แม้ว่าภาพยนตร์อเมริกัน ‘Breakfast at Tiffany’s’ หรือในชื่อไทยว่า ‘นงเยาว์นิวยอร์ค’ ผลงานภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายจากปลายปากกาของนักเขียนนามอุโฆษ ‘ทรูแมน คาโพตี’ (Truman Capote) ที่ลงโรงฉายเมื่อปี 1961 จะเป็นหนังที่ได้รับคำชื่นชมจนได้รับรางวัลออสการ์ถึง 2 รางวัล และเป็นหนังที่ทำให้นักแสดงนำอย่าง ‘ออเดรย์ เฮปเบิร์น’ (Audrey Hepburn) กลายเป็นภาพจำสุดคลาสสิก ทั้งในแง่ของการแสดง และการแต่งกายที่กลายเป็นแฟชันไอคอนของโลกภาพยนตร์ในเวลาต่อมา
แต่แม้ว่าออเดรย์ เฮปเบิร์นและตัวหนังจะถูกยกให้เป็นความคลาสสิก แต่ในอีกมุมหนึ่ง หนังเรื่องนี้ก็ยังมีปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีตเนื่องจากการ “เหยียดเชื้อชาติ” อันเนื่องมาจากชุดความคิดเหมารวมเกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติจากมุมมองมาตรฐานความงาม ที่ชาวตะวันตกมองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและความสวยงามทั้งปวง (Eurocentric) และเกิดอคติหรือความตลกขบขันต่อสิ่งที่ไม่ใช่ตะวันตก แม้ว่าคนในยุคสมัยนี้จะเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ดูเหมือนตราบาปนี้ก็ยังคงถูกบันทึกเอาไว้ในฟิล์มอย่างที่ไม่มีวันลบออกไปได้ง่าย ๆ
ตัวละครและฉากที่มีปัญหานั้นก็คือ ตัวละครชาวญี่ปุ่นในภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ (Mr. Yunioshi) เจ้าของบ้านในนิวยอร์กที่ ‘ฮอลลี โกไลต์ลี’ (Holly Golightly นำแสดงโดย Audrey Hepburn) ไปอยู่อาศัย ที่แสดงโดยนักแสดงชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ ‘มิกกี รูนีย์’ (Mickey Rooney) นั่นเอง ซึ่งเป็นตัวละครที่สะท้อนมุมมองความเป็น Eurocentric อย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะใช้ชาวอเมริกันมาแสดงเป็นคนญี่ปุ่นโดยที่ไม่ยอมใช้คนญี่ปุ่นจริง ๆ มาแสดงแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยการแต่งกายและการแสดงที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกขบขันของชาวตะวันตก ทั้งการเมกอัปย้อมผิวให้กลายเป็นคนผิวเหลือง ใส่ฟันปลอมให้ดูฟันเหยิน ใช้เทปกาวติดตาให้ดูเหมือนคนตาตี่ และพูดภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น (ปลอม ๆ ) แบบโอเวอร์แอกติงเกินจริง
หนังเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์มุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ และเรื่องของการเหยียดชนชาติอีกครั้ง เมื่อ ‘Channel 5’ เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีของสหราชอาณาจักร ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายทางทีวี แต่แทนที่สถานีจะจัดการกับฉากที่มีปัญหาด้วยการเซนเซอร์ เบลอฉาก ขึ้นคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ หรือตัดบางฉากที่มีปัญหาออกไปเล็กน้อยแต่ ‘Channel 5’ ตัดสินใจ “หั่น” หรือสั่งตัดฉากตัวละครของ ‘มิสเตอร์ยูนิโอชิ’ ที่ปรากฏในหนังออกทุกฉาก แม้แต่ฉากที่ปรากฏแต่เสียงพูดก็ยังถูกตัดออกจนเหี้ยนแทบไม่เหลือซาก
และที่สำคัญคือ การหั่นตัวละครมิสเตอร์ยูนิโอชิออกไปทั้งเรื่อง ก็มีผลทำให้เนื้อหาบางส่วนหายไปด้วย โดยเฉพาะฉากที่เขาสนทนากับฮอลลี ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในฉากเด่นของหนัง เป็นฉากที่ยูนิโอชิสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยความโมโหเพราะเสียงกดออดของฮออลีเพราะลืมกุญแจเข้าห้อง และรวมถึงบทสนทนาของฮอลลีที่พูดกับยูนิโอชิว่า “ที่รัก อย่าโกรธฉันเลยนะคะพ่อหนุ่มร่างเล็ก ฉันสัญญาว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก ถ้าคุณไม่โกรธ ฉันจะยอมให้คุณถ่ายรูปแบบที่เราเคยตกลงกันไว้” ก็ถูกตัดออก แม้แต่ช็อตที่มีเฉพาะเสียงพูดของยูนิโอชิก็ยังถูกตัดออกไปจนหมด
แม้ตัวสถานีจะตัดสินใจตัดฉากตัวละครนี้ออกไปจนเกลี้ยงเพราะประเด็นสังคมทีี่อ่อนไหว แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวาง เพราะหนังเรื่องนี้เคยถูกฉายทางทีวีหลายครั้ง โดยใช้วิธีการขึ้นคำเตือนเกี่ยวกับประเด็นด้านการเหยียดเชื้อชาติในฉากที่มีตัวละครนี้ หรือตัดบางฉากออกไปเล็กน้อย แต่นี่คือครั้งแรกที่มีการตัดตัวละครทิ้งออกไปทั้งเรื่องเลย ซึ่งในมุมของสถานีและคนดูก็อาจจะรู้สึกว่าปลอดภัย แต่ในมุมมองของคนทำภาพยนตร์ นี่อาจเป็นการ “รื้อสร้าง” ประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ที่อันตรายกว่าเดิมหรือไม่
‘เทอร์รี กิลเลียม’ (Terry Gilliam) อดีตทีมงานนักแสดงตลก ‘มอนตี ไพธอน’ (Monty Python) และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจเซนเซอร์ในครั้งนี้ว่า “การเซนเซอร์ในทุกวันนี้ ดูเหมือนจะเติบโตมากในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหราชอาณาจักร แต่การนำของตัวละครที่ผ่านการตรวจของหน่วยงานเซนเซอร์ในอดีตแล้วมาแก้ใหม่ ดูจะเป็นเรื่องไร้สาระและอันตรายมาก ใครให้สิทธิ์พวกเขาในการเซนเซอร์วะ ? “
ส่วน ‘ฌอน เฮปเบิร์น เฟอเรอร์’ (Sean Hepburn Ferrer) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และบุตรชายของนักแสดงนำอย่างออเดรย์ เฮปเบิร์น กล่าวว่า “สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นก็คือ ทุกอย่างเกิดขึ้นจากมุมมองของคนในยุคนั้นที่ถูกมองด้วยขอบเขตจำกัด ราวกับว่าตัวเรา หรือคนยุคเราเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือสิ่งที่หนังเป็นอยู่ คุณต้องมองหนังด้วยมุมมองของผู้คนในตอนนั้น ไม่ใช่มุมมองของคนสมัยนี้ และคุณควรใส่คำเตือนว่าเป็นหนังที่สร้างขึ้นในปี 1961 เพราะมันเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในเวลานั้น”
แต่ทางด้านของ ‘เซอร์ ริชาร์ด อายร์’ (Richard Eyre) ผู้กำกับภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และอดีตผู้อำนวยการโรงละครแห่งชาติ (National Theatre) กรุงลอนดอน กลับให้ความเห็นในทางตรงกันข้าม “นอกจากออเดรย์ เฮปเบิร์นแล้ว ในหนังไม่มีอะไรที่ดีเลย การแสดงของมิกกี รูนีย์ (มิสเตอร์ยูนิโอชิ) ชวนให้น่าโมโหสุด ๆ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะทำกับหนังเรื่องนี้ก็คือ เอาฟิล์มไปเผาทิ้ง”
จริง ๆ แล้วเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องมุมมองการเหยียดเชื้อชาติในภาพยนตร์ ‘Breakfast at Tiffany’s’ ก็มีมาโดยตลอดตั้งแต่ที่ออกฉายใหม่ ๆ เพียงแต่ไม่ได้พูดถึงในวงกว้างเหมือนสมัยนี้ นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งได้ระบุว่า การแสดงของ มิกกี รูนีย์ ในบทมิสเตอร์ยูนิโอชิ ถือเป็นภาพการเหยียดชาวเอเชียที่น่ารังเกียจที่สุด
แม้แต่ ‘เบลก เอ็ดเวิร์ดส์’ (Blake Edwards) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เคยให้ความคิดเห็นว่า เขาเห็นด้วยว่าตัวละครนี้มีปัญหาที่ย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเขาย้อนเวลากลับไปได้ ก็จะไม่ทำแบบนั้นในหนัง รวมทั้งมิกกี รูนีย์ เจ้าของบทที่มีปัญหานี้ก็เคยแสดงความคิดเห็นไว้ก่อนเสียชีวิตในปี 2014 ว่า หากเขารู้ว่าบทนี้จะมีปัญหา เขาอาจจะไม่ยอมรับแสดงบทบาทนี้ก็เป็นได้
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส