ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงานประกาศผลรางวัล Academy Awards หรือ ‘ออสการ์ (Oscars)‘ ครั้งที่ 94 ประจำปี 2022 ที่จัดขึ้นโดยโดย ‘Academy of Motion Picture Arts and Sciences’ (AMPAS) โดยในปีนี้ จัดขึ้นเมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 มีนาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ณ ดอลบี เธียร์เตอร์ (Dolby Theatre) ฮอลลีวูด โดยในปีนี้มี ‘เรจินา ฮอลล์’ (Regina Hall), ‘เอมี ชูเมอร์’ (Amy Schumer) และ ‘แวนดา ไซก์ส’ (Wanda Sykes) เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยในปีนี้ ” ภาพยนตร์ที่คว้าสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ตกเป็นของ ‘CODA’ ภาพยนตร์สตรีมมิงของ Apple TV+ ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์จากบริการสตรีมมิงที่สามารถคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ได้เป็นครั้งแรก แซงหน้าภาพยนตร์สตรีมมิง ‘The Power of the Dog’ ตัวเก็งยักษ์ใหญ่จาก Netflix และภาพยนตร์ฉายโรงฟอร์มยักษ์ได้สำเร็จ
ส่วนภาพยนตร์มหากาพย์ไซไฟอย่าง ‘Dune’ กลายเป็นภาพยนตร์ที่สามารถยืนหนึ่ง ที่คว้ารางวัลไปได้มากที่สุดถึง 6 สาขา ได้แก่ สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects) สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography) สาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม (Best Production Design) สาขาตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film Editing) สาขาเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound) และสาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Score) จากการประพันธ์ของ ‘ฮานส์ ซิมเมอร์’ (Hans Zimmer) ซึ่งเป็นการรับรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่สองในชีวิต หลังจากที่เคยได้มาแล้วจากผลงานสกอร์ภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘The Lion King’ (1994) และชวดจากการเข้าชิงรางวัลมาแล้วถึง 12 ครั้ง
ส่วน ‘อาเรียนา เดโบซ’ (Ariana DeBose) ก็สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นนักแสดงเควียร์ผิวสีคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress) ได้สำเร็จ จากผลงานภาพยนตร์มิวสิคัล ‘West Side Story’ ที่กำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg)
และนักแสดงอีกคนที่สร้างประวัติศาสตร์ก็คือ ‘ทรอย คอตเซอร์’ (Troy Kotsur) ในฐานะนักแสดงชายหูหนวกคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor) จากภาพยนตร์ ‘CODA’ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามคาด เพราะก่อนหน้านี้เขาเองคว้ารางวัลจากเวทีสำคัญ ๆ มาแล้วมากมาย
ส่วนสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best International Feature Film) ปีนี้ ตกเป็นของภาพยนตร์ญี่ปุ่น ‘Drive My Car’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องสั้นของ ‘ฮะรุกิ มุระกะมิ’ (Haruki Murakami) ที่ก่อนหน้านี้ ต้วภาพยนตร์สามารถเดินสายคว้ารางวัลภาพยนตร์ และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเล็กใหญ่ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน
ส่วน Disney สามารถคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Best Animated Feature Film) ไปครอง จากผลงานแอนิเมชัน ‘Encanto’ ที่มีเพลงประกอบ “We Don’t Talk About Bruno” ที่กำลังฮิตติดหูในเวลานี้
ส่วนแฟนคลับน้องบิลก็ได้เฮ เมื่อบิลลี ไอริช (Billie Eilish) และพี่ชาย ฟินเนียส โอคอนเนล (Finneas O’Connell) สามารถคว้ารางวัลออสการ์ม (Best Original Song) เป็นครั้งแรกในชีวิต จากผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์สายลับ 007 ‘No Time To Die’
ส่วนไฮไลต์โมเมนต์สำคัญที่น่าจดจำสำหรับงานประกวดในปีนี้ก็มีหลายจุด เช่นทั้งการอุทิศโชว์ส่วนหนึ่งของงาน ให้ผู้ร่วมงานยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนประชาชนชาวยูเครนที่กำลังเผชิญหน้าความรุนแรงในสงคราม พร้อมขึ้นข้อความบนป้ายสีน้ำเงินว่า “เราต้องการช่วงเวลาแห่งความสงบเงียบ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนของเรา ต่อประชาชนในยูเครน ที่กำลังเผชิญหน้าการรุกราน ความขัดแย้ง และความเกลียดชังภายในแผ่นดินของพวกเขาเอง” อีกทั้งผู้เข้าร่วมงานบางคนยังได้สวมริบบินสีน้ำเงินเพื่อร่วมแสดงออกต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยจากยูเครนและทั่วโลกด้วย
และเหตุการณ์ช็อก เมื่อวิล สมิธ (Will Smith) ผู้คว้ารางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor in a Leading Role) จากบทบาทพ่อและโค้ชของนักเทนนิสระดับโลก ‘วีนัส วิลเลียมส์’ (Venus Williams) และ ‘เซเรนา วิลเลียมส์’ (Serena Williams) จากภาพยนตร์ชีวประวัติ ‘King Richard’ ที่อยู่ดี ๆ ก็เดินปรี่ขึ้นไปบนเวทีและตบหน้า (คริส ร็อก) Chris Rock เข้าอย่างจัง ขณะที่คริสกำลังกล่าวมอบรางวัลสาขาสารคดียอดเยี่ยม
หลังจากที่คริสพูดเล่นมุกล้อแรงเกี่ยวกับการโกนหัวของ ‘เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ’ (Jada Pinkett Smith) ภรรยาของวิลที่ต้องโกนหัวเพราะป่วยว่า เหมือนกำลังจะโกนหัวเพื่อเตรียมตัวแสดงภาพยนตร์ ‘G.I. Jane’ กลายเป็นโมเมนต์ที่ช็อกไปทั้งงานจนแทบจะดูไม่ออกว่างานนี้พี่ตบเล่นหรือตบจริง
รายชื่อผู้ได้รับรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94
สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)
‘CODA’
สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor in a Leading Role)
‘Will Smith’ (King Richard)
สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress in a Leading Role)
‘Jessica Chastain’ (The Eyes of Tammy Faye)
สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Best Director
‘Jane Campion’ (The Power of the Dog)
สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song)
“No Time To Die” (No Time to Die)
เนื้อเพลงและดนตรีโดย ‘Billie Eilish’ and ‘Finneas O’Connell’
สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay)
‘CODA’ (Siân Heder)
สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay)
‘Belfast’ (Kenneth Branagh)
สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (Best Costume Design)
‘Cruella’
สาขาสารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary Feature)
‘Summer of Soul (…Or, When the Revolution Could Not Be Televised)’
สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best International Feature Film)
‘Drive My Car’
สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Best Supporting Actor)
‘Troy Kotsur’ (CODA)
สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Best Animated Feature Film)
‘Encanto’
สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (Best Visual Effects)
‘Dune’
สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography)
‘Dune’
สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress)
‘Ariana DeBose’ (West Side Story)
สาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม (Best Makeup and Hairstyling)
‘The Eyes of Tammy Faye’
สาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม (Best Production Design)
‘Dune’
สาขาตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film Editing)
‘Dune’
สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Score)
‘Dune’ (Hans Zimmer)
สาขาภาพยนตร์เหตุการณ์สั้นยอดเยี่ยม (Best Live Action Short Film)
‘The Long Goodbye’
สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Best Animated Short Film)
‘The Windshield Wiper’
สาขาสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม (Best Documentary Short Subject)
‘The Queen of Basketball’
สาขาเสียงยอดเยี่ยม (Best Sound)
‘Dune’
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส