ในวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2565) วงการบันเทิงไทยได้สูญเสียนักร้อง นักดนตรีและ นักแสดงอาวุโสมากฝีมือไปอีกท่านนั่นคือ “อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา” ที่ได้เสียชีวิตในวัย 77 ปี หลังจากรักษาตัวด้วยโรคมะเร็งปอด
ในด้านดนตรีนั้น “อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา” คือบุคคลสำคัญที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย ด้วยการนำเอาอิทธิพลของงานดนตรีในสไตล์สตริงคอมโบจากทางตะวันตก เข้ามาเติมรสชาติความเป็นไทยถ่ายทอดผ่านวงดนตรีระดับตำนานที่มีชื่อว่า ‘ดิ อิมพอสซิเบิ้ล’ มีบทเพลงอันน่าประทับใจและอยู่ในใจผู้ฟังมากมายอาทิ “เป็นไปไม่ได้” “ชื่นรัก” “ทะเลไม่เคยหลับ” และ “โอ้รัก” เป็นต้น มีผลงานทั้งหมด 5 สตูดิโออัลบั้ม แต่ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์นั้นมีมากมายนับได้มากกว่าครึ่งร้อยโดยมีภาพยนตร์เรื่อง “โทน” ผลงานการกำกับของ ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่วงดิ อิมพอสซิเบิ้ลทำเพลงประกอบให้
ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เคยมีโอกาสฟังอาต้อยร้องเพลงสด ๆ เสียงร้องอันไพเราะ น้ำเสียงอันนุ่มนวล อบอุ่นและเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกอันละมุนนั้นยังตราตรึงอยู่ในใจ ทำให้ผู้เขียนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอาต้อย เศรษฐาถึงได้รับความนิยมชมชอบจากแฟน ๆ ชาวไทยทุกรุ่นทุกยุคทุกสมัยมาอย่างเหนียวแน่นขนาดนี้
ส่วนในด้านการแสดงนั้นอาต้อย เศรษฐาได้ฝากผลงานการแสดงที่น่าประทับใจเอาไว้มากมาย แค่เพียงได้แสดงเรื่องแรก “ฝ้ายแกมแพร” ในปี 2518 ก็ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมแล้ว จากนั้นอาต้อย เศรษฐาก็ได้ฝากฝีมือการแสดงหลากหลายไม่ว่าจะเป็นบทดี บทร้าย บทตลก ส่งผลให้มีผลงานออกมามากมายจวบจนปัจจุบันทั้งภาพยนตร์และละครร่วม 100 กว่าเรื่อง
หากนับจำนวนบทเพลงและผลงานการแสดงทั้งหมดที่อาต้อย เศรษฐาได้ฝากเอาไว้ ใครต่อใครคงบอกว่ามันคงเป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” ที่ใครสักคนจะสร้างสรรค์มันไว้ได้อย่างมากมายอีกทั้งยังงดงามและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพขนาดนี้ แต่อาต้อย เศรษฐาก็ได้ทำให้พวกเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่อาจ “เป็นไปไม่ได้” นั้นสามารถ “เป็นไปได้” ด้วยความรัก ความมุ่งมั่นและทุ่มเท และต่อไปนี้คือเรื่องราวของศิลปินในตำนานของวงการบันเทิงไทย “อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา”
จากจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางแห่งเสียงดนตรี
เศรษฐา ศิระฉายา เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 จังหวัดพระนคร จบมัธยมปลายจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรโครงการพิเศษ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหงระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต MBA มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
เศรษฐาเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุประมาณ 16 ปี ด้วยการขนเครื่องดนตรีในวงดนตรีตามคำชักชวนของน้าชายของเขาคือ ‘สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์’ อดีตพระเอกภาพยนตร์ชื่อดังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเอกละครเวที พันท้ายนรสิงห์ และ ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง สุภาพบุรุษเสือไทยและแม่นาคพระโขนง
จาก “หลุยส์กีต้าร์เกิร์ล” สู่ “ดิอิมพอสซิเบิ้ล”
ต่อมาเศรษฐาได้ฝึกหัดทักษะด้านดนตรีแบบครูพักลักจำและเล่นดนตรีอยู่ที่แคมป์ทหารอเมริกันที่อุบลราชธานี วงที่เล่นอยู่ตอนนั้นชื่อ “หลุยส์กีต้าร์เกิร์ล” ซึ่งตั้งชื่อให้พ้องกับวง “หลุยส์ กีตาร์บอย” ที่เล่นอยู่ที่กรุงเทพ ฯ และด้วยเหตุที่ว่านักร้องของวงนั้นเป็นผู้หญิงด้วยก็เลยตั้งชื่อว่า “หลุยส์กีต้าร์เกิร์ล” ได้ค่าตัวคืนละ 100 บาท เมื่อทหารอเมริกันพากันกลับบ้าน วงก็เลยยุบ เศรษฐาจึงเข้ามากรุงเทพ ฯ
ในช่วงแรกที่เข้ามากรุงเทพ ฯ เศรษฐายังเป็นนักดนตรีตกงาน อยู่วันหนึ่งไปนั่งกินข้าวมันไก่ที่ร้านแถว ๆประตูน้ำ จึงได้เจอกับนักดนตรีอีกสองคน คือ พิชัย ทองเนียม และ วินัย พันธุรักษ์ พอคุยไปคุยมาเห็นว่าตกงานเหมือนกันก็เลยรวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งวงดนตรี “Holiday J-3” มีวินัย พันธุรักษ์, พิชัย ทองเนียม, อนุสรณ์ พัฒนกุล และสุเมธ อินทรสูต ซึ่งที่มาของชื่อมาจากการรวมกันของคำว่า Holiday ซึ่งเป็นชื่อบาร์ที่เล่นอยู่ ส่วน J คือจุ่นซึ่งเป็นเจ้าของบาร์ ส่วน 3 นั้นเป็นสาขา 3 และเล่นเพลงสากลเป็นหลัก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น “จอยท์ รีแอ็กชัน (Joint Reaction)” เล่นดนตรีเพลงสากลที่มีชื่อเสียง เช่น เพลงของคลิฟ ริชาร์ด, เอลวิส เพรสลีย์ บางเพลงนำทำนองเพลงต่างประเทศที่เป็นที่นิยม มาแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาไทย เช่นเดียวกับวงอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เช่น ซิลเวอร์แซนด์, รอยัล สไปรท์ส เล่นดนตรีตามไนต์คลับต่าง ๆ วงจอยท์ รีแอ็กชั่น ได้เข้าร่วมการประกวดวงสตริงคอมโบ ซึ่งจัดโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ปีติดต่อกัน และวงได้มีโอกาสเดินทางไปเล่นต่างประเทศเช่นในสแกนดิเนเวีย และ ฮาวาย
ต่อมาวงได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “ดิอิมพอสซิเบิ้ล” (The Impossibles) ซึ่งเป็นชื่อการ์ตูนชื่อดังของอเมริกาในสมัยนั้นคือ The Impossibles (1966) โดยเศรษฐารับบทบาทเป็นนักร้องนำ ในช่วงเวลานั้นคือยุคของการเปลี่ยนถ่ายเพลงไทย แนวทางที่นิยมนั้นมีสุนทราภรณ์ของครูเอื้อทางหนึ่ง แนวเพลงลูกกรุงแบบสุเทพหรือชรินทร์อีกทางหนึ่ง ส่วนดิอิมพอสซิเบิ้ลก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เกิดจากการผสมผสานแนวทางแบบครูเพลงที่เขียนเพลงให้เหมือนกันกับที่เขียนเพลงให้ สุเทพ และ ชรินทร์ แต่มีการเรียบเรียงใหม่ในสไตล์ตะวันตก มีเสียงประสานและรูปแบบทางดนตรีในแบบสตริงคอมโบของตะวันตก ทำให้เป็นสิ่งที่ใหม่มากในยุคนั้นทำให้ดิอิมพอสซิเบิ้ลกลายเป็นวงดนตรีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายทางดนตรี เฉกเช่นเดียวกันกับวงการภาพยนตร์ที่เปี๊ยก โปสเตอร์เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยด้วยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘โทน’ (2513) ซึ่งมีแนวทางที่แปลกใหม่จากภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น จากนั้นดิอิมพอสซิเบิ้ลก็ได้ออกผลงานสตูดิโออัลบั้มออกมา 5 อัลบั้มด้วยกันคือ เป็นไปไม่ได้ (พ.ศ. 2512) จันทร์เพ็ญ (2514) หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม (พ.ศ. 2516) Hot pepper (พ.ศ. 2518) และ ผมไม่วุ่น (พ.ศ. 2520)
“ดิอิมพอสซิเบิ้ล” แห่งโลกภาพยนตร์
เมื่อบทเพลงและเสียงดนตรีของดิอิมพอสซิเบิ้ลได้เข้ามาปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง ‘โทน’ ของเปี๊ยก โปสเตอร์ ตัวภาพยนตร์และดนตรีจึงต่างส่งเสริมซึ่งกันและกันจนโด่งดังกันทั้งสองฝ่าย และจากนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนให้เศรษฐาและวงดิอิมพอสซิเบิ้ลได้เข้ามาสัมผัสกับโลกภาพยนตร์ หลังจากนั้นดิอิมพอสซิเบิ้ลจึงได้บรรเลงเพลงประกอบภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง อาทิ ดวง (2514), สวนสน (2514), ระเริงชล (2515), ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) ฯลฯ และกลายเป็นวงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ตัวอย่างเพลงประกอบภาพยนตร์ของดิอิมพอสซิเบิ้ลที่ขึ้นชั้นคลาสสิกนั้นมีมากมายเช่น เพลง “ทะเลไม่เคยหลับ” ของครูแจ๋ว สง่า อารัมภีรกับครูชาลี อินทรวิจิตร ที่ประกอบภาพยนตร์เรื่อง สวนสน (2514) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ผู้แต่งคือครูแจ๋วได้ออกกองถ่ายและไปนั่งดูทะเล เห็นคลื่นสาดครืน ๆ ตลอดเวลา แล้วก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่า “เอ้…ทะเลมันไม่หลับเลยนะ” จากนั้นจึงกลายเป็นบทเพลง “ทะเลไม่เคยหลับ”
จากนั้นมาเสียงดนตรีของดิอิมพอสซิเบิ้ลได้กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการภาพยนตร์ไทย เพลงของดิอิมพอสซิเบิ้ลส่งเสริมตัวหนัง ตัวหนังเองก็ส่งเสริมเพลงของดิอิมพอสซิเบิ้ลด้วย โดยเพลงจะเผยแพร่ก่อนหนังฉาย เมื่อเพลงดังก็จะทำให้คนอยากไปดูหนังเรื่องนั้น ๆ ด้วย
เข้าสู่โลกของการแสดง
ปี พ.ศ. 2518 หลังกลับมาจากการไปทัวร์ที่ต่างประเทศ เศรษฐาก็ได้รับการชักชวนจาก จุรี โอศิริ ให้มาแสดงภาพยนตร์อย่างจริงจังครั้งแรกคือเรื่อง ฝ้ายแกมแพร (2518) แต่ก็ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาครองจากผลงานดังกล่าวในทันที และในปีถัดมา พ.ศ. 2519 ดิอิมพอสซิเบิ้ลก็ประกาศยุบวงอย่างเป็นทางการ เศรษฐาจึงก้าวเข้าสู่โลกของการแสดงอย่างเต็มตัว มีบทบาทโดดเด่นทั้งการเป็นพิธีกรและนักแสดง นับเป็นดารายอดฝีมือคนหนึ่งซึ่งสามารถรับบทบาทได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นบทดี บทร้าย บทตลก ส่งผลให้มีผลงานออกมามากมายจวบจนปัจจุบัน อาทิ พ่อม่ายทีเด็ด (2520) มนต์รักแม่น้ำมูล (2520) รักคุณเข้าแล้ว (2520) แผลเก่า (2520) และ เก้าล้านหยดน้ำตา (2520) ที่ได้แสดงร่วมกับนักร้องชื่อดังแห่งยุคอีกท่านหนึ่งคือ ‘ดอน สอนระเบียบ’ และได้ออกแผ่นเสียงร่วมกันคืออัลบั้ม “เก้าล้านหยดน้ำตา” ที่มีการนำเอาเพลงดัง ๆ จากต่างประเทศมาใส่เนื้อร้องภาษาไทยโดยครูจงรัก จันทร์คณาและ อ.กวี สัตโกวิท โดยเพลงหน้า A กับ หน้า B จะเป็นเพลงที่มาจากต้นฉบับเดียวกันแต่เขียนเนื้อร้องไม่เหมือนกัน หน้า A จะเป็นของเศรษฐา ศิระฉายา หน้า B เป็นดอน สอนระเบียบ และอีกหนึ่งผลงานการแสดงของเศรษฐาที่นับว่าโดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง ชื่นรัก (2522) ซึ่งเขาได้รับบทพระเอกประกบคู่กับ ‘อรัญญา นามวงศ์’ นางเอกชื่อดัง เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ชีวิตกันในเวลาต่อมา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 เศรษฐา ศิระฉายา ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) และในช่วงบั้นปลายชีวิต เศรษฐาได้เข้ารับการรักษามะเร็งปอด หลังจากตรวจพบใน พ.ศ. 2562 ระหว่างนั้นในปี พ.ศ. 2564 เขาเคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 แต่ได้รับการรักษาจนไม่มีเชื้อโควิดในร่างกายแล้ว แต่ในที่สุดเศรษฐาก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 หลังจากกลับไปรักษาอาการมะเร็งปอดด้วยเคมีบำบัด สิริอายุ 77 ปี
ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของอาต้อย เศรษฐา ศิระฉายากับการจากไปของปูชนียบุคคลของวงการบันเทิงไทยท่านนี้ และขอระลึกถึงคุณงามความดีและผลงานอันเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและความงามของอาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินผู้สร้างสรรค์สิ่งที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ให้ ‘เป็นไปได้’
อ้างอิง
เสียงจากใจ ‘เศรษฐา ศิระฉายา’ และ ‘The Impossibles’
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส