นับเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับแฟน ๆ หนังญี่ปุ่นและวรรณกรรมญี่ปุ่น เพราะภาพยนตร์เรื่อง “Drive My Car”ผลงานการเขียนบทและกำกับของผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ริวสุเกะ ฮามากุจิ (Ryusuke Hamaguchi) ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นที่อยู่ในเล่ม “ชายที่คนรักจากไป” ของนักเขียนญี่ปุ่นชื่อดัง ‘ฮารุกิ มูราคามิ’ (Haruki Murakami) ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ของ “ออสการ์ 2022” ถึง 4 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยที่ก่อนหน้านี้ได้รับรางวัล “บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาแล้ว
สำหรับ ‘ฮารุกิ มูราคามิ’ เขาคือป๊อปสตาร์แห่งวงการวรรณกรรมอย่างแท้จริง ชื่อเสียงเรียงนามของเขาขจรขจายไปทั่วโลก ผลงานวรรณกรรมของเขาเป็นที่ติดตรึงเข้าไปในใจของผู้อ่านทุกยุคทุกสมัย (ผลงานเรื่องแรกของเขา “สดับลมขับขาน” ตีพิมพ์เมื่อปี 1979 และปัจจุบันก็ยังคงผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง) งานของมูราคามิมีทั้งที่เป็นนวนิยายขนาดยาวและเรื่องสั้น งานเขียนของเขามีส่วนผสมของความเป็น ‘เรื่องจริง’ ที่สะท้อนความเป็นไปของผู้คนร่วมสมัย และ ‘เรื่องเหนือจริง’ ด้วยการใส่องค์ประกอบของความแปลกแปร่งและเหนือธรรมชาติลงไปในเรื่องราวด้วยจังหวะจะโคนที่สงบงันบ้างหวือหวาบ้างแตกต่างกันไป รวมไปถึงนำเสนอการ ‘ขาดพร่อง’ อะไรบางอย่างในชีวิตของตัวละคร ทำให้ตัวละครในเรื่องราวของมูราคามิมีความรู้สึกโหยหา ล่องลอย หรือรู้สึกพร่องไม่สมบูรณ์คล้ายมีอะไรบางอย่างขาดหายไป ในขณะเดียวกันเรื่องราวเหล่านี้ก็ได้ตั้งคำถามถึงแก่นแกนของชีวิต คุณค่า และสาระสำคัญของการมีชีวิตอยู่ รวมทั้งสำรวจอารมณ์และความรู้สึกที่ระบายอยู่ในช่วงฉากของชีวิตคน โดยส่วนใหญ่แล้วมักสะท้อนผ่านการเล่าโดย “ผม” หรือการเล่าแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกเสมือนหนึ่งได้ถูกเชื้อเชิญให้ย่างก้าวเข้าไปในชีวิตของตัวละคร แต่ขณะเดียวกันความพร่าเลือน ครุ่นคำนึง และหลากไหลในเรื่องราวของมูราคามิก็สร้างระยะห่างระหว่างผู้อ่านตัวละครกับผู้อ่านด้วยเช่นเดียวกัน
นอกเหนือจาก “Drive My Car” แล้วที่ผ่านมาเรื่องสั้นของมูราคามิก็เคยถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมาก ๆ เช่นกัน นั่นก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง “Burning” (2018) ผลงานการกำกับของผู้กำกับชาวเกาหลี ‘ลี ชาง-ดอง’ (Lee Chang-dong) ที่ได้รับรางวัล FIPRESCI Prize ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น “มือเพลิง” ซึ่งรวมอยู่ในรวมเรื่องสั้น “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน” นอกจากนี้อีกหนึ่งเรื่องสั้นที่เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไว้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ “Tony Takitani” (2004) ผลงานการกำกับของผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ‘จุน อิชิคาวะ’ (Jun Ichikawa) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นในชื่อเดียวกันกับภาพยนตร์ซึ่งรวมอยู่ในรวมเรื่องสั้น “ปีศาจแห่งเล็กชิงตัน” ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงามและเปลี่ยวเหงานัก แถมยังได้ดนตรีประกอบสุดเปลี่ยวจาก ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ (Ryuichi Sakamoto) ด้วย
ส่วนเรื่องสั้น 2 เรื่องที่ถูกดัดแปลงเป็นหนังสั้น 2 เรื่องที่จะเราจะมาแนะนำให้ได้ชมกันนั่นคือเรื่อง “Attack on a Bakery” หรือ “คำสาปร้านเบเกอรี่” ซึ่งอยู่ในรวมเรื่องสั้น “คำสาปร้านเบเกอรี่” (แต่ในการพิมพ์ครั้งใหม่ได้เปลี่ยนชื่อแปลตามตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นแบบตรง ๆ ว่า “การบุกปล้นร้านขนมปังครั้งที่สอง”) หนังสั้นเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ‘นาโอโตะ ยามาคาวะ’ (Naoto Yamakawa) ในปี 1982 เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มและภรรยาที่วางแผนปล้นร้านเบเกอรี่อีกครั้งเพื่อล้างคำสาปจากการปล้นครั้งแรกที่ไม่สำเร็จของชายหนุ่มและเพื่อนคู่หูของเขา ซึ่ง “คำสาปร้านเบเกอรี่” นี่ถือว่าเป็นเรื่องสั้นยอดฮิตของมูราคามิที่มีคนเอาไปทำเป็นหนังสั้นมากมายหลายเวอร์ชัน ทั้งเวอร์ชันในปี 2010 ในชื่อ “The Second Bakery Attack” ผลงานการกำกับของ ‘การ์ลอส กัวรอง’ (Carlos Cuarón) น้องชายของผู้กำกับชื่อดัง ‘อัลฟองโซ กัวรอง’ (Alfonso Cuarón) นั่นเอง รวมไปถึงมีเวอร์ชันไทยของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาอีกต่างหาก
“Attack on a Bakery” ของยามาคาวะไม่ได้เดินตามงานต้นฉบับนัก แต่ก็ได้ดึงเอาความพิลึกพิลั่นอันเป็นหัวใจในเรื่องสั้นเรื่องนี้มาใส่ไว้ โดยได้ตัดทอนเรื่องของชายหนุ่มและภรรยาและมุ่งเป้าไปเล่าที่ชายหนุ่มและเพื่อนคู่หูในการปล้นครั้งแรกแทน ยามาคาวะมีการใช้เทคนิคและภาษาภาพยนตร์หลายอย่างมาช่วยสร้างสีสันให้กับการเล่าเรื่อง เช่น ใช้เทคนิคของสารคดีมาใช้ในการเปิดเรื่องด้วยการให้ตัวละครหนุ่มทั้งสองพูดต่อหน้ากล้องคล้ายกำลังถูกสัมภาษณ์อยู่เพื่อเป็นการอินโทรเรื่อง หรือการขึ้น text แทรกในช่วงต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้การเล่าแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งเป็นเสียง voice over เพื่อถ่ายทอดความคิดของตัวละคร ผสานไปกับการเล่าแบบมุมมองบุคคลที่ 3 ในบางฉากด้วยทำให้มีมิติของการเล่าเรื่องที่แตกต่างจากงานต้นฉบับ อีกทั้งยังใส่รายละเอียดในบางประเด็นเพิ่มเติมจากเรื่องสั้นทำให้เวอร์ชันนี้มีอะไรที่ชวนคิดเช่นการให้เจ้าของร้านเบเกอรี่เป็นคอมมิวนิสต์และมีการย้ำในประเด็นคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสม์ ประชาธิปไตยอยู่หลายครั้ง รวมไปถึงตอนจบของเรื่องที่แตกต่างไปจากงานต้นฉบับอย่างแน่นอน นอกจากหนังสั้น “Attack on a Bakery” จะมีการเล่าเรื่องด้วยภาพได้ดีแล้วการได้ยินเพลงของวาร์กเนอร์ในหนังยิ่งช่วยสร้างอารมณ์ให้กับเรื่องราวได้เป็นอย่างดี จากแต่เดิมที่หากเราอ่านงานของมูราคามิและมีการพูดถึงเพลงเข้ามาในเรื่องเราคงต้องจินตนาการเพลงเองหรือไม่ก็ต้องหาเพลงมาเปิดคลอไปด้วย
ในปีต่อมาคือ 1983 ยามาคาวะก็หยิบเอาอีกหนึ่งเรื่องสั้นของมูราคามิมาดัดแปลงเป็นหนังสั้น นั่นคือเรื่อง “A Girl, She is 100%” ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้น “On seeing the 100% perfect girl one beautiful April morning” หรือ “การได้พบสาวน้อยร้อยเปอร์เซ็นต์เช้าวันฟ้าใสเดือนเมษายน” ซึ่งเป็นเรื่องสั้นอยู่ในรวมเรื่องสั้น “วันเหมาะเจาะสำหรับจิงโจ้” เรื่องสั้นเรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยประโยคที่เหมือนจะธรรมแต่ไม่ธรรมดาว่า “เช้าวันหนึ่งอันงดงามของเดือนเมษายน บนถนนเส้นเล็ก ๆ ย่านฮาราจูกุ แหล่งรวมแฟชั่นของโตเกียว ผมเดินผ่านเด็กสาวสมบูรณ์แบบ 100%” เธอคนนั้นเป็นเด็กสาวที่ทำให้ “หัวใจของผมเต้นไม่เป็นจังหวะ และภายในปากของผมแห้งผากราวกับทะเลทราย” จากนั้นมูราคามิก็นำพาเราไปพบกับเรื่องราวของความธรรมดาแต่น่ามหัศจรรย์ของการพบพาน บทสนทนาและชะตาชีวิต
ใน “A Girl, She is 100%” ยามาคาวะเล่าเรื่องอย่างสัตย์ซื่อต่องานต้นฉบับตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็ใช้พลังของภาษาหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเล่าเรื่องแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งเมื่ออยู่ในหนังก็ได้กลายเป็นเสียง voice-over มีการตัดภาพแบบมองทาจให้เข้ากับถ้อยคำของตัวละครที่เล่าเรื่องจากความคิดและจินตนาการ นอกจากนี้ยังมีการใช้ jump cut สร้างสีสันให้อารมณ์เหมือนดูหนังของ Godard ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส และมีการใช้สีแดง เหลือง น้ำเงินเพื่อบ่งบอกสภาวะอารมณ์ของตัวละครซึ่งเป็นลูกเล่นอันพิเศษจากการใช้ข้อดีของการที่เล่าเรื่องในรูปแบบของหนังสั้น
เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านปลายปากกาของมูราคามินั้นเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่ผู้อ่านแต่ละคนต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยตัวเอง สัมผัส รับรู้ ตระหนัก และตีความผ่านประสบการณ์และมุมมองของตนเอง เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงและเล่าผ่านสื่อที่แตกต่างกันจากตัวอักษรในหนังสือมาสู่ภาพและเสียงในงานภาพยนตร์นั่นย่อมทำให้เรื่องราวของมูราคามิมีชีวิตในอีกร่างหนึ่งซึ่งมีเสน่ห์ในอีกรูปแบบที่แตกต่างออกไป และแน่นอนว่าการกลับเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์บนเรื่องราวเดิมแต่ต่างมิตินั้นย่อมมีอะไรให้ค้นหาและสนุกอีกมากบนเรื่องราวของความธรรมดาแต่ว่ามหัศจรรย์จาก ‘ฮารูกิ มูราคามิ’
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส