หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้อาจมีเรื่องราวที่น่าหดหู่ ในบทความนี้ ผู้เขียนเลี่ยงที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมเพื่อไม่ให้บทความดูน่ากลัวและหดหู่จนเกินไป หากต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถคลิกอ่านได้ที่ลิงก์อ้างอิงท้ายบทความนี้
นอกจาก ‘SCREAM’ (1996) จะเป็นหนังฆาตกรรมแนวเชือด (Slasher Film) ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จนมีการสร้างภาคต่อมาอีกมากมาย โดยเฉพาะภาคล่าสุดอย่าง SCREAM’ (2022) ซึ่งถือว่าเป็นหนังภาคที่ 5 ของแฟรนไชส์นี้แล้ว ตัวหนังเองยังสร้างภาพลักษณ์ของฆาตกรในเรื่องอย่าง ‘ไอ้หน้าผี’ (Ghostface) จนกลายเป็นภาพจำของหนังชุดนี้ จนกระทั่งกลายมาเป็นคอสตูมประจำเทศกาลฮาโลวีน และกลายมาเป็นหนึ่งในไอคอนแห่งช่วงทศวรรษ 1990 แต่รู้หรือไม่ว่า แรงบันดาลใจที่สำคัญของหนังเรื่องนี้ มาจากเหตุฆาตกรรมวัยรุ่นที่เคยเกิดขึ้นจริง
4 วัน ณ เกนส์วิลล์ (Gainesville) รัฐฟลอริดา (Florida) ปี 1990 ฆาตกรต่อเนื่องรายหนึ่งก่อเหตุฆาตกรรม 5 นักศึกษาในมหาวิทยาลัยฟลอริดา ฆาตกรถูกขนานนามต่อมาว่าเป็น ‘เดอะ เกนสวิลล์ ริปเปอร์’ (The Gainesville Ripper) หรือ ‘นักฆ่าแห่งเกนสวิลล์’ สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวเมืองในเวลานั้นเป็นอย่างมาก
ข่าวน่าสะพรึงกลัวนี้ทำให้ ‘เควิน วิลเลียมสัน’ (Kevin Williamson) หยิบยกข่าวนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องวัยรุ่น ณ เมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่าวูดส์โบโร (Woodsboro) และเขาเองยังสร้างคาแรกเตอร์ ‘ไอ้หน้าผี’ ฆาตกรต่อเนื่องผู้สวมใส่หน้ากากยางที่ไม่ว่าใครก็จำได้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจโดยตรงจากฆาตกรต่อเนื่องที่ไม่ได้ถูกจับกุมฐานก่อเหตุฆาตกรรม
ฆาตกรคนนั้นมีชื่อว่า ‘แดนนี โรลลิง’ (Danny Rolling) และเขาไม่ใส่หน้ากากผี
ปูมหลังที่แสนโหดร้าย
‘แดนนี โรลลิง’ (Danny Rolling) เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ปี 1954 ณ เมืองชรีฟพอร์ต (Shreveport) รัฐลุยเซียนา (Louisiana) สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวของพ่อ ‘เจมส์ โรลลิง’ (James Rolling) ผู้เป็นอดีตทหารผ่านศีกก่อนจะมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแม่ ‘คลาวเดีย โรลลิง’ (Claudia Rolling) คุณแม่วัย 19 ปี เจมส์เป็นอดีตทหารผ่านศึกที่เคยผ่านสงครามเกาหลี ผลของความเจ็บปวดจากสงคราม ส่งผลทำให้เขากลายเป็นคนที่มีอาการทางจิต เขาเคยพยายามจะทำร้ายตัวเองด้วยการกรีดแขนตัวเองจนต้องนำไปส่งที่โรงพยาบาล
อีกทั้งเขายังมีนิสัยโหดร้าย เจ้าอารมณ์ ชอบควบคุม ด่าทอ และทำร้ายคนในครอบครัว ทั้งกับคลาวเดีย และลูกเล็ก ๆ ทั้งสองคนอย่างแดนนี และน้องชายอย่างเควิน เขามักลงโทษลูก ๆ ด้วยเรื่องไร้สาระต่าง ๆ เช่น ลงโทษแดนนีตอนอายุ 1 ขวบเพราะคลานผิดท่า ลงโทษด้วยการใส่กุญแจมือล็อกไว้กับพื้น หรือแม้แต่สุนัขที่แดนนีเลี้ยงไว้ ก็ยังถูกพ่อของเขาทำร้ายจนตาย
ที่โรงเรียน แดนนีกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน เมื่อตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แดนนีขาดเรียนบ่อยมากเนื่องจากอาการเจ็บป่วยจากความรุนแรง จนคุณครูที่โรงเรียนต้องระบุถึงตัวเขาว่า “มีแนวโน้มก้าวร้าวรุนแรง และควบคุมอารมณ์ไม่ได้”
เมื่อเขาได้อายุ 11 ปี แดนนีเริ่มหันไปใช้ศิลปะและดนตรีเป็นเครื่องปลอบประโลมจิตใจ เขาได้รับกีตาร์เป็นของขวัญเมื่ออายุ 15 ปี เขาจึงมักชอบเล่นกีตาร์และร้องเพลงฮึมฮัมคล้ายกับสวดมนต์ เขาเคยเปิดเผยว่า ช่วงเวลานี้นอกจากจะเป็นช่วงเวลาเล็ก ๆ ที่มีความสุขที่สุดในชีวิตแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่เขาพยายามหลีกหนีความเป็นจริงอันโหดร้าย ความรู้สึกโกรธแค้น ความเจ็บปวด และความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย
เจมส์มักกล่าวโทษว่าการมีลูกคือความผิดพลาด ส่วนคลาวเดียก็ต้องเผชิญกับอาการทางประสาทจากความเครียดและพยายามจะหนีออกจากบ้านหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ครั้งหนึ่ง คลาวเดียกรีดข้อมือตัวเองจนทำให้แดนนีต้องพาเธอไปส่งโรงพยาบาล และนั่นเป็นครั้งแรกที่แดนนีเริ่มดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด ทำให้สภาพจิตใจของเขายิ่งเปราะบางมากกว่าเดิม
อายุ 14 แดนนีถูกจับได้ว่าแอบเข้าไปในห้องของลูกสาวของเพื่อนบ้าน พ่อของเขาทราบเรื่องจึงลงโทษด้วยการทุบตีอย่างหนัก แดนนีพยายามควบคุมจิตใจด้วยการพยายามไปโบสถ์ และมีความคิดที่อยากจะเข้าเกณฑ์ทหาร โชคร้ายที่กองทัพเรือไม่ยอมรับเขา เขาจึงเปลี่ยนไปเข้าร่วมกองทัพอากาศแทน แต่ยิ่งซ้ำร้าย ในปี 1972 เขาถูกกองทัพอากาศไล่ออก เนื่องจากถูกจับกุมข้อหาใช้ยาเสพติดมากเกินไป
เขาระหกระเหเร่ร่อนไปอาศัยอยู่กับคุณปู่ และมีโบสถ์เป็นที่พึ่งพิงทางใจ ก่อนจะแต่งงานกับโอแมเธอร์ ฮาลโก (O’Mather Halko) และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน แดนนีและครอบครัวมีชีวิตที่ปกติ แต่แล้วในอีก 4 ปีต่อมา แดนนีก็เริ่มทำร้ายลูกและภรรยาเหมือนกับที่เขาเคยถูกพ่อทำร้าย รวมทั้งยังขู่ฆ่าภรรยาอีกด้วย ภรรยาจึงตัดสินใจขอแยกทางกับเขา
เหตุฆาตกรรมตระกูลกริซซัม
แดนนีในวัย 23 ปี เติบโตกลายมาเป็นหนุ่มร่างใหญ่ และมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม แม้เขาจะพยายามปรับตัวและหางานทำ แต่เขาก็มีปัญหาก่อคดีอาชญากรรมและลักเล็กขโมยน้อยหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึง 1990 เขาเริ่มใช้อาวุธในการปล้นเงินหลายครั้ง และก่อคดีข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่งที่มีหน้าตาคล้ายกับอดีตภรรยา จนทำให้เขาต้องถูกจับกุมและติดคุกในหลายรัฐเช่น หลุยเซียนา มิสซิสซิปปี จอร์เจีย และแอละบามา แต่ก็ยังแหกคุกออกมาได้ตลอด
และเมื่อไปสมัครงาน เขาก็มักจะถูกไล่ออกอยู่เรื่อย ๆ จนเมื่อเขากลับมาที่บ้านเกิด ณ เมืองชรีฟพอร์ต เพื่อทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร เขาพยายามจะใช้ชีวิตอย่างปกติ และยังคงหยิบกีตาร์ออกมาร้องเพลงในยามว่างเสมอ ด้วยความที่เขามีร่างใหญ่ และมักสวมผ้าพันคอ ทำให้เด็ก ๆ ในละแวกนั้นมักเรียกเขาว่า ‘แรมโบ’ (Rambo)
เดือนพฤษภาคม 1990 แม้ชีวิตของแดนนีในวัย 35 ปีจะเริ่มปกติ แต่นั่นก็ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางอันโหดร้ายของแดนนี วันหนึ่งเขาโต้เถียงกับพ่ออย่างรุนแรงมาก จนในที่สุดเขาก็ก่อเหตุยิงพ่อวัย 58 สองนัด โชคยังดีที่ไม่ตาย แต่ก็ต้องเสียดวงตาและหูไป ทำให้แดนนีถูกไล่ออกจากงานอีกครั้ง
ด้วยความแค้นที่สะสมและชีวิตที่ล้มละลาย ในคืนเดียวกันนั้นเอง เขาได้ลงมือสังหารเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไปจากบ้านของเขาเพียง 10 นาที ผู้เคราะห์ร้ายเป็นครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้น ได้แก่ ‘จูลี กริซซัม’ (Julie Grissom) หญิงสาววัย 24 ปี ‘วิลเลียม กริซซัม’ (William Grissom) พ่อวัย 58 ปีของเธอ และ ‘ฌอน กริซซัม’ (Sean Grissom) หลานชายวัย 8 ขวบ ก่อนจะขึ้นรถบัสหลบหนีไปยังรัฐฟลอริดา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ไมเคิล เคนเนดี จูเนียร์’ (Michael Kennedy Jr.) ในปลายเดือนกรกฎาคมปี 1990
เหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง ณ เมืองเกนสวิลล์
‘ไมเคิล เคนเนดี จูเนียร์’ หรือแดนนี กลายเป็นชายเร่ร่อนหลบหนีการจับกุมมาอยู่ที่เมืองเกนส์วิลล์ (Gainesville) รัฐฟลอริดา (Florida) เขาจึงมักอาศัยนอนในเต็นท์ในพื้นที่ป่าหลังมหาวิทยาลัยฟลอริดา และในวันหนึ่งของเดือนสิงหาคม 1990 เขาก็ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่กลายเป็นข่าวที่สะเทือนขวัญไปทั่วทั้งอเมริกาในช่วงนั้น
24 สิงหาคม ในช่วงที่กำลังเริ่มภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง แดนนีแอบย่องเข้าไปก่อเหตุฆาตกรรมในบ้านพักของ 2 นักศึกษาสาว ‘คริสตินา พาวเวลล์’ (Christina Powell) และ ‘ซอนยา ลาร์สัน’ (Sonja Larson) เป็น 2 รายแรก แดนนีก่อเหตุฆาตกรรมและข่มขืนอย่างโหดร้าย และพบว่ามีการตัดอวัยวะบางส่วนด้วย
วันรุ่งขึ้น 25 สิงหาคม แดนนีบุกเข้าไปที่บ้านของ ‘คริสตา ฮอยต์’ (Christa Hoyt) ก่อนที่จะลงมือก่อเหตุและข่มขืนอย่างทารุณอีกครั้งคล้ายกับเหตุการณ์แรก เหตุฆาตกรรม 3 รายทำให้ข่าวเริ่มแพร่สะพัดไปทั่วมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ต้องเร่งสอบสวนเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุดเพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัย ความหวาดกลัวฆาตกรเริ่มแพร่หลายไปทั่วทั้งเมือง ฆาตกรถูกขนานนามว่าเป็น ‘เดอะ เกนสวิลล์ ริปเปอร์’ (The Gainesville Ripper) หรือ ‘นักฆ่าแห่งเกนสวิลล์’
ความกลัวยังไม่ทันหาย 27 สิงหาคม ฆาตกรบุกเข้าบ้านและสังหาร ‘เทรซี ไอเนส พอลส์’ (Tracy Inez Paules) และ ‘มานูเอล ทาโบดา’ (Manuel Taboada) อดีตนักฟุตบอลระดับไฮสคูล สภาพของทั้งคู่ไม่ได้โหดร้ายทารุณเหมือนกับ 3 รายก่อนหน้า ตำรวจคาดว่า มานูเอลอาจต่อสู้ขัดขืนก่อนจะถูกสังหาร อีกทั้งฆาตกรเองก็ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย ไม่มีแม้แต่รอยเท้า เขามักเก็บหลักฐานที่มีรอยนิ้วมือ เช่นเทปพันสายไฟ ฯลฯ ไปทิ้งที่อื่น และใช้สารบางชนิดเพื่อล้างคราบอสุจิที่ติดอยู่บนร่างของเหยื่อ
เหตุฆาตกรรมทั้ง 5 ครั้งนี้ เกิดขึ้นรอบ ๆ มหาวิทยาลัยฟลอริดาห่างออกไปไม่เกิน 2 ไมล์ ด้วยเหตุนี้เอง มหาวิทยาลัยจึงสั่งงดการเรียนการสอน 1 สัปดาห์ ส่วนนักศึกษาจะไม่ออกไปตามลำพังคนเดียวทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน และต้องพกไม้เบสบอลไปด้วย นักศึกษาหลายคนเลือกที่จะย้ายไปนอนด้วยกัน ล็อกประตูบ้าน และผลัดกันนอนเป็นกะเพื่อเฝ้าระวังภัย จนเมื่อถึงสิ้นเดือนสิงหาคม นักศึกษานับพันคนที่กลัวเหตุฆาตกรรม ทยอยย้ายออกจากเขตมหาวิทยาลัย และอีกกว่า 700 คนเลือกที่จะย้ายออกไปจากฟลอริดาแล้วไม่กลับมาอีกเลย
วาระสุดท้ายของแดนนี
มกราคม ปี 1991 ตำรวจยังคงมืดแปดด้านในการตามหาตัวฆาตกร แดนนีที่ตอนนี้กลายมาเป็นฆาตกรหนีคดีฆาตกรรม 8 ครั้งยังคงลอยนวล เขายังคงก่อเหตุปล้นบ้าน ร้านค้า และปั๊มน้ำมันอยู่บ่อยครั้ง จนในที่สุด เขาก็ถูกจับในข้อหาปล้นร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ‘Winn-Dixie’ ณ เมืองโอกาลา (Ocala) รัฐฟลอริดา หลังจากพยายามขับรถหลบหนี ตำรวจจับตัวเขาไปขังในคุกข้อหาปล้นทรัพย์ โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแดนนีเป็นฆาตกรแห่งเกนส์วิลล์
หลังจากการทำงานมาอย่างยาวนาน ในที่สุดตำรวจก็พบเบาะแสดีเอ็นเอจากคดีฆาตกรรมตระกูลกริซซัม และพบว่า ดีเอ็นเอเหล่านั้นก็ยังเชื่อมโยงกับเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกนส์วิลล์อีกด้วย ตำรวจสืบสวนจึงได้ค้นหาดีเอ็นเอของนักโทษ และพบว่าดีเอ็นเอของแดนนี ตรงกับดีเอ็นเอที่พบในจุดเกิดเหตุ
ในเดือนพฤศจิกายน 1991 เขาจึงถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมหลายคดีในระหว่างที่ติดคุก แดนนีให้การสารภาพในทุกข้อกล่าวหาและทุกคดีความที่เขาก่อขึ้น รวมทั้งหลักฐานที่มัดตัวเขา ทำให้แดนนีถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีฆาตกรรมตระกูลกริซซัม คดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกนส์วิลล์ รวมทั้งคดีปล้น และอีกมากมายหลายคดี
ในช่วงเวลาที่เป็นนักโทษประหาร เขาใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์คดีประหารชีวิตหลายครั้ง จนกระทั่งในการอุทธรณ์คดีครั้งสุดท้าย ศาลปฏิเสธคำอุทธรณ์ แดนนี โรลลิง จึงถูกประหารชีวิตในวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2006 ในวัย 52 ปี
จากคดีโหด สู่หนังเชือดในตำนาน
ปี 1994 ‘เควิน วิลเลียมสัน’ (Kevin Williamson) ผู้เขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกัน ได้มีโอกาสชมข่าวเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง ณ เมืองเกนสวิลล์ ในรายการ ‘Turning Point’ ทางช่อง ‘ABC News’ เขาเหลือบไปเป็นหน้าต่างบ้านที่เปิดอยู่ ทำให้เขารู้สึกกังวลว่าจะมีผู้บุกรุกหรือไม่
ด้วยแรงบันดาลใจนี้ เขาจึงเริ่มเขียนบทร่างแรกความยาว 18 หน้า ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการฆาตกรรมหญิงสาวที่อยู่ในบ้านเพียงลำพังหลังจากรับสายโทรศัพท์ ผสมผสานพล็อตรู้ทันหนังสยองขวัญยุคเก่า ๆ ซึ่งเกิดจากความชื่นชอบหนังสยองขวัญและหนังฆาตกรรมรุ่นเดอะอยู่เป็นทุนเดิม รวมทั้งยังคิดคาแรกเตอร์ฆาตกรที่สวมหน้ากากยางที่มีชื่อว่า ‘ไอ้หน้าผี’ (Ghostface) ด้วย โดยที่เควินได้ตั้งชื่อเรื่องให้กับโครงบทไว้คร่าว ๆ ว่า ‘Scary Movie’
หลังจากที่เขาเขียนบทภาพยนตร์ระทึกขวัญวัยรุ่น ‘Teaching Mrs. Tingle’ (1999) ซึ่งจะกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขากำกับ เขาได้หยิบบท ‘Scary Movie’ กลับมาปัดฝุ่นและพัฒนาให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ฉบับเต็ม รวมทั้งยังได้วางโครงเรื่องของหนังภาคต่ออีก 2 ภาค เพื่อตั้งใจว่าจะให้เป็นหนังแฟรนไชส์
จนกระทั่งในปี 1995 หลังจากการปรับแก้ตัดฉากความรุนแรงภายในเรื่องออกไป และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘SCREAM’ ตัวบทก็ถูกบริษัทมิราแม็กซ์ (Miramax) ซื้อไปในราคา 400,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และดำเนินการสร้างภาพยนตร์โดยมีค่ายไดเมนชัน ฟิล์ม (Dimension Films) เป็นผู้ผลิต และกำกับภาพยนตร์โดยเจ้าพ่อหนังสยองขวัญ ‘เวส คราเวน’ (Wes Craven) และแม้ว่าฉากรุนแรงหลายฉากจะถูกตัดออกไปจากบทดั้งเดิม แต่เวสในฐานะผู้กำกับ เขาก็แอบดึงเนื้อหาจากบทที่เควินเขียนไว้แต่ถูกตัดออกกลับมาใส่ในหนังด้วย
‘SCREAM หวีดสุดขีด’ เปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1996 กลายเป็นหนังสยองขวัญระดับบล็อกบัสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และทำรายได้ทั้วโลกได้มากถึง 173 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ตัวหนังได้รับเสียงชื่นชมว่า เป็นการฟื้นฟูหนังแนว Slasher ที่หมดมุกไปแล้วตั้งแต่ยุค 80’s ให้กลับมาได้อีกครั้งจนมีการสร้างหนัง Slasher อีกหลายเรื่องตามมาภายหลัง
รวมทั้งการหยิบเอาธีมของการ “รู้ทันหนังแนวเชือด” ทั้งฆาตกรใส่หน้ากาก และสาวสวยที่ตกเป็นเหยื่อ การเล่นกับคนดูด้วยการยั่วล้อหนังเชือดรุ่นพี่ และการวางกลเม็ดให้คนดูรู้สึกเหมือนว่าจะรู้ทันพล็อตหนังเชือด แต่จริง ๆ แล้วรู้ไม่ทัน
ตัวหนังประสบความสำเร็จจนได้มีโอกาสสร้างภาคต่อขึ้นอีก 4 ภาค (‘SCREAM 2’ (1997) , (‘SCREAM 3’ (2000), และ ‘SCREAM 4’ (2011)) และมีการหยิบเรื่องราวสไตล์จากภาคแรกกลับมาปัดฝุ่นใหม่ใน ‘SCREAM’ (2022) ที่เพิ่งฉายไปไม่นานมานี้
ส่วนในปัจจุบัน ยังคงปรากฏอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย 5 คนในเหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องในครั้งนั้นอยู่ทั่วบริเวณวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฟลอริดา ซึ่งมีทั้งภาพกราฟิตีที่เขียนชื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้ง 5 คนไว้บนกำแพง และมีการปลูกต้นไม้ 5 ต้นเพื่อเป็นตัวแทนของผู้เคราะห์ร้ายในครั้งนั้นด้วย
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส