บางครั้งเราก็ไม่อาจประมาทอาการผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้เลย ตัวอย่างเช่นพนักงานออฟฟิศหนุ่มชาวเวลล์วัย 30 ปีคนหนึ่ง ที่รู้ตัวเองว่าเขามีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ และนำไปสู่การค้นพบว่าเขาเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ เพียงเพราะเขาขอยืมสมาร์ตวอตช์ยี่ห้อ ‘Fitbit’ จากเพื่อนมาใส่

เมื่อปี 2017 ‘ไรอัน แก็บบ์’ (Ryan Gabb) พนักงานออฟฟิศวัย 30 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองเร็กซ์แฮม (Wrexham) ทางตอนเหนือของเวลล์ จำเป็นต้องหยุดงานไปร่วมสัปดาห์ หลังจากที่เขาพบความผิดปกติของร่างกาย เนื่องจากเขาพบว่ารู้สึกมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก และมีอาการคล้ายไข้หวัด ด้วยความที่เขาต้องการอยากจะเช็กการเต้นของหัวใจให้ละเอียดขึ้น เขาจึงขอยืมสมาร์ตวอตช์ยี่ห้อ ‘ฟิตบิต’ (Fitbit) ของเพื่อนสนิทมาใส่

Fitbit
‘ไรอัน แก็บบ์’ (Ryan Gabb) (ซ้าย) และเพื่อนสนิท (ขวา) ที่ให้ไรอันยืมนาฬิกา Fitbit

และแล้วเขาก็พบกับความผิดปกติ ไรอันเล่าเรื่องราวในตอนนั้นว่า “ตัวผมรู้สึกไม่สบายมาประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้ว อาการที่ผมเจอก็มีแค่เพียงแค่รู้สึกเหนื่อยล้า และอาการคล้ายไข้หวัดที่ไม่หายสักที จนเมื่อผมรู้สึกว่าเริ่มจะหายใจไม่ออก ก็พบว่าอาการเริ่มค่อย ๆ แย่ลง ผมรู้สึกเริ่มไม่โอเค จึงขอยืม Fitbit ของเพื่อนมาใส่เพื่อตรวจสอบอัตราการเต้นหัวใจ”

Fitbit
สมาร์ตวอตช์ ‘ฟิตบิต’ (Fitbit)

และเขาก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจของเขาสูงขึ้นผิดปกติ โดยปกติแล้วเวลาอยู่เฉย ๆ คนทั่วไปจะมีอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 40-60 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น แต่ไรอันมีอัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูงขึ้นผิดปกติถึงประมาณ 100 ครั้งต่อนาที

จนเมื่อเขาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลในเดือนกันยายน 2017 แพทย์ได้วินิจฉัยว่า เขามีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ (Cardiomyopathy) สาเหตุของอาการหัวใจเต้นผิดปกติของไรอัน เกิดจากภาวะหัวใจโต (Dilated Cardiomyopathy) ที่เกิดขึ้นจากหัวใจห้องล่างซ้ายขยายตัว และผนังห้องหัวใจบางลง ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ในที่สุด สาเหตุอาจเกิดได้จากพันธุกรรม ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อไวรัส และการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาการนี้พบได้ในชาวอังกฤษถึงประมาณ 260,000 คน

Fitbit
‘ไรอัน แก็บบ์’ (Ryan Gabb)
ฃณะรักษาตัวในโรงพยาบาล

“ผมไม่อยากเชื่อในสิ่งที่ได้ยินจากหมอเลย ผมตกใจมาก ผมรู้แค่ว่าผมไม่ค่อยสบาย แต่ก็ไม่ได้หวังว่ามันจะร้ายแรงอะไรขนาดนี้”

แพทย์ได้ทำการผ่าตัดฉุกเฉินให้กับไรอันโดยทันที และแพทย์ได้แจ้งว่า ไรอันจำเป็นที่จะต้องเข้าคิวเพื่อรอผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจด้วย ในระหว่างนั้น แพทย์ได้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ช่วยหัวใจห้องล่างซ้าย (LVAD) เพื่อให้หัวใจห้องซ้ายล่างหมุนเวียนเลือดไปทั่วร่างกายเพื่อพยุงอาการเอาไว้ ทำให้เขาต้องจำยอมลาออกจากงานเพื่อมารักษาตัว โดยแพทย์ได้ลงคิวให้เขาเข้าผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018

“ผมชินกับเครื่อง LVAD แต่การรอการปลูกถ่ายนี่แหละที่เป็นเรื่องยาก แม้แพทย์จะแจ้งว่า ผมสามารถรอหัวใจจากผู้บริจาคได้อีกนาน แต่ผมก็จำเป็นต้องพกโทรศัพท์ติดตัวอยู่ตลอด และต้องการแหล่งจ่ายไฟเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้กับ LVAD ได้ เพราะผมกังวลเสมอว่าไฟอาจจะดับ”

Fitbit
‘ไรอัน แก็บบ์’ (Ryan Gabb) ขณะรักษาตัวด้วยเครื่อง LVAD

เนื่องจากว่าในอังกฤษมีผู้แจ้งความจำนงลงทะเบียนบริจาคหัวใจค่อนข้างน้อย ทำให้เขาต้องรอต่อคิวผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจนานถึง 4 ปึ จนในที่สุด เขาก็ได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายหัวใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข่าวดีก็คือ ตอนนี้อาการของเขาค่อย ๆ กลับมาปกติดี

“ตอนนี้ผมอาการดีขึ้นมาก อาจจะทำอะไรได้ไม่มาก แต่ผมหวังว่าปีหน้า ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติและได้มีเวลาเจอกับเพื่อน ๆ มากขึ้นอีกครั้งเหมือนก่อนหน้านี้ ผมเคยบริจาคเลือดและอวัยวะเมื่อตอน 18 ปี ไม่คิดเหมือนกันว่าผมจะมาอยู่ถึงจุดนี้ ผมหวังว่า คนที่ลงทะเบียนบริจาคอวัยวะจะแจ้งความประสงค์ของเขากับครอบครัวให้มากขึ้น เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่หรือใครที่อาจต้องการความช่วยเหลือ”


อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส