หากใครเคยได้ดู ‘Kung Fu Hustle’ หรือ ‘คนเล็กหมัดเทวดา‘ ในปี 2004 คงจะจดจำสถานที่สำคัญของเรื่องอย่าง ‘ตรอกเล้าหมู (Pig Sty Alley)’ ได้เป็นอย่างดี แม้ภาพรวมของ Kung Fu Hustle จะเป็นการบอกเล่าบรรยากาศของเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุคที่เต็มไปด้วยอันธพาลครองเมือง แต่ ‘ตรอกเล้าหมู’ ชุมชนแออัดแหล่งรวมปรมาจารย์กังฟูที่เกษียณแล้ว ถือเป็นสถานที่ที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้อย่างแท้จริง
ครั้งหนึ่ง โจว ซิงฉือ (Stephen Chow) นักแสดงนำและผู้กำกับของเรื่อง เคยบอกเล่าถึงที่มาของการออกแบบตรอกแห่งนี้ว่า เขาตั้งใจทำออกมาให้เป็นชุมชนย่านชานเมืองที่เต็มไปด้วยคนหาเช้ากินค่ำ และมีการสะท้อนถึงความแออัดในสังคมจีนยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุมชนที่เขาเคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก บวกกับไอเดียจากภาพยนตร์ของสตูดิโอ Shaw Brothers ปี 1973 อย่าง ‘The House of 72 Tenants’ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้โจว ซิงฉือสร้างสรรค์ตรอกเล้าหมูแห่งนี้ขึ้นมา
“ตรอกเล้าหมูเป็นเหมือนสถานที่ที่ผมเคยอาศัยอยู่ในอดีต มันมีรูปร่างเหมือนกันเลย อาคารก็เป็นแบบเดียวกันเป๊ะ สถานการณ์หรือการใช้ชีวิตก็แทบจะถอดออกมาจากช่วงวัยเด็กของผมเลย มันเป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ร่วมกัน” โจว ซิงฉือเล่าถึงที่มาของตรอกแห่งนี้
ว่ากันว่าโจว ซิงฉือ ได้รับอิทธิพลในหลาย ๆ สิ่งมาจาก ‘เมืองกำแพงเกาลูน (Kowloon Walled City)’ ชุมชนแออัดที่มีจริงในฮ่องกง โดยตัวอย่างชั้นดีที่น่าจะตอบสมมติฐานนี้ ก็คือฉากหนึ่งของ Kung Fu Hustle ตอนที่ลูกบ้านต่างลงมาบริเวณลานด้านล่างเพื่อกดน้ำใช้ แต่เจ๊สี่เจ้าของตึกดันมาปิดวาล์วน้ำ ซึ่งฉากนี้เหมือนเป็นการสะท้อนเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงในชุมชนเมืองกำแพงเกาลูน สมัยที่ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาจากรัฐได้ จึงต้องอาศัยการขุดน้ำบาดาลจากข้างล่างขึ้นมาใช้บริโภคแทน
อีกทั้งเส้นเรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวของแก๊งมาเฟียคุมเมือง ก็สะท้อนมาจากสภาพสังคมในเมืองกำแพงเกาลูนที่เคยถูกควบคุมโดยกลุ่มอั้งยี่ จึงทำให้พื้นที่ในอดีตแห่งนี้มีอัตราการค้าประเวณี การพนัน และการใช้ยาเสพติดสูงที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง
การออกแบบตรอกเล้าหมูที่ใช้ในการถ่ายทำ ถูกสร้างขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2003 และใช้เวลาร่วม 4 เดือนกว่าจะแล้วเสร็จ ตัวอาคารถูกออกแบบเป็นตัว U เหมือนกับคอกหมู ด้านงานสถาปัตยกรรมมาในแบบสไตล์โคโลเนียลซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 1930 อีกทั้งอุปกรณ์ประกอบฉากมากมาย เช่นเฟอร์นิเจอร์ หรือข้าวของเครื่องใช้ภายในและนอกอาคาร ก็เป็นของเก่าที่ทีมงานหามาจากทั่วประเทศจีน
อ้างอิง:
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส