เมื่อพูดถึงมังงะหรืออนิเมะเจ้าแมวสีฟ้าไร้หูจากอนาคต โดราเอมอน (Doraemon) เราก็มักจะคิดถึงของวิเศษต่าง ๆ ที่โดราเอมอนหยิบมาให้ โนบิ โนบิตะ (Nobi Nobita) ใช้ หรือบางทีเราก็คิดถึงเด็กชายชั้นประถมที่ไม่ฉลาด สอบได้ 0 คะแนนทุกครั้งแถมไม่เอาไหนเลย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เรารู้จักเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ และด้วยความสนุกที่การ์ตูนเรื่องนี้มีมาให้เราตลอดหลายสิบปี จึงมีหลายคนสงสัยว่าการ์ตูนเรื่อง ‘Doraemon’ นั้นมีตอนจบรึเปล่า เพราะอาจารย์ผู้เขียนอย่าง ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio) ได้เสียชีวิตไปแล้ว การ์ตูนเรื่องนี้จึงถือว่า “ไม่มีตอนจบเลยไหม ?” นั่นคือสิ่งที่หลายคนสงสัย รวมถึงช่วงเวลาที่โดราเอมอนอยู่กับโนบิตะนั้นถึงตอนไหน วันนี้เราไปหาคำตอบทั้งหมดมาให้คุณแล้ว รวมถึงคำถามอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่เรารวบรวมมาให้คุณได้หายสงสัยกัน ว่าแล้วก็เตรียมตัวนั่งเครื่องย้อนเวลาแล้วตามมาดูเรื่องราวต่าง ๆ ของโดราเอมอนกันได้เลย
จุดเริ่มต้นเรื่องราวของ Doraemon มาจากการเป็นหนังสืออ่านเล่นสมัยประถม
เริ่มต้นเรื่องแรกที่หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่า มังงะ ‘Doraemon’ นั้นถูกเขียนครั้งแรกในฐานะหนังสืออ่านเล่นสำหรับเด็กประถมเมื่อปี 1970 ที่ในยุคนั้นทางการญี่ปุ่นจะสนับสนุนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และสื่อที่สามารถเข้าถึงเด็ก ๆ ในยุคนั้นได้มากที่สุดคือการ์ตูน จึงมีการสั่งให้นักเขียนการ์ตูนในยุคนั้นเขียนการ์ตูนเพื่อเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาให้กับเด็ก ๆ ซึ่งอาจารย์ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะก็คือหนึ่งในนั้น ที่ต้องเขียนการ์ตูนสำหรับเด็ก ๆ ประจำชั้นปีที่ 1 ถึง 6 ซึ่งก่อนจะถึงเรื่อง ‘Doraemon’ อาจารย์ก็วาดการ์ตูนเพื่อเป็นหนังสืออ่านเล่นในวัยเรียนมาแล้วหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น ‘Obake no Q-Taro’ ที่บ้านเรารู้จักในชื่อ “ผีน้อยคิวทาโร่” หรือ ‘Paman’ จนมาถึงช่วงปี 1969 อาจารย์ฟูจิโกะก็ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แมวที่มาจากอนาคต เพื่อเปลี่ยนชีวิตเด็กชายให้ได้แต่งงานกับคนที่คู่ควร และเมื่อต้องเขียนให้เด็กอ่านในแต่ละชั้นปี ทุกครั้งที่เริ่มต้นเขียนให้เด็กอ่านแต่ละชั้นจึงต้องมีการเริ่มต้นเนื้อเรื่องใหม่และตอนจบของแต่ละชั้นปี เราจึงได้เห็นตอนจบและตอนเริ่มหลากหลายแบบของการ์ตูนเรื่องนี้
ครั้งแรก ๆ ในเรื่อง Doraemon ตัว Nobita ไม่ใช่เด็กโง่แบบที่เราเห็น
ต่อเนื่องจากหัวข้อที่ผ่านมาเมื่อตัวมังงะถูกเขียนให้เด็กประถมอ่าน เนื้อหาในเรื่อง ‘Doraemon’ จึงต้องถูกเปลี่ยนให้เข้ากับอายุเด็กในแต่ละชั้นปี ซึ่งถ้าใครที่ได้อ่าน ‘Doraemon Vol. 0’ จะเห็นทันทีว่าตัวของโนบิตะในตอนแรกนั้นเป็นเพียงเด็กผู้ชายธรรมดาไม่ใช่เด็กโง่ที่ถูกเพื่อนแกล้งอย่างที่เห็น แถมในครั้งแรกสุดบทบาทของโนบิตะคือเด็กที่ตั้งใจเรียนมีความรับผิดชอบเป็นที่รักของเพื่อน ๆ แต่บทของโดราเอมอนในเรื่องกลับเป็นตัวป่วนที่สร้างความวุ่นวายด้วยของวิเศษ จนโนบิตะต้องมาคอยแก้ไขปัญหาให้ตลอด นั่นคือเนื้อหาในช่วงประถม 1 ถึง 3 ที่เรื่องราวจะออกไปทางนั้น ก่อนที่เนื้อหาจะค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้โนบิตะเป็นผู้ชายที่ไม่เอาไหนไม่ค่อยตั้งใจเรียนสอบได้ 0 คะแนนตลอด และสร้างความวุ่นวายด้วยของวิเศษจนโดราเอมอนต้องมาคอยแก้ไขอย่างที่เราได้เห็นในตอนนี้
Gachako หุ่นเป็ดที่มาพร้อมกับ Doraemon
และนอกจากโดราเอมอนที่มาสร้างความวุ่นวายให้กับชีวิตโนบิตะในช่วงแรกแล้ว ยังมีหุ่นยนต์เป็ดที่เป็นคู่หูของโดราเอมอนตามมาด้วย นั่นคือ กาชาโกะ (Gachako) ตัวป่วนที่มาช่วยเสริมความวุ่นวายที่มากกว่าโดราเอมอนทำเสียอีก ด้วยความซื่อและนิสัยเป็นเด็กจึงทำให้กาชาโกะเป็นตัววุ่นวายที่เป็นตัวเสริมให้กับโดราเอมอน จนเหมือนโนบิตะเป็นพี่ชายที่ต้องดูแลน้อง และที่เราไม่เคยเห็นหรือรู้จักเจ้าเป็ดตัวนี้ในฉบับรวมเล่ม ก็เพราะตัวละครตัวนี้ถูกตัดออกไปหลังจากที่เรื่อง ‘Doraemon’ ที่ถูกเขียนไปได้ครึ่งปี (ตัวหนังสือที่เราได้อ่านตอนนี้คือฉบับที่อาจารย์เขียนใหม่เพื่อรวมเล่มซึ่งเนื้อหาจะต่างกับหนังสือในวัยเรียน) เพราะบทบาทที่ดูน่ารำคาญและไปขัดกับเนื้อเรื่องอาจารย์จึงตัดตัวละครนี้ออกไป แต่ตัวละครนี้ก็ได้ไปปรากฏในอนิเมะปี 1973 ด้วย และเมื่อปี 2005 กาชาโกะก็ได้ไปปรากฏตัวในอนิเมะ ‘Doraemon’ ตอน ‘Jaiko’s New Comic’ อีกด้วย และเราก็หวังว่าจะได้เห็นบทบาทของเจ้าเป็ดตัวนี้ในอนิเมะอีกครั้งในอนาคต
Doraemon มาครั้งแรกมีหูกับสาเหตุแท้จริงที่ต้องเป็นสีน้ำเงิน
อย่างที่เราหลายคนก็น่าจะทราบกันว่า ตัวของโดราเอมอนนั้นคือหุ่นยนต์แมวที่มาจากอนาคต รูปลักษณะแรกที่อาจารย์ฟูจิโกะออกแบบในตอนแรกสุด ตัวของโดราเอมอนนั้นจะมีสีเหลืองและมีหูแบบแมว แต่สุดท้ายอาจารย์ก็เอาหูออกเพราะการออกแบบให้เหมือนแมวมากไปมันจะดูน่ากลัว ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์ก็ได้เอามาเขียนเป็นตอนเริ่มในหนังสืออ่านเล่นของเด็กประถมฉบับเดือนมกราคม 1970 ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ฟูจิโกะในยุคนั้นยังบอกอีกว่า ตอนแรกโดราเอมอนไม่ได้มีสีน้ำเงินอย่างที่อาจารย์ต้องการ แต่อาจารย์ฟูจิโกะอยากให้ตัวโดราเอมอนมีสีเหลืองไม่ก็สีแดง แต่เพราะปกหนังสือในตอนนั้นจะใช้พื้นหลังเป็นสีเหลืองส่วนตัวหนังสือจะต้องเป็นสีแดง อาจารย์จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องใช้สีน้ำเงินบนตัวโดราเอมอน ก่อนจะถูกลดโทนสีมาเป็นสีฟ้าที่เราเห็นในตอนนี้ ส่วนสีเหลืองกับสีแดงของโดราเอมอนก็ถูกใช้กับโดราเอมอนสมัยยังมีหูกับ ‘MiniDora’ ที่เป็นสีแดงแทน
ตอนจบทั้ง 5 แบบของ Doraemon
แน่นอนว่าเมื่อมีตอนเริ่มก็ต้องมีตอนจบ เพราะทุกครั้งเมื่อจบปีการศึกษาของเด็ก ๆ ในแต่ละชั้นเรื่องราวของการ์ตูน ‘Doraemon’ ก็จะมีตอนจบ เพื่อบอกถึงการเติบโตของเด็ก ๆ ให้เตรียมตัวขึ้นชั้นใหม่กับเรื่องราวใหม่ของ ‘Doraemon’ ซึ่งจากข้อมูลบอกว่าตอนจบของ ‘Doraemon’ นั้นมีอยู่ทั้งหมด 5 ครั้ง (ครั้งที่ 6 ถูกสร้างขึ้นมาใหม่หลังจากอาจารย์ฟูจิโกะเสียชีวิต) โดยครั้งที่ 4 คือตอนที่เราได้เห็นในฉบับรวมเล่มและเป็นต้นแบบให้ ‘Stand by Me Doraemon’ ในปี 2014 นั่นเอง
ตอนจบครั้งที่ 1 ครบรอบตีพิมพ์ครบ 1 ปี (1971)
การจบครั้งแรกสุดนั้นเกิดขึ้นในปี 1971 เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 1 ปีการตีพิมพ์มังงะ ‘Doraemon’ ที่ตีพิมพ์เป็นหนังสืออ่านเล่นฉบับชั้นประถมปีที่ 1 ในช่วงปี 1970 กับเรื่องราวความปั่นป่วนของคนจากโลกอนาคตที่มาสร้างความวุ่นวายในอดีต จนทางตำรวจกาลเวลาต้องมาจัดการห้ามคนเดินทางข้ามเวลา รวมถึงโดราเอมอนที่ถูกห้ามเดินทางเช่นกัน นับจากนั้นทั้งคู่ก็ลากันด้วยดีแต่เด็ก ๆ ในยุคนั้นก็ทราบดีว่าเขาจะได้เจอโดราเอมอนอีกครั้งเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2
ตอนจบครั้งที่ 2 ครบรอบตีพิมพ์ครบ 2 ปี (1972)
มาถึงตอนจบครั้งที่ 2 ที่เป็นการฉลองครบรอบ 2 ปีมังงะ ‘Doraemon’ ตีพิมพ์ครบ 2 ปีในช่วงปี 1972 ที่ตอนจบคราวนี้จะมาจากเหลนของโนบิตะอย่าง โนบิ เซวาชิ (Nobi Sewashi) ที่เห็นว่าคุณปู่ทวดของเขานั้นพึ่งพาโดราเอมอนมากเกินไป อีกอย่างอนาคตของปู่ทวดก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วตามที่เขาต้องการ จึงเรียกให้โดราเอมอนกลับมาอนาคต แต่โดราเอมอนก็กลัวว่าโนบิตะจะไม่ยอมให้มา ทั้งคู่จึงแกล้งโกหกว่าโดราเอมอนเสียจึงต้องกลับอนาคต โนบิตะที่เชื่อคำโกหกนั้นเลยยอมให้โดราเอมอนไป และพยายามยืนด้วยตัวเองผ่านการดูของโดราเอมอนในอนาคต นับเป็นตอนจบที่ดีมาก ๆ
ตอนจบครั้งที่ 3 ครบรอบตีพิมพ์ครบ 3 ปีที่น้อยคนนักจะเคยเห็น (1973)
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาในตอนจบครั้งที่ 3 ของ ‘Doraemon’ ตัวเรื่องราวเนื้อหาทั้งหมดที่เราได้กล่าวมานั้นถูกรวบรวมเอาไว้ในหนังสือของสำนักพิมพ์ ‘Tentomushi Comics’ ที่รวบรวมเอาไว้ จะมีเพียงตอนจบครั้งที่ 3 เท่านั้นที่ทางสำนักพิมพ์ไม่สามารถหาต้นฉบับมาตีพิมพ์ได้ เราจึงไม่มีใครรู้ว่าตอนจบครั้ง 3 กับการครบรอบ 3 ปีการตีพิมพ์ ‘Doraemon’ ในปี 1973 จะเป็นอย่างไร คงจะมีแต่เด็ก ๆ ในยุคนั้นที่ได้อ่าน
ตอนจบครั้งที่ 4 จบพร้อมการ์ตูนที่ฉายทางทีวี (1974)
และในช่วงปี 1974 อนิเมะ ‘Doraemon’ ที่ฉายมาอย่างยาวนานก็ถึงช่วงที่ต้องจบลง ซึ่งในยุคนั้นอาจารย์ฟูจิโกะได้เขียนเรื่อง ‘Doraemon’ ลงนิตยสารรายสัปดาห์แล้ว และเนื้อเรื่องของในนิตยสารรายสัปดาห์กับในหนังสืออ่านเล่นฉบับประถมจะมีเนื้อหาต่างกัน ซึ่งสิ่งที่เราได้อ่านมาทั้งหมดนั้นก็มาจากนิตยสารรายสัปดาห์ ซึ่งในยุคนั้นเมื่ออนิเมะที่ฉายทางทีวีจบลง มังงะที่เขียนก็ต้องจบลงตามไปด้วย ซึ่งตอนจบในอนิเมะในยุคนั้น (ปี 1974) ก็เป็นการจบแบบธรรมดาแค่โดราเอมอนเดินทางกลับโลกอนาคต แต่ก็มีการมาแอบดูโนบิตะบ้างบางครั้ง ซึ่งต่างกับตอนจบที่อาจารย์เขียนในปีเดียวกัน และจากข้อมูลบอกว่าตอนจบในอนิเมะครั้งนี้ก็ถูกรวมนับเป็น 1 ใน 5 ตอนจบอย่างเป็นทางการของซีรีส์ ‘Doraemon’ แต่ข้อมูลก็ไม่ได้ยืนยันว่าอาจารย์ฟูจิโกะเป็นคนคิดตอนจบให้อนิเมะรึเปล่า
ตอนจบครั้งที่ 5 ฉบับเดือนมีนาคม (1974) ตอนจบที่เราคุ้นเคย
มาถึงตอนจบที่หลายคนคุ้นเคยมากที่สุด เพราะเป็นตอนจบที่อาจารย์ฟูจิโกะเขียนขึ้นมาในปี 1974 หลังจากที่อนิเมะ ‘Doraemon’ จบลงในหัวข้อก่อนหน้านี้ อาจารย์จึงต้องเขียนตอนจบของ ‘Doraemon’ ออกมาเมื่อโดราเอมอนถึงเวลาที่ต้องเดินทางกลับโลกอนาคต ที่แม้โนบิตะจะเสียใจแต่ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของโดราเอมอน จึงมีการเลี้ยงฉลองและอำลาคุณพ่อคุณแม่ก่อนที่คืนสุดท้ายที่ทั้งคู่จะจากกัน โนบิตะก็ไปท้า ‘Giant’ ชกจนสามารถเอาชนะได้ (โดนชกฝ่ายเดียวจนฝ่ายนั้นเหนื่อยจนยอมแพ้) ซึ่งสิ่งที่โนบิตะทำนั้นเพื่อบอกโดราเอมอนให้รู้ว่าตนเองนั้นสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีโดราเอมอนมาปกป้องอีกแล้ว ดังนั้นกลับไปอนาคตอย่างสบายใจได้เลย นั่นคือตอนจบที่แท้จริงที่อาจารย์ฟูจิโกะเขียนขึ้นมา ก่อนที่เขาจะเริ่มต้นเขียนเรื่องใหม่ในเวลาต่อมา แต่หลายปีหลังจากนั้นอาจารย์ฟูจิโกะที่ยังรักและคิดถึงโดราเอมอนเขาจึงกลับมาเขียนเรื่องนี้อีกครั้งพร้อมกับชื่อตอนว่า “โดราเอมอนกลับมาแล้ว” กับเรื่องราวของโดราเอมอนในตอนนั้นได้ให้น้ำยาโกหก 800 กับโนบิตะก่อนไป จนเมื่อมาถึงวันที่ 1 เมษายนที่เป็น ‘วันเมษาหน้าโง่’ ที่คนจะพูดโกหกกัน วันนั้นโนบิตะที่ได้ดื่มน้ำยาโกหกไปได้พูดออกมาว่า “โดราเอมอนคงไม่กลับมาหาอีกแล้ว” เมื่อพูดจบผลของน้ำยาก็เป็นจริง ทั้งคู่ก็ได้อยู่ด้วยกันตลอดไปนั่นเอง
ตอนจบครั้งที่ 6 Stand by Me Doraemon (2014)
และมาถึงครั้งล่าสุดกับเรื่องราวการเรียกน้ำตาคนดูทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ในภาพยนตร์ ‘Stand by Me Doraemon’ ที่ฉายในปี 2014 กับเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ก็อ้างอิงเรื่องราวการมาเปลี่ยนอนาคตของโนบิตะเหมือนทุกตอนที่ผ่านมา แต่ทั้งคู่นั้นไม่ถูกขี้หน้ากันมาก ๆ จนเซวาชิต้องตั้งโปรแกรมที่จมูกโดราเอมอนไม่ให้กลับไปอนาคตได้ และเมื่อถึงเวลาเขาจะต้องเดินทางกลับโดยที่ไม่สามารถแก้ไขโปรแกรมได้ จนเมื่อถึงเวลาโดราเอมอนก็ต้องกลับไปจริง ๆ ที่สร้างรอยยิ้มและน้ำตาให้คนดูในตอนนั้นมาก ๆ ใครที่ไม่เคยดูบอกเลยว่าเตรียมเสียน้ำตาแน่นอน โดยตอนนี้ไม่ได้ถูกนับเป็นตอนจบอย่างเป็นทางการ เพราะไม่ได้มาจากความคิดของอาจารย์ฟูจิโกะ แถมตอนนี้ก็ดัดแปลงมาจากตอนจบครั้งที่ 5 ในหนังสือการ์ตูนมาใช้ แต่แฟน ๆ ก็นับครั้งนี้เป็นตอนจบอย่างเป็นทางการเหมือนอีก 5 ครั้งที่ผ่านมา และเป็นตอนจบที่แฟน ๆ ชื่นชอบที่สุดอีกด้วย
Doraemon อยู่กับ Nobita จนถึงอายุเท่าไหร่
ปิดท้ายกับการวิเคราะห์ของแฟน ๆ ที่สงสัยว่าโดราเอมอนอยู่กับโนบิตะถึงช่วงอายุเท่าไหร่ เพราะในฉบับมังงะและอนิเมะไม่ได้บอกเราว่าโดราเอมอนอยู่กับโนบิตะถึงช่วงอายุกี่ปี แต่ก็มีอยู่ตอนหนึ่งในเรื่องเราจะเห็นโนบิตะในตอนโต มาหาโนบิตะในตอนเด็กเพื่อให้เขาขยันเรียน ตัวเองในอนาคตจะได้เรียนเก่ง ก่อนที่เราจะได้เห็นโนบิตะในช่วงอายุต่าง ๆ ทั้งมัธยมต้นมัธยมปลายไปจนถึงมหาลัยมาตามตัวเองให้กลับไปเรียน ซึ่งสิ่งที่แฟน ๆ สงสัยคือในช่วงอายุของโนบิตะนั้นยังไม่มีเครื่องเดินทางข้ามเวลารวมถึงหุ่นโดราเอมอนด้วย เพราะถ้าเราอ้างอิงจากเรื่องราวของของลูกโนบิตะที่เป็นตอนในอนาคต เด็กคนยุคนั้นไม่รู้จักหุ่นที่ชื่อโดราเอมอน และในยุคนั้นยังไม่มีเครื่องเดินทางข้ามเวลาแต่จะมีในยุคเหลนของโนบิตะไปแล้ว ก็หมายความว่าโนบิตะในช่วงมหาลัยที่เดินทางมาตามตัวเองในชั้นมัธยมปลายได้ นั่นก็แปลว่าโดราเอมอนก็ยังคงอยู่กับโนบิตะถึงช่วงนั้น เพราะถ้าโดราเอมอนกลับไปอนาคตลิ้นชักที่เป็นประตูเดินทางข้ามเวลาก็จะปิดลง แฟน ๆ จึงสรุปได้ว่าโดราเอมอนอาจจะอยู่กับโนบิตะจนถึงมหาลัยเลยทีเดียว
ก็จบกันไปแล้วกับเรื่องราวของเจ้าแมวสีฟ้าไร้หูจากอนาคต กับเรื่องราวมากมายที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ หวังว่าบทความนี้จะไขปริศนาที่หลายคนสงสัยไปได้มากขึ้น เพราะการ์ตูนเรื่องนี้คือหนึ่งในการ์ตูนขวัญใจของใครหลาย ๆ คนที่มีเนื้อเรื่องมาอย่างยาวนาน จนหลายคนเกิดความสงสัยในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าใครที่ได้อ่านโดราเอมอนครบทุกเล่มมาแล้วจะทราบดีว่าอาจารย์ฟูจิโกะได้เฉลยทุกอย่างเอาไว้ให้เราเรียบร้อยแล้ว แต่เราแค่จำไม่ได้หรือไม่ทันสังเกตเท่านั้นเอง และถ้าข้อมูลผิดพลาดตรงไหนก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการ์ตูนเกมภาพยนตร์ซีรีส์เรื่องไหนก็รอติดตามกันได้ที่แบไต๋ เพราะที่นี่มีทุกความบันเทิงให้คุณติดตามมากมายกดไปดูบทความอื่น ๆ ต่อได้เลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส