หลายคนอาจจะรู้จัก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ในฐานะนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษและทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์และสมการที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง E=mc2
หากพูดถึง ‘ทายาทสายตรง’ ของเขาอย่าง ฮันส์ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Hans Albert Einstein) ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักในวงกว้าง แต่การต่อสู้ของคนคนหนึ่งเพื่อจะหลุดพ้นจากเงาของพ่อ ผู้เปรียบเป็นดังสัญลักษณ์แห่งความอัจฉริยะ ถือเป็นเรื่องราวที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณได้
อัลเบิร์ตกับภรรยาคนแรก มิเลวา มาริค (Mileva Marić) นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ชาวเซอร์เบีย มีบุตรด้วยกัน 3 คน โดยบุตรคนแรกเป็นผู้หญิงชื่อว่า ไลแซล (Lieserl Einstein) ซึ่งมีอายุได้เพียง 1 ขวบ ก็เสียชีวิตด้วยโรคไข้อีดำอีแดง ส่วนฮันส์เป็นบุตรคนที่ 2 และมีน้องชายคือ เอดูอาร์ (Eduard Einstein)
ย้อนไปในวัย 10 ขวบ ฮันส์ต้องแยกกับพ่อ เนื่องจากอัลเบิร์ตและมิเลวาตัดสินใจหย่าร้างกัน แม้เรื่องนี้จะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจกับฮันส์อย่างมาก แต่ถึงกระนั้นเขาก็ได้รับการปลอบโยนจากผู้เป็นพ่อเสมอ อัลเบิร์ตพยายามติดต่อลูกชายคนนี้ตลอดเวลาผ่านการเขียนจดหมายบอกเล่าถึงเรื่องราวการผจญภัย ปัญหาทางเรขาคณิต รวมถึงการค้นพบทฤษฎีใหม่ ๆ ของเขา
มิเลวารับผิดชอบในเรื่องการศึกษาของฮันส์ เธอตัดสินใจส่งฮันส์ไปเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิส หรือ ETH Zurich ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทั้งเธอและอัลเบิร์ตเคยศึกษา ต่อมาฮันส์เรียนจบในสาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นวิชาที่อัลเบิร์ตไม่ปลื้มอย่างแรง ถึงขั้นเคยพูดว่าการเลือกเส้นทางอาชีพในครั้งนั้นของลูกเป็น “ไอเดียที่น่ารังเกียจ”
ต่อมาความคิดเห็นของทั้งสองเริ่มไม่ลงรอยกันในหลาย ๆ เรื่อง และทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อลูกไอน์สไตน์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หนึ่งในเรื่องที่ทั้งคู่ผิดใจกันมากต้องย้อนกลับไปในปี 1927 ตอนนั้นฮันส์พบรักและตัดสินใจแต่งงานกับฟรีดา เนคต์ (Frieda Knecht) ผู้ซึ่งอัลเบิร์ตมองว่าเป็นผู้หญิงที่ ‘ธรรมดา’ เกินไปแถมยังมีอายุมากกว่าฮันส์ 9 ปี
แน่นอนว่าอัลเบิร์ตแลดูจะไม่พอใจกับความสัมพันธ์ครั้งนี้ของลูกชายอย่างมาก จากจดหมายที่อัลเบิร์ตส่งถึงเอดูอาร์ ลูกชายคนที่ 2 เขาเขียนบรรยายถึงความกังวลของตัวเองที่มีต่อฮันส์ ทั้งเรื่องของการงานอาชีพและความสัมพันธ์กับฟรีดา เขาเขียนถึงขั้นบอกว่าจะไม่สนับสนุนให้ลูกชายมีลูกกับเธอคนนี้เด็ดขาด และทำนายว่าทั้ง 2 จะไปกันไม่รอดอย่างแน่นอน ซึ่งต่อมาความสัมพันธ์ของฮันส์และฟรีดาก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนในที่สุดทั้งคู่ก็ต้องแยกทางกันไปอย่างที่อัลเบิร์ตทำนายไว้จริง ๆ
ไม่นานหลังจากนั้นฮันส์ได้ย้ายไปใช้ชีวิตที่เยอรมนีและทำงานหลายปีในฐานะวิศวกร เขาได้งานแรกคือการสร้างสะพานที่เมืองดอร์ทมุนต์ ก่อนที่จะตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาเอก ในสาขาวิศวกรรมไฮดรอลิก ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองฮันส์ก็หันมาศึกษาเรื่องการเคลื่อนที่ของตะกอน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ และทำให้อัลเบิร์ตหันมายอมรับในตัวเขามากขึ้น
ในปี 1933 อัลเบิร์ตต้องหนีออกจากบ้านหลังแนวคิดกวาดล้างชาวยิวในเยอรมนีเริ่มต้นขึ้น และด้วยความกังวลต่อความเป็นอยู่ของลูกชาย เขาจึงแนะนำให้ฮันส์อพยพไปที่เมืองกรีนวิลล์ รัฐเซาท์แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นฮันส์ได้นำความรู้ในด้านการควบคุมตะกอนที่เขาเชี่ยวชาญมาทำงานให้กรมวิชาการเกษตร ต่อมาเขาได้โอกาสรับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และได้สอนวิชาวิศวกรรมไฮดรอลิค ก่อนจะสามารถสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1973 จากภาวะหัวใจล้มเหลว
ปี 1988 สมาคมวิศวกรโยธาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้เกียรติฮันส์โดยการใช้ชื่อของเขา เป็นชื่อรางวัลมอบแก่ผู้มีผลงานดีเด่นในด้านการควบคุมตะกอนและพัฒนาเส้นทางน้ำ
แม้สองพ่อลูกไอน์สไตน์จะมีช่วงเวลาที่ทะเลาะกันบ้าง แต่เมื่อครั้งที่อัลเบิร์ตกำลังอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ว่ากันว่าฮันส์คือคนที่อยู่เคียงข้างพ่อของเขาเกือบตลอดเวลา ซึ่งก่อนจะจากโลกไปนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งอย่างอัลเบิร์ต ก็เคยออกมายอมรับว่าความสำเร็จของ ‘ฮันส์’ คือหนึ่งในสิ่งที่เขาภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิต
เครดิตภาพและอ้างอิง:
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส