การเลือกฟังเพลงของคนเราล้วนมาจากหลายปัจจัย และในบางครั้ง เราก็เลือกฟังเพลงทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ความหมายอะไรเกี่ยวกับเนื้อเพลง หรือเนื้อเพลงไม่ใช่ภาษาที่คุ้นเคย ตัวอย่างเช่น เพลงโอเปราภาษาฝรั่งเศส เพลงซิตีป๊อป (City Pop) ภาษาญี่ปุ่น เพลงลาตินป๊อปโด่งดังอย่าง “Despacito” ที่มีเนื้อเพลงเป็นภาษาสเปน เพลงเม็กซิกันจังหวะคึกคัก เพลง K-Pop ภาษาเกาหลี เพลงภาษาฝรั่งเศส หรือแม้แต่เพลงภาษาเวียดนามและอินโดนีเซียที่ฮิตกันในแอปพลิเคชัน TikTok
แม้เราจะรู้กันดีว่า “ดนตรีคือภาษาสากล” แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเราถึงกลับเพลิดเพลินกับเพลงเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ความหมายของเนื้อเพลงเลยแม้แต่คำเดียว หรือในทางกลับกัน บางครั้งการเข้าใจเนื้อเพลงด้วยการแปลคำศัพท์หรือค้นหาความหมายของเนื้อเพลง กลับทำให้เรามีความรู้สึกต่อเพลงนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
‘ลิซา เดเซนเตเซโญ’ (Lisa Decenteceo) นักมานุษยดนตรีวิทยา* (Ethnomusicologist) แห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ดีลีมัน (University of the Philippines Diliman) ได้อธิบายคำตอบที่ซับซ้อนนี้ว่า ถ้าจะต้องอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ จะต้องรู้จักกับคำว่า ‘Sound symbolism’ หรือ ‘สัทสัญญะ’ ก่อน
ลิซาอธิบายว่า ‘Sound symbolism’ คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “เสียง” และ “ความหมาย” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะดนตรีเท่านั้น แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและความหมายที่อยู่เหนือความหมายตามหลักภาษา และสามารถก่อให้เกิดความดึงดูดใจได้ นักการตลาดจึงมักนำเอาสิ่งนี้ไปประยุกต์ในการตั้งชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากให้แบรนด์ดูเป็นมิตร สบาย ๆ ให้ใช้พยัญชนะเสียงเบา เช่น “L” หรือ “M” แต่ถ้าอยากได้ชื่อแบรนด์ที่มีความจริงจัง ให้ใช้พยัญชนะเสียงหนัก เช่น “T” หรือ “G” เป็นต้น
สอดคล้องกับสิ่งที่ ‘เธีย โทเลนติโน’ (Thea Tolentino) ครูสอนดนตรีและนักศึกษาปริญญาโทด้านดนตรีบำบัดจากเมืองเมลเบิร์น (Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่เราชอบฟังเพลงต่างประเทศ แม้จะไม่รู้ความหมายของเนื้อร้อง เป็นเพราะเรารู้สึกสนุกกับเพลง ในฐานะที่เนื้อเพลงเป็น “เสียง” (เสมือนเป็นเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่ง) ไม่ใช่ “ถ้อยความ” (ตามความหมายของคำแบบตรง ๆ )
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราตอบสนองกับเพลงต่าง ๆ ลิซาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้วัฒนธรรมและประสบการณ์ส่วนตัว จะมีผลต่อการตอบสนองของเราต่อเพลงต่าง ๆ แต่ว่าเทคนิกทางดนตรีที่ใช้ถ่ายทอดอารมณ์ ทั้งเรื่องของมาตราส่วน ชุดของโน้ต โทนเสียง หรือการแบ่งออกเตฟ (Octave) ก็มีผลต่อการตอบสนองความรู้สึกเกี่ยวกับเพลงด้วยเช่นเดียวกัน ตามที่ลิซาใช้คำอธิบายว่า “ดนตรีที่สื่อความหมายให้กับถ้อยความ”
ยกตัวอย่างเช่น เพลงที่เล่นด้วยเมเจอร์สเกล (Major Scale) มักจะมีเสียงที่สว่างสดใสกว่าเพลงที่เล่นด้วยไมเนอร์สเกล (Minor Scale) ที่รู้สึกมืดหม่น เศร้าสร้อย ซึ่งสมองของมนุษย์ที่ได้ยินเสียงเพลง ก็จะตอบสนองความรู้สึกต่อเสียงเหล่านั้นผ่านการหายใจ ความเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมทางประสาทกับสิ่งที่เราได้ยิน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงชอบฟังเพลงเร็วเวลาวิ่งออกกำลังกาย หรือทำไมร้านกาแฟระดับโลกถึงสร้างบรรยากาศเฉพาะตัว (และเพิ่มยอดขาย) ด้วยการเลือกเปิดแต่เพลงที่เราไม่รู้จัก
รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ของเสียงและดนตรีด้วย เช่น วิธีการร้อง รวมทั้งการใช้เสียง เช่น การร้องเสียงแหบ การร้องเสียงแหลม ระดับเสียง (Pitch) ท่วงทำนอง (Melody) ความกลมกลืน (Harmony) โทนเสียง (Timbre) และความดังของเสียง (Amplitude) ที่แตกต่างกัน ล้วนส่งผลกระทบทางอารมณ์ จิตใจ ความรับรู้ ความเข้าใจ หรือแม้แต่ทางกายภาพที่แตกต่างกันต่อผู้ฟัง (เช่น ฟังแล้วรู้สึกอยากลุกขึ้นเต้น ฟังแล้วรู้สึกเหงา ฯลฯ) องค์ประกอบของดนตรีจึงเป็นตัวสร้างความหมายที่เป็นอิสระเหนือความหมายของคำในพจนานุกรม เพิ่มความหมายและมิติ (ที่บางครั้งก็ซับซ้อนกว่าเนื้อเพลง) ไปสู่ผู้ที่ฟังเพลงนั้น ๆ
นอกจากองค์ประกอบของดนตรีแล้ว องค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเพลงก็มีส่วนที่ทำให้คนฟังประทับใจกับเพลง โดยที่ไม่จำเป็นต้องแคร์ความหมายได้ด้วย เช่นภาพลักษณ์ของศิลปินและนักดนตรี ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินที่แต่งชุดเป็นธีมเดียวกัน ลีลาการเต้นของศิลปิน K-Pop การเต้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ของศิลปินไอดอลญี่ปุ่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดความหมายผ่านบทเพลงได้ทั้งสิ้น
แน่นอนว่า สิ่งที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความหมายทางภาษาของเนื้อเพลงจะไม่มีความสำคัญ เพราะอย่างไรก็ตาม เนื้อเพลง (Lyrics) ก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารเรื่องราว และสะท้อนอารมณ์ผ่านบทเพลง แต่ความรู้สึกดึงดูดใจของผู้คนที่ได้ฟังเพลงเป็นครั้งแรกนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าเราจะเข้าใจคำศัพท์ของเนื้อเพลงหรือไม่ก็ตาม
*มานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับดนตรี ที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม วัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น รากฐาน การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงทางดนตรี สัญลักษณ์ ลักษณะ และวิถีการดำรงอยู่ของดนตรี บทบาทและหน้าที่ของดนตรีที่มีต่อสังคม ดนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเต้นรำ ดนตรีพื้นเมือง และรวบรวมข้อมูลในแง่พฤติกรรมมนุษย์เพื่ออธิบายว่า มนุษย์เล่นดนตรีเพื่ออะไร เล่นดนตรีอย่างไร รวมทั้งการศึกษาและวิเคราะห์บทบาทและของดนตรีกับพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส