ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดนตรีป๊อปของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 70s-80s หรือที่รู้จักกันในนาม “ซิตี้ป๊อป” (City Pop) ได้กลายมาเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างมาก (ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมมากกว่ายุคที่มันก่อกำเนิดขึ้นมาเสียอีก) และยังคงสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ไม่สร่างซา เห็นได้จากงานเพลงของวงดนตรีรุ่นใหม่ที่มักจะมีกลิ่นอายของดนตรีซิตี้ป๊อปผสมผสานเอาไว้ไม่ว่าจะวงต่างประเทศหรือวงไทยก็มีให้ได้ยินได้ฟังกันมากมาย ด้วยความที่ดนตรีซิตี้ป๊อปนั้นมีเสน่ห์จากการผสมผสานกันของกลิ่นอายงานดนตรีที่หลากหลายทั้งดิสโก้ โซล ฟังก์ แจ๊ซ อิเล็กทรอนิกส์ ป๊อป ซินธ์ป๊อป ผสมกลมกลืนกันไปซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วจะให้ความรู้สึกด้านบวก มีความสดใส สวยงาม อาจให้สัมผัสของหน้าร้อน และฤดูใบไม้ผลิอันสดใส ผ่อนคลาย อบอุ่น อ่อนหวาน หรือในอีกด้านก็คือสีสันและแสงไฟยามค่ำคืนของมหานครที่ไม่เคยหลับใหลอันเป็นภาพสะท้อนของความเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลานั้น
อย่างในอัลบั้มชุดใหม่ “Dawn FM” ของ The Weeknd มีการใส่ความเรโทรด้วยการสร้างบรรยากาศเหมือนกับการฟังเพลงจากวิทยุโดยมีเสียงดีเจพูดคั่นในแต่ละเพลง (เจ้าของเสียงคือนักแสดงดัง จิม แครีย์ (Jim Carrey) ซึ่งเป็นเพื่อนกันกับ The Weeknd) ทำให้คิดถึงงาน compilation เพลงซิตี้ป๊อปเช่นชุด “Come Along I และ II” ของ ทัตสึโระ ยามาชิตะ (Tatsuro Yamashita) หรือ “Summertime Romance” ของ โทชิกิ คาโดมัตสึ (Toshiki Kadomatsu) ที่มีการใส่เสียงดีเจพูดบิลท์ระหว่างเพลงแบบนี้เช่นกัน นอกจากนี้ที่พิเศษสุด ๆ เลยคือในแทร็กที่ 7 จากอัลบั้ม “Dawn FM” คือเพลง “Out of Time” บทเพลงกลิ่นอาย R&B ยุค 80s สุดคลาสสิกนั้นมีการใช้แซมเปิลจากเพลง “Midnight Pretenders” ของศิลปินชาวญี่ปุ่น โทโมโกะ อารัน (Tomoko Aran) หนึ่งในศิลปินหญิงคนสำคัญแห่งยุคซิตี้ป๊อปด้วย ทำให้เห็นได้เลยว่าอิทธิพลของเพลงซิตี้ป๊อปนั้นยังแรงดีไม่มีตกเลยจริง ๆ
“Midnight Pretenders” คือหนึ่งในเพลงเอกจากอัลบั้ม ‘Fuyu-Kukan’ ของ โทโมโกะ อารัน ที่เพิ่งมีการ re-issue กันสด ๆ ร้อน ๆ ในรูปแบบของแผ่นเสียงให้แฟน ๆ ซิตี้ป๊อปได้จับจองเป็นเจ้าของกันในราคาย่อมเยาว์ (เพราะแผ่นออริจินัลในปี 1983 ที่ขายมือสองกันในตอนนี้ราคาแรงมากกก) อัลบั้มชุดนี้คือนวัตกรรมแห่งยุคที่มีองค์ประกอบของดนตรีซิตี้ป๊อปที่ผสมกันไปกับนิวเวฟและร็อก เพลงเร็วก็จี๊ดจ๊าดจัดจ้านด้วยซาวด์ดนตรีที่มีสีสันและล้ำ ส่วนเพลงช้าก็มีความไพเราะกลมกล่อมชวนเคลิบเคลิ้ม และนี่ก็คือส่วนผสมอันมีเสน่ห์ที่ทำให้อัลบั้มนี้มีความเป็นอมตะ
อัลบั้มชุดนี้มีเพลงดีฟังเพลินมากมาย หากใครชอบความเร้าใจมีบีตมีจังหวะชวนโยกหน่อยก็ต้อง “Body To Body” หรือ “Hitonatsu no Tapestry “ ส่วนใครเป็นสาย mellow หวาน ๆ สไตล์ซิตี้ป๊อปถ้าฟัง “I’m In Love” หรือ “Midnight Pretenders” รับรองไม่มีผิดหวัง ‘Fuyu-Kukan’ มีกำหนดวางจำหน่ายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์พร้อมให้ทุกคนจับจองแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถฟังได้ทางสตรีมมิงต่าง ๆ อีกด้วย
‘Fuyu-Kukan’ อำนวยการสร้างและเรียบเรียงโดย มาซาโตชิ นิชิมูระ ที่ต่อมาเป็นหนึ่งในสมาชิกวงร็อก ‘Fence of Defense’ ซึ่งจะเริ่มปล่อยผลงานตั้งแต่ปี 1985 และมีเพื่อนร่วมวงคือ เคนจิ คิตาจิมะ (Kenji Kitajima) มือกีตาร์ และ วาตารุ ยามาดะ (Wataru Yamada) มือกลอง ซึ่งทั้งสองคนนี้ได้มาช่วยนิชิมูระทำอัลบั้มชุดนี้ด้วยกัน โดยนิชิมูระจะดูแลภาคดนตรีส่วนอารันจะดูแลในส่วนของเนื้อเพลงเกือบทั้งหมด และมีเท็ตสึโระ โอดะ (Tetsuro Oda) เป็นคนแต่งเพลงฮิต “Midnight Pretenders” โดยอัลบั้มนี้มีการผสมผสานแนวเพลงซิตี้ป๊อปเข้ากับดนตรีนิวเวฟ ร็อก และมีการใส่ซาวด์แนวทดลองเข้ามาผสมด้วย
หน้าปกอัลบั้มชุดนี้เป็นที่จดจำมาก ๆ เป็นปกที่เห็นแว้บเดียวแล้วก็รู้สึกสะดุดตาและโดนใจสุด ๆ ปกอัลบั้มชุดนี้มีความเข้ากันกับเพลงในอัลบั้มนี้มาก ๆ และก็น่าแปลกใจที่อัลบั้มอื่น ๆ ของอารันไม่ได้มีปกไหนที่ใช้สไตล์แบบนี้เลย รูปลักษณ์ของปกทำให้เห็นได้ถึงแนวทางของอัลบั้มนี้อย่างชัดเจน อารันในชุดเสื้อชมพูสดใสและกางเกงขาวสว่างกับท่าทางเนิร์ด ๆ กำลังเอามือเลื่อนไปดันแว่นให้เข้าที่ ที่หน้าตักมีเครื่องพิมพ์ดีดสีแดงแปร๊ดและกระดาษสีชมพูสด นั่งอยู่ในห้องกริดสีน้ำเงินเย็นฉ่ำเหมือนเป็นห้องน้ำสุดล้ำในโลกดิจิทัลซึ่งเข้ากันดีกับฟอนต์ตัวอักษรคอมพิวเตอร์ มันช่างดูไม่คล้ายกับปกอัลบั้มซิตี้ป๊อปอื่น ๆ สักเท่าไหร่แถมจะออกไปในแนวของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สุดล้ำเสียมากกว่า
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าหากจะบอกว่าอัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มซิตี้ป๊อปก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก เพราะนอกจากเพลงที่กล่าวมาแล้วอย่าง “Midnight Pretenders” “I’m in Love” และเพลง “Hitonatsu no Tapestry” ที่มีความเป็นซิตี้ป๊อป /AOR แล้ว เพลงอื่น ๆ กลับมีแนวทางดนตรีที่เป็นเพลงนิวเวฟและร็อกเสียมากกว่าอย่างเช่นแทร็กเปิดอัลบั้ม “Body To Body” ซึ่งเป็นซิงเกิลที่ 2 ของอารัน ที่โดดเด่นด้วยท่วงทำนองอันเร้าใจและสีสันจากซินธิไซเซอร์และเพอร์คัสชันพร้อมด้วยท่อนโซโล่กีตาร์สุดร็อก ! เป็นการเปิดอัลบั้มได้อย่างร้อนแรงสุด ๆ
แทร็กที่ 2 “Lonely Night” ก็ยังคงต่อด้วยอารมณ์เร้าใจสไตล์นิวเวฟอยู่ เนื้อเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่รักที่ฝ่ายชายปฏิบัติต่อฝ่ายหญิงได้ไม่ดีนัก แต่ฝ่ายหญิงก็ยังรักฝ่ายชายอย่างยากที่จะเข้าใจได้ว่าเหตุใด เนื้อเพลง แต่ดูจากดนตรีแล้วคิดฝ่ายหญิงก็คงจะไม่เศร้าเท่าไหร่เพราะออกจะเร้าใจขนาดนี้ งานดนตรีชวนให้คิดถึงวงนิวเวฟจากอเมริกาอย่าง ‘Devo’ ขึ้นมาเหมือนกัน
คั่นอารมณ์เร้าใจด้วยเพลงหวาน ๆ กันซะหน่อยกับแทร็กที่ 3 “I’m in Love” ที่ติดหูตั้งแต่ฟังรอบแรก ด้วยท่วงทำนองหวานติดหู จังหวะกีตาร์แบบฟังก์ ๆ และเสียงซินธ์อันสดใสไพเราะ คลอไปกับเสียงร้องชวนเคลิ้มของอารัน ยิ่งฟังทีไรก็ให้ความรู้สึกแบบ “I’m in Love” ทุกทีไป แถมกลางเพลงยังแอบมีท่อนโซโลสุดเร้าใจมาตัดความหวานให้ไม่เลี่ยนเกินไปอีกด้วย
ต่อด้วยแทร็กที่ 4 “Je Re N Ma (Dilemma)” เพลงนี้จะฟังดูหนืด ๆ เบา ๆ หน่อย ในแผ่นเสียงเวอร์ชันต้นฉบับในปี 1983 จะมีความแตกต่างจากเวอร์ชัน CD ของปี 1988 ที่มีการเรียบเรียงดนตรีใหม่ให้มีความหนืดลดลงและเร้าใจมากขึ้น (เปิดเพลงด้วยการใส่เสียงพิมพ์ดีดลงไปดูเข้ากับปกเลยทีเดียว) ใส่ความนิวเวฟที่ฟังดูป๊อปมากขึ้นและมีการเติมเนื้อเพลงใหม่ลงไปบางท่อนด้วย (รู้สึกว่าแผ่นเสียงที่ re-issue ใหม่น่าจะใช้เวอร์ชันของปี 1988 เพราะจากในสตรีมมิงนั้นเป็นเวอร์ชันนี้)
จากนั้นก็ปิดหน้า A ด้วย “Midnight Pretenders” ที่ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณใด ๆ ทั้งนั้น เพราะเพลงนี้คือดีงามที่สุด เป็นอีกหนึ่งเพลงชาติของซิตี้ป๊อปเลยทีเดียว และก็เพลงนี้นั่นเองที่ The Weeknd นำเอาไปแซมเปิลใช้ในเพลง “Out of Time” ซึ่งทำออกมาได้โดนใจทั้งแฟนเพลงซิตี้ป็อปและแฟนของ The Weeknd ต้องชื่นชมเท็ตสึโอะ โอดะคนแต่งและเรียบเรียงเพลงนี้ ที่ทำออกมาได้หวานติดหูมาก ๆ ต้องบอกว่าโอดะนั้นเป็นนักแต่งเพลงฝีมือดีที่มีผลงานโดนใจคนฟังมากมายอย่างเพลงธีมของดราก้อนบอล GT, สแลมดังก์, จิบิมารูโกะ หรือนักสืบจิ๋วโคนันนี่ก็เป็นฝีมือโอดะทั้งนั้น
ใน youtube มีการเอา “Midnight Pretenders” ไป mashup กับ “Out of Time” ออกมาฟังดูดีเลยทีเดียว
และที่เจ๋งไปกว่านั้นคือเอา “Midnight Pretenders” มา mashup กับ “ทหารอากาศขาดรัก” ของยอดรัก สลักใจ ซึ่งช่วงนี้กำลังมีเทรนด์การเอาเพลงลูกทุ่งไทยมาผสมกับซิตี้ป๊อปหรืองานเพลงโซล R&B เพราะ ๆ ให้ฟังอย่างมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เข้ากันดีมาก ๆ ส่วน “ทหารอากาศขาดรัก x Midnight Pretenders” นี้จะเป็นยังไงต้องลองไปฟังกันครับ
เปิดเพลงแรกหน้า B ด้วยเพลง “Hitonatsu no Tapestry” ที่มาพร้อมท่วงทำนองเร้าใจชวนโยกและโดดเด่นด้วยไลน์เบสโดดเด้งดึ๋งดั๋งสะใจจริง ๆ ไลน์เบสนี่ชวนให้คิดถึงเพลง “Get on the Floor” ของไมเคิล แจ็กสันจากอัลบั้ม ‘Off the Wall’ เลย
แทร็กต่อมา “Hannya” เปิดมาด้วยซาวด์กีตาร์อย่างร็อก เนื้อเพลงมีที่มาจากตำนานปีศาจพื้นบ้านของญี่ปุ่นชื่อ ‘ฮันเนีย’ (Hannya) ซึ่งเชื่อว่าเราน่าจะคุ้นเคยกับหน้ากากของปีศาจตนนี้ ที่มักมีเรื่องเล่าว่าหากหญิงสาวคนไหนสวมใส่หน้ากากฮันเนียเธอจะถูกครอบงำไปด้วยความขุ่นเคืองและความอิจฉาริษยา เนื้อเพลงนี้เลยเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่คิดว่าแฟนหนุ่มของเธอกำลังหลงหญิงสาวพราวเสน่ห์นางหนึ่ง เธอจึงปรารถนา (ด้วยความอิจฉาริษยา) ว่าเธอจะมีความงามเช่นเดียวกับหญิงสาวคนนี้บ้างและนั่นนำมาซึ่งความสติแตกที่เกิดขึ้นในจิตใจของเธอ (เนื้อหาของเพลงช่างดูไม่ซิตี้ป๊อปเสียเหลือเกิน)
ส่วนแทร็กต่อมา “Bye-Bye Yesterday” เป็นอีกเพลงที่ไม่ได้แต่งโดยนิชิมูระ แต่แต่งโดยมาซาโนริ ซาซาจิ (Masanori Sasaji) เป็นเพลงเทคโนสวิงที่ขี้เล่น ฟังสบายผ่อนคลายอารมณ์ (หลังจากดาร์กไปแล้วจากเพลงก่อน) อารันกำลังเพลิดเพลินกับช่วงเวลาส่วนตัวของเธอในอ่างอาบน้ำฟองสบู่กับมาร์ตินี่โดยที่ไม่ต้องไปสนใจใยดีกับแฟนหนุ่มของเธอว่าเขาจะเป็นยังไง ดูเหมือนว่าเพลงนี้อารันจะหลุดจากห้วงของความอิจฉาริษยาจากเพลงก่อนได้อย่างปลิดทิ้ง
และปิดท้ายด้วย “Baby, Don’t You Cry Anymore” เป็นเพลงที่จบอัลบั้มได้อย่างสง่างาม เสียงร้องอันไพเราะของอารันส่งลงไปบนท่วงทำนองบัลลาดป็อปที่บรรเลงเดี่ยวบนเปียโน เป็นความมินิมอลอันสง่างามที่แตกต่างจากแทร็กอื่น ก่อนที่ช่วงท้ายเพลงจะเข้ามาเต็มทุกองค์ประกอบดนตรีบิลท์อารมณ์ให้เต็มที่เหมาะแก่การปล่อยอารมณ์ซึ้งถึงใครสักคนและปลดปล่อยความรู้สึกออกมาให้สุดใจ
“Fuyu Kukan” คืออัลบั้มซิตี้ป๊อป (นิวเวฟ ร็อก) ที่ครบเครื่องครบครัน เหมาะแก่การฟังทั้งอัลบั้มเพื่อสัมผัสกับความอิ่มเอมใจจากการได้มีประสบการณ์ทางดนตรีดี ๆ เป็นอัลบั้มที่ในวันนี้จะมีอายุเกือบจะ 40 ปีแล้ว แต่ก็ยังฟังดูไม่เชย ไม่เฉิ่ม แถมยังดูสดใหม่ สดใส ซาบซ่า และเข้ากันดีกับกระแสดนตรียุคใหม่ที่พาเราหวนกลับไปมองคืนวันในอดีตด้วยดวงตาแห่งความโหยหาและดวงใจแห่งความฝันใฝ่ การกลับมา re-issue และปล่อยให้ฟังในสตรีมมิงของอัลบั้มนี้ (รวมไปถึงการที่มีศิลปินดังแซมเปิลเพลงในอัลบั้มไปใช้) จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่ากระแสดนตรีซิตี้ป๊อปนั้นยังคงสว่างไสวและเป็นที่โดนใจของนักฟังทั่วโลกต่อไปอย่างแน่นอน
Source
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส