เมื่อพูดถึงการเขียนการ์ตูนหรือที่เราเรียกว่ามังงะ การคิดเนื้อเรื่องของการ์ตูนให้สนุกน่าติดตามจนมีชื่อเสียงโด่งดังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ยิ่งถ้าเป็นการ์ตูนแนวต่อสู้การใช้พลังเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแค่การเตะต่อยปล่อยพลังอย่างในการ์ตูนยุคเก่า ๆ มันดูจะซ้ำซากและไม่น่าสนใจไปแล้ว ดังนั้นในการ์ตูนยุคใหม่จึงพยายามคิดค้นรูปแบบพลังใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วมันก็คือรูปแบบพลังในการต่อสู้แบบที่เราเห็นทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อมีการอธิบายถึงรูปแบบของที่มาของพลังนั้น ๆ หรือเห็นตัวละครทั้งฝ่ายตัวเอกหรือฝ่ายตัวร้ายใช้มันก็ทำให้การ์ตูนเรื่องนั้นดูแปลกและน่าสนใจขึ้นมาทันที จนเราต้องย้อนไปดูว่ามีการ์ตูนเรื่องไหนบ้างที่มีการอธิบายถึงระบบพลังในการ์ตูนของตัวเองที่น่าสนใจบ้าง วันนี้เราได้รวบรวมมาให้ได้อ่านกันมาดูไปพร้อมกันเลย
Ki จาก Dragon Ball Z
เริ่มต้นเรื่องแรกที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีกับเรื่อง ‘Dragon Ball’ หนึ่งในการ์ตูนต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แม้แต่คนไม่เคยอ่านหรือดูเรื่องนี้ก็รู้จัก แต่สิ่งที่หลายคนไม่ทราบแม้แต่แฟน ๆ การ์ตูนนี้น้อยคนจะรู้ ก็คือรูปแบบพลังที่เหล่าตัวการ์ตูนเหล่านี้ใช้ต่อสู้กันในเรื่องนั้น มันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการด้วย โดยผู้เขียนได้เรียกการปล่อยพลังที่ออกมาจากตัวละครเหล่านี้ว่า ‘Ki’ ที่หมายถึงรูปแบบของการเผาผลาญพลังกายที่อยู่ในตัวให้ออกมาในรูปแบบของลูกพลังแบบต่าง ๆ ที่เหล่าตัวละครเหล่านี้ใช้ โดยการเรียก ‘Ki’ ออกมานั้นต้องมาจากการฝึกฝนหรือมาจากทางสายเลือดเผ่าพันธุ์ที่จะมีขีดจำกัดของ ‘Ki’ ในตัว ที่แบบฝึกให้ตายก็ไปได้เท่านี้หรือพัฒนาช้ากว่าเผ่าพันธุ์อื่น และตัวละครสามารถเพิ่มพลัง ‘Ki’ ขึ้นได้จากการเรียนรู้วิชาใหม่ ๆ หรือในบางกรณีอย่างของชาวไซย่าที่ต้องเฉียดตายไปจนถึงความโกรธถึงขีดสุดจึงจะมี ‘Ki’ เพิ่มขึ้น ซึ่ง ‘Ki’ สามารถหมดหรือลดลงได้ตามการดึงมาใช้ ที่อาจจะส่งผลถึงชีวิตถ้าดึง ‘Ki’ มาใช้มากไป อย่างวิชาหมัดไคโอที่เป็นการดึงพลังทั้งหมดให้ออกมาในคราวเดียว ที่เมื่อใช้ไปแล้วร่างกายจะหมดแรงเพราะดึง ‘Ki’ มาใช้ในคราวเดียวจนหมด นับเป็นหนึ่งรูปแบบพลังที่น่าสนใจและเข้าใจคิดเอามาก ๆ
ปราณ จาก Kimetsu no Yaiba
มาต่อกันที่การ์ตูนใหม่ ๆ กันบ้างกับการคิดรูปแบบพลังที่เรียกว่าปราณ หรือกำลังภายในที่เหล่านักดาบในเรื่อง ดาบพิฆาตอสูร หรือ ‘Kimetsu no Yaiba’ ใช้กัน โดยรูปแบบการใช้ปราณในเรื่องนี้จะเกิดจากการฝึกฝนอย่างหนักของนักดาบ ที่ต้องเรียนรู้วิธีหายใจอย่างถูกต้องเพื่อดึงเอาพลังที่อยู่ในกายออกมา เพื่อเสริมพลังให้กับเพลงดาบที่ใช้ในการกำจัดอสูร ซึ่งสิ่งที่เราเห็นทั้งสายน้ำเปลวเพลิงสายฟ้าในการ์ตูนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่ฝึกฝนวิชาหรือเหล่าอสูรจะมองเห็นเป็นสิ่งเหล่านี้ออกมาจากตัวนักดาบเวลาใช้ปราณ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดปราณก็ต้องพูดถึงปราณตะวัน ที่ สึกิคุนิ โยริอิจิ (Tsukikuni Yoriichi) เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา และเอาการหายใจนี้ไปสั่งสอนนักดาบคนอื่น ๆ จนมีการดัดแปลงแบ่งสายเพลงดาบออกมาตามแต่ความถนัดของนักดาบแต่ละคน จนเกิดเป็นปราณต่าง ๆ ในเรื่อง ซึ่งนักดาบหนึ่งคนสามารถเรียนรู้ได้หลายปราณ แต่การฝึกให้เก่งในวิชาเดียวไปเลยจะดีกว่านั่นคือวิถีของนักดาบ
กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม จาก Full Metal Archemis
คราวนี้มาดูพลังในรูปแบบของกฎกันบ้าง ในเรื่อง แขนกลคนแปรธาตุ หรือ ‘Full Metal Archemis’ ที่จะเกี่ยวกับนักเล่นแร่แปรธาตุ ที่ในอดีตจะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามเปลี่ยนสสารให้เป็นทอง ที่ทางผู้เขียนมังงะเรื่องนี้ได้หยิบมาใช้เป็นพลังในเรื่อง แต่จะอ้างอิงกฎที่ว่าไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยไม่สูญเสียสิ่งที่มีมูลค่าเท่ากันเพื่อให้ได้มา หรือเรียกว่า “กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม” ที่ทางต่างประเทศเรียกว่า ‘Equivalent Exchange’ แต่การจะใช้พลังที่ว่านี้จะต้องศึกษาเรียนรู้และฝึกฝน นอกจากนี้ก็ต้องมีวงพิธีกรรมหรืออุปกรณ์ที่ใส่วงพิธีกรรมเอาไว้เพื่อใช้งาน ซึ่งแต่ละคนจะมีความสามารถในการใช้พลังนี้ต่างกัน และสิ่งที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้พลังหรือสิ่งที่ต้องการมาก็ต่างกันตามแต่วิชาที่ใช้ ยกตัวอย่างตัวเอกของเรื่องที่พยายามชุบชีวิตแม่ขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ต้องเสียน้องชายไป เพราะคุณค่าของชีวิตคือการแลกอีกหนึ่งชีวิตนั่นเอง และเมื่อตัวเอกต้องการเรียกน้องชายกลับมาจะแค่วิญญาณก็ยังดี เขาต้องสูญเสียแขนและขาอย่างละข้างเพื่อแลกกับวิญญาณของน้องชาย นั่นคือกฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ซึ่งเราไม่รู้ว่าใครเป็นคนตั้งแต่กฎนี้ก็ไม่เคยผิดพลาดและเป็นธรรม ซึ่งใครที่เคยอ่านหรือดูมาแล้วจะเข้าใจว่าการได้อะไรมาฟรี ๆ นั้นไม่มีอยู่จริงบนโลก
อัตลักษณ์ จาก My Hero Academia
จากทั้งหมดที่กล่าวมาก่อนหน้านี้พลังต่าง ๆ ที่เราจะได้มานั้น ส่วนมากจะเกิดมาจากการฝึกฝนเรียนรู้จึงจะได้พลังนั้นมา จะมีเพียงพลังที่เรียกว่า อัตลักษณ์ จากเรื่อง ‘My Hero Academia’ เท่านั้นที่ทุกคนจะได้มันมาเลยตั้งแต่เกิด จะมีคนเพียง 1% เท่านั้นที่เกิดมาเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีพลังพิเศษใด ๆ อย่างตัวเอกของเราที่เขาเกิดมาเป็นคนปกติ ขณะที่เพื่อน ๆ ต่างก็มีอัตลักษณ์กันทุกคน ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์นั้นก็มีหลายอย่าง ทั้งแบบที่ต้องอาศัยเงื่อนไขในการใช้ เช่นต้องกินเลือดอีกฝ่ายก่อนจึงจะควบคุมคนได้ ต้องจับด้วยนิ้วทั้ง 5 ของสิ่งนั้นจะถูกทำลาย หรือเป็นแบบไม่ต้องมีเงื่อนไขแต่สามารถปล่อยออกมาเลยเช่นปล่อยไฟสายฟ้า ซึ่งสามารถแยกย่อยลงไปได้อีกมากมาย ที่คนดูอนิเมะหรืออ่านมังงะมาจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี และสิ่งเหล่านี้ก็สามารถฝึกฝนให้เก่งและพัฒนาให้ดีขึ้นจนกลายเป็นรูปแบบพลังใหม่ ๆ ได้ด้วย ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของคน ๆ นั้น รวมถึงความมุ่งมั่นพยายามหรือการเข้าใจในรูปแบบพลังของตนก็มีส่วนในการพัฒนาพลังตนเองอีกด้วย
Haki จาก One Piece
เรียกว่าเปลี่ยนโทนเรื่องให้ดูสนุกน่าสนใจขึ้นมาทันสำหรับคนที่อ่าน ‘One Piece’ เมื่อมีการพูดถึงพลังรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Haki’ ที่แซงรูปแบบพลังที่เรียกว่าผลปีศาจที่มีในเรื่องให้ตกกระป๋องไปในทันที เพราะการมาของ ‘Haki’ ทำให้การต่อสู้จากที่เคยเน้นการได้เปลี่ยนเสียเปรียบของธาตุ หรือรูปแบบพลังเดิม ๆ ให้ฝ่ายที่เสียเปรียบสามารถเพิ่มพลังเพื่อเอาคืนได้ ขณะที่คนเก่งก็แกร่งขึ้นไปอีกหลายเท่าเมื่อมี ‘Haki’ โดยรูปแบบของพลังนี้ก็คือสิ่งซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายของมนุษย์ทุกคน แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงพลังนั้นและต่อให้รู้ว่ามี ‘Haki’ การดึงเอาพลังนั้นมาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านการฝึกฝนเรียนรู้และต้องควบคุมมันให้อยู่เมื่อ ‘Haki’ ออกมา ที่จากข้อมูลบอกว่า ‘Haki’ นั้นค่อนข้างอันตรายถ้าผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมพลังที่ออกมาได้อาจจะส่งผลถึงชีวิตผู้ใช้ โดยพลังของ ‘Haki’ นั้นจะมีหลัก ๆ อยู่ 3 แบบตามแต่การฝึกฝนที่ผู้ใช้สามารถเอามาประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตัวเอง โดยที่คน ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องมีผลปีศาจก็สามารถมี ‘Haki’ ได้ และรูปแบบของพลังนี้ก็สามารถเติบโตได้เรื่อย ๆ แต่ก็อย่างว่าพลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความเสี่ยงอันใหญ่ยิ่งเช่นกัน
จักระ จาก Naruto Shippuden
พูดถึง ‘Dragon Ball’ กับ ‘One Piece’ ไปแล้วจะไม่พูดถึง นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ หรือ ‘Naruto Shippuden’ ได้อย่างไร เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ก็มีระบบพลังที่น่าสนใจ ที่เป็นการดัดแปลงวิชานินจามาเป็นรูปแบบของพลังที่เรียกว่า “จักระ” หรือพลังที่อยู่ในร่างของทุกคนที่ต้องผ่านการฝึกฝนจนสามารถดึงจักระออกมาใช้ได้ ซึ่งในหลายวิชานินจานั้นจะต้องใช้จักระในการดึงออกมา อย่างวิชาแยกร่างที่ยิ่งมีจักระมากก็ยิ่งแยกร่างได้มาก ซึ่งแต่ละคนจะมีจักระมากน้อยต่างกันไปที่ไม่สามารถฝึกเพื่อเพิ่มมันได้ แต่เราสามารถหามาเพิ่มได้ด้วยวิธีต่าง ๆ อย่างการเอาสัตว์อสูรมาใส่ตัวหรือดูดมาจากคนอื่น ซึ่งจักระจะต่างกับวิชานินจาที่บางวิชาก็มาจากขีดจำกัดของสายเลือดเท่านั้นที่ใช้ได้ แต่จักระคือแหล่งพลังงานที่เจ้าของร่างดึงออกมาใช้ ที่ถ้าคุณจะมีวิชาดีแค่ไหน แต่ถ้ามีจักระน้อยคุณก็ใช้ได้ไม่แรงหรือจำกัดจำนวนครั้งที่ใช้ แต่บางคนก็เกิดมาไม่มีจักระแต่ก็ทดแทนด้วยการฝึกฝนร่างกาย หรือดึงพลังแฝงในตัวออกมาแทนที่จักระได้ นอกจากนี้ก็มีพลังอีกหลาย ๆ แบบอย่างโหมดเซียนที่ดึงเอาพลังธรรมชาติมาแทนที่จักระในการต่อสู้ แต่คนที่ฝึกวิชานี้ได้มีน้อยและมีความเสี่ยงที่จะเป็นกบไปตลอดชีวิต คนส่วนมากจึงใช้จักระมากกว่าหาวิธีอื่น ๆ
Nen จาก Hunter X Hunter
ไหน ๆ มังงะก็กลับมาเขียนตอนใหม่แล้วก็เลยหยิบมาพูดถึงเสียหน่อย กับรูปแบบของพลังต่อสู้ในเรื่อง ‘Hunter X Hunter’ ที่ในเรื่องนี้จะเรียกว่า ‘Nen’ ที่เป็นการดึงพลังงานชีวิตจากร่างกายมาใช้เพื่อการต่อสู้ ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ‘Nen’ นั้นจะมีในตัวทุกคนแต่เราจะรับรู้และดึงออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนแล้วแต่การฝึกฝน หรือบางคนจะสามารถดึง ‘Nen’ ออกมาใช้ได้ด้วยการสัมผัส ‘Nen’ ของคนอื่น แต่วิธีนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะถ้า ‘Nen’ ไหลออกมาจำนวนมากคนใช้อาจจะเสียชีวิตได้ และเมื่อเราควบคุม ‘Nen’ ได้เราก็สามารถพัฒนาเป็นวิชาต่อสู้แบบต่าง ๆ ได้ถึง 6 แบบตามความถนัด ทั้งแบบเปลี่ยน ‘Nen’ เป็นอาวุธในการโจมตี การเรียก ‘Nen’ มาเป็นชุดเกราะคลุมตัวและอีกหลายแบบ ซึ่งบางอย่างก็อาจจะเกี่ยวกับขีดจำกัดสายเลือดเผ่าพันธุ์ที่ก็มีผลกับ ‘Nen’ ที่ปล่อยออกมา ที่ยิ่งเราฝึกฝนตนเอง ‘Nen’ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งใครที่เคยอ่านหรือดูการ์ตูนเรื่องนี้จะเข้าใจว่าการใช้ ‘Nen’ ในเรื่องนี้ช่างสร้างสรรค์เอามาก ๆ จนเราอยากรู้ว่าอนาคตจะมีผู้ใช้ ‘Nen’ แบบใหม่ ๆ หรือการพัฒนา ‘Nen’ ในรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคตก็ต้องมาติดตามกัน
Stand จาก Jojo Bizarre Adventure
ปิดท้ายกับรูปแบบพลังที่หลายคนคุ้นเคยที่สุดกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Stand’ จากเรื่อง ‘Jojo Bizarre Adventure’ ที่ถ้าจะให้อธิบายถึงรูปแบบพลังชนิดนี้แบบสรุปง่าย ๆ มันก็คือสิ่งที่คน ๆ นั้นต้องการอย่างแรงกล้าที่กลายมาเป็นพลังให้ผู้ใช้ โดยผู้ที่จะมีพลัง ‘Stand’ ในเรื่องนี้จะมีอยู่สองแบบ นั่นคือมีมาตั้งแต่เกิดแต่พลังนั้นจะตื่นขึ้นมาตอนไหนก็แล้วแต่บุคคล หรือจะเกิดจากดึงพลังออกมาจากการถูกธนูบาดที่สามารถดึงพลังจากคนออกมาได้ แต่ถ้าคน ๆ นั้นไม่มีพลังหรือถูกเลือกก็จะตายไปเลย โดยพลัง ‘Stand’ นั้นจะมีทั้งแบบมาเป็นรูปร่างคนสิ่งของสัตว์ประหลาดไปจนถึงรูปแบบของพลังที่ไม่มีตัวตน และสามารถแยกย่อนเป็น ‘Stand’ ที่มีจิตใจความคิดของตนเอง หรือแบบมีจำนวนมาก ๆ เป็นร้อย ๆ ตัวก็มี ซึ่งส่วนมากเมื่อ ‘Stand’ บาดเจ็บคน ๆ นั้นก็ได้รับผลด้วย และการใช้พลังของ ‘Stand’ บางคนก็มีเงื่อนไขในการใช้ บางคนก็สามารถใช้ได้เลยเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ใช้จะเหนื่อยไปจนถึงมีผลตลอดเวลาจนกว่าผู้ใช้จะถูกปลดหรือตายแล้วแต่รูปแบบพลัง ที่ถ้าคุณได้อ่านหรือดูอนิเมะมาจะเข้าใจรูปแบบพลังที่มีหลากหลายที่ทำให้การต่อสู้สนุกมาก ๆ ที่หลัง ๆ พลังจะซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ดูสนุกซึ่งเป็นเสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องนี้ ที่ใครไม่เคยดูบอกเลยว่าคุณพลาดของดีไปแล้ว
ก็จบกันไปแล้วกับการรวมระบบต่อสู้ใช้พลังในอนิเมะ ที่ต้องอธิบายก่อนว่าเนื้อหาในบทความนี้ไม่ได้เจาะลึกลงไปในรูปแบบของพลังในการ์ตูนเรื่องนั้น ๆ แต่จะอธิบายว่าพลังนี้เป็นอย่างไรและมีรูปแบบไหน ให้คนที่ไม่เคยอ่านหรือดูการ์ตูนเรื่องนั้นเห็นภาพ เพราะถ้าเราเจาะรายละเอียดของพลังแต่ละเรื่องบทความคงจะยาวกว่านี้อย่างแน่นอน และสิ่งที่เราหยิบยกมานำเสนอในบทความนี้ก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีการ์ตูนอีกหลายเรื่องที่มีรูปแบบพลังที่น่าสนใจอีกมาก เอาไว้มีโอกาสเราจะหยิบรูปแบบพลังจากการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ มานำเสนออีกยังไงก็ติดตามกันไว้ได้เลย และถ้าข้อมูลผิดพลาดตรงไหนก็บอกกันมาได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นการพูดถึงเรื่องราวอะไรในอนิเมะอีกก็รอติดตามกันไว้ได้เลย เพราะเราจะมีบทความแปลก ๆ ที่น่าสนใจมาให้คุณอ่านกันตลอดติดตามแบไต๋รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส