิตซีซันที่ 11 เตรียมออกอากาศตอนแรกในวันที่ 7 มกราคม 2022
นอกจากเวอร์ชันปกติที่จับซีอีโอมาแต่งเป็นพนักงาน ยังมีเวอร์ชันพิเศษ “Celebrity Undercover Boss” เป็นซีซันเล็ก ๆ ที่เชื้อเชิญคนดังจากหลากหลายอาชีพ แปลงโฉมเป็นคนธรรมดา ๆ มาทำงานในที่ทำงานของตัวเอง อาทิ แก๊บบี้ ดักลาส (Gabby Douglas) นักยิมนาสติกทีมชาติอเมริกา ดีกรีเหรียญทองโอลิมปิกหลายสมัย, สเตฟานี แมคแมน (Stephanie McMahon) บุตรสาวของวินซ์ แมคแมน (Vince McMahon) เจ้าของสมาคมมวยปล้ำดับเบิลยูดับเบิลยูอี (WWE: World Wrestling Entertainment)
สำหรับคุณผู้อ่านท่านใดที่สนใจและอยากรับชม Undercover Boss สามารถรับชมผ่านทางบริการสตรีมมิง Hulu และรับชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์ CBS ของอเมริกา เมื่อมีซีซันใหม่มาออกอากาศ ส่วนในเมืองไทย สามารถรับชมผ่านทางบริการสตรีมมิง Doonee
จะว่าไป… ถ้าผู้ที่เป็นระดับผู้บริหาร หรือคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง ลองลงจากหอคอยงาช้าง เดินออกจากห้องทำงานที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ แล้วลงมาที่หน้างานเพื่อรับรู้ถึงปัญหาหรือหน้าที่การงานต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ก็คงจะดี แต่ไม่ต้องถึงขั้นลงทุนปลอมตัวแล้วเฉลยว่า “ความจริงแล้วฉันคือ…” หรือไม่ต้องพูดวลีที่ว่า “อย่าบอกใครเขานะว่าฉันเป็นใคร” ขอแค่ลงมารับรู้เรื่องราวต่าง ๆ เห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และไม่ต้องสร้างภาพ ก็เพียงพอแล้ว…
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส