‘ฟรีเรน คำอธิษฐานในวันที่จากลา’ หนึ่งในอนิเมะกระแสแรงช่วงนี้ แม้ใครจะยังไม่ได้เริ่มดูเลยสักตอน แต่ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูมากันบ้าง และสำหรับคนที่ตามดูอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ก็ยังไม่ต้องรีบร้อนกลัวว่าอนิเมะจะจบลงที่เดือน ธันวาคม เหมือนเรื่องอื่น ๆ เพราะ Frieren มีจำนวนตอนในซีซันแรก มากถึง 28 ตอน สามารถดูต่อเนื่องจนถึงเดือน มีนาคม ปีหน้าได้เลย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้เป็นที่น่าสนใจสำหรับคนดู คือ ‘การเล่าเรื่องที่แปลกใหม่’ โดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลัก ฟรีเรน นักเวทสาวเผ่าพันธุ์เอลฟ์ ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้กล้าพิชิตจอมมาร ถ้าอิงตามเนื้อเรื่องปกติแล้ว เรื่องราวทั่วไปมักจะเล่าถึงการเดินทางของกลุ่มผู้กล้าเพื่อรวบรวมคนไปปราบจอมมาร และระหว่างการเดินทางนั้น พบเจออุปสรรคอะไรบ้างที่จะพัฒนาความแข็งแกร่งของตัวละคร จนสิ้นสุดที่การปราบจอมมารสำเร็จ

ทว่าเรื่องราวการปราบจอมมารของฟรีเรน กลับสิ้นสุดลงตั้งแต่ช่วงต้นของอนิเมะตอนแรก กลุ่มผู้กล้าเสร็จสิ้นภารกิจและต้องแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตของตัวเอง โดยเอลฟ์สาวของเรานั้นเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์ที่สามารถมีชีวิตยืนยาวเป็นพัน ๆ ปี ดังนั้นเธอเลยมองว่าการร่วมผจญภัยกับกลุ่มผู้กล้าในระยะเวลา 10 ปี เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

การเล่าเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับเรื่องฟรีเรน คือ การใช้เทคนิค ‘Time skip’ เพื่อเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเผ่าพันธุ์ที่มีอายุขัยยืนยาว และมองระยะเวลาที่ผ่านไปรอบตัวเป็นเพียงแค่ชั่วครู่เท่านั้น เพราะงั้นพอคนดูอย่างเรา ผ่านช่วงเวลา Time skip ซึ่งนำเอาช่วงระยะเวลา หลายเดือน หรือ หลายสิบปี ในเนื้อเรื่องมานำเสนอโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ยิ่งเสมือนกับว่าตัวเราได้สัมผัสการรับรู้เวลาแบบที่ตัวละครฟรีเรนได้สัมผัสจริง ๆ

อันที่จริงแล้ว เทคนิคการเล่าเรื่องแบบ Time skip นั้น เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างแพร่หลาย และถูกนำไปใช้ในหลายเรื่องที่น่าจะคุ้นเคยกันดี ทว่าจุดประสงค์หลักของการ Time skip นั้น มักจะใช้เพื่อเป็นการตัดจบเนื้อเรื่องบทเก่า และส่งต่อไปสู่เนื้อเรื่องในภาคต่อไป นอกจากนั้นยังมักจะนำเสนอพัฒนาการของตัวละครที่ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานั้นมา ว่าได้รับการฝึกฝนในรูปแบบไหนบ้างอีกด้วย

นอกจากการ Time skip ก็ยังมีการเล่าเรื่องอีกแบบที่นิยมนำเอาไปใช้พอ ๆ กัน นั่นคือ ‘ย้อนอดีต’ และในเรื่องฟรีเรน ก็ไม่พลาดนำเทคนิคนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องได้บ่อยพอ ๆ กับการ Time skip อีกด้วย พอนำทั้งสองเทคนิคมารวมกันและตัดสลับไปมาแบบลื่นไหล ทำให้สามารถสื่อถึงผู้ชมให้เข้าใจถึงสัมผัสเวลาของเอลฟ์ผู้ใช้ชีวิตมายาวนานได้เป็นอย่างดี

ก่อนที่จะยกตัวอย่างฉากสำคัญของการ Time skip และย้อนอดีตในเรื่องราวของฟรีเรน คงต้องขอกล่าวถึงการใช้เทคนิคการเล่าเรื่องทั้งสองแบบ ในอนิเมะเรื่องอื่น ๆ เสียก่อน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น

“พวกเราจะมารวมตัวกันในอีก 2 ปี ให้หลัง ที่หมู่เกาะชาบอนดี้”

สำหรับเรืองแรกที่จะกล่าวถึงเลย คือ วันพีซ (One piece) หนึ่งในผลงานของอาจารย์เออิจิโระ โอดะ (Eiichiro Oda) ที่พูดถึงเรื่องราวการผจญภัยของ มังกี้ ดี ลูฟี่ (Monkey D.Luffy) ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันจะเป็นจ้าวแห่งโจรสลัด และได้ออกผจญภัยในท้องทะเลเพื่อรวบรวมเหล่าพวกพ้องและก่อตั้งเป็นกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางขึ้นมา

การย้อนอดีตเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สำหรับการเล่าเรื่องของวันพีซ เพราะในเนื้อเรื่องสำคัญของแต่ละเกาะที่ลูฟี่และกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางได้เข้าไปมีส่วนร่วม อาจารย์โอดะมักจะดึงเรื่องราวในอดีตที่สำคัญและส่งผลต่อเนื้อเรื่องหลักขึ้นมาพูดถึงก่อนการต่อสู้ในช่วงสุดท้ายเสมอ จนเป็นอีกหนึ่งจุดที่หลาย ๆ คน ต่างเฝ้าคอยว่าอาจารย์แกจะเปิดเผยเนื้อเรื่องสะเทือนอารมณ์ขนาดไหนในช่วงย้อนอดีต (แอบสปอยล์ว่าช่วงย้อนอดีตของเกาะเอ้กเฮด ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องของมังงะปัจจุบัน มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญและจุดสะเทือนอารมณ์เยอะมาก)

ส่วนในการเล่าเรื่องแบบ Time skip ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวันพีซ คือ การฝึกฝนตัวของกลุ่มหมวกฟางที่ถูกส่งไปแต่ละเกาะที่ห่างกันมาก ๆ ด้วยฝีมือของ 1 ใน 7 เทพโจรสลัด บาร์โธโลมิว คุมะ เป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนเข้าสู่โลกใหม่ ซึ่งเนื้อเรื่องหลังจากกลับมาเจอกันอีกรอบ สมาชิกทุกคนก็ได้รับทักษะการต่อสู้ใหม่มาเพิ่มความแข็งแกร่งของกลุ่มขึ้น พร้อมจะไปเผชิญหน้ากับเหล่า 4 จักรพรรดิ ที่ครองทะเลฝั่งโลกใหม่กันอยู่ ถือเป็นการนำเอาเทคนิค Time skip มาย่นระยะเวลาในการฝึกฝน และเป็นการเก็บความลับของพลังใหม่ ๆ ที่ทยอยเปิดเผยออกมาเพิ่มเติมในเนื้อเรื่องหลังจากนั้นอีกที

“คนที่แม้แต่เพื่อนคนเดียวยังช่วยไม่ได้ จะไปเป็นโฮคาเงะได้ยังไง”

อุซึมากิ นารูโตะ (Uzumaki Naruto) จากเรื่อง นารูโตะ นินจาจอมคาถา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละคร ที่ถูก Time skip ช่วงระยะเวลาที่ฝึกฝนกับจิไรยะ ไปถึง 2 ปีครึ่ง และชื่อภาคหลังจากเขากลับมาจากการฝึกฝน ก็ถูกแทนที่ด้วยชื่อว่า นารูโตะ ตำนานวายุสลาตัน ถือเป็นการแสดงความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวง ทั้งในด้านพัฒนาการของตัวละคร และ ความความเข้มข้นด้านเนื้อเรื่อง ที่เจาะลึกไปถึงองค์กรแสงอุษามากยิ่งขึ้น ลากยาวไปถึงบทสรุปตอนอวสานของเรื่องนี้เลย ส่วนในการเล่าเรื่องแบบย้อนอดีตจะถูกแทรกเข้ามาพูดถึงเป็นช่วง ๆ ระหว่างเรื่องเป็นปกติ

จากนั้นมีการใช้ Time skip ในการเริ่มต้นเรื่องราวภาคต่อของลูกชายอย่าง โบรูโตะ และสถานะของนารูโตะก็ถูกขยับขึ้นเป็น โฮคาเงะ รุ่นที่ 7 อย่างเป็นทางการ พร้อมกับการที่ลูกชายของเขา กลายมาเป็นพระเอกของเรื่องราวถัดไป ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนรุ่นระหว่างพ่อลูก ทำให้ต้องนำ Time skip มาเล่าเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับเรื่องอื่น ๆ จะขอยกตัวอย่างมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

บลีช เทพมรณะ (Bleach) การ Time skip ที่สำคัญ คือช่วงระยะเวลา 17 เดือนหลังจากที่อิจิโกะปราบไอเซ็นลงได้ แต่ก็ต้องแลกมากับการสูญเสียพลังยมทูตของตนไป และต้องใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาที่ไม่สามารถรับรู้ถึงพลังวิญญาณหรือยมทูตได้เลย เป็นการส่งต่อไปถึงเนื้อเรื่องของภาค ฟูลบริงค์

ดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba) มักจะใช้การ Time skip ไปกับช่วงเวลาการฝึกฝนของเหล่าตัวละครหลัก ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนของทันจิโร่ เพื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกหน่วยพิฆาตอสูร โดยเริ่มต้นจากชาวบ้านขายถ่านธรรมดา หรือจะเป็นการฝึกฝนร่วมกันกับเพื่อน ๆ ระหว่างพักฟื้นจากการต่อสู้ แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุด คือ การย้อนอดีตของเหล่าอสูรข้างแรมและข้างขึ้น ที่จะทำให้เราได้รับรู้เบื้องหลังของอสูรแต่ละตน

มายฮีโร อคาเดเมีย (My Hero Academia) ก่อนเข้าสู่สงครามระหว่างเหล่าฮีโรและกองทัพปลดปล่อย ในอนิเมะซีซันที่ 6 ได้มีการ Time skip ข้ามช่วงการฝึกฝนของตัวละครฝั่งพระเอก ไปเล่าเรื่องในมุมมองของฝั่งตัวร้าย ทำให้ตัวละอีกฝั่งดูมีมิติขึ้นมาอีกด้วย

มหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen) ช่วงการ Time skip ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องราวหลังจากอนิเมะซีซัน 2 ที่การเปลี่ยนเนื้อเรื่องจาก ภาคอุบัติการณ์ชิบุยะ ไปสู่ ภาคจรดลล้างบาง โดยเรื่องราวจะกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง กลับกันจุดเล่าเรื่องที่น่าสนใจสุดของเรื่องนี้ไม่ใช่การ Time skip แต่เป็นการย้อนอดีตในช่วง 5 ตอนแรกของอนิเมะซีซัน 2 ต่างหาก มีการกล่าวถึงจุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่าง โกะโจกับเกะโท รวมไปถึงการเปิดเผยตัวละครอย่าง โทจิ ที่ส่งผลถึงโลกไสยเวททั้งที่มีแค่พลังกายภายล้วน ๆ อีกด้วย

คราวนี้ย้อนกลับมาดูเรื่องราวการ Time skip และ ฉากย้อนอดีตที่เรื่อง ฟรีเรน เอามาใช้กันบ้างดีกว่า หลังจากออกฉายมาประมาณครึ่งซีซันแล้ว และคิดว่าทุกคนน่าจะได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตยืนยาวแบบเอลฟ์ที่สัมผัสทางด้านเวลาแตกต่างจากคนทั่วไปไม่มากก็น้อย ส่วนสำหรับคนที่ยังไม่เริ่มต้นดูอนิเมะเรื่องนี้ ถ้าอ่านฉากที่ยกตัวอย่างมาแล้วรู้สึกสนใจ ก็ลองไปหาดูได้ตามช่องทางสตรีมมิงต่าง ๆ ได้เลย

“ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ 10 ปีก็เถอะ”

เป็นฉากสะเทือนอารมณ์ที่เปิดมาให้เรารับรู้ถึงความเจ็บปวดกันตั้งแต่ตอนที่ 1 แบบไม่ทันให้ตั้งตัว อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรก ว่าเรื่องราวของเรื่องนี้จะเริ่มต้นหลังจากกลุ่มผู้กล้าได้ปราบจอมมารลงไปได้ แต่เมื่อเวลาแห่งการจากลามาถึง แต่ละคนก็ได้แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง โดยตัวเอกของเราฟรีเรน ได้ออกผจญภัยต่อตามลำพัง เพื่อทำการศึกษาและรวบรวมเวทย์มนตร์ที่เป็นดั่งงานอดิเรกของเธอต่อไป และได้นัดกับสมาชิกคนอื่น ๆ ว่าพวกเราจะกลับมาดูฝนดาวตกกันอีกครั้งใน 50 ปีถัดมา

อย่างที่กล่าวไว้ว่า สัมผัสการรับรู้ด้านเวลาของเผ่าพันธุ์เอลฟ์ที่มีชีวิตมาอย่างยาวนานนั้นแตกต่างจากมนุษย์มาก ระยะเวลา 50 ปีของเธอนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วพริบตา ตรงจุดนี้อาจารย์ผู้เขียนจึงได้นำเอาเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ Time skip มาใช้ เพื่อเล่าเรื่องราว 50 ปีที่ผ่านไป โดยใช้การดำเนินชีวิตของฟรีเรนเพียงไม่กี่ฉากเท่านั้น ทว่าเมื่อได้กลับมาเจอกับเพื่อนพ้องอีกครั้ง ร่างกายของแต่ละคนก็ก้าวเข้าสู้วัยชรากันหมดเสียแล้ว

ถึงจะสำเร็จภารกิจในการได้ร่วมดูฝนดาวตกกับสมาชิกกลุ่มผู้กล้าอีกครั้ง แต่อายุขัยของ ‘ผู้กล้าฮิมเมล’ ตัวละครที่เสมือนจะถูกปูบทมาให้เป็นตัวละครเอกอีกคน ก็กลับจบลงหลังจากการดูดาวครั้งนั้นเพียงไม่นาน (เวลาล่วงเลยมาถึง 50 ปีแล้วนี่นะ) และในงานศพนั้นฟรีเรนก็ได้รับรู้ถึงความรู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านไปเป็นครั้งแรก และได้คิดทบทวนว่าทำไมตนถึงไม่ยอมทำความรู้จักมนุษย์ให้มากกว่านี้นะ ทั้งที่พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ไม่นานแท้ ๆ อีกทั้งยังไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้แล้วด้วย

“ทั้งที่รู้ว่าชีวิตของมนุษย์น่ะสั้น แต่ทำไมฉันถึงไม่เคยคิดที่จะทำความรู้จัก”

แม้ฟรีเรนจะผ่านช่วงสูญเสียของมนุษย์มามากมาย ทว่าช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ได้ร่วมผจญภัยในก๊วนผู้กล้าปราบจอมมารกลับมีความหมายสำหรับเธอมาก หลังจากที่ฮิมเมลตายไป เมื่อไหร่ที่การเดินทางครั้งใหม่ของเธอได้ไปซ้อนทับกับการผจญภัยครั้งเก่า ก็มักจะเกิดการย้อนอดีตในช่วงของการผจญภัยกับฮิมเมลเสมอ จนกลายเป็นการเล่าเรื่องปกติสำหรับเรื่องนี้ไปแล้ว

การผจญภัยหลังจากนี้ของเธอ ก็ยังคงสามารถเรียกได้ว่าเป็นการเก็บรวบรวมเวทมนตร์ตามงานอดิเรกเหมือนเดิม แต่หลังจากงานศพของฮิมเมล ฟรีเรนก็ได้ตัดสินใจแล้วว่า อยากจะทำความรู้จักมนุษย์ให้มากขึ้นยิ่งกว่านี้ ในจุดนี้ถือว่าเป็นการแสดงพัฒนาการของตัวละครที่มักจะเฉยชาด้านการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเสมอมา ให้อยากทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์มากยิ่งขึ้น เหล่าคนที่ฟรีเรนได้เจอหลังจากนี้ จะก่อให้เกิดความแปลกใหม่อะไรแก่เธอกันบ้างนะ ?

อีกฉากหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึง คือ ช่วงเวลา 20 ปีหลังจากที่ผู้กล้าฮิมเมลเสียชีวิต ฟรีเรนได้เดินทางไปหา ‘ไฮเตอร์’ หนึ่งในสมาชิกก๊วนผู้กล้าปราบจอมมาร ที่ปัจจุบันได้ปลีกตัวมาใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสงบกับ ‘เฟรุน’ เด็กสาวกำพร้าที่เขาเก็บมาเลี้ยงตอนที่เธอหมดสิ้นกำลังใจในการใช้ชีวิต และกำลังจะตัดสินใจจบชีวิตตนเอง ทว่าด้วยอายุขัยของมนุษย์ ไฮเตอร์ในปัจจุบันนั้นอยู่ในสภาพที่จะตายตอนไหนก็ไม่แปลก

สิ่งที่ค้างคาใจของเขาอย่างเดียว คือ การที่ไฮเตอร์ไม่อยากจะทิ้งเฟรุนให้อยู่เพียงลำพังหลังจากนี้ จึงได้ทำการหลอกใช้ฟรีเรน ด้วยการให้เธอช่วยวิเคราะห์หนังสือเวทย์มนตร์เล่มหนึ่ง โดยคาดการณ์แล้วต้องใช้เวลามากถึง 5-6 ปี และในช่วงเวลาระหว่างนั้น ก็ได้ขอให้ฟรีเรนแบ่งเวลาว่างมาสอนเวทมนตร์ให้แก่เฟรุนด้วย เพื่อให้เธอมีความสามารถในฐานะนักเวทย์มากพอที่จะสามารถเอาชีวิตรอดต่อไปได้ด้วยตัวคนเดียว และมากพอที่ฟรีเรนจะไม่มองว่าเป็นภาระถ้าหากเป็นหนึ่งในพวกพ้องที่จะร่วมเดินทางด้วยกันในอนาคต

ช่วงระยะเวลา 4 ปีที่เป็นการเติบโตของเฟรุน อาจารย์คนเขียนได้ทำการเล่าเรื่องแบบ Time skip เช่นเดิม แต่ระหว่างนั้นก็ยังรับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 3 คนที่ค่อย ๆ สนิทสนมกันมากขึ้นในช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมา จนในที่สุดก็มาถึงบั้นปลายสุดท้ายในชีวิตของไฮเตอร์ เขาได้สารภาพความจริงทุกอย่างให้ฟรีเรนฟัง และขอให้ฟรีเรนพาเฟรุนออกผจญภัยไปด้วยในคืนนี้เลย เพราะไม่อยากให้เธอต้องมารับรู้การสูญเสียคนรอบกายไปมากกว่านี้อีกแล้ว

“สิ่งที่นายควรทำก่อนตาย คือการบอกร่ำลาเด็กคนนั้นอย่างจริงจัง
และสร้างความทรงจำร่วมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ทว่าสิ่งที่ฟรีเรนตั้งใจทำกลับเป็นการให้ทั้งสองคนได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอยู่ด้วยกันให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เสียดายช่วงเวลานี้เหมือนที่เธอเคยรู้สึกมาก่อนตอนช่วงฮิมเมลเสียชีวิต เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการทางด้านความรู้สึกอ่อนโยนของตัวละครฟรีเรนที่คนดูเริ่มจะสัมผัสได้ จากในตอนแรกที่เธอเฉยชาด้านนี้ และหลังจากนี้พัฒนาการเหล่านี้ก็คงจะคืบหน้าต่อไปเรื่อย ๆ

เฟรุนกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนักผจญภัยหน้าใหม่ ที่ก่อนหน้านี้มีเพียงแค่ฟรีเรนคนเดียวมาตลอด หลังจากนี้การเดินทางของทั้งสองคนก็จะเน้นไปที่ความรู้สึกต่าง ๆ เข้ามาผสมมากขึ้น รวมไปถึงตัดการ Time skip ช่วงระยะเวลานาน ๆ หลายสิบปีออก เพราะสมาชิกที่ทยอยเพิ่มเข้ามาในกลุ่มจะเป็นมนุษย์ที่มีอายุขัยสั้น ในส่วนนี้การเล่าเรื่องเลยจะเน้นไปที่การย้อนอดีตเมื่อตอนผจญภัยกับก๊วนผู้กล้าปราบจอมมารเป็นหลักแทนเสียมากกว่า

ดังนั้นเราจะได้เห็นตัวละครที่เสียชีวิตไปแล้วเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเนื้อเรื่องหลังจากนี้ (แต่ก็เฉพาะในช่วงการย้อนอดีตเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็น ผู้กล้าฮิมเมลที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ในอนิเมะตอนที่ 1 หรือจะเป็นไฮเตอร์ หนึ่งในสมาชิกที่เสียชีวิตเป็นคนถัดมา รวมถึงตัวละครในอดีตเมื่อพันปีที่แล้วอย่าง ‘ฟรังเม’ นักเวทผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดและอาจารย์ของฟรีเรน

การที่หลาย ๆ คนชอบอนิเมะเรื่องนี้ สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการเล่าเรื่องแบบแปลกใหม่ที่รวมนำเอาทั้งการ Time skip และ ย้อนอดีตมาใช้ได้อย่างลงตัวในมุมมองของตัวละครที่ใช้ชีวิตมาอย่างยาวนานหลายพันปีแบบเอลฟ์ และนอกจากนั้นยังมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเธอมาคอยสอดแทรกให้เราเข้าถึงได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นในช่วงโมเมนต์แอบอมยิ้มระหว่างฟรีเรนกับฮิมเมลในอดีต หรือช่วงเรียกน้ำตาในจุดที่ต้องจากลากับผู้คนในช่วงเวลาต่าง ๆ หรือจะเป็นช่วงเวลาวุ่นวายในการใช้ชีวิตอยู่กับเฟรุน

ทว่าองค์ประกอบของอนิเมะเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงแค่การเล่าเรื่องเท่านั้น องค์ประกอบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากการต่อสู้, เพลงประกอบฉาก, เพลงเปิดจาก Yoasobi, เพลงปิดจาก milet, การออกฉายครั้งแรกถึง 4 ตอนรวดเพื่อให้จบช่วงเวลาสำคัญที่กำหนดจุดมุ่งหมายการเดินทางของฟรีเรนได้ องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวถึงทำให้เรื่องนี้ได้ก้าวเข้าไปสู่ อนิเมะในดวงใจของใครหลาย ๆ คนแล้ว

เพลงเปิด (Opening song) โดย Yoasobi
เพลงปิด (Ending song) โดย milet

สุดท้ายขอแนะนำช่องทางการติดตามเรื่องนี้ทั้งในรูปแบบอนิเมะและมังงะ
สำหรับคนที่ตามอยู่แล้ว หรือคนที่อยากจะเริ่มดูเรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากได้อ่านบทความ

อนิเมะฉายทุกวันศุกร์ เวลา 22:00 น.

ช่องทางการรับชมอนิเมะ: Amazon Prime, Bilibili, Netfilx, Muse Thailand, iQIYI, True ID

มังงะลิขสิทธิ์ของ สำนักพิมพ์ สยามอินเตอร์คอมมิคส์ เล่ม 1 – 8

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส