พวกพ้อง เป้าหมาย และการเติบโต

BLUE LOCK

หนึ่งในคีย์สำคัญที่ทำให้การ์ตูนกีฬาเป็นสื่อบันเทิงที่ดึงดูดผู้คนมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เพราะการปลูกฝังความพยายาม เพื่อไปสู่ก้าวฝันอันยิ่งใหญ่นั้น ทำให้เด็กหลายคนที่ดูการ์ตูนกีฬาเติบโตมาพร้อมเฝ้าฝันว่าจะเป็นนักกีฬาดังเช่นในการ์ตูนที่พวกเขาชอบ โดยเฉพาะฟุตบอล

แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะมีการ์ตูนฟุตบอลที่พยายามจะชิงพื้นที่ในใจของเด็ก ๆ มากกว่าหลายสิบเรื่อง (ใช่ การ์ตูนฟุตบอลมันมีเยอะมากจริง ๆ) แต่เมื่อดูกันจริง ๆ กลับก็มีแค่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น ที่สามารถเป็นที่จดจำของเด็ก ๆ ได้ ซึ่งหากเราไปถามเด็กยุคก่อนปี 2000 ว่าการ์ตูนฟุตบอลในใจพวกเขาคืออะไร แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น ‘Captain Tsubasa’ ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เด็กมากมาย ใฝ่ฝันมาเป็นนักฟุตบอล

Captain Tsubasa

นอกจากนั้นหากเราไปถามเด็กยุคต้นปี 2000 ขึ้นไปว่าการ์ตูนฟุตบอลที่เขาจดจำกันคือเรื่องอะไร แน่นอนว่าจะต้องมีนักเตะแข้งสายฟ้า หรือ ‘Inazuma Eleven’ โผล่มาร่วมรายชื่อการ์ตูนฟุตบอลในดวงใจอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ว่านักเตะแข้งสายฟ้าจะถูกจดจำในแง่ภาพลักษณ์ของการทำให้เด็กนั้นมีอาการเบียวท่าไม้ตายฟุตบอลมากกว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลจริง ๆ ก็ตาม แต่เชื่อเลยว่าเด็ก ๆ Gen Z และ Gen Y ขึ้นไปนั้น ส่วนใหญ่มักจะจดจำการ์ตูนฟุตบอลอยู่เพียง 2 เรื่องนี้ 

มีการ์ตูนฟุตบอลอยู่หลายสิบเรื่อง แต่ทำไมถึงเป็นที่จดจำไม่กี่เรื่องกันนะ

Inazuma Eleven

ถ้าพูดกันตามตรง ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมกันทั่วโลกอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่ากติกาว่าเล่นกันอย่างไร ผู้คนเข้าใจเสน่ห์ของมันโดยไม่ต้องมีอภินิหารใด ๆ มาผสม ดังนั้นแล้วหากเนื้อหาของการ์ตูนมันไม่มีอะไรเลย การจะครองใจคนจึงยาก เพราะเอาเข้าจริงถ้าอยากได้แรงบันดาลใจ สู้ไปนั่งอ่านชีวประวัตินักกีฬาจริง อาจจะได้ความฮึกเหิมมากกว่าเสียอีก

เมื่อสตอรีของการ์ตูนฟุตบอลนั้นสร้างความโดดเด่นได้ยาก ดังนั้นแล้วการ์ตูนฟุตบอลหลายเรื่องจึงสร้างจุดเด่นให้ตัวละครมากมาย มีท่าไม้ตายที่น่าจดจำ และถ้าอยากดังขึ้นก็ยิ่งต้องใส่ความเวอร์วังเข้าไปอีก ซึ่งก็เพื่อให้คนจดจำท่าไม้ตายได้พอ ๆ กับตัวละครนั่นเอง (ยกตัวอย่างเคสของ ‘Inazuma Eleven’ ที่ในตอนนั้นช่อง 9 กับ Gang cartoon ก็ฉายเรื่องนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เด็ก ๆ ก็สามารถจำชื่อท่าไม้ตายได้ แม้จะแปลต่างกันก็ตาม จนมีมุกตลกในเหล่าแฟนคลับชาวไทยเลยว่า หากคุณเรียกชื่อท่าไม้ตายด้วยภาษาไทย แปลว่าเด็กคนนั้นดูผ่านช่อง 9 แต่หากเรียกชื่อท่าไม้ตายด้วยชื่ออังกฤษ แปลว่าเด็กคนนั้นดู Gang cartoon มา) ซึ่งการกระจายบทก็สำคัญ เพราะแค่ฝั่งตัวเอกก็ปาไปมากกว่า 10 คนแล้ว พอแข่งทีหนึ่ง ตัวละครก็มีตั้ง 20 กว่าตัว จึงทำให้กระจายบทได้ยาก และคนไม่ค่อยเอาใจช่วยตัวรองมากนัก ซึ่งทำให้การ์ตูนฟุตบอลครองใจคนได้ยากขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่าทั้งสำนักพิมพ์และสตูดิโออนิเมะจึงเลือกที่จะโฟกัสกับการ์ตูนชนิดอื่น เพื่อสร้างความแตกต่างไปเลย เพราะสามารถกระจายบทได้ง่าย แถมปั้นให้เป็นที่รู้จักได้โดยไม่ต้องถูกเปรียบเทียบ ซึ่งถ้าหากไม่นับฟุตบอลแล้ว การ์ตูนกีฬาชนิดอื่นที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นก็จะมีการ์ตูนที่พาเราไปหวดลูกสักหลาดสุดเท่อย่าง ‘The Prince of Tennis’, โบยบินพร้อมลูกวอลเลย์บอลไปกับ ‘Haikyu!!’, แข่งขันว่ายน้ำไปกับ ‘Free!’, ถีบจักรยานไปกับ ‘Yowamushi Pedal’, นักบาสฯ พลังกาวอย่างแก๊ง ‘Kuroko no Basket’ หรือแม้แต่สเกตน้ำแข็งก็มี ‘Yuri on Ice‘ ซึ่งจุดร่วมหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ การ์ตูนกีฬายุคใหม่ไม่ได้โด่งดังด้วยเนื้อเรื่อง พลังมิตรภาพ และท่าไม้ตายอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเคมีการขายจิ้นของตัวละคร เพื่อดึงดูดกลุ่มสาว ๆ ให้มาสนับสนุนมากขึ้น และมันก็ทำให้การ์ตูนกีฬา เข้าไปครองใจคนดูมากกว่าเดิม

Haikyu!!

แม้ว่าแต่ละปี จะมีการ์ตูนกีฬาที่ครองใจคนสลับหมุนเวียนกันไป แต่เราจะพบว่ากีฬาฟุตบอลที่คนทั่วโลกฮิตกันนั้น กลับแทบไม่มีตัวชูโรงที่จะทำให้คนหันกลับมาพูดถึงเลย จนกระทั่งการมาของ ‘BLUE LOCK’ นี่แหละ

ในปี 2023 เกิดปรากฏการณ์ฟุตบอลฟีเวอร์ขึ้น ซึ่งการ์ตูนกีฬาจากนิตยสารโชเน็นแม็กกาซีน ทำยอดขายได้สูงกว่าการ์ตูนจากนิตยสารโชเน็นจัมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยเรื่องที่สามารถพาตัวเองไต่ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้ก็คือการ์ตูนฟุตบอลอย่าง ‘BLUE LOCK’’ นั่นเอง

เรียกได้ว่า แม้ ‘BLUE LOCK’ จะไต่มาอย่างเงียบ ๆ แต่ก็สามารถคว่ำแชมป์อย่าง ‘Jujutsu Kaisen’ ไปได้ จนเกิดแรงกระเพื่อมมหาศาล ซึ่งส่งให้ ‘BLUE LOCK’ ขึ้นแท่นเป็นตัวแทนของการ์ตูนฟุตบอลยุคใหม่ในทันที 

อะไรที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น

BLUE LOCK

แม้ว่า ‘Captain Tsubasa’ และ ‘Inazuma Eleven’ จะสร้างบรรทัดฐานด้วยการผสมผสานแอ็กชันกีฬาที่น่าตื่นเต้นกับตัวละครที่น่าสนใจออกมาก็จริง อย่างไรก็ตาม ‘BLUE LOCK’ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาในกลุ่มการ์ตูนฟุตบอลนั้น ก็สามารถพาตัวเองไปเทียบเคียงการ์ตูนฟุตบอลยุคก่อนได้อย่างรวดเร็ว แล้วอะไรกันนะที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น

ปัญหาใหญ่ที่สุดของผมคือการสร้างตัวละครที่ใช้ชีวิตเพื่อ 'คนอื่น' แต่ตัวผมดันไม่ใช่คนประเภทนั้น ผมจึงมองเห็นแรงจูงใจเบื้องหลังของการเสียสละ นั่นคือผู้คนมักคิดว่า ‘ตัวเองนั้นยอดเยี่ยม เพราะเสียสละให้คนอื่น’

มูเนยูกิ คาเนชิโร ผู้เขียน ‘BLUE LOCK’

ต้องกล่าวก่อนว่า ‘BLUE LOCK’ นั้น เป็นการ์ตูนฟุตบอลที่มีศูนย์กลางเรื่องราวอยู่ที่อิซากิ โยอิจิ เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่พบว่าตัวเองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ทว่าตัวของอิซากินั้นขาดความมั่นใจในตัวเอง จนทำให้เขาโทษว่าตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมแพ้

อย่างไรก็ตามอิซากินั้น ก็ได้ถูกจินปาจิ เอโกะ ชายผู้พัฒนาโปรเจกต์บลูล็อก ดึงไปคัดตัวกับนักฟุตบอลกลุ่มที่เป็นกองหน้ากว่า 300 คน เพื่อสร้างสไตร์เกอร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในญี่ปุ่น ทว่านี่ไม่ใช่การคัดเลือกแบบทีม แต่เป็นแบตเทิลรอยัล ที่มีอนาคตในวงการฟุตบอลเป็นเดิมพัน หากใครที่ชนะจะได้เข้าไปเป็นตัวเต็งทีมชาติ แต่ถ้าใครแพ้จะถูกแบนจากทีมชาติไปตลอดชีวิต

BLUE LOCK

จากเรื่องย่อที่มีนั้น เราจะเห็นว่าถึงแม้ ‘BLUE LOCK’ จะเป็นการ์ตูนกีฬาก็จริง แต่การวางโครงเรื่องให้ตัวละครอยู่กันแบบแบตเทิลรอยัลนั้น ทำให้การห้ำหั่นของพวกเขาแตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น ซึ่งบางทีมันอาจจะต่างจากการ์ตูนโชเน็นทั่วไปด้วย

มูเนยูกิ คาเนชิโร (Muneyuki Kaneshiro) ผู้เขียน ได้อธิบายว่าการสร้าง ‘BLUE LOCK’ นั้นมาจากความชอบด้านกีฬาของเขา และตัวเขาเองนั้นไม่สามารถเชื่อมโยงกับตัวเอกที่ใช้ชีวิตเพื่อการเสียสละได้ ทำให้เขาตั้งใจที่จะสร้างตัวละครที่มีความคิดเป็นของตัวเอง และแก่งแย่งชิงดีกัน แม้จะอยู่ในทีมเดียวกันก็ตาม

มูเนยูกิ คาเนชิโร ผู้เขียน ‘BLUE LOCK’

หากใครเคยอ่าน ‘As The Gods Will’ หรือเกมเทวดาแล้วล่ะก็ จะเห็นเลยว่าคาเนชิโรสร้างสรรค์ตัวละครได้มีมิติขนาดไหน ซึ่งความโลภ โกรธ แค้น ได้ทำให้คนเผยสันดานดิบของตัวเองออกมา ซึ่งคาเนชิโรพบว่าตัวละครที่ ‘เสียสละ’ มักจะกลับมาเห็นแก่ตัวในภายหลัง เพราะทุกคนรู้สึกว่าตนเสียสละมากเกินไป ดังนั้นแล้วเขาจึงสร้างเรื่องราวที่ให้ทุกคนต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนไปเลย

ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง งั้นทำไมเราไม่ปล่อยให้อีโก้ที่มีเป็นอิสระเลยล่ะ นั่นคือความคิดตอนที่ผมสร้าง ‘BLUE LOCK’ และบางทีนั่นอาจทำให้ผลงานนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มูเนยูกิ คาเนชิโร ผู้เขียน ‘BLUE LOCK’

จะเห็นได้ว่าการละทิ้งแนวทางการ์ตูนกีฬาแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างเรื่องราวของความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ภายในคราบของการ์ตูนกีฬานี่แหละที่ทำให้ ‘BLUE LOCK’ แตกต่างจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่น ๆ อย่างมาก เพราะเราจะพบว่าการ์ตูนโชเน็น และการ์ตูนกีฬาโดยส่วนใหญ่ จะเป็นการสอนผู้อ่านให้เข้าใจถึงเรื่องการทำงานเป็นทีม สร้างมิตรภาพให้ทุกคนมีความเป็นครอบครัวไปด้วยกันกับผู้อ่าน

BLUE LOCK

เวลาที่ดูการ์ตูนกีฬา เราจะรู้สึกสบายใจเพราะเสมือนได้เข้าไปอยู่ในทีมของตัวเอกอย่างไรอย่างนั้น แต่ ‘BLUE LOCK’ นั้นต่างกัน เพราะนี่คือแบตเทิลรอยัลในคราบการ์ตูนฟุตบอล ซึ่งจุดเด่นของการ์ตูนแบตเทิลรอยัลก็เป็นอย่างที่เรารู้กัน คือเราไม่สามารถเอาใจช่วยใครได้เลย เพราะทุกคนมีโอกาสเป็นศัตรูกับใครก็ได้ ทำให้เราไม่สามารถเดาแนวทางของเรื่องราวได้ จนผู้อ่านไม่สามารถหลงรักตัวละครได้สนิทใจ เนื่องจากทุกตัวละครมีโอกาสถูกตัดบทจากเรื่องได้ตลอดเวลา

การสร้างอารมณ์ร่วมที่ทำให้หายใจหายคอไม่ทัน จนทำให้คนลุ้นไปจนจบเรื่อง และตัวละครแต่ละตัวต่างมีอีโก้ของตัวเองนั้น ทำให้ ‘BLUE LOCK’ เบียดแซงขึ้นมาเป็นการ์ตูนกีฬาที่โดดเด่นในยุคนี้ เพราะในยุคที่มิตรภาพและคราบน้ำตาไม่อาจปลอบประโลมจิตใจผู้คนได้ การได้ดูตัวละครที่ห้ำหั่นกันด้วยสันดานดิบนั้น ช่วยเสนอมุมใหม่ ๆ ให้กับโลกของฟุตบอล และด้วยเหตุนี้นี่แหละ จึงทำให้ ‘BLUE LOCK’ ประสบความสำเร็จมหาศาล ถึงขนาดที่ว่าสามารถเข็น ‘BLUE LOCK THE MOVIE: EPISODE NAGI’ ซึ่งเป็นเดอะมูฟวีที่เล่าเรื่องของตัวละครรองอย่างนางิ ออกมาได้ทันทีหลังจากฉายซีซัน 1 จบ

และความสำเร็จของ ‘BLUE LOCK’ อาจจะเป็นแค่คำจัดกัดความง่าย ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งตัวละครหนึ่งในเรื่องเคยกล่าวไว้

“ทิ้งความเข้าใจฟุตบอลแบบเดิม ๆ แล้วมาเริ่มใหม่ที่นี่ซะ”