เนื้อเพลง “Hey Jude” ของวง The Beatles ที่เขียนด้วยลายมือของ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) ถูกนำมาประมูลในรูปแบบ NFT (Non-fungible token) โดยสุดท้ายถูกประมูลไปด้วยตัวเลขสูงถึง 76,800 หรือราว 2,510,000 บาท
ต้นฉบับเนื้อเพลงของ “Hey Jude” เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของ จูเลียน เลนนอน (Julian Lennon) ลูกชายของ จอห์น เลนนอน (John Lennon) กับ ซินเธีย พาวลล์ (Cynthia Powell) ภรรยาคนแรก ซึ่งเลนนอนคนลูกได้เนื้อเพลงต้นฉบับนี้มาจากพอล

พอลเคยเล่าว่า ในปี 1968 เขาเขียนว่า “Hey Jude” ขึ้นมาเพื่อหวังจะปลอบโยนจูเลียน ซึ่งในขณะนั้นต้องรับมือกับเรื่องการหย่าร้างของพ่อแม่ตัวเอง
“ผมรู้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเขา ดังนั้นเพลงนี้จึงเปรียบเหมือนการตบไหล่เด็กคนหนึ่งแล้วบอกว่า ‘ไอ้หนูแกจะไม่เป็นไรหรอก’ ผมเปลี่ยนจากคำว่า ‘Jules’ เป็น ‘Jude’ เพราะคิดว่ามันจะฟังดูดีขึ้นนิดหน่อย” พอลเล่าถึงที่มาของ “Hey Jude”

นอกจากเนื้อเพลงนี้ จูเลียนยังนำสิ่งของจาก The Beatles อีกหลายต่อหลายชิ้นมาปล่อยประมูลบน NFT ไม่ว่าจะเป็นเสื้อคลุมสีดำที่จอห์นพ่อของเขาสวมถ่ายปกอัลบั้ม ‘Help’ ซึ่งถูกประมูลไปในราคาเกือบ 13,500 เหรียญ หรือจะเป็นเสื้อโค้ตอัฟกันจากหนัง ‘Magical Mystery Tour’ ที่ถูกประมูลในราคา 21,700 เหรียญ
“ผมเก็บสะสมของส่วนตัวเหล่านี้มาประมาณ 30 ปีแล้ว และผมรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องขังสิ่งเหล่านี้อยู่แต่ในห้องนิรภัย ซึ่งผมต้องเก็บมันไว้เพราะผมไม่ต้องการให้พวกมันได้รับความเสียหาย” จูเลียนให้สัมภาษณ์

จูเลียนเสริมว่า สาเหตุที่ปล่อยสิ่งของสะสมเหล่านี้บน NFT เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่แปลกดี
“ผมรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่ไม่เหมือนใครในการที่จะสานต่อมรดกของพ่อ เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นถึงคอลเล็กชันที่ผมมี และทำให้ทุกคนได้เห็นการนำเสนอผลงานศิลปะในรูปแบบใหม่ ที่ใช้สื่อที่แตกต่างออกไปจากเดิม”

ทั้งนี้สิ่งของที่ถูกนำมาประมูลจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งของจริงจะยังอยู่ภายใต้การครอบครองของจูเลียน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรายได้ส่วนหนึ่งจากการประมูลในครั้งนี้ จะถูกนำไปมอบให้กับมูลนิธิ ‘White Feather Foundation’ ของจูเลียน มูลนิธิที่เขาตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 เพื่อสานต่อโครงการด้านพื้นเมือง สิ่งแวดล้อม มนุษยธรรม และน้ำสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งที่จอห์นพ่อของเขาเคยรณรงค์เอาไว้
อ้างอิง:
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส