หลังจากเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มอาชีพคนขับรถบรรทุกข้ามพรมแดนแคนาดา-สหรัฐอเมริกาได้รวมตัวกันจอดรถบรรทุกปิดกั้นถนนและสะพานข้ามพรมแดนเพื่อชุมนุมประท้วงในแคมเปญ ‘Freedom Convoy’ เพื่อเพื่อประท้วงต่อต้านมาตรการของรัฐบาลที่บังคับให้คนขับรถบรรทุกข้ามพรมแดนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จนทำให้รัฐบาลต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งการชุมนุมในครั้งนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการประท้วงขึ้นในอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนนับร้อยคนได้เดินทางไปชุมนุมประท้วงต่อต้านมาตรการบังคับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต่าง ๆ ที่รัฐบังคับใช้กับประชาชนที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ณ กรุงเวลลิงตัน (Wellington) ที่ได้แรงบันดาลใจโดยตรงมาจากการชุมนุม ‘Freedom Convoy’ ที่แคนาดา
แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐได้นำมาตรการรับมือกับผู้ชุมนุมด้วยการเปิดเพลงเพื่อสลายการชุมนุม โดยเพลย์ลิสต์ที่คัดมาเปิดอัดใส่ผู้ชุมนุมแต่ละเพลงนี่เรียกได้ว่าน่าจะก่อให้เกิด Earworm แก่ผู้ชุมนุมได้ไม่ยากเลย ตั้งแต่เพลงสำหรับเด็กที่เป็นไวรัสฮิตบน YouTube อย่าง “Baby Shark” หรือ “Let It Go” เพลงประกอบภาพยนตร์แอนิเมชัน “Frozen” ของ Disney ที่เด็กทั่วโลกร้องตามกันได้ นอกจากนั้นในเพลย์ลิสต์ก็ยังมีเพลงฮิตยุคจิ๋กโก๋ยามบ่ายอีกหลายเพลง
ทั้งเพลงฮิตหลากหลายเพลงของ ‘แบร์รี แมนิโลว์’ (Barry Manilow) เพลง “We’re Not Gonna Take It” เพลงป๊อปร็อกยุค 80’s ของวง ‘Twisted Sister’ เพลงลาตินป๊อปแดนซ์ “Macarena” ที่ฮิตติดหูในยุค 90’s ของ ‘ลอส เดล ริโอ’ (Los del Río) เพลงป๊อปเพราะ ๆ อย่าง “You’re Beautiful” ของ (James Blunt) หรือแม้แต่ “My Heart Will Go On” เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Titanic’ แต่มันไม่ใช่เวอร์ชันต้นฉบับที่ซีลีน ดิออน (Celine Dion) ร้อง แต่ดันเป็นเวอร์ชัน ‘Flute Fail’ ที่เป็นมีมในโลกอินเทอร์เน็ตต่างหาก
โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการเปิดสปริงเกอร์บนสนามหญ้า เพื่อหวังว่าฝนตกจากพายุที่กำลังก่อตัวอยู่ในบริเวณที่ชุมนุม และความเปียกบนสนามหญ้าจะขับไล่ผู้ชุมนุมที่รู้สึกไม่สบายตัวออกไปเอง พร้อมกับกล่าวติดตลกว่า “มีประชาชนบางคนอยากให้ผสมวัคซีนต้านโควิดในสปริงเกอร์เพื่อฉีดใส่ผู้ชุมนุมด้วย แต่ว่ามันก็คงไม่ช่วยกันโควิดเท่าไหร่หรอกนะ”
แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้ชุมนุมกลับไม่สะทกสะท้านต่อความเปียกชื้นแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อทางการหันมาใช้กลวิธีเปิดเพลง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า คนที่คัดเลือกเพลงลงเพลย์ลิสต์นี้ก็คือ ‘เทรเวอร์ มัลลาร์ด’ (Trevor Mallard) โฆษกรัฐสภานิวซีแลนด์นั่นเอง โดยเขาได้ทวิตเตอร์ถามความคิดเห็นต่อเพลงต่าง ๆ และขอให้ประชาชนคัดเลือกเพลงที่จะนำไปเปิดผ่านลำโพงเพื่อขับไล่ผู้ชุมนุมด้วย แต่ก็มีรายงานอีกเช่นกันว่า บางเพลงอย่างเช่น “You’re Beautiful” นั้นถูกเปิดบ่อยครั้งจนผู้ชุมนุมถึงกับโบกไม้โบกมือและร้องเพลงตามได้ในที่สุด
และแน่นอนว่า ผู้ชุมนุมก็ยังคงปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภาเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการชุมนุมครบ 1 สัปดาห์แล้ว ในขณะที่การชุมนุมต่อต้านมาตรการการบังคับการแพร่ระบาดในหลาย ๆ ประเทศก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ซึ่งน่าสนใจตรงที่ว่า ทางการเลือกที่จะไม่ใช่ความรุนแรงเพื่อขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ แต่กว่าการชุมนุมจะจบ เชื่อว่าทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนน่าจะโดน Earworm กันไปคนละเพลงสองเพลงแน่นอน
ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด จะสามารถควบคุมจนทำให้มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม และผู้เสียชีวิตต่ำ แต่การบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด เช่น การปิดพรมแดน ทำให้ชาวนิวซีแลนด์ที่อยู่ต่างประเทศไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศที่ไม่พอใจมาตรการของรัฐ นำไปสู่การชุมนุมประท้วงในหลาย ๆ ประเทศ
ในขณะที่ ‘จาซินดา อาร์เดิร์น’ (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะดำเนินการผ่อนปรนมาตรการเปิดพรมแดนอีกครั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส