Netflix เป็นแหล่งชมอนิเมะชั้นนำอีกแหล่งหนึ่งในปัจจุบันที่มีอนิเมะญี่ปุ่นหมุนเวียนกันมาฉาย แถมบางส่วนเป็น Original ของ Netflix เองที่หาชมจากบริการอื่นไม่ได้ด้วย เราจึงคัด 10 อนิเมะชั้นดีที่มีฉายอยู่ตอนนี้มาให้เลือกชมกัน
Cowboy Bebop
อนิเมะขึ้นหิ้งปี 1998 เรื่องราวของ 4 คาวบอยอวกาศ ที่รับงานล่าค่าหัว โดยตัวละครหลักทั้ง 4 ก็มีอดีตและความตั้งใจที่แตกต่างกัน จุดเด่นของ ‘Cowboy Bebop’ คือเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่ไม่ได้เล่าตรง ๆ แต่รับรู้ได้ด้วยท่าทาง และบทเพลงประกอบ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Shinichirō Watanabe ผู้กำกับอนิเมะเรื่องนี้ ตลอด 26 ตอน เราจะได้รับรู้เรื่องราวเป็นท่อน ๆ ไม่ได้เรียงร้อยต่อเนื่องกัน บางตอนก็บ้าบอ บางตอนดูจบแล้วก็ซึม ๆ แต่พอดูครบทุกตอนก็พอเรียบเรียงเรื่องราวภายใต้ความรู้สึกแบบผู้ใหญ่ได้
แนะนำให้ดูเวอร์ชันอนิเมะก็พอ เวอร์ชันคนแสดงถ้ามีเวลาเหลือค่อยไปดูนะ แต่เอาเวลาไปดูอนิเมะเรื่องอื่นน่าจะดีกว่า
Carole and Tuesday
อนิเมะแนวดนตรี ผลงานล่าสุดของ Shinichirō Watanabe แห่ง ‘Cowboy Bebop’ เรื่องราวของแครอลและทูสเดย์ 2 สาวนักร้องบนดาวอังคาร ที่ใช้บทเพลงจากเสียงร้อง และเครื่องดนตรีจริง ๆ จนสร้างปรากฏการณ์ดนตรีในยุคอนาคตที่ดนตรีนั้นเกิดด้วยเสียงสังเคราะห์และ AI
จุดเด่นของเรื่องนี้คือเป็นอนิเมะญี่ปุ่นที่มีเพลงในเรื่องเกือบ 40 เพลง เป็นเพลงภาษาอังกฤษทั้งหมด และเพราะทุกเพลง ดูจบต้องหาซาวด์แทร็กทั้งหมดมาฟังต่ออีกที นอกจากนี้ยังคราฟต์ท่าทางการเล่นดนตรีด้วยการถ่ายวิดีโอของนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีนั้นมา แล้ววาดการเคลื่อนไหวของนิ้วและมือแบบแกะกันทีละเฟรม
Violet Evergarden
‘Violet Evergarden’ เด็กสาวที่เกิดท่ามกลางสงคราม จนกลายเป็นเครื่องจักรสังหาร แต่การเติบโตของเธอก็ทำให้รู้จักรักครั้งแรก เมื่อสงครามจบ Violet ที่ว่างเปล่าจึงแสวงหาความสำคัญของชีวิต และความหมายของคำว่ารักที่เธอรู้จักพร้อมความสูญเสีย ผ่านการเป็น Auto Memory Dolls หรือพนักงานเขียนจดหมายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากผู้ส่ง ผ่านตัวอักษรถึงผู้รับ ซึ่งนอกจากที่เราจะได้รู้เรื่องราวของ Violet แล้ว เรายังได้รู้เรื่องราวที่บางครั้งก็เศร้าสร้อยแต่สวยงาม จากลูกค้าที่ฝากให้เขียนจดหมายด้วย
‘Violet Evergarden’ เป็นอนิเมะที่ได้รับการยอมรับว่ามีภาพสวยงามและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สุดเรื่องหนึ่ง ผลงานตอกย้ำความประณีตของ Kyoto Animation ที่มีให้ชมบน Netflix ทุกภาค ทั้งภาคทีวีซีรีส์ และฉบับภาพยนตร์ที่เป็นบทสรุปของเรื่องราวนี้
Yowamushi Pedal – โอตาคุน่องเหล็ก
หนึ่งในอนิเมะประเภทกีฬาปั่นจักรยานแห่งยุค 2000s ที่นำเสนอมุมมองของโอตาคุอย่าง โอโนดะ ซากามิจิ ที่มักจะใช้จักรยานแม่บ้านคู่ใจ ปั่นไปดูอนิเมะที่เขารักในเมืองเป็นระยะทางกว่า 50 กิโลเมตรทุกวัน ทำให้เจ้าตัวมีพลังรอบขาเกินกว่าเด็กปกติ จนเมื่อเจ้าตัวได้เข้าชมรมจักรยานของโรงเรียนโชโฮคุ ชีวิตของโอตาคุก็ได้เปลี่ยนไป
อนิเมะ ‘Yowamushi Pedal’ ถ่ายทอดความรู้สึกร่วมแรงร่วมใจของการเล่นกีฬาเป็นทีมได้เป็นอย่างดี เพราะการปั่นจักรยานเป็นทีมมีวิธีการไปถึงจุดหมายหลายแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกอินไปกับเรื่องราวเพราะทีมของตัวเอกไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นอนิเมะที่ให้กำลังใจรวมถึงปลุกไฟให้ผู้ชมอยากลุกออกไปปั่นจักรยานเสือหมอบเหมือนอย่างโอโนดะบ้าง
Words Bubble Up Like Soda Pop – ถ้อยคำเอ่อล้นด้วยหัวใจรัก
ภาพยนตร์อนิเมะแนว slice-of-life ที่เราจะได้ติดตามการเติบโตของเชอร์รี่ เด็กหนุ่มติ๋มที่ทำงานพิเศษอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และชอบแต่งกลอนไฮกุ จนได้พบกับสไมล์ เด็กสาวสดใสที่เป็น Steamer แต่ดันอายฟันกระต่ายคู่ใหญ่ของเธอจนต้องใส่หน้ากากไว้ตลอดเวลา สู่การตามหาอัลบั้มเพลงของคุณปู่เจ้าของร้านแผ่นเสียง ที่เปิดเผยเรื่องราวในอดีต และความสำคัญของถ้อยคำที่เอื้อนเอ่ยออกมา
จุดเด่นของอนิเมะเรื่องนี้อยู่ที่งานอาร์ต ด้วยสีสันบาดใจแบบปกอัลบั้มเพลงในยุค City Pop ซึ่งในเรื่องก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเพลง City Pop เต็มไปหมด นอกจากนี้ในตัวเนื้อเรื่อง แม้จะเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ แต่ก็มีความหมาย และยังชวนให้คิดถึงได้ทุกครั้งแม้ดูผ่านไปนานแล้ว
Frieren Beyond the Journey’s End – ฟรีเรน คําอธิษฐานในวันที่จากลา
เรื่องราวของฟรีเรน เอลฟ์สาวที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มผู้กล้าปราบจอมมาร ด้วยความที่เป็นเอลฟ์จึงมีอายุที่ยืนยาวกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ มาก แม้ว่าจะจบภารกิจปราบจอมมารจนกลุ่มผู้กล้าก็แยกย้ายไปตามทางของตัวเอง จนเวลาล่วงเลยถึงคราวที่สมาชิกต้องจากลากันไปตลอดกาล แต่เรื่องราวของฟรีเรนก็ยังไม่จบ กับการเดินทางเพื่อเก็บเรื่องราวในอดีตที่เคยไม่เข้าใจ ในช่วง 10 ปีที่เดินทางปราบจอมมาร ซึ่งสำหรับเอลฟ์เป็นช่วงเวลาแสนสั้น แต่เป็นช่วงเวลาแสนยาวนานมนุษย์
ฟรีเรนเป็นอนิเมะที่เก็บเกี่ยวความหมายของการมีชีวิตอยู่ ความหมายของความสัมพันธ์มนุษย์มาถักทอเล่าเรื่องที่ละเสี้ยว ที่ละนิด ระหว่างเรื่องราวในปัจจุบันสลับกับอดีต เพื่อย้ำเตือนถึงคุณค่าของความผูกพันธ์ที่อาจรู้ตัวช้าเกินไปว่ามันมีค่ามากขนาดไหน
Spriggan
อนิเมะจากมังงะแอ็กชันระดับตำนานในยุค 90s ที่กลับมาทำใหม่รอบนี้ถูกใจคอแอ็กชันสุด ๆ เพราะเป็นหนึ่งในอนิเมะที่มีการเคลื่อนไหวละเอียดมาก ฉากต่อสู้ ฉากปะทะดูสมจริง ดูผ่าน ๆ ยังรู้เลยว่าเป็นงานคราฟที่ตั้งใจมาก ซึ่งเปิดตัวมานานหลายปีกว่าจะได้ดูจริง ๆ ซึ่งก็คงต้องรออีกหลายปีถ้าจะมีซีซันใหม่ เพราะมันวาดยาก
อนิเมะเรื่องนี้มีแค่ 6 ตอน ที่เนื้อเรื่องจบในตอน ไม่ได้ต่อเนื่องกัน โดยมีพระเอกคือ Yu Ominae เด็กม.ปลาย ที่เป็นยอดนักฆ่าในกลุ่ม Spriggan จากองค์กร ARCAM ที่คอยตามหาวัตถุโบราณไฮเทคจากอารยธรรมที่สาบสูญ เพื่อจัดการไม่ให้อยู่ในมือของคนผิด จนต้องมีการสู้กันอย่างดุเดือด
86
อนิเมะแนวสงครามระหว่างมนุษย์กับ Legion กองทัพเครื่องจักร ซึ่งเราจะติดตามเรื่องราวจาก 2 ฝั่งคือ Shin หัวหน้ากลุ่ม 86 Spearhead ที่ควบคุมจักรกลเข้าสู้กับ Legion ที่แนวหน้า และ Lena ผู้ควบคุมกลุ่ม Spearhead ระยะไกลจากในเมืองหลวงของสาธารณรัฐ
นอกจากความโหดร้ายของสงครามระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรแล้ว ยังมีความโหดร้ายระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เมื่อสาธารณรัฐไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของคนต่างเชื้อชาติ จึงต้อนคนที่สีผิวแตกต่างจากตนไปอยู่ในเขตที่ 86 แล้วบังคับให้ขับหุ่นทำสงคราม ในขณะที่บอกกับคนของตัวเองว่าสิ่งที่ออกไปสู้รบนั้นเป็นโดรนควบคุมระยะไกล จึงไม่มีการเสียชีวิตมนุษย์
อนิเมะยาว 23 ตอนนี้จึงค่อย ๆ ตีแผ่ความลวงสู่ความจริง และสิ่งที่ทำได้กับสิ่งที่ทำไม่ได้
Bocchi the Rock
อนิเมะสุดกาวที่แฝงความจริงแบบโอเวอร์จนบันเทิง เรื่องราวของ Hitori Gotō หรือ “บจจิ” เด็กสาวที่เป็นโรคกลัวสังคมขั้นสุด แม้ว่าตัวเองจะเข้าหาคนอื่นไม่เป็น แต่ก็อยากให้เพื่อนเข้าหาบ้าง จึงคิดหัดกีตาร์เพื่อให้เพื่อนเข้าหา แต่หัด 3 ปีจนเทพในระดับหนึ่งก็ยังไม่มีเพื่อนอยู่ดี ได้แต่อัปคลิปโคเวอร์กีตาร์จนมีผู้ติดตามไม่น้อย สุดท้ายอยู่มาวันหนึ่งเมื่อสะพายกระเป๋ากีตาร์ไปนอกบ้าน จึงได้ถูกชวนไปขึ้นไลฟ์ครั้งแรกที่ live house ชื่อ Starry ร่วมกับเด็กสาวอีก 2 คนที่จะกลายเป็นเพื่อนกลุ่มแรกของเธอ และตั้งวง Kessoku ขึ้นมา (แปลไทยว่าวงผูกมัด)
ซึ่งเพลงของ Kessoku Band ก็ดีมากเพราะได้เทพของวงการ Rock ญี่ปุ่นมารวมตัวกัน ไลน์กีตาร์ เบสชัดเจน เพลงสนุกสนาน จนแผ่นเพลงประกอบอนิเมะเรื่องนี้ขายดิบขายดีในญี่ปุ่น
แม้ว่าโรคกลัวสังคมของบจจิในเรื่องจะนำเสนอได้โอเวอร์มากจนขำกันท้องแข็ง แต่ก็อยู่บนความจริงว่ามีคนแบบนี้อยู่จริง ๆ พวกเขาก็รู้สึกไม่ต่างจากในอนิเมะเรื่องนี้เวลาต้องทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ ซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจคนเงียบ ๆ ได้มากขึ้น
Blue Period
การสอบเข้า เป็นเรื่องที่วัยรุ่นแทบทุกคนต้องเคยเจอ ซึ่ง ‘Blue Period’ เล่าเรื่องของ Yatora Yaguchi เด็กหนุ่มเรียนดีที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในชีวิต จนได้ไปลองวาดรูปในชมรมศิลปะของโรงเรียน จึงเปลี่ยนแผนของชีวิตมามุ่งสู่นักเรียนศิลปะเต็มตัวเพื่อสอบเข้า Geidai หรือมหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียวที่มีชื่อเสียงในด้านนี้มากที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าการเบนเข็มจากนักเรียนธรรมดา สู่นักเรียนศิลปะนั้นไม่ง่าย ในเรื่องก็จะแสดงเส้นทางที่โหดหินซึ่งตอนลุ้นกันจนจบว่าจะสอบเข้าได้หรือไม่
เนื่องจากผู้แต่งเรื่องนี้เป็นศิษย์เก่าของ Geidai รายละเอียดเส้นทางสู่รั้วนักศึกษาศิลปะในเรื่องนี้จึงสมจริงมาก รวมถึงความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสอบด้วย ทำให้รู้ว่าประเทศไหนการสอบก็โหดทั้งนั้นแหละ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส