ดาบพิฆาตอสูร หรือ Kimetsu no Yaiba ผลงานของ โคโยฮารุ โกโตเกะ (Koyoharu Gotouge) แม้หนังสือการ์ตูนจะจบสมบรูณ์เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว แต่อนิเมะที่ได้รับการดัดแปลงจาก Ufotable กำลังเข้มข้น เดินทางเข้าสู่ช่วงซีซัน 2 หลังจากจบศึกรถไฟสู่นิรันดร์ ผู้ชมจะได้ตามติด ทันจิโร่, อิโนะซึเสะ และ เซ็นอิตสึ เข้าไปทำภารกิจร่วมกับ อุซุย เท็นเก็น ในย่านแสงสียามค่ำคืน เพื่อทำภารกิจตามหาอสูรที่ซ้อนตัวอยู่ใน ดาบพิฆาตอสูร ย่านเริงรมย์
พื้นหลังของดาบพิฆาตอสูร ย่านเริงรมย์ จะเกี่ยวข้องกับย่านค้าประเวณีที่ใหญ่แห่งนึงของประเทศญี่ปุ่น “ย่านโยชิวาระ”
หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าย่านค้าประเวณีในประเทศญี่ปุ่นอาจถูกเรียกว่าโยชิวาระ แท้จริงแล้วแหล่งความบันเทิงของผู้ชายจะถูกเรียกว่า “ยูคาคุ” ในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นมียูคาคุอยู่ 3 แห่งด้วยกัน ชิมาบาระ ในเกียวโต, ชินมาจิ ในโอซาก้า และ โยชิวาระ ในเอโดะ และตอนหลังเอโดะเปลี่ยนเป็นโตเกียวในปัจจุบัน โยชิวาระเป็นแหล่งค้าประเวณีที่คนในยุครู้จักมากที่สุด
สมัยก่อนประเทศญี่ปุ่นมีการเปิดแหล่งความบันเทิงของผู้ชายอยู่เต็มไปหมด จนในศตวรรษที่ 17 ยุคของโชกุนโทกุงาวะได้ออกกฎหมายจัดระเบียนการค้าประเวณีใหม่ จากเดิมที่แหล่งความบันเทิงของผู้ชายกระจัดกระจายเปิดอยู่ทั่วประเทศ พอกฎหมายออกมาให้รวมกันอยู่ในที่เดียวกัน หากใครไม่ทำตามต้องถูกปิดกิจการ ทำให้ร้านน้อยร้านใหญ่ที่เปิดต้องมาอยู่รวมกันในย่านนิฮงบาชิ จนภายหลังย่านนี้แออัดมากจนเกินไปและเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ ทำให้ต้องย้ายไปอยู่ชานเมืองอาซากุสะ โดยเรียกสถานที่ใหม่นี้ว่า “เขตปกครองพิเศษโยชิวาระ”
ชื่อเขตปกครองพิเศษโยชิวาระ ในสถานที่แห่งนี้มีกฎข้อบังคับยิบย่อยเยอะมาก เช่น ผู้ใช้บริการห้ามอยู่ในสถานที่แห่งนี้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง, จำกัดการเข้ามาผู้เข้ามายังสถานที่แห่งนี้, ทุกคนที่เข้ามาต้องปลดอาวุธทั้งหมด และห้ามทำร้ายนางโลมผู้ให้บริการอย่างเด็ดขาด
แม่เล้าและนางโลมมีรวมกันอยู่มากกว่า 3,000 คน และทั้งหมดถูกสั่งห้ามออกนอกเขตปกครองพิเศษ เพราะมีบางคนหนีออกไปและไม่กลับมาอีกเลย เครื่องแต่งกายของนางโลมถูกสั่งห้ามไม่ให้สวมชุดที่ถักด้วยเครื่องประดับเงินประดับทอง เป็นการแสดงออกถึงการมีฐานะมากกว่าลูกค้าผู้มาใช้บริการ
ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าชุดกิโมโนสีสันฉูดฉาด เครื่องประดับมากมาย และสาวงาม ทั้งหมดหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี พวกเธอคือผู้นำแฟชั่นในยุคนั้น ใครที่ได้ร่วมรักกับเหล่านางโลม เขามักจะจดจำเครื่องแต่งกายและนำไปบอกเล่าให้กับญาติพี่น้องฟัง นอกจากเครื่องแต่งกายเหล่านางโลมยังถูกฝึกมาเป็นอย่างดีจากแม่เล้า ทั้งกิริยา ท่าทาง โดยไม่รังเกียจเหล่าผู้เข้ามาใช้บริการจากพวกเธอ
เด็กสาวเฉลี่ย 6-12 ปี ที่พ่อแม่นำมาขายจะถูกฝึกให้เป็นเด็กรับใช้ของโอยรัน หญิงงามผู้อยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพค้าบริการ เด็กสาวคนไหนที่มีแวว หน้าตาสวยงาม ยิ้มสวย ผิวดี หรือบางคนหน้าตาธรรมดาแต่ร้องเพลงเพราะ หรือมีความสามารถสร้างความบันเทิง พวกเธอจะถูกฝึกฝนให้เก่งตามที่ถนัด รอวันบรรลุนิติภาวะเพื่อออกต้อนรับลูกค้าผู้มาเยือน
เขตปกครองพิเศษโยชิวาระจะเป็นสถานที่ให้ความบันเทิงของผู้ชาย มักจะมีการลักพาตัวเด็กมาขายให้กับแม่เล้าอยู่เสมอ หากทางการตรวจสอบเพราะว่าถูกนำมาขายโดยไม่เต็มใจหรือโดนหลอก ทางการจะส่งตัวเด็กกลับคืนสู่พ่อแม่ และดำเนินคดีกับผู้ที่ลักพาตัวเด็ก บ้านเมืองมีกฎหมายและทุกคนต้องทำตาม
ด้วยขนาดที่ใหญ่ของเขตปกครองพิเศษโยชิวาระ 2 ข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าประเวณี ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสรรสาวงามได้ตามต้องการ ผ่านห้องลูกกรงที่เห็นนางโลมได้ชัดเจน ถ้าเกิดชอบใจคนไหน สามารถเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้ดูแลร้านโอก้าซังได้เลย
ใช่ว่านางโลมจะดีเสมอไป พวกเธอส่วนใหญ่ไม่อยากทำงานนี้ไปตลอดทั้งชีวิต ใครโชคดีมีผู้ไถ่ตัวจะได้ออกไปจากเขตปกครองพิเศษโยชิวาระ และหลายคนถูกนำไปเป็นเมียน้อยแทน นางโลมหลายคนต้องการออกจากสถานที่แห่งนี้ หลายคนรับงานเยอะเพื่อเก็บเงินไถ่ตัวเอง แต่ทว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น หลายคนตายด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือแม้แต่การทำแท้งผิดวิธี หากใครอยากจะไถ่ตัวเอง โอก้าซังจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าที่อยู่ ค่านายหน้า ค่าจิปาถะยิบย่อย โอก้าซังไม่ยอมให้พวกเธอไถ่ตัวไปง่ายๆ การจะออกจากย่านนี้มีเพียงแค่ รอผู้มาไถ่ตัว, ไถ่ตัวเอง, หนี และตาย
พอประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1957 ประเทศญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายใหม่ และมีกฎข้อหนึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเขตปกครองพิเศษโยชิวาระ กฎที่ว่าคือ “ห้ามมีการค้าประเวณี” และกฎหมายฉบับนี้เริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1958 พอกฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ย่านแห่งความบันเทิงของผู้ชายเป็นอันต้องปิดตัวลง จนในที่สุดเขตปกครองพิเศษโยชิวาระก็หายไปตามกาลเวลา ไม่มีบันทึกในแผนที่เมืองโตเกียวยุคปัจจุบัน กลายเป็นเพียงช่วงเวลานึงในหน้าประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านเรื่องเล่า รูปถ่าย หรือเอกสารเท่านั้น
อ้างอิง รูปจาก https://www.oldtokyo.com/
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส