วันฉาย
26 / 10 / 2566
แนว
ไซไฟ, ดราม่า, สืบสวน
จำนวนตอน
8
ผู้แต่ง
นาโอกิ อุราซาวะ, เทซูกะ โอซามุ
เรตผู้ชม
PG-13
OUR SCORE
8.6
Our score
8.6[รีวิว] PLUTO – สืบปมคดีปริศนานักล่าแอนดรอยด์
จุดเด่น
- การตีความจากอนิเมะขึ้นหิ้งในรูปแบบที่จริงจัง และหนักหน่วง
- เรื่องเรื่องที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน แฟน Monster ต้องไม่พลาด
- งานภาพที่ประณีต สามารถแคปทุกซีนได้เลย
- การวางบทแบบมีลูกล่อลูกชน ถ้าไม่เคยดู Astro Boy มาก่อนจะยิ่งชอบ เพราะเราจะไม่โดนสปอยล์อะไรเลย
จุดสังเกต
- บางตอนมีความเนิบไปหน่อย ทำให้แอบรู้สึกน่าเบื่อ
- ตัวละครบางตัวไม่ต้องเล่าก็ได้ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนว่ามันสามารถกระชับได้กว่านี้
-
คุณภาพด้านเสียงพากย์
8.5
-
คุณภาพแอนิเมชัน
8.9
-
คุณภาพของบท
9.0
-
คุณภาพของความบันเทิง
8.0
สำหรับวงการการ์ตูนแล้ว อาจารย์เทซูกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ก็เปรียบเสมือนวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) แห่งญี่ปุ่น เพราะชายคนนี้ได้รับสมญานามว่าเทพเจ้าแห่งมังงะ เนื่องจากผลงานของอาจารย์นั้น มีแต่อนิเมะระดับตำนานมากมาย ซึ่งซีรีส์ ‘Astro Boy’ หรือในชื่อไทยอย่าง ‘เจ้าหนูปรมาณู’ ก็คือหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของอาจารย์ เพราะการ์ตูนเรื่องนี้เป็นไซไฟที่มาก่อนกาล โดยผสมทั้งแอ็กชัน และการผจญภัยไว้ได้อย่างครบรส ซึ่งถ้าหากใครเคยดู ‘Astro Boy’ แล้วก็คงจำตอนหนึ่งของเจ้าหนูปรมาณูได้ดี
‘หุ่นยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’ หรือ The Greatest Robot on Earth ถือเป็นหนึ่งในตอนสำคัญของซีรีส์ ‘Astro Boy’ ของอาจารย์เทซูกะ เพราะในตอนนี้บอกเล่าเรื่องราวของแอนดรอยด์ที่ชื่อ พลูโต ซึ่งหมายมั่นจะกำราบแอนดรอยด์ที่สุดยอดที่สุด 7 ตัวบนโลก เพื่อบอกว่า ‘ข้านั้นแกร่งที่สุด’ สิ่งนี้แหละจึงเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์อุราซาวะ นาโอกิ (Urasawa Naoki) นักเขียนผู้สร้าง ‘Monster’ และ ’20th Century Boys’ ได้หยิบพล็อตของ ‘Astro Boy’ ตอนหุ่นยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มาสร้างเป็นมังงะเรื่อง ‘PLUTO’ ขึ้นมา
อนิเมะ ‘PLUTO’ ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกัน ซึ่งเล่าถึงเกซิกต์ สุดยอดหุ่นยนต์ตำรวจจากยูโรโปล ผู้ต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่มีเป้าหมายคือหุ่นยนต์ โดยในทุกคดีนั้น เหยื่อทุกรายจะมีสัญลักษณ์ ‘เขาสัตว์’ ถูกวางไว้บริเวณศีรษะทั้งหมด
ในขณะที่เกซิกต์สืบหาฆาตกรไปเรื่อย ๆ เขาก็ยังพบว่าเป้าหมายของฆาตกรจากคดีนี้ คือหุ่นยนต์ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในโลกทั้งหมด 7 ตน (ซึ่งรวมเกซิกต์ด้วย) นั่นทำให้เขาต้องออกสืบค้นคดีนี้ และในขณะที่เข้าไปพัวพันกับเรื่องราวของหุ่นยนต์ทั้ง 7 นั้น บาดแผลในอดีตของเกซิกต์ก็ถูกปลุกขึ้นมา
ชีวิต ความรัก และการคงอยู่ของจักรกล
หากจะบอกว่านี่คือการนำ ‘Astro Boy’ มาตีความใหม่ในเวอร์ชัน ‘Blade Runner’ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะอนิเมะเรื่องนี้ สำรวจประเด็นด้านมืดของจักรกล จริยธรรมของความเป็นมนุษย์ รวมถึงจุดที่ไม่อาจจะย้อนกลับมาของการวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้คนดูต้องมาคิดต่อว่าถ้าวันหนึ่งหุ่นยนต์มีจิตใจ เขาจะนับเป็นมนุษย์อยู่ไหม
อนิเมะเรื่องนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเชิงจริยธรรมว่า หุ่นยนต์มีสิทธิ์เท่ามนุษย์หรือเปล่า หากวันหนึ่งหุ่นยนต์ถูกพูดด้วยคำพูดร้าย ๆ พวกเขามีสิทธิ์จะโกรธไหม ซึ่งความรู้สึกที่เกิดของหุ่นยนต์คือสิ่งบิดเบี้ยว หรือเพียงแค่หุ่นยนต์ซึมซับมาจากมนุษย์มากเกินไป
แก่นแท้ของ ‘PLUTO’ จึงเป็นการสะท้อนความหมายของความเป็นมนุษย์ผ่านหุ่นยนต์ โดยอาจารย์อุราซาวะ พาเราไปเจาะลึกประเด็นที่ซับซ้อน เช่น อัตลักษณ์ ความทรงจำ การตาย และชีวิต ในแบบที่จักรกลพึงมี แม้ว่าเรื่องราวปรัชญาของ ‘PLUTO’ จะดูเข้าใจยาก แต่ความจริงแล้ว เนื้อหาไม่ได้ย่อยยากขนาดนั้น เพราะเวลา 8 ชั่วโมงของทั้งซีรีส์ ช่วยทำให้เราเข้าใจ ถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และหุ่นยนต์ในโลกของ ‘PLUTO’ ได้อย่างดี จนเรารู้สึกเห็นอกเห็นใจ ในทุกสิ่งที่ไม่ว่าจะหุ่นยนต์หรือมนุษย์ต้องประสบ
จุดหนึ่งที่ต้องชมของ ‘PLUTO’ นั้นคืออาจารย์อุราซาวะ ไม่เพียงแต่นำตอนเด่นของ ‘Astro Boy’ มาเล่าอีกครั้ง แต่ยังตีความใหม่ โดยผสมผสานกับสไตล์สืบสวนอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองในแบบที่ไม่ทำลายต้นฉบับ ซึ่งการเปลี่ยนไปโฟกัสบทบาทของเกซิกต์ รวมถึงแนะนำตัวละครใหม่อย่างคนรอบตัวของหุ่นยนต์ทั้ง 7 ก็ทำให้เราเข้าใจความเศร้าโศก ในยามที่มีหุ่นยนต์ต้องจบชีวิตลง ซึ่งเป็นความลึกทางจิตวิทยาที่ยกระดับเรื่องราวไปสู่อีกขั้น
การทำให้ ‘PLUTO’ กลายเป็นการ์ตูนสืบสวน ที่เล่าผ่านหุ่นยนต์อย่างเกซิกต์ในยุคที่มนุษย์กับหุ่นยนต์แยกกันแทบไม่ออกนั้น ทำให้ผู้แต่งสามารถใส่ลูกเล่นในเนื้อเรื่องมากขึ้น ซึ่งการสืบสวนสามารถหักมุมได้ตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้เลยว่าตัวละครตรงหน้านั้นคือตัวอะไร แล้วตกลงฆาตกรนั้นคือหุ่นยนต์หรือมนุษย์กันแน่ หากใครไม่เคยดูต้นฉบับมาก่อนก็ยิ่งจะอิน เพราะเราไม่รู้เลยว่า หุ่นยนต์รายต่อไปที่จะโดนจัดการคือใคร และยิ่งการให้ตัวเอกเป็นตำรวจที่มีปมกับอดีตอย่างเกซิกต์มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ยิ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนดูหนังของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) อย่างไรอย่างนั้น
นอกจากเกซิกต์แล้วอีกหนึ่งตัวละครที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ‘อะตอม’ ซึ่งถ้าใครไม่รู้ว่า ‘PLUTO’ ดัดแปลงมาจาก ‘Astro Boy’ ก็จะยิ่งรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก เพราะอาจารย์อุราซาวะนั้นตีความทุกอย่างใหม่ซะแทบไม่เหลือเค้าเดิม โดยเฉพาะอะตอมที่เราจะเห็นเลยว่าได้รับการยกเครื่องรูปลักษณ์ขึ้นใหม่ จนมีความคิดที่ลึกขึ้น แต่ขณะเดียวกันข้างในของเขาก็ยังมีหัวใจของอะตอมคนเดิมอยู่
‘PLUTO’ ไม่เพียงแต่จะขยายเรื่องราวของหุ่นยนต์ทั้ง 7 แต่ยังทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนทางความคิดของอะตอมมากขึ้น ที่แม้เขาจะเป็นสุดยอดหุ่นยนต์ ทว่าเขาก็ยังเป็นเด็กคนหนึ่งที่พยายามจะเติบโต มีทั้งความไร้เดียงสากับความเห็นอกเห็นใจ ในขณะเดียวกันเขาก็มีความเคียดแค้นเพื่อเพื่อนที่ตายไปแล้ว นั่นทำให้อะตอมในภาคนี้คือหนึ่งในจุดเด่นที่อยากให้คนที่โตมากับอะตอมได้กลับไปดูอย่างมาก
พอพูดถึงอะตอมแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงตัวละครตัวอื่นในจักรวาล เพราะการ์ตูนของอาจารย์เทซูกะนั้นขึ้นชื่อเรื่องการนำตัวละครมาแจมข้ามเรื่องกันอยู่แล้ว ซึ่งใน ‘PLUTO’ ก็หยิบจุดเด่นนี้มาใช้ได้อย่างดี เพราะเราจะได้เห็นตัวละครจากในอะตอมมากันเยอะมาก และยังมีการอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดในจักรวาลของอะตอมอีก นอกจากนั้นอาจารย์อุราซาวะยังแอบใส่ Cameo ตัวละครจากจักรวาลของอาจารย์เทซุกะ ที่ไม่คาดคิดว่าจะโผล่มาด้วย เรียกได้ว่า แฟน ๆ ที่โตมากับอนิเมะของอาจารย์เทซุกะนั้น หาอีสเตอร์เอ้กกันสนุกมือเลยล่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ชมไม่ได้เลยคืองานศิลป์ของ ‘PLUTO’ เพราะนอกจากอาจารย์อุราซาวะ จะยกเครื่องเนื้อเรื่องใหม่ เรื่องนี้ยังยกเครื่องงานภาพให้ออกมาอย่างละเมียดละไม ซึ่งแต่ละช็อตนั้นแบ่งเฟรมกันแบบภาพยนตร์ จนเราอดไม่ได้ว่า ถ้าหากมันได้ฉายในจอยักษ์จะดีขนาดไหน ซึ่งการสร้างอนิเมะทั้ง 8 ตอนที่ในแต่ละตอนยาวกว่า 1 ชั่วโมงให้ออกมาด้วยงานภาพอันประณีตนั้น ต้องยกความดีความชอบให้ทีมผลิตอนิเมะ ที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของอาจารย์อุราซาวะ ออกมาได้อย่างครบถ้วน
โดยรวมแล้ว ‘PLUTO’ นั้นถือเป็นอีกหนึ่งผลงานขึ้นหิ้งของอาจารย์นาโอกิ อุราซาวะ ต่อจาก ‘Monster’ กับ ซีรีส์ ‘Century Boys’ เพราะซีรีส์นี้นำ ‘Astro Boy’ มายกเครื่องด้วยการเพิ่มความเป็นไซไฟ ปรัชญา และสืบสวนเข้าไปได้อย่างลงตัว ซึ่งการสะท้อนอารมณ์อย่างลึกซึ้งนี้ กลายเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการดัดแปลง ของอนิเมะตีความมังงะคลาสสิกออกมาในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิมได้ จนเราอดคิดไม่ได้เลยว่า ถ้ามังงะคลาสสิกเรื่องอื่น ๆ ถูกนำมายกเครื่องแบบนี้จะกลายเป็น Master Piece ขนาดไหน โดยถ้าใครชอบแนวสืบสวนในโลกไซไฟนั้น ผู้เขียนแนะนำ ‘PLUTO’ เป็นอย่างยิ่งเลยล่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส