[รีวิว] ‘T・P BON ตำรวจกาลเวลา’ หนึ่งในผลงานไซไฟย้อนเวลาสุดดาร์กของผู้สร้างโดราเอมอน
Our score
8.2

Release Date

02/05/2024

ความยาว

ซีซันที่ 1 (12 ตอน)

สตูดิโอที่ผลิต

Bones

ต้นฉบับ

มังงะ

ช่องทางการดู

Netflix

Our score
8.2

T・P BON ตำรวจกาลเวลา

จุดเด่น

  1. เล่าเรื่องราวแฟนตาซีผสมกับการอิงประวัติศาสตร์ได้อย่างเพลิดเพลิน
  2. เล่นเรื่องไซไฟย้อนเวลาได้ดี ถึงแม้จะเป็นการ์ตูนจากสมัยเก่า
  3. พากย์ไทยใน Netflix ทำออกมาได้ไหลลื่นมาก

จุดสังเกต

  1. การดำเนินเรื่องในช่วงกลางซีซันจะออกแนวซ้ำเดิมเยอะเกินไปหน่อย
  2. เพื่อคงผลงานต้นฉบับตัวละคร ตัวอนิเมะเลยไม่ได้ทำออกมาดีมากเท่าเรื่องอื่น ๆ ในสมัยนี้
  • คุณภาพด้านเสียงพากย์

    9.0

  • คุณภาพด้านแอนิเมชัน

    7.0

  • คุณภาพของบท

    8.0

  • คุณภาพของความบันเทิง

    8.0

  • ความคุ้มเวลารับชม

    9.0

หนึ่งในผลงานขึ้นหิ้งของคนวาดโดราเอมอน ที่มาในธีมของแนวไซไฟย้อนเวลากลับไปช่วยเหลือผู้คนในประวัติศาสตร์ ผ่านมุมมองของเด็กหนุ่มมัธยมต้น ที่ดันบังเอิญได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์กาลเวลาแบบงง ๆ กับเวอร์ชันอนิเมะที่ถูกรีเมกนำออกมาฉายใหม่ ในรอบนี้จะทำออกมาได้น่าสนใจขนาดไหนกันนะ ?

‘นามิฮาระ บอน’ เด็กหนุ่มมัธยมต้นที่ใช้ชีวิตแบบน่าเบื่อหน่ายไปวัน ๆ ดันบังเอิญได้พบเจอกับ ‘รีม สตรีม’ เด็กสาวใส่ชุดแปลกประหลาดที่มาจากอนาคต และบอกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในหน่วยพิทักษ์ประวัติศาสตร์โดยองค์กร T.P. (Time Patrol) รีมย้อนเวลามาในยุคนี้เพื่อช่วยบอนจากเหตุการณ์ฆาตกรรมเพื่อนตกตึกจนเสียชีวิตเพราะความไม่ตั้งใจ และยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นด้วยการย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต แต่ตอนที่กำลังจะลบความทรงจำของบอนทิ้งเพื่อกลับไปในช่วงเวลาเดิม รีมดันพบว่าบอนคือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ซะงั้น เลยไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ดังนั้นชีวิตน่าเบื่อของบอนจึงเปลี่ยนไปด้วยการได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกหน่วยพิทักษ์เวลา และย้อนกลับไปในสมัยช่วงประวัติศาสตร์สำคัญของยุคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงยุคอียิปต์ ยุคล่าแม่มด ยุคคาวบอย หรือแม้กระทั่งยุคไดโนเสาร์ เพื่อช่วยเหลือคนในวิธีที่ไม่ผิดธรรมชาติและเปลี่ยนประวัติศาสตร์มากจนเกินไป แต่ความดื้อรั้นในวัยมัธยมต้นของบอนมักจะนำมาซึ่งปัญหาน่าปวดหัวทั้งหลาย บอนจะสามารถปฏิบัติภารกิจของหน่วยพิทักษ์เวลาไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่านะ ?

เรื่อง T.P Bon หรือตำรวจกาลเวลา เป็นอนิเมะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 90 ปีของอาจารย์ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) หนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของผู้เขียนผลงานดังมากมายที่เรามักจะคุ้นชื่อกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน, ปาร์แมน, นินจาฮัตโตริ ซึ่งผลงานเรื่องตำรวจกาลเวลาถูกนำไปดัดแปลงเป็นอนิเมะรอบนี้ โดยสตูดิโอโบนส์ (ผลงานอื่นได้แก่ ม็อบไซโค 100 คนพลังจิต, มายฮีโร่ อคาเดเมีย, โนรางามิ เทวดาขาจร, คณะประพันธกรจรจัด และอื่น ๆ ) แบ่งฉายเป็น 2 ซีซัน โดยลงซีซันแรกในวันที่ 2 พฤษภาคม 2024 และซีซันถัดมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2024 ที่ช่องทาง Netflix ทางเดียวเท่านั้น

ลายเส้นเอกลักษณ์ของอาจารย์ที่ถูกถ่ายทอดมาผ่านทางอนิเมะ ทำให้ในช่วงแรกอาจจะรู้สึกว่าตัวละครแต่ละคนนั้นคล้ายกับตัวละครจากเรื่องโดราเอมอนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนของบอน หรือเหล่าบุคคลในประวัติศาสตร์ช่วงยุคต่าง ๆ ทว่าหลังจากดูไปไม่นานจะค้นพบเบื้องลึกของเรื่องนี้เอง ว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้เหมือนแค่ตัวละครเท่านั้นแหละ ส่วนด้านเนื้อเรื่องนั้นแตกต่างกับการ์ตูนเรื่องโปรดวัยเด็กแบบคนละเรื่อง เพราะจุดเริ่มต้นของการที่บอนได้รู้จักกับรีมและกลายมาเป็นผู้พิทักษ์กาลเวลา ก็คือการที่บอนบังเอิญผลักเพื่อนของตนเองตกตึกจนเสียชีวิตนั่นเอง !!

ยิ่งถ้าพูดถึงจุดประสงค์ของการย้อนเวลากลับไปเพื่อช่วยเหลือคนในอดีตที่กำลังจะเสียชีวิต ยิ่งทำให้เหตุการณ์ที่พบเจอล้วนเลวร้ายตามไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะย้อนกลับไปในช่วงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจนตัวเองต้องเสี่ยงชีวิต หรือย้อนกลับไปในสมัยสร้างพีระมิดจนเกือบถูกโจรลอบทำร้าย ความเข้มข้นในการดำเนินเรื่องของบอนสื่อให้เห็นเลยว่า เรื่องนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกเพศทุกวัยขนาดนั้น ดังนั้นเรตใน Netflix จึงถูกตั้งเอาไว้เป็นเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป

การดำเนินเรื่องของเรื่องนี้ถือว่าทำออกมาได้ง่ายไม่ซับซ้อนมาก แม้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับไซไฟข้ามเวลา อาจจะถือเป็นจุดเด่นของอาจารย์อยู่แล้วที่สามารถเล่าเรื่องความไฮเทคหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ล้ำสมัยให้ออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมือนกับที่โดราเอมอนมักจะหยิบของวิเศษสารพัดประโยชน์ออกมาให้โนบิตะอยู่เสมอ และในเรื่องบอน อุปกรณ์ที่นำมาใช้ส่วนมากแม้จะไม่ได้หลากหลายเท่า แต่ก็ล้วนเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์สำหรับตำรวจกาลเวลาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องร่อนที่สามารถวาร์ปไปอนาคต หรือย้อนอดีตไปในยุคต่าง ๆ ได้, อุปกรณ์ลบความทรงจำคนที่เกี่ยวข้องให้ลืมเรื่องราวของตำรวจกาลเวลา, แต่ที่ชอบที่สุดก็คงหนีไม่พ้น เครื่องเรียนรู้แบบบีบอัด ที่จะอัดเอาความรู้จำนวนมากเข้าสู่หัวภายในเวลาไม่กี่วินาที

พอตัดเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องเรียนรู้ด้วยระยะเวลาออกไป ทำให้บอนนั้นสามารถเข้าใจกฎของตำรวจกาลเวลาปริมาณมาก และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของยุคต่าง ๆ ที่ตนต้องไปได้อีกด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้เราเหมือนกับได้ฟังการเล่าเกล็ดความรู้ในประวัติศาสตร์หลากหลายยุคไปพร้อม ๆ กับพวกบอนด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าดูอนิเมะให้สนุกและได้ความรู้ผสมจินตนาการไปด้วยก็ว่าได้ โดยเนื้อหาในซีซันที่ 1 นั้น จะนำเสนอแตกต่างกันไปในแต่ละตอน ยกตัวอย่างเช่น ไต้ฝุ่นแคธลีนที่โตเกียวในปี 1947, การสร้างพีระมิดในอียิปต์ 2592 ปีก่อนคริสตกาล, ยุคคาวบอยดวลปืนในสหรัฐอเมริกา เมื่อศตวรรษที่ 19, เจอไดโนเสาร์ในยุคจูราสสิกตอนปลาย หรือแม้กระทั่งไปในอนาคตก็ตาม ส่วนเนื้อหาในซีซันที่ 2 จะต่อเนื่องไปในทางไหนนั้น ต้องรอดูอีกที

ถ้าเทียบในยุคปัจจุบัน เรื่องราวแนวย้อนเวลาแก้ไขอดีตอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะทั้งวงการภาพยนตร์หรืออนิเมะนั้นมีหลายเรื่องที่นำแนวนี้มาเล่น ไม่ว่าจะเป็นค่ายดังอย่างมาร์เวล ในซีรีส์โลกิที่ใกล้เคียงกับเรื่องบอนมากในส่วนของหน่วยพิทักษ์เวลา, อนิเมะแนวนักเลงย้อนเวลาไปแก้ไขอดีตอย่าง Tokyo revengers ที่ถ้าทำอะไรในอดีตไป อนาคตจะถูกเปลี่ยนตาม เพราะงั้นจากหนังหลาย ๆ เรื่องจะเน้นนำเอาผลกระทบทางด้านเวลามาเล่าในเนื้อเรื่องอย่างสร้างสรรค์ โดยหลัก ๆ มักจะโฟกัสไปที่เรื่องของ ความขัดแย้งทางด้านเวลา (Time Paradox) และปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก (Butterfly Effect)

แต่ถ้าคิดว่าต้นฉบับของเรื่องนี้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1978 หรือเกือบ 50 ปีที่แล้ว ก็ถือว่า อ. ฟูจิโกะนำเสนอเรื่องที่ล้ำยุคมากในตอนนั้น แถมยังทันสมัยในยุคนี้ เนื้อเรื่องมีการวิจัยความถูกต้องทางประวัติศาสตร์มาอย่างดี ตัวดีไซน์ของยานกาลเวลาก็ดูเท่ดูดีมาตั้งแต่ฉบับหนังสือการ์ตูน และในอนิเมะก็ยิ่งทำให้ยานกาลเวลาดูดีขึ้นด้วยเทคนิคภาพสมัยใหม่ ซึ่งการดัดแปลงเป็นอนิเมะฉบับปัจจุบันก็คงเนื้อหาส่วนใหญ่ตามที่ อ. ได้เขียนเอาไว้ในฉบับการ์ตูน แต่จะมีปรับบริบทบางอย่างให้เหมาะกับปัจจุบันมากขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ที่เมื่อ 50 ปีที่แล้วไม่มี หรือการปรับเรื่องราวที่อิงประวัติศาสตร์บางส่วน ให้สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ

โดยรวมถือเป็นการเล่าเรื่องได้น่าสนใจมาก เพราะอย่างที่รู้กันว่าความที่เป็นวัยรุ่นมือซนในสมัยมัธยมต้น ก็ย่อมต้องมีสิ่งที่พลั้งมือทำไปด้วยอารมณ์แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่แล้ว และยิ่งถ้าได้ย้อนไปในอดีตบางทีมันก็ต้องมีเผลอกันบ้าง ซึ่งบอนรับบทเป็นผู้กระทำคนนั้นนั่นเอง แม้สิ่งที่ทำไปจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบใหญ่ถึงโลกในยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน อย่างการไปกินผลไม้บางอย่างและคายทิ้งในอดีต ส่งผลให้ผลไม้นั้นไม่ถือกำเนิดขึ้นมาหรือมีอยู่ในยุคปัจจุบันอีกต่อไป

อีกจุดที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้คือ ข้อห้ามหน่วยพิทักษ์เวลา ที่มีข้อหนึ่งบอกเอาไว้ว่า ห้ามลบตัวตนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นอนาคตจะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้เรื่องบอนสามารถนำไปใช้อ้างอิงกับประวัติศาสตร์ได้โดยตรง ว่าบุคคลนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคนี้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาจริงในประเทศนี้ ผสมการใส่เรื่องราวแฟนตาซีมาเพิ่มตามสไตล์อาจารย์แก รวม ๆ แล้วถือว่าดูได้เพลินมาก โดยจุดที่สำคัญที่สุดคือ ‘บอนคือบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์’ ด้วยเช่นกัน แต่สำคัญในด้านไหนกันนะ ต้องไปหาดูเอาเองอีกทีแล้วล่ะ


สรุป

เราอาจรู้จัก อ. ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ในฐานะผู้สร้างสรรค์การ์ตูนสำหรับเด็กอย่างโดราเอมอน ปาร์แมน และอื่น ๆ แต่ตำรวจกาลเวลาได้ทำให้เรารู้จักอีกด้านหนึ่งของ อ. ฟูจิโกะในฐานะผู้สร้างสรรค์เรื่องราวไซไฟชั้นครู ที่ไม่ปรานีกับการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา จนอาจทำให้หลายคนรู้สึกแปลกที่ได้เห็นลายเส้นโดราเอมอนที่คุ้นเคย แต่มีความรุนแรงอยู่ในเรื่องขนาดนี้ ซึ่งสำหรับผู้ติดตามผลงานของ อ. ฟูจิโกะจริง ๆ จะรู้ว่ายังมีเรื่องสั้นของ อ. อีกมากมายที่ให้แง่คิดสำหรับผู้ใหญ่ ที่ดาร์กและรุนแรงกว่านี้มาก (ลองค้นว่า จาน มิโนทาวรอส ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ที่รวมอยู่ในหนังสือ Path of Fujiko ลิขสิทธิ์โดย NED จะเห็นภาพนั้น)

ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ ‘T.P Bon ตำรวจกาลเวลา’ ถูกสร้างเป็นอนิเมะเต็มตัว ฉาย 2 ซีซัน ลงใน Netflix เพื่อฉลองครบรอบ 90 ปีของ อ. ฟูจิโกะ ซึ่งได้ถอดเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือการ์ตูน กลับมาเป็นอนิเมะให้คนในยุคนี้ได้ดูกันอีกครั้งครับ และในซีซัน 2 บอนจะกลายเป็นตำรวจกาลเวลาเต็มตัว คู่หูของบอนจะเปลี่ยนจากรีมซึ่งแยกกลับไปทำภารกิจเดี่ยว เป็นตำรวจกาลเวลาฝึกหัดคนใหม่ที่มาฝึกกับบอนครับ

หน้าปกของหนังสือฉบับแรก ที่น่าเสียดายว่า T・P BON ตำรวจกาลเวลา ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์อย่างถูกลิขสิทธิ์ในไทย