แม้ว่ารัฐบาลของประเทศจีนประกาศว่าสามารถกำจัดความยากจนภายในประเทศได้แล้ว แต่ในพื้นที่ชนบทหลาย ๆ แห่งของประเทศจีนก็ยังมีคนยากจนกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน ประเทศจีนเกิดไอเดียที่อยากจะช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก ๆ ในชุมชนด้วยการมอบ ‘ลูกหมู’ แก่เด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับดีแบบฟรี ๆ เพื่อให้นำเอาลูกหมูไปเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวในการเอาชนะความยากจน
สำนักข่าว ‘South China Morning Post’ ได้รายงานว่า ณ โรงเรียนประถมศึกษาเซียงหยาง (Xiangyang) เขตอี้เหลียง (Yiliang) มณฑลยูนนาน (Yunnan) ภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นเขตที่มีรายงานว่ามีประชากรยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน ได้มีการจัดพิธีมอบรางวัลให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับดี 20 คน จากนักเรียนทั้งหมด 65 คนทั้งโรงเรียน โดยนักเรียนที่เรียนดีเหล่านี้ล้วนแต่งกายด้วยดอกไม้กระดาษขนาดใหญ่สีแดงประดับอยู่บนหน้าอกเพื่อเป็นการเชิดชูในฐานะผู้ที่ขยันขันแข็งในด้านการเรียนจนมีผลการเรียนที่น่ายกย่อง
หลังจากนั้น นักเรียนที่เรียนดีทั้ง 20 คนจะได้มีโอกาสจับฉลากเพื่อเลือกลูกหมูที่ต้องการ โดยลูกหมูเหล่านี้จะมีหลากหลายพันธุ์ทั้งสึขาว สีเหลือง และสีดำ และมีน้ำหนักประมาณ 5-10 กิโลกรัม และมีการตกแต่ง นักเรียนที่จับฉลากได้จะได้รับการจัดสรรลูกหมูตามที่จับฉลากได้ โดยในวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านทางแอปพลิเคชันโต่วอิน (Douyin) หรือแอป Tiktok ของจีน เผยให้เห็นผู้ปกครองที่กำลังหัวเราะอย่างมีความสุข พวกเขาใส่ลูกหมูในกระเป๋าที่เตรียมมา อุ้มไว้ในอ้อมแขน หรือไม่ก็จูงพาไปด้วย และนักเรียนเหล่านั้นยังได้มีโอกาสถ่ายรูปร่วมกันราวกับว่ากำลังเข้าพิธีรับปริญญาอย่างไรอย่างนั้น ซึ่งต่อมาคลิปนี้ก็กลายเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ตของจีนอย่างรวดเร็ว
‘โหจางเหลียง’ (Hou Changliang) คุณครูโรงเรียนประถมศึกษาเซียงหยาง เจ้าของคลิปวิดีโอ และเจ้าของคลิปในแอปพลิเคชันโต่วอินกล่าวว่า หมูเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสวัสดิการสาธารณะเซี่ยงไฮ้เซียงหวู่ (Shanghai Xiangwu Public Welfare Fund) ซึ่งเป็นกองทุนของภาครัฐ โดยเจตนาของการมอบลูกหมูให้แก่นักเรียนเรียนดีก็เนื่องมาจากว่าเขาต้องการอยากจะส่งเสริมให้เด็กนักเรียนตั้งใจเรียน และอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยประชากรที่ยากจนเป็นส่วนใหญ่
คุณครูโหได้กล่าวถึงโครงการนี้ในคลิปวิดีโอว่า “รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงการส่งเสริมนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาด้วย แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากลูกสุกรในทันที แต่พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากพวกมันมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน”
โรงเรียนประถมศึกษาเซียงหยางนั้นเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีนักเรียนทั้งโรงเรียนอยู่เพียง 65 คน และมีครูอยู่เพียงแค่ 4 คน รวมทั้งคุณครูโห ชาวหูหนานที่เป็นครูสอนโรงเรียนนี้มากว่า 11 ปี และ ‘เหลย หยู่ตาน’ (Lei Yudan) ภรรยาของเขาเอง แต่แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนที่เล็กและยากจนข้นแค้นมาก ๆ แต่พวกเขาก็ยึดมั่นที่จะส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการพยายามขวนขวายและทำงานหนัก
ที่ผ่านมา คุณครูโหและโรงเรียนมักจะได้รับข้อเสนอจากผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ตในการบริจาคเงินและสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนนี้ แต่เขาก็เลือกที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือ “ผมไม่ต้องการให้เด็ก ๆ ของเรามัวแต่คิดเรื่องการบริจาคโดยที่ไม่ยอมทำงานอะไร ผมหวังว่าการทำงานอย่างหนัก จะทำให้พวกเขาตระหนักว่า การทำงานหนักเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรี”
หลังจากเผยแพร่ คลิปนี้กลายเป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ตจีนอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีการนำไปลงโพสต์ซ้ำในโซเชียลมีเดียเว่ยป่อ Weibo ซึ่งชาวเน็ตจีนต่างก็ชื่นชมไอเดียของโรงเรียนนี้กันอย่างมากมาย เช่น “พ่อแม่เหล่านี้ควรภูมิใจนะที่ลูก ๆ ของพวกเขาสามารถหาหมูให้ครอบครัวเลี้ยงได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ ” และ “รางวัลแบบนี้มีประโยชน์มากกว่าประกาศนียบัตรเสียอีก ฉันว่าพ่อแม่ของเด็ก ๆ จะมีเงินซื้อหนังสือและเครื่องเขียนให้ลูกในปีการศึกษาหน้า”
เขตอี้เหลียง มณฑลยูนนาน ถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน ตามสถิติรายได้ต่อหัวของประชากรในปี 2019 อยู่ที่ 27,291 หยวน หรือประมาณ 142,xxx บาทต่อหัว แต่ในเดือนมิถุนายน 2020 เขตอี้เหลียงและอีกหลาย ๆ เขตในมณฑลยูนนาน รวมทั้งเขตการปกครองตนเองหลาย ๆ แห่งในจีน ได้ถูกทางการถอดออกจากบัญชีพื้นที่ที่มีความยากจน ตามนโยบายการรณรงค์บรรเทาความยากจนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่จะขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศอย่างถาวรภายในสิ้นปี 2020 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรียนขนาดเล็กตามชนบทที่ยังห่างไกลก็ยังมีอยู่มาก คุณครูโหกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมหวังว่าผู้คนมากมายจะให้ความสนใจมากขึ้นกับการศึกษาในชนบท ถ้าถามผมว่าตอนนี้ขาดแคลนอะไรที่สุด ตอนนี้หมู่บ้านขาดแคลนครู”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส