อาการง่วงเหงาหาวนอนเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่บางคนอาจง่วงบ่อยทั้งที่นอนหลับมาอย่างเต็มอิ่ม อย่าเพิ่งคิดว่านี่คืออาการของโรคหรือความเครียด เพราะมีการศึกษาใหม่ค้นพบว่า ยีนในร่างกายทำให้คนบางคนต้องการการนอนหลับมากกว่าคนอื่น ๆ

ด็อกเตอร์ฮันซัน ดัชติ (Dr.Hassan Dashti) กล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่เรื่องการงีบหลับ สิ่งสำคัญคือต้องหาสาเหตุทางชีววิทยาที่ส่งผลต่อการงีบหลับของคนเรา”

ข้อมูลทางพันธุกรรมจากกลุ่มตัวอย่าง 452,633 คนถูกนำมาวิเคราะห์โดยนักวิจัย โดยมีการตั้งคำถามให้เลือกตอบว่าปกติแล้วพวกเขางีบหลับระหว่างวันบ่อยแค่ไหน ระหว่างไม่เคย นาน ๆ ครั้ง และงีบหลับเป็นปกติ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างบางคนก็สวมสมาร์ทวอตช์เพื่อช่วยใช้การติดตามผลการนอนหลับแม่นยำขึ้น

ข้อมูลที่ได้ เผยว่า มียีน 123 กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการงีบหลับของมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเป็นคนชอบง่วงเหงาหาวนอนบ่อย ๆ แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปอีก นักวิทยาศาสตร์พบกลไกของการงีบหลับอยู่ 3 อย่าง คือ

อย่างแรกคืออาการนอนไม่หลับ ส่วนอย่างที่สองคือการตื่นเช้าเกินไป สาเหตุทั้งสองอย่างนี้ทำให้คนงีบหลับในตอนกลางวันเพราะพวกเขานอนไม่เพียงพอในตอนกลางคืน แต่ปัจจัยข้อที่สามกลับเป็น ‘ความต้องการนอนหลับมากกว่าปกติ’ ของแต่ละคน หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าแนวโน้มการนอนหลับ

Born to Nap

ด็อกเตอร์ดัชติกล่าวว่า “สิ่งนี้บอกเราว่าการงีบหลับช่วงกลางวันไม่ใช่แค่เหตุผลทางสิ่งแวดล้อมหรือพฤติกรรมเท่านั้น แต่เกิดจากแรงผลักดันทางชีวภาพด้วยเช่นกัน “

ลักษณะทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการงีบหลับนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง แต่ยีนที่เกี่ยวกับการงีบหลับอีกจำนวนมากก็เชื่อมโยงกับสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความตื่นตัว

ไอยาส ดักลาส (Iyas Daghlas) นักวิจัยร่วมจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) กล่าวว่า “เป็นที่รู้กันดีว่าความผิดปกติในยีนเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดโรคผิดปกติทางการนอนหลับ เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy – ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และหลับไม่เป็นเวลาตลอดวัน) แต่การค้นพบของเรานั้นทำให้รู้ว่าทำไมคนบางคนถึงต้องการการนอนหลับมากกว่าคนอื่น โดยที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ”

นอกจากผลการศึกษาที่พบว่ายีนส่งผลต่อความต้องการในการนอนหลับแล้ว การศึกษาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการงีบหลับอย่างมีคุณภาพช่วยให้ร่างกายและสมองสดชื่นขึ้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดหากต้องการพักสายตาสัก 25 นาทีระหว่างวันเพื่อให้ร่างกายตื่นเต็มที่

การศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับเท่านั้น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับและปัญหาสุขภาพต่าง ๆ แต่ที่แน่ ๆ จากการศึกษานี้ก็ทำให้เราได้รู้ว่า สาเหตุที่บางคนอยากนอนมากผิดปกติทั้งที่ไม่มีปัญหาสุขภาพอะไร ส่วนหนึ่งก็เกิดจากยีนในร่างกายของเรานี่เอง

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส