เชื่อว่าเราทุกคนต่างก็ต้องมีเพื่อนซึ่งจะมากจะน้อยแตกต่างกันไป และคำว่าเพื่อนนั้นก็สามารถตีความได้หลากหลายความหมาย ซึ่งเพื่อนในที่นี้ที่เราจะพูดถึงก็คือเหล่าเพื่อนที่เข้าใจเราในสิ่งที่เราเป็น โดยเฉพาะเพื่อนที่พูดไม่เก่งพูดไม่ได้หรือพูดน้อย แต่เราที่เป็นเพื่อนก็เข้าใจว่าเพื่อนต้องการอะไร ซึ่งเรื่องนี้นอกจากในชีวิตจริงแล้วในอนิเมะก็มีเช่นกัน วันนี้เราเลยไปรวบรวมเหล่าเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้าง และเข้าใจในสิ่งที่เพื่อนพูดน้อยหรือพูดไม่ได้เป็น เพื่อให้เพื่อนเราคนนั้นรู้สึกสบายใจ (บางเรื่องก็ไม่ค่อยสบายใจ) ว่าเขาไม่ได้แปลกไปกว่าคนอื่น เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเพื่อนแบบไหนจากอนิเมะเรื่องใดบ้าง ที่เพื่อนเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นแม้จะพูดน้อยก็ตาม มาดูไปพร้อมกันเลย
พ้องเพื่อนไม่เต็มเต็งที่มาเติมเต็มความรู้สึก Komi Shouko จาก Komi-san wa Komyushou desu
เริ่มต้นเพื่อนกลุ่มแรกที่เข้าใจความรู้สึก และยอมเป็นเพื่อนกับสาวสวยพูดไม่เก่งต่อหน้าผู้คน อย่างคุณโคมิ กับพ้องเพื่อนไม่เต็มเต็งจากเรื่อง ‘Komi-san wa Komyushou desu’ หรือ “โฉมงามพูดไม่เก่งกับผองเพื่อนไม่เต็มเต็ง” กับเรื่องราวของ โคมิ โชโกะ (Komi Shouko) สาวสวยสมบูรณ์แบบที่เป็นดาวของโรงเรียน แต่เธอมีความกลุ้มใจตรงที่เธอไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นต่อหน้าได้ ซึ่งเธอก็พยายามแล้วแต่สุดท้ายความพยายามเหล่านั้นก็ถูกตีความไปเรื่องอื่น จึงทำให้เธอไม่มีเพื่อนเลย จนการมาถึงของ ทาดาโนะ ฮิโตฮิโตะ (Tadano Hitohito) เพื่อนใหม่ที่มานั่งข้าง ๆ ซึ่งเมื่อทาดาโนะทราบความจริงว่าคุณโคมิต้องการมีเพื่อน ทาดาโนะเลยอาสาหาเพื่อนให้เธอ 100 คนความเฮฮาจึงบังเกิดขึ้น เพราะเพื่อนแต่ละคนที่ทาดาโนะหามาแต่ละคนนั้นก็ดูไม่เต็มเต็งสมชื่อ แต่ทุกคนก็มีสิ่งเดียวกันนั่นคือการอยากเป็นเพื่อนกับคุณโคมิจริง ๆ ใครชอบอนิเมะเฮฮาเรื่องนี้ไม่ควรพลาด
ข้าวปั้น แซลมอน Inumaki Toge จาก Jujutsu Kaisen
เปลี่ยนมาดูตัวละครที่พูดได้แต่อย่าพูดดีกว่า เพราะวาจาต้องสาปของเขาอย่าง อินุมากิ โทเกะ (Inumaki Toge) จากเรื่อง มหาเวทผนึกมาร หรือ ‘Jujutsu Kaisen’ ชายผู้มีพลังพิเศษที่เมื่อใดเขาพูดออกมานั้นมันจะกลายเป็นความจริง แต่สิ่งที่เขาพูดมันต้องอ้างอิงความเป็นจริง หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคน ๆ นั้นได้ และยิ่งผลที่พูดออกมานั้นร้ายแรงและส่งผลถึงคน ๆ นั้นมากเพียงใด พลังเวทในตัวเขาก็จะถูกดูดออกไปใช้ตามความร้ายแรงนั้น นั่นจึงทำให้เขาจำกัดคำที่สามารถพูดได้ ที่มีเพียงชื่ออาหารเท่านั้น เช่น แซลมอน ข้าวปั้น เท็มปูระ และเห็นว่าเขาพูดแค่ชื่ออาหารแบบนี้ แต่เพื่อนร่วมชั้นทั้งสองคนอย่าง เซนิน มากิ (Zenin Maki) และ แพนด้า (Panda) ก็สามารถเข้าใจความหมายในสิ่งที่โทเกะพูดออกมา แถมยังตอบโตกันไปมาได้อย่างเหลือเชื่อจนคนอื่นงง ซึ่งสมกับเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่ผ่านศึกมามากมายจริง ๆ
สาเหตุของคนที่ไม่พูดต่อหน้าคนอื่น Kisa Sohma จาก Fruits Basket
คราวนี้มาดูสาเหตุของการไม่พูดหรือพูดน้อยของใครหลาย ๆ คนกันบ้าง ที่ส่วนมากสาเหตุของการไม่ค่อยพูดต่อหน้าคนอื่น หรือเลี่ยงการสนทนาในทุกครั้งที่ทำได้ มักจะเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ที่อาจจะเกิดจากการน้ำเสียงที่แหบหรือแหลมเล็ก แต่สิ่งที่เป็นปมให้คนเหล่านี้ไม่พูดต่อหน้าคนอื่น ก็เพราะการถูกกลั่นแกล้งหรือดูถูกจากคนอื่น อย่างกรณีของ กีซ่า โสมมา (Kisa Sohma) จากเรื่อง ‘Fruits Basket’ หรือในชื่อไทยอย่าง “เสน่ห์สาวข้าวปั้น” ที่ตัวของเธอนั้นมักจะถูกเพื่อน ๆ แกล้งทุกครั้ง ที่เธอจะพูดหรือเอ่ยเสียงอะไรออกมา จนทำให้กีซ่าไม่มีความมั่นใจในการสื่อสารกับผู้คน จนสุดท้ายก็กลายเป็นคนเก็บตัวไม่กล้าพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรอีกเลย จะมีเพียง โซมะ ฮิโระ (Sohma Hiro) กับ โซมะ ฮัตสึฮารุ (Sohma Hatsuharu) เท่านั้นที่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เธอสื่อ ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าการที่คน ๆ หนึ่งถูกแกล้งถูกหัวเราะใส่ทุกครั้งที่พูด จนทำให้คน ๆ หนึ่งไม่มีความมั่นใจมันดูแย่และน่าสงสารคนที่ถูกกระทำขนาดไหน
นายพูดประโยคอื่นได้บ้างไหม Myrd จาก Tensei shitara Slime Datta Ken
อีกหนึ่งความเฮฮาของชายพูดได้ แต่พูดแค่คำว่า “ฮึ่ม ฮึ่ม” ที่สร้างความปวดหัวและสงสัยให้กับ ริมุรุ (Rimuru) จากเรื่อง เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว หรือ ‘Tensei shitara Slime Datta Ken’ ได้ยิงมุกเกี่ยวกับการออกเสียงของคนแคระที่ไม่แคระอย่าง ไมร์ด (Myrd) ได้ตลอดว่า “นายพูดคำอื่นเป็นบ้างไหม” หรือพูดทำนองตกใจว่าพี่น้องทั้งสองอย่าง การ์ม (Garm) และ ดอร์ด (Dord) สามารถฟังสิ่งที่ไมร์ดพูดได้รู้เรื่อง แถมยังพูดตอบโต้กันไปมาเหมือนฟังกันรู้เรื่อง ทั้งที่อีกฝ่ายออกเสียงแค่คำว่า “ฮึ่ม ฮึ่ม” เท่านั้น ซึ่งจนถึงตอนนี้เรื่องนี้ก็ยังเป็นปริศนาให้ริมุรุต่อไป
ไม่อยากเข้าสังคมเลยไม่อยากพูดกับใคร Hiiro Wakaba จาก Desu ga Nani ka?
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนบางส่วนไม่ยอมพูดกับคนอื่น ทำตัวนิ่ง ๆ ไม่สุงสิงกับใครจนถูกมองว่าหยิ่ง ยิ่งถ้าคนนั้นเป็นคนสวยหล่อหรือมีหน้าที่การที่สูง จะยิ่งบวกความไม่พอใจให้คนรอบข้างที่ไม่ชอบมากขึ้นไปอีก ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับ ชิโระ (Shiro) จากเรื่อง ‘Desu ga Nani ka?’ หรือชื่อไทยแปลก ๆ ว่า “แมงมุมแล้วไงข้องใจเหรอคะ” ที่บอกเล่าถึงสาวสวยพูดน้อยอย่าง ฮิอิโระ วาคาบะ (Hiiro Wakaba) ที่เป็นคนเงียบ ๆ เก็บตัวไม่ค่อยชอบการเข้าสังคม แต่จะใช้การสื่อสารกับคนดูอนิเมะผ่านการคิดในใจ ซึ่งด้วยหน้าตาที่สวยน่ารักของเธอ จึงทำให้เพื่อน ๆ บางส่วนไม่ชอบสิ่งที่วาคาบะเป็น จนกลายเป็นการกลั่นแกล้งในห้องเรียน ซึ่งแทนที่หญิงสาวจะรู้สึกแย่ในสิ่งที่ถูกกระทำ ตรงข้ามวาคาบะกลับรู้สึกเฉย ๆ ไม่สนใจไม่อยากยุ่งไม่ต้องการอะไร ขอแค่ได้อยู่คนเดียวก็พอ แต่แม้เธอจะอยากอยู่คนเดียวยังไงก็ตามวาคาบะก็ยังมีเพื่อนที่เข้าใจในสิ่งที่เธอเป็นอย่างจอมมาร อาริเอล (Ariel) และเด็กสาวผีดิบดูเลือด โซเฟีย เคเรน (Sophia Keren) ที่อยู่เคียงข้าง ซึ่งคนประเภทนี้ไม่ได้ต้องการอะไรจากคนรอบข้าง นอกจากการเข้าใจในสิ่งที่เขาหรือเธอเป็น และเราก็เชื่อว่าเมื่อใดที่คนเหล่านี้เปิดใจเราจะได้เห็นการพูดแบบเปิดเผยต่อหน้าอย่างแน่นอน
เลือกจะพูดกับสัตว์มากกว่าคน Koji Koda จาก My Hero Academia
ขณะที่หลายคนซึ่งไม่ค่อยพูดหรือเลือกจะเงียบไม่อยากพูดสื่อสารกับใคร พวกเขาหรือเธอเหล่านั้นก็เลือกที่จะพูดกับสัตว์แทนการสื่อสารกับคน เพราะความรู้สึกไม่ชอบไม่พอใจหรือรู้สึกไม่มั่นใจในการสื่อสารกับคนอื่น ขณะที่เหล่าสัตว์ที่เราคุยด้วยอาจจะฟังสิ่งที่เราพูดไม่รู้เรื่อง แต่พวกน้อง ๆ ก็พร้อมจะมองตาเรา และฟังสิ่งที่เราพูดอย่างตั้งใจ จนหลายคนเลือกจะพูดกับสัตว์มากกว่าคน หนึ่งในนั้นก็คือฮีโรผู้ใช้พลังในการสื่อสารกับสัตว์อย่าง โคดะ โคจิ (Koda Koji) หรือนามแฝงในฐานะฮีโรชื่อว่า ‘Anima’ เด็กชายพูดน้อยจาก ‘Class 1-A’ แห่งโรงเรียน ‘U.A. High School’ ที่ในตอนแรกบทของโคจิจะเป็นเพียงตัวประกอบ ที่เกือบทุกฉากในเรื่องจะเห็นโคจิคุยกับสัตว์ตลอด นั่นจึงทำให้เขาเป็นคนเก็บตัวสื่อสารกับคนไม่ค่อยได้ แต่โคจิก็พยายามรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ เมื่อมีโอกาส บวกกับเหล่าเพื่อนร่วมห้องที่เข้าใจในสิ่งที่โคจิเป็น เราจึงได้เห็นพัฒนาการของเด็กชายคนนี้ ที่สามารถยืมพลังเหล่าสัตว์มาใช้ได้อย่างแข็งแกร่ง เพราะอย่างที่เราบอกไปในหัวข้อก่อน ๆ ว่า สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการคือความเข้าใจ ซึ่งโคจิก็ได้รับสิ่งนี้เต็มที่จนทำให้เขาเติบโตในฐานะฮีโรได้ในที่สุด
ผลกระทบจากวัยเด็กที่ทำให้ไม่รู้ว่าต้องพูดหรือตัดสินใจทำอะไร Kanao Tsuyuri จาก Kimetsu no Yaiba
สำหรับคนที่เคยอ่านเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร หรือ ‘Kimetsu no Yaiba’ มาแล้ว คงจะทราบดีว่าตัวของ คานาโอะ ซึยูริ (Kanao Tsuyuri) นั้นต้องผ่านเรื่องราวเลวร้ายขนาดไหนมาก่อน จึงทำให้เธอกลายเป็นสาวน้อยผู้เงียบขรึมไม่ค่อยพูดหรือกล้าตัดสินใจอะไร เนื่องจากสาเหตุในวัยเด็กที่คานาโอะนั้นเป็นลูกคนจน ที่ต้องอดมื้อกินมื้อต้องใช้ชีวิตแบบจะอยู่รึตายก็ไม่มีใครสนใจ จนวันหนึ่งความรู้สึกหิวโกรธกลัวก็หายไปหมดเหลือแต่ความว่างเปล่า เหมือนไม่ต้องการหรือสนใจอะไรอีกแล้ว จนทำให้คานาโอะเหมือนคนเป็นใบ้ไม่รู้สึกอะไร จนวันหนึ่งชีวิตของสาวน้อยก็เปลี่ยน ไปเมื่อ คานาเอะ โคโช (Kanae Kocho) ได้เห็นสีหน้าแววตาที่ว่างเปล่าของสาวน้อยจึงเก็บเธอมาเลี้ยงและฝึกวิชาให้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการเปิดใจประตูบานแรกเท่านั้น เพราะเมื่อโคโชเสียชีวิตคานาโอะก็กลับมาปิดใจและเก็บตัวอีกครั้ง จนมาได้เจอกับสามโทนจอมป่วน โดยเฉพาะ คามาโดะ ทันจิโร่ (Kamado Tanjiro) ที่มาเปิดหัวใจที่เคยปิดตายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ยิ่งเป็นการยืนยันว่าคนที่เงียบขรึมนั้นเขาไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง แค่ต้องการคนที่เข้าใจเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ทันจิโร่และโคโชทำนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
การเอ่ยปากพูดกับคนอื่นมันคือเรื่องไร้สาระที่สุด Saiki Kusuo จาก Saiki Kusuo no Sai-nan
ปิดท้ายกับตัวละครพูดไม่เก่งแต่เพื่อน ๆ ก็เข้าใจและยอมมาเป็นเพื่อนด้วย (แต่เจ้าตัวไม่อยากเป็นเพื่อนด้วย) กับ คูซูโอะ ไซกิ (Kusuo Saiki) จากเรื่อง ไซคิหนุ่มพลังจิตอลเวง ‘Saiki Kusuo no Sai-nan’ ชายผู้มีพลังจิตระดับสูงที่รู้ว่าโลกที่เขาอยู่นั้นมันคือโลกในอนิเมะ ที่แสนน่าเบื่อทุกอย่างคือเรื่องไม่น่าสนใจทุกคนนั้นดูเหมือน ๆ กันหมด เพราะเหตุนี้จึงทำให้ไซกิคนนี้เป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด เพราะเขามองว่าการสื่อสารด้วยปากคือเรื่องไร้สาระและเสียเวลาออกเสียง จึงใช้การคิดในใจแทนการพูด ซึ่งแทนที่เพื่อน ๆ จะไม่ชอบขี้หน้านายพูดน้อยคนนี้กลับตรงข้าม เพราะทุกคนกลับอยากเป็นเพื่อนด้วยเสียอย่างนั้น จนหลายครั้งเพื่อน ๆ นี่ละที่เป็นคนพาเรื่องป่วน ๆ ฮา ๆ โดยลากไซกิไปร่วมวงด้วย (เจ้าตัวไม่อยากไปแต่ถูกลากไปด้วยตลอด) แถมการไม่พูดหรือพูดน้อยของไซกิก็ไม่ใช่เรื่องที่เพื่อน ๆ ไม่ชอบ เพราะแค่เห็นสีหน้าแววตาของไซกิคุง เพื่อน ๆ ก็รู้ทันทีว่าเขาต้องการอะไร (ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เจ้าตัวต้องการทุกอย่าง) ใครที่ชอบเรื่องเฮฮาตลกไร้สาระต้องเรื่องนี้เลย แล้วคุณจะหลงรักหนุ่มพูดน้อยคนนี้อย่างแน่นอน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวของกลุ่มเพื่อน ที่เข้าใจเห็นใจคนที่พูดไม่เก่งพูดไม่ได้ ให้พวกเขาไม่รู้สึกเดียวดายจนเป็นคนปิดตัว เพราะอย่างที่เราได้บอกไปในเนื้อหาบทความแล้วว่า คนที่พูดน้อยหรือเงียบ ๆ นั้นไม่ใช่เพราะเขาไม่อยากพูดหรือหยิ่งแบบที่เราคิด แต่พวกเขาหรือเธอไม่รู้ว่าจะเข้าไปพูดหรือทำอย่างไรให้คนอื่นมาสนใจ ดังนั้นสิ่งที่คนพูดมากหรือคนปกติอย่างเราควรเข้าใจ คือการยอมรับในสิ่งที่เพื่อนคนนั้นเป็น และอย่างไปโกรธเกลียดพวกเขา ลองเข้าไปคุยดูแรก ๆ คนเหล่านั้นอาจจะนิ่งเพราะยังไม่กล้าตอบโต้ แต่ถ้านานไปพวกเขาหรือเธอเหล่านั้นต้องเปิดใจคุยกับคุณอย่างแน่นอน และเราก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นตัวช่วย ให้คนที่กำลังมองคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูดที่โรงเรียนหรือที่ทำงานเปลี่ยนไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้มีเพื่อนที่ยอมรับในสิ่งที่เราเป็นทุกคน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส