เมื่อพูดถึงซีรีส์ไอ้มดแดงหรือ ‘Kamen Rider’ ที่โด่งดังที่สุดในยุค 90s เด็กยุคนั้นต้องคิดถึง ‘Kamen Rider Black’ ซีรีส์แปลงร่างที่มีถึง 2 ภาคต่อกัน กับตำนานการต่อสู้ระหว่างเพื่อนรักที่โชคชะตากำหนดให้ทั้งคู่ต้องเกิดมาเป็นศัตรูกันไปจนตาย ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมา 35 (ซีรีส์ ‘Kamen Rider Black’ ฉายปี 1987) ก็มีการหยิบซีรีส์ในตำนานนี้กลับมาอีกครั้งในโอกาสครบรอบ 50 ปีซีรีส์ ‘Kamen Rider’ ที่คราวนี้ถูกสร้างออกมาในรูปแบบหนังผู้ใหญ่ที่ออกไปทาง 20+ ในชื่อ ‘Kamen Rider Black Sun’ พร้อมเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงทุกอย่างที่คุณคิดออก ทั้งการกระชากไส้ดึงหัวตบผู้หญิงกระทืบเด็ก คำด่า ฉากสูบบุหรี่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในซีรีส์ ‘Kamen Rider’ ที่แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมี ‘Kamen Rider’ โหด ๆ อย่าง ‘Shin Kamen Rider’ ที่ฉายในปี 1992 หรือซีรีส์ ‘Kamen Rider Amazon’ ที่ฉายในปี 2016 ก็ยังไม่มีความโหดรุนแรงดุดันแบบนี้ คราวนี้คือจัดหนักจัดเต็มจนเราต้องขอหยิบเรื่องนี้มาแนะนำให้คุณไปหามาชมกัน โดยเนื้อหาในบทความนี้จะไม่มีการสปอยล์เนื้อหา เพื่อให้ทุกคนไปหามาชมเองแบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านทาง ‘Prime Video’ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรมารับชมไปพร้อมกันเลย
ทำความรู้จัก Kamen Rider Black ต้นฉบับการ์ตูนเก่าในอดีต
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาเรามาทำความรู้จักต้นฉบับของ ‘Kamen Rider Black Sun’ ที่ถูกเอามาทำใหม่ในปี 2022 กันก่อน ว่าเรื่องราวนี้ถูกสร้างและได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Kamen Rider Black’ ซีรีส์แปลงร่างของ ‘Kamen Rider’ ลำดับที่ 10 ที่ถูกสร้างมาแต่เป็นไอ้มดแดงลำดับที่ 11 ถ้านับเรียงจากรุ่นพี่ ที่ออกฉายวันที่ 4 ตุลาคม 1987 ถึง 9 ตุลาคม 1988 ทั้งหมด 51 ตอนในประเทศญี่ปุ่น ส่วนบ้านเราถูกฉายทางช่อง 3 ที่บอกเล่าเรื่องราวของ มินามิ โคทาโร่ (Minami Kohtaro) กับ อากิซึกิ โนบุฮิโกะ (Akizuki Nobuhiko) สองพี่น้องต่างแม่ที่ถูกจับตัวมาเพื่อผ่าตัดเป็นมนุษย์ดัดแปลง เพื่อให้ทั้งคู่ต่อสู้ท้าชิงตำแหน่งราชาผู้สร้างกันเองเพื่อองค์กร ‘Gorgom’ ที่ถูกเรียกว่า ‘Century King’ ที่ไม่ว่าทั้งคู่จะรักกันขนาดไหนแต่สุดท้ายโชคชะตาก็กำหนดให้ทั้งคู่ต้องฆ่ากันเอง เพราะเมื่อโนบุฮิโกะคิดจะปกครองโลกใบนี้ ในฐานะเงาแห่งดวงจันทร์ที่จะไม่ลงทัณฑ์ใครนอกจากโคทาโร่ในชื่อ ‘Shadow Moon’ ส่วนโคทาโร่ก็ไม่ยอมให้เป็นแบบนั้นเพราะเขาก็ใช้พลังที่ได้มาแปลงร่างเป็น ‘Kamen Rider Black’ ที่เป็นดังความมืดที่คอยให้ความร่มเย็นของผู้คน ที่แม้ตัวเนื้อหาจะดูโหดแต่ก็ถูกสร้างมาให้เด็กดูจึงไม่ค่อยมีความรุนแรง ซึ่งเด็กหนวดยุคนั้นทุกคนต่างชอบซีรีส์นี้มาก ๆ จนนักแสดงในยุคนั้นโด่งดังเป็นดาวค้างฟ้ามาจนถึงตอนนี้ (น่าเสียดายที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมในซีรีส์นี้เพราะมีปัญหาก่อนถ่ายทำ) และการออกแบบร่างแรกของ ‘Black Sun’ ในซีรีส์ก็เป็นการเอาแบบจากต้นฉบับของอาจารย์ อิชิโนโมริ โชทาโร่ (Ichinomori Shotaro) ออกแบบเอาไว้อีกด้วย เป็นการเรียกเด็กหนวดให้กลับมาดูได้สมใจแฟน ๆ จริง ๆ
เรื่องย่อ Kamen Rider Black Sun
คราวนี้มาดูในส่วนของ ‘Kamen Rider Black Sun’ ในฉบับปี 2022 ที่เพิ่งฉายครบไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังคงใช้โครงเรื่องของ ‘Kamen Rider Black’ มาเป็นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นองค์กร ‘Gorgom’ ที่คิดจะสร้างราชาผู้สร้างขึ้นมาเหมือนกันและทั้งคู่ก็เป็นสองในผู้ที่ถูกเลือก กับเรื่องราวในโลกอนาคตที่มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับลูกครึ่งมนุษย์ปีศาจที่เรียกว่า ‘kijin’ ที่ไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มาจากไหน แต่พอมารู้ตัวอีกทีพวก ‘kijin’ ก็ออกลูกหลานจนอาศัยอยู่กับมนุษย์ไปทั่วโลก จนเกิดการต่อต้านเหยียดเหล่า ‘kijin’ ขึ้นมา ซึ่งมีสาวน้อย อิซุมิ อาโออิ (Izumi Aoi) ที่เป็นมนุษย์แต่เธอก็พยายามเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ให้เหล่า ‘kijin’ ทั่วโลก จนเธอกลายเป็นเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม ทำให้โชคชะตาของคุณลุงกับคุณหลานสาวต้องมาเจอกัน ที่เรื่องราวมันเริ่มต้นง่าย ๆ แบบนี้ แต่เนื้อหาจริง ๆ หลังจากนั้นมีมากกว่านี้เยอะมาก ๆ จนแฟน ๆ ที่ดูต้องเอามือทาบอกแล้วอุทานออกมาว่า “คุณพระคุณเจ้าวัน ๆ ไม่สนใจธรรมะจะดูแต่ไอ้มดแดง” (ไม่ใช่และ) แต่บอกว่า “พี่เล่นแบบนี้เลยหรอ” ออกมาเลยทีเดียว ที่แค่ตอนแรกของซีรีส์ก็เป็นตัวเลือกให้คนดูว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ได้เลย เพราะเนื้อหาในเรื่องนี้มันโหดจัดสุดติ่งที่แฟน ๆ ไอ้มดแดงไม่คิดว่าจะมาสุดขนาดนี้ เรียกว่าความแปลกใหม่สมจริง ที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบตีคู่ไปพร้อมกันเลยทีเดียว
เอกลักษณ์เก่า ๆ กลับมาครบ
ในเมื่อลงทุนเอา ‘Kamen Rider Black’ มาทำทั้งที การใส่ของเดิม ๆ หรือเอกลักษณ์ที่อยู่ในซีรีส์ต้นฉบับก็ควรต้องมีมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นศัตรูตัวแรกที่ปรากฏตัวให้พระเอกเรากระทืบก็ต้องเป็นปีศาจแมงมุม ที่เป็นการเคารพต้นฉบับใน ‘Kamen Rider’ คนแรกที่ได้เปิดตัวด้วยการถีบปีศาจแมงมุมกลายเป็นปุ๋ย ส่วนในฉบับของ ‘Kamen Rider Black Sun’ ก็มีน้องปีศาจแมงมุม (ที่นึกว่าหลุดมาจากหนังผี) ที่ตายได้อย่างน่าสงสารสุด ๆ ตั้งแต่มีการสร้างซีรีส์นี้มา รวมถึงเหล่าตัวละครฝ่ายตัวเอกตัวร้ายก็อ้างอิงมาจากซีรีส์ยุคเก่าทั้งหมด และหนึ่งสิ่งที่หลายคนต้องสงสัยแน่ ๆ ว่าทำไมพระเอกเราต้องตั้งท่าแปลงร่างด้วย ซึ่งมันดูขัดกับความสมจริงที่มีในเรื่อง แถมร่างก่อนหน้านี้พี่แกก็ไม่ได้ตั้งท่ายังแปลงร่างได้เลย (ตามเนื้อเรื่องพระเอกมีสองร่างในการต่อสู้) ก็คงต้องอธิบายตรงนี้ว่า การตั้งท่าของเหล่าไอ้มดแดงทุกคนที่อยู่ในหมวดหมู่มนุษย์ดัดแปลง จำเป็นต้องตั้งท่าเท่ ๆ แล้วตะโกนดัง ๆ ‘Henshin’ ที่ว่า “แปลงร่าง” ออกมา เพราะมันคือรหัสผ่านหรือการกดปุ่มเพื่อไม่ให้มนุษย์ดัดแปลงต้องแปลงร่างมั่ว ๆ เพราะการแปลงร่างมันดึงพลังงานในร่างสูงมาก การแปลงร่างจึงต้องผ่านการเข้ารหัสที่เมื่อตั้งท่าครบก็ต้องฟังรหัสเสียงของเจ้าของเข็มขัดเป็นการยืนยันขั้นสุดท้าย ที่มีการบอกเล่าในมังงะ ‘Kamen Rider Spirits’ ที่ช่วยแถให้ฉบับคนแสดง ที่เอาจริง ๆ การตั้งท่าแปลงร่างนั้นเกิดขึ้นจากที่นักแสดง ‘ Kamen Rider 2’ ไม่มีใบขับขี่ทางทีมงานเลยต้องให้พี่เขาแปลงร่างโดยที่ไม่ต้องขี่รถ เพราะใน ‘Kamen Rider’ หมายเลข 1 จะแปลงร่างได้นั้นต้องให้เข็มขัดกินลมจนใบพัดหมุนตามที่เข็มขัดต้องการจึงจะแปลงร่างได้ ซึ่งการใช้ท่าแปลงร่างก็เป็นการตัดปัญหาที่ยุ่งยากนี้ไปด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของการแปลงร่างที่ใน ‘Kamen Rider Black Sun’ ก็อ้างอิงแบบนั้น (มั้งนะ)
Kamen Rider Black ความรุนแรงเกินเบอร์ที่เด็กดูมีร้องไห้เพราะความกลัว
ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วที่เราทิ้งท้ายไว้ว่า แค่ตอนแรกของซีรีส์ก็เป็นการคัดคนดูแล้วว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ที่ไม่ใช่เพราะเนื้อหาเรื่องราวหรือฉาก 18+ อย่างที่คิด แต่มันคือความโหดดิบที่เรียกว่าเกินเบอร์ไปไกลมาก ๆ จนหลายคิดไม่ถึงว่า ‘Kamen Rider’ จะเล่นถึงขั้นนี้ ที่เรียกว่าโหดกว่าหนังเลือดสาดบางเรื่องเสียอีก ที่เอาแค่ตอนแรกที่เราจะได้เห็นฉากต่อยท้องควักไส้ออกมาแล้วก็กระชากดึงหัวสัตว์ประหลาดออกมาด้วยมือเปล่า ที่ในอดีตฉากเหล่านี้มันเคยมีมาแล้วในซีรีส์ ‘Kamen Rider Amazon’ ที่ฉายในปี 1974 แต่มันก็ยังอยู่ในช่วงอายุที่เด็กดูได้เลือดไม่เป็นสีแดง (แต่ในยุคนั้นหลายคนก็รับไม่ได้ที่ ‘Kamen Rider’ โหดดิบแบบนี้) ซึ่งนี่เป็นแค่เริ่มต้นเท่านั้น นับจากนี้ก็มีอย่างการตบผู้หญิงทำร้ายเด็กกระทืบตาหลุดจากเบ้าเอามีดแทงคอ ที่ไม่มีปิดไม่มีหลบฉากแต่ฉายกันให้เห็นตรง ๆ ไปเลยแบบ 20+ ที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังตกใจเมื่อเห็นฉากเหล่านี้ ดังนั้นถ้าผู้ปกครองจะให้เด็ก ๆ ดูก็คิดก่อนนะ เพราะเรื่องนี้รุนแรงสุดติ่งจริง ๆ นี่ยังไม่นับเนื้อหาการเหยียดเชื้อชาติการเมืองน้ำเน่า แบบคนชั่วได้ดีมีเยอะไปคนดีดวงซวยถูกฆ่าตายคือเรื่องปกติไม่ต่างกับชีวิตจริง ที่ไม่ใช่แบบละครฟ้ามีตาหรือ ‘Kamen Rider’ ที่ฉายทางทีวี ที่สุดท้ายฝ่ายตัวเอกก็ชนะฝ่ายตัวร้ายตายหมดจบไชโยกลับบ้านนอน แต่เรื่องนี้มันคือความจริงอันโหดร้ายที่คุณต้องยอมรับให้ได้ก่อนดู
เรื่องราวในอดีตสลับกับปัจจุบัน
อีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนต้องรู้เอาไว้เกี่ยวกับ ‘Kamen Rider Black Sun’ นั่นคือการตัดฉากเรื่องราวที่ในซีรีส์นี้จะเป็นการเล่าเรื่องราวในอดีตของโคท่โร่และโนบุฮิโกะตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเติบโตมาเป็นหนุ่มที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ด้วยการให้มนุษย์และ ‘kijin’ สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่มีความขัดแย้ง ก่อนที่เนื้อหาจะตัดมาเล่าเรื่องราวในปัจจุบันที่เรื่องราวจะค่อย ๆ เฉลยว่าทำไมตัวละครคนนี้มาอยู่ตรงนี้ทำไมตัวละครนั้นก็เป็นแบบนี้ ที่ในตอนแรกเราจะมีคำถามมากมายว่าทำไมอะไร จนเมื่อเรื่องราวขมวดมาใกล้เรื่อย ๆ เราก็จะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ที่แม้ในส่วนนี้มันจะดูอืด ๆ ไม่น่าสนใจและมีฉากต่อสู้ไม่เยอะแบบในปัจจุบัน แต่มันก็คือเนื้อหาที่ขาดไม่ได้ที่เป็นการเล่าเรื่องคู่ขนานกันไป ที่พอมาถึงตอนที่ปัจจุบันกับอดีตมาถึงจุดเดียวกันคุณจะรับรู้ทุกอย่างจนครบจบบริบูรณ์ไม่มีอะไรค้างคา ซึ่งไม่ต้องลุ้นเลยว่าจะมี ‘Kamen Rider Black RX’ แบบในฉบับซีรีส์เก่าเพราะทุกอย่างมันเริ่มต้นและจบในตัวเรียบร้อย (ไม่มีภาค 2) ดูเสร็จแล้วคุณจะมองซีรีส์ ‘Kamen Rider’ ฉบับหนังผู้ใหญ่เปลี่ยนไปเลยทีเดียว เนื้อหาเพิ่มเติมซีรีส์ ‘Kamen Rider Black’ คือซีรีส์ยาวเรื่องเดียวที่มี 2 ภาคที่เนื้อหาต่อกัน
ความสมจริงของเนื้อหาการต่อสู้
อีกหนึ่งสิ่งที่แฟน ๆ ไอ้มดดำ (ยุคนั้นเรียกแบบนี้เพราะมันดูเหมือนมดกว่าตั๊กแตน) ชื่นชอบใน ‘Kamen Rider Black Sun’ ต่างชูนิ้วโป้งให้ระหว่างดู คือความสมจริงของการต่อสู้ที่ไม่ใช่การต่อสู้แบบเท่ ๆ เตะต่อยตั้งท่าใช้อุปกรณ์แบบใน ‘Kamen Rider’ ยุคนี้ แต่มันคือการต่อสู้แบบมวยวัดบ้าน ๆ ที่เหมือนเด็กต่อยกัน ที่ถ้าจะให้อธิบายก็คงจะเป็นภาพของเด็กสองคนที่แย่งของเล่นแล้วต่อยกันนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์นี้ ที่มันคือความสมจริงเมื่อคุณต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตคุณคงไม่ยืนทำท่าเท่ ๆ เรียกใช้อุปกรณ์ในการต่อสู้ที่ดูแบบการ์ตูนขายของเล่น (แต่เราก็ยอมซื้อ) แต่ใน ‘Kamen Rider Black Sun’ มันคือความบ้าบิ่นอย่างตอนที่ศัตรูใช้ดาบในการต่อสู้ พี่มดดำที่ไม่ใช่มดดำ คชาภา ตันเจริญ ก็จัดการหักขาตั๊กแตนตรงหน้าอกตัวเองออกมาหนึ่งข้างเพื่อเอามาใช้เป็นดาบ (รูปประกอบด้านล่าง) ที่ตอนดึงก็เลือดสาดเป็นแผลจนเราคนดูอุทานออกมาว่า “เพื่ออะไร” แต่เมื่อเห็นดาบก็เข้าใจ ที่ถ้าเป็นในเรื่องอื่น ๆ หลังจากฉากนี้ไปขาตั๊กแตนนั้นก็คงกลับมาพร้อมแผลที่รักษาหาย แต่นี่ไม่มันคือหักแล้วหักเลยดึงแล้วดึงเลยไม่งอกหรือต่อคืนได้ เป็นตั๊กแตนขาพิการแบบนั้นไปจนจบเรื่อง ที่บอกเลยว่าสมจริงเกินปุยมุ้ย ก่อนที่เราจะรู้เหตุผลว่าทำไมเรื่องราวถึงให้พระเอกถึงต้องดึงขานี้ออกมา (ไม่บอกไปดูเอาเอง) นี่ยังไม่นับฉากอ้าปากกัดกระชากสุดโหดที่บอกเลยว่าเด็ก ๆ เอาไปฝันร้ายแน่นอนถ้าดูเรื่องนี้
ข้อเสียหลักในเรื่อง
ปิดท้ายกับการพูดถึงข้อเสียของซีรีส์ ‘Kamen Rider Black Sun’ ที่เริ่มจากความโหดร้ายเกินเบอร์ที่ก่อนหน้านี้แฟน ๆ รุ่นเก่าเคยเห็นความโหดมาแล้วใน ‘Kamen Rider Amazon’ ในปี 2016 ที่เอาจริง ๆ มันก็ยังอยู่ในระดับที่เด็กดูได้ไม่โหดร้ายอะไรมากมาย แต่พอมาซีรีส์ ‘Black Sun’ มันคือเกินเบอร์แบบสุด ๆ ที่ถ้าไม่นับการต่อสู้กับสัตว์ประหลาดที่นั่นก็โหดแล้ว แต่สิ่งที่ตัวละครในเรื่องทำมันก็สมจริงเกิน จนหลายคนไม่คิดว่าซีรีส์เด็กดีขายของเล่นแบบจุก ๆ อย่างนี้ (ซีรีส์ ‘Kamen Rider Black Sun’ ก็มีของเล่นออกมารัว ๆ บอกเลย) จะใส่ความรุนแรงมาด้วย ที่ยังดีไม่มีเรื่องความรุนแรงทางเพศไม่อย่างนั้นคงโดนแบนแน่ ๆ อีกหนึ่งเรื่องที่ขัดใจก็คือความเป็นชุดยางของเรื่อง ที่ดูก็รู้เลยว่ามันคือชุดยางที่ดูแล้วมันขัดตาแบบสุด ๆ ทั้งการแปลงร่างของพระเอกตัวร้ายตัวละครอื่น ๆ ที่ดูยังไงก็ชุดยาง แม้จะพยายามบอกตัวเองว่า “ใช่มันคือชุดยางแต่เนื้อเรื่องสนุกสู้กันสะใจ แต่มันก็ชุดยางอยู่ดี ไม่ ๆ เราอย่าไปมองตรงนั้น อย่างน้อยฉากแปลงร่างของ ‘kijin’ ที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ แต่มันคือชุดยาง” แบบนี้ซ้ำไปมาในหัวสลัดไม่หลุด โดยเฉพาะตัวละคร บีโกเนีย (Begonia) ที่นักแสดงคงตะโกนออกมาดัง ๆ ว่า “เอ็งเอา ‘Black Sun’ กับ ‘Shadow Moon’ มาเท่แต่เอากรูมาฆ่า” อีกอย่างคือการยัดตัวละครพี่วาฬ (วาฬไม่ใช่ปลามันคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในน้ำนะจ๊ะเด็ก ๆ อย่าเรียกวาฬว่าปลาวาฬมันผิด) ที่จู่ ๆ ก็ปรากฏตัวออกมาแบบงง ๆ ว่าพี่วาฬนายคือใคร ในอดีตนายอยู่ไหนไม่เห็นเลย ที่แบบจู่ ๆ ก็ใส่มาและตัวละครก็รู้จักตัวละครนี้ทั้งที่เพิ่งเคยเจอกันครั้งแรก ที่ขนาดไปย้อนดูก็ไม่รู้ว่าตัวละครนี้มาตอนไหน แบบจู่ ๆ คนเขียนบทก็นึกออกว่า “เฮ้ยลืมว่าต้องมีบทแบบนี้นี่นางั้นยัดตัวละครนี้ไปด้วย” อะไรแบบนั้นรึเปล่า ที่ถ้าใครดูแล้วงง ๆ ขัดใจแปลว่าเราอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่มันคือชุดยางจริง ๆ นะ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการป้ายยาให้คุณไปหาซีรีส์ ‘Kamen Rider Black Sun’ มาดู ที่พอดูจบคุณอาจจะมองซีรีส์ ‘Kamen Rider’ เปลี่ยนไปก็ได้ เพราะถ้าคนที่เขาชอบก็ชอบเลยคนไม่ชอบก็คือเกลียดเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เยอะโหดดิบกับชุดยางที่ดูขัดตา แต่ถ้าคุณชอบเราก็ขอยินดีด้วย เพราะหลังจากดูซีรีส์จบก็มีของเล่นของสะสมแนวราคาผู้ใหญ่ ขายคนแก่ที่มีเงินซื้อแม้ค่าแรงจะแค่ 300 ก็ตาม (เกี่ยวอะไรกัน) และถ้าใครที่กลัวว่าตัวเองไม่เคยดูหรือรู้จัก ‘Kamen Rider Black’ จะดูสนุกรู้เรื่องไหม ก็บอกเลยว่าไม่ต้องห่วงเพราะมันคือเรื่องใหม่ทั้งหมด รับรองว่าดูรู้เรื่องและสนุกแน่นอน แต่มันคือชุดยางจริง ๆ นะ (หลอกหลอนกันไปยาว ๆ ตอนดู) แล้วคุณจะอยากไปหาซีรีส์ไอ้มดแดงมาดูต่อก็ได้ อย่างตอนนี้ซีรีส์ที่ฉายอยู่ก็มี ‘Kamen Rider Geats’ ที่ดูสนุกมาก ๆ รับรองว่าคุณต้องไม่ผิดหวังกับการขายของเล่นเรื่องนี้แน่นอน ถือว่าเรื่องนี้เป็นการเปิดแนวทางใหม่ให้คุณก็แล้วกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส