ในยุคหนึ่งที่ภาพยนตร์ไทยเฟื่องฟู ‘สรพงศ์ ชาตรี’ ขึ้นชื่อว่าเป็นพระเอกตลอดกาลของเมืองไทย ที่ได้รับบทนำในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะภาพยนตร์ของ ‘ท่านมุ้ย’ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) จนเรียกได้ว่าเป็นเด็กสร้างที่เติบโตมาในวงการภาพยนตร์พร้อม ๆ กับท่านมุ้ยเลยทีเดียว ในวันนี้ที่ใคร ๆ ก็เอ่ยถึง ‘สรพงษ์’ ที่ไม่ใช่ ‘สรพงศ์’ เรื่องราวย้อนอดีตของ ‘สรพงศ์’ ก็คงต้องมากันแล้ว ณ จุดนี้

1.จากเด็กบ้านนอกสู่วงการมายา

ชีวิตของสรพงศ์ก็เหมือน ๆ กับเด็กต่างจังหวัดหลาย ๆ คนในสมัยก่อน ที่ฐานะทางบ้านยากจน พายเรือไปโรงเรียนและไม่มีรองเท้าใส่ บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ตกกลางคืนต้องอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงกระป๋อง หลังจากเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 ก็บวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 8 ปี ที่วัดเทพสุวรรณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาบ้านเกิด จนมาถึงวัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี จนกระทั่งลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ. 2512 และเริ่มงานในวงการนับจากนั้น

2.สรพงศ์ชาตรีชื่อนี้มีที่มา

สรพงศ์ ชาตรี เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดงของ กรีพงศ์ เทียมเศวต (ชื่อเดิม พิทยา เทียมเศวต) โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา เป็นผู้ตั้งให้ คำว่า ‘สร’ มาจาก อนุสรมงคลการ, ‘พงศ์’ มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้ชักนำให้ได้เข้าวงการ) และ ‘ชาตรี’ มาจาก ชาตรีเฉลิม รวมเป็น ‘สรพงศ์’ ที่เรารู้จักกันอยู่ทุกวันนี้ มีความหมายว่า เชื้อสายของเทวดา

3.เริ่มจากเด็กยกของในกองถ่าย

หลังจากที่ลาสิกขาบทจากการบวชเรียนมาตั้งแต่อายุ 8 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2512 สรพงศ์ ชาตรี ก็เริ่มเข้ามาเดินเตร็ดเตร่ในวงการด้วยการเป็นเด็กยกของในกองถ่าย ควบตำแหน่งตัวประกอบไร้บทพูดในละคร ‘นางไพรตานี’ ทางช่อง 7 ก็ชาวบ้านดี ๆ นี่เองจ้ะ เดินผ่านกล้องก็เอาแล้วชั่วโมงนั้น และยังคงเป็นชาวบ้านในละครอีกสองเรื่อง ‘ห้องสีชมพู’ และ ‘หมอผี’ หนำซ้ำภาพยนตร์เรื่องแรกก็รับบทเป็นชาวบ้านอีกแล้ว ชนิดที่โผล่มาฉากเดียวแล้วถูกยิงตายเลยในเรื่อง ‘สอยดาว สาวเดือน’ ภาพยนตร์ไทยเรื่องที่ 3 ของ ‘ฉลอง ภักดีวิจิตร’ 

4.แค่ 3 ปีก็ได้เป็นพระเอกแล้ว

หลังจากนั้นสรพงศ์ได้มีโอกาสพบกับ ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) จากการฝากฝังของ สุรพงศ์ โปร่งมณี ซึ่งเป็นคอสตูมให้กับละโว้สตูดิโอ ให้สรพงศ์เข้ามาช่วยทำงานในกองถ่าย และได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่วังละโว้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ แววการแสดงของสรพงศ์ก็เข้าตากรรมการจนได้แสดงเป็นพระเอกเต็มตัวเรื่องแรก ‘มันมากับความมืด’ (พ.ศ. 2514) ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล แต่ความดังก็ยังเป็นรอง กรุง ศรีวิไล อยู่หลายส่วน ก็นี่เรื่องแรกเองนี่นา

5.เป็นพระเอกแล้วและเป็นพระเอกอีก

สรพงษ์ ชาตรี , นัยนา ชีวานันท์
จากเรื่อง ‘ไอ้แกละเพื่อนรัก’

จากนั้นได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล แทบทุกเรื่องก็ว่าได้ เรียกว่าเป็นพระเอกคู่บุญกันมานับแต่นั้น งานการแสดงหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย จากทุกค่ายภาพยนตร์และละคร ทั้งบทพระเอก พระรอง เรียกว่ากวาดเรียบมาทุกบทบาท จนกระทั่งเป็นผู้ช่วยผู้กำกับก็ทำมาแล้วอีกด้วยแน่ะ

6.มีผลงานการแสดงนับไม่ถ้วน

แผลเก่า 2520/สรพงศ์ ชาตรี-นันทนา เงากระจ่าง

จากวันนั้นถึงวันนี้ สรพงศ์ ชาตรี มีผลงานการแสดงมาแล้วมากกว่า 550 เรื่อง เอาเป็นว่านับกันไม่หวาดไม่ไหวและไม่สามารถยืนยันแน่ชัดได้ว่าพี่แกเล่นไปแล้วกี่เรื่องกันแน่ เพราะทั้งหนัง ทั้งละครโทรทัศน์ เราจะเห็นสรพงศ์ชาตรีมารับบทบาทต่าง ๆ มากมาย สำคัญคือบทบาทนั้น ๆ ยังเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าจะให้สาธยายก็บอกเลยว่าไม่พอหน้ากระดาษ แต่คงจะไม่มีใครลืมพี่ขวัญของเรียมได้ จริงไหมล่ะ

7.ได้รางวัลตุ๊กตาทอง 2 ปีซ้อน

รางวัลพระสุรัสวดี นับว่าเป็นเกียรติของนักแสดง ซึ่งสรพงศ์ก็ไม่พลาดที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้มากับเขาด้วย และเป็นการรับรางวัลในฐานะนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมถึง 2 ปีซ้อนจากเรื่อง ‘ชีวิตบัดซบ’ ในงานพระราชทานรางวัลพระสุรัสวดีครั้งที่ 2 และเรื่อง ‘สัตว์มนุษย์’ ในงานพระราชทานรางวัลพระสุรัสวดีครั้งที่ 3 แต่แหม…ชื่อเรื่องนี่พาสะดุ้งเหมือนกันนะคะ ซึ่งผลงานสองเรื่องนี้ทำให้สรพงศ์ขึ้นแท่นเป็นพระเอกเบอร์ 1 ต่อจากสมบัติ เมทะนี ในที่สุด

6.เคยออกอัลบั้มด้วยนะ

คำว่า ดาราออกเทป เป็นของยอดฮิตในวงการสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นจารุณี สุขสวัสดิ์ ,ทูน หิรัญทรัพย์ และดาราอีกมากมายหลายท่าน ล้วนเคยจับไมค์ร้องเพลงออกอัลบั้มมาแล้วทั้งนั้น แล้วพระเอกตลอดกาลอย่างสรพงศ์จะไม่ลองซะหน่อยได้ยังไงล่ะ แต่ยี่ห้อสรพงศ์ซะอย่างจะให้ออกมาอัลบัมเดียวมันไม่ได้ สรพงศ์ ชาตรี จึงมีผลงานเพลงออกมาสู่ผู้ฟังถึง 5 อัลบั้มด้วยกันคือ หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก, เล็ดสะโก, คนกันเอง, ขาดคนอีสานแล้วจะรู้สึก , หัวใจเดาะ (นำเพลงของ สุรพล สมบัติเจริญ มาร้องใหม่)

7.งานพากย์หนังก็ไม่เว้นเป็นเล่นไป

เป็นธรรมดาที่นักแสดงที่มีชื่อเสียงมักจะถูกเชิญไปให้เสียงพากย์ในภาพยนตร์ แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่าเสียงวู้ดดี้ใน Toys Story ทุกภาคคือเสียงของเขา ซึ่งการที่ได้รับหน้าที่นี้ทางผู้สร้างได้เอาเสียงของสรพงศ์ไปเทียบว่าใกล้เคียงกับทอม แฮงก์ส ที่พากย์ต้นฉบับจริงไหม จนในที่สุดก็ได้รับหน้าที่พากย์ตัววู้ดดี้ทุกภาค รวมถึงผลงานพากย์เรื่องอื่นอีกเช่น เสียงของ แซนด์แมน ใน Spider-Man 3 เสียงของเจ้าหน้าที่เค ใน Men in Black II 

8. ชื่อสรพงศ์แต่เขียนว่าสรพงษ์ก็ยังได้

จากที่เราได้ทราบกันไปแล้วว่าคำว่า ‘พงศ์’ ในชื่อ ‘สรพงศ์’ มาจากไหน แต่หากนักเลงโรงหนังรุ่นเก่า ๆ จะสังเกตกันให้ดีจะเห็นว่า ในบางครั้งตามใบปิดหนังจะเขียนชื่อของ ‘สรพงศ์’ ว่า ‘สรพงษ’ โดยใช้ ษ์ สะกด นั่นก็เป็นเพราะคนเขียนใบปิดเข้าใจผิด ฮาาาา จึงมีการเขียนทั้งชื่อ สรพงศ์และสรพงษ์ตลอดมา อย่างเช่นเรื่องนี้เป็นต้น ปัดโธ่เอ้ย ‘ถุยชีวิต’ โอ้ยย ทำไมแกเล่นแต่ละเรื่องมันฮาร์ดคอร์ทั้งนั้นเลยเนี่ย

9.ผ่านการบูลลี่มาแล้วแบบสบาย ๆ

ช่วงแรกของการเข้าวงการใหม่ ๆ สรพงศ์ ชาตรี เป็นนักแสดงที่ถูกพูดถึงในเรื่องของภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก “จมูกโตแถมผิวคล้ำแบบนี้จะเป็นพระเอกได้เหรอ” แต่ถึงจะถูกสบประมาทอย่างไรก็ตาม เขากลับพัฒนาฝีมือและทุ่มเทต่อการแสดงจนไม่มีใครสามารถสบประมาทได้อีก มีรางวัลการันตีความสามารถมากมาย และรางวันอันทรงเกียรติในฐานะศิลปินก็เห็นจะเป็น การถูกคัดเลือกให้เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ในปี พ.ศ. 2551’

10.มีวัดชื่อตัวเองกับเขาด้วย

มูลนิธิหลวงพ่อโต อ.สี่คิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองเหลืองรมดำ หลวงพ่อโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี) ที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งแต่เดิมคือวัดโนนกุ่ม โดยผู้ที่ก่อตั้ง คือ สรพงศ์ ชาตรี จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ‘วัดสรพงศ์’ ซึ่งความจริงแล้วสถานที่นี้ไม่ใช่วัดแต่เป็นมูลนิธิ ที่สวยงามสะดุดตา ร่มรื่นไปด้วยสวนหย่อม รายล้อมไปด้วยต้นไม้เขียวขจีสบายตา สำคัญคือที่นี่ยังมีโรงทานอีกด้วย

ก็เรียกได้ว่าชีวิตของ สรพงศ์ ชาตรี เป็นชีวิตที่เริ่มจากศูนย์ และไต่เต้ามาทีละขั้นจนประสบความสำเร็จ ด้วยความสามารถของตัวเอง ด้วยความเมตตาจากผู้ใหญ่ที่มอบโอกาสดี ๆ ให้และสรพงศ์ ก็คว้าเอาไว้อย่างไม่ลังเลและใช้โอกาสนั้นเป็นหนทางสร้างชีวิตจนเป็นดาวค้างฟ้า เป็นพระเอกตลอดกาลในใจใครหลายคน จวบจนทุกวันนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส