เดอะริดเลอร์ หรือมนุษย์เจ้าปัญหาคือวายร้ายคนสำคัญใน ‘The Batman’ และกิมมิกสำคัญของเขาคือการทิ้งการ์ดปริศนาไว้ให้แบทแมนได้ไขคดี แต่รู้หรือไม่ว่าภาพการ์ตูนบนการ์ดแต่ละใบที่เหมือนจะไม่ได้มีความสำคัญกลับมีความเชื่อมโยงกับเหล่าร้ายในคอมิกของแบทแมนอย่างไม่น่าเชื่อ Beartai Buzz ขอรวบตึงการ์ดทุกใบและเฉลยว่าแต่ละใบเกี่ยวข้องกับวายร้านคนไหนบ้าง
What does a liar do when he dies?
สำหรับการ์ดใบแรกบนศพของนายกเทศมนตรี ดอน มิตเชลที่ข้อความบนหน้าปกเขียนว่า “From your secret friend Whoo?” แล้วมีรูปนกฮูกแน่นอนว่าต้องหมายถึงอีเวนต์ชื่อ “Court of OWL” ในปี 2012 บนคอมิกตอน ‘Night of Owl’ ซึ่งเป็นกลุ่มลับที่รวบรวมพวกหัวรุนแรงมาก่ออาชญากรรมในก็อตแธม โดยก่อนหน้านี้วีดีโอเกมอย่าง ‘Gotham Knights”ในปี 2020 เองก็เคยกล่าวถึงกลุ่มอาชญากรกลุ่มนี้ไปแล้ว และตามที่หลายคนคาดไว้ บทสรุปของ ‘The Batman’ ก็ดังพ้องกับกลุ่มนี้พอดีเสียด้วย
Bring the rat to the light, you may find where I’m at
สำหรับการ์ดปริศนาใบที่ 2 ที่พบบนศพของพีท ซาเวจ ที่ถูกหนูกัดจนตาย หน้าปกของมันเป็นรูปการ์ตูนนักวิทยาศาสตร์แล้วมีข้อความสำคัญที่ถือเป็นปริศนาหลักของเรื่อง โดยการ์ตูนนักวิทยาศาสตร์ก็มีความเชื่อมโยงกับตัวละคร ดร.ฮิวโก สเตรนจ์ ที่ปรากฎตัวครั้งแรกใน ‘Detective Comics # 36’ วางจำหน่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1940 รวมถึงไปปรากฎในซีรีส์ ‘Gotham’ ในฐานะตัวละครสำคัญที่อยู่เบื้องหลังเหล่าร้ายต่าง ๆ ในก็อตแธม โดยเดิมที สเตรนจ์คือผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างหมอกปกคลุมก็อตแธมเพื่อให้พวกโจรลูกสมุนออกปล้นธนาคารได้อย่างสะดวก ซึ่งก็ไม่แน่หาก ‘The Batman’ มีภาคต่อบางทีเราอาจได้เห็น ดร.ฮิวโก สเตรนจ์ก็ได้
It Can Be Cruel, Poetic, Or Blind. But When It’s Denied, It’s Violence You May Find.
มาถึงการ์ดปริศนาใบที่ 3 ที่มากับอัยการ กิล โคลสันที่ถูกเดอะริดเลอร์ผูกระเบิดแล้วบังคับให้ขับฝ่าเข้าไปยังงานศพของ นายกเทศมนตรี ดอน มิตเชล ที่หากเราสังเกตดี ๆ หน้าปกของการ์ดจะเป็นรูปผู้หญิงใส่ชุดเดรสสีเขียว ซึ่งเป็นไปได้มากว่าจะกล่าวถึงพอยซัน ไอวี หญิงสาวในชุดเขียวที่สามารถใช้พืชเป็นอาวุธรวมถึงจุมพิตมรณะของเธอ โดยพอยซัน ไอวีมีชื่อจริงว่า ดร.พาเมลา ลิลเลียน ไอสลีย์ (Dr. Pamela Lillian Isley) นักพฤกษศาสตร์ที่หมกมุ่นกับเรื่องพันธุ์พืชและมุ่งอนุรักษ์เหล่าพันธุ์ไม้จนเปลี่ยนตัวเองสู่วายร้ายทรงเสน่ห์ที่แบทแมนต้องต่อกร ปรากฎตัวครั้งแรกในคอมิก ‘Batman # 181’ วางจำหน่ายเดือนมิถุนายน ปี 1966 และเคยปรากฎตัวทั้งในหนัง ‘Batman & Robin’ ฉายปี 1997 นำแสดงโดยอูมา เธอร์แมน (Uma Thurman) และในซีรีส์ ‘Gotham’ ซีซัน 3 มีนักแสดงสวมบทบาทถึง 3 คนได้แก่ แคลร์ โฟลีย์ (Clare Foley) แม็กกี เกฮา (Maggie Geha) และเพย์ทัน ลิสต์ (Peyton List)
You Need To Answer For The Sins Of Your Father
สำหรับการ์ดปริศนาใบที่ 4 ถูกจ่าหน้าถึงบรูซ เวย์นพร้อมระเบิด โดยการ์ดเป็นรูปเด็กผู้ชายกับหุ่นเชิดซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าน่าจะหมายถึงตัวละคร สการ์เฟซ กับ เวนทริโลควิสต์ (Scarface and the Ventriloquist) แม้ชื่อจะดูเหมือนศิลปินดูโอแต่เรากำลังหมายถึง อาร์โนลด์ เวสเกอร์ (Arnold Wesker) นักเชิดหุ่นตัวละครสการ์เฟซ ซึ่งเขาจะวางแผนและใช้หุ่นเชิดของเขาในการก่ออาชญากรรม ปรากฎตัวครั้งแรกใน ‘Detective Comic#583’ วางแผงเดือนกุมภาพันธ์ ปี1988 และปรากฎตัวอีกครั้งในซีรีส์ ‘Gotham’ ซีซันสุดท้ายได้แอนดรู เซลลอน (Andrew Sellon)มารับบทนักเชิดหุ่นรายนี้
See you in hell
สำหรับการ์ดใบสุดท้ายที่นำแบทแมนไปเจอกับเดอะริดเลอร์ในสถาบันจิตเวชอาร์คัม มีเพียงดวงตาสีขาวบนพื้นสีดำซึ่งทำให้นึกถึงเจ้าแมวเชสเชียร์ใน ‘Alice in Wonderland’ ซึ่งหากเชื่อมโยงดี ๆ ก็มีตัวละครวายร้ายที่แบทแมนไปหยิบยืมชื่อมาจากวรรณกรรมชื่อกระฉ่อนดังกล่าวอย่าง แมด แฮทเทอร์ (Mad Hatter) มาปรากฎตัวครั้งแรกใน ‘Batman #49’ วางจำหน่ายเดือนตุลาคมปี 1948 โดยมีชื่อจริงคือ เจอร์วิส เทตช์ (Jervis Tetch) นักประสาทวิทยาที่ใช้เทคโนโลยีควบคุมจิตใจคน โดยแมด แฮทเทอร์ได้ปรากฎในซีรีส์ ‘Batman 66’ ได้ เดวิด เวย์น (David Wayne) มารับบทแมด แฮทเทอร์ซึ่งมีภาพจำคือการใช้ดวงตายิงเลเซอร์ที่โผล่มาจากหมวกทรงสูง และซีรีส์ ‘Gotham’ ได้ เบเนดิกต์ แซมมวล (Benedict Samuel) มารับบทดังกล่าว
แต่ก่อนจะเชื่อเป็นวรรคเป็นเวร ก่อนอื่นของออกตัวก่อนว่านี่เป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลบนหน้าการ์ดเท่านั้นนะครับ ไม่อาจเชื่อถืออะไรได้และที่สำคัญตอนจบของ ‘The Batman’ ยังมีเพื่อนร่วมห้องขังของเดอะริดเลอร์ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอีกว่าใช่ โจ๊กเกอร์ หรือไม่
อ้างอิง
Looper Looper Screenrant Looper hmong Wikipedia Wikipedia Wikipedia cosmicbook
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส