ในที่สุดก็ดำเนินมาถึงบทสรุปเรื่องราวของสุดยอดฮีโร่ตลอดสิบปี ในมังงะเรื่อง มายฮีโร่ อคาเดเมีย (My Hero Academia) ของอาจารย์โฮริโคชิ โคเฮย์ ผู้แต่งที่นักอ่านรู้จักกันมากยิ่งขึ้นจากผลงานเรื่องนี้ (แต่อาจารย์แกมีผลงานก่อนหน้าที่มีลิขสิทธิ์แปลไทยอีกสองเรื่องด้วยนะ) และถึงแม้ในอนิเมะปัจจุบันจะกำลังฉายอยู่ที่ซีซันที่ 7 แต่บทสรุปทั้งหมดก็คิดว่าคงจะจบลงตามมังงะในอีกไม่นานแน่นอน

แต่ตอนจบของมายฮีโร่ อคาเดเมียนั้นเป็นไปตามที่หลาย ๆ คนคาดหวังเอาไว้มั้ยนะ จบดีหรือจบแย่ ตรงจุดไหนที่เคลียร์ประเด็นได้ไม่โอเคบ้าง ในบทความนี้ผมจะพาไปเจาะลึกจุดสำคัญแต่ละจุดในช่วงบทสุดท้ายของมังงะเรื่องนี้ ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์หลังจาก ‘จบสงคราม’ สุดท้ายระหว่าง วันฟอร์ออล และ ออลฟอร์วัน (ให้ไปรอลุ้นในอนิเมะได้อีกที ว่าเรื่องราวในสงครามนั้นจะเดือดขนาดไหน)

มีการสปอยล์เนื้อหาในมังงะตอนที่ 424 – 430


เรื่องราวของมายฮีโร่ อคาเดเมีย

จำนวนตอนในมังงะต้นฉบับของเรื่อง มายฮีโร่ อคาเดเมีย จะจบลงที่จำนวน 430 ตอน รวมเล่มทั้งหมด 42 เล่มจบ เป็นผลงานสร้างชื่อของอาจารย์โฮริโคชิ โคเฮย์ ซึ่งดำเนินมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี ที่เขียนเพื่อเล่าเรื่องราวในการเป็นสุดยอดฮีโร่ของ ‘มิโดริยะ อิซึคุ’ พระเอกของเรื่องที่เกิดมาเป็นผู้ไร้อัตลักษณ์ แต่ได้รับสืบทอดพลังต่อมาจากสุดยอดฮีโร่ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ’ อย่างออลไมท์

เรื่องราวการต่อสู้ของสงครามสุดท้ายจะจบลงที่มังงะตอนที่ 423 และหลังจากนั้นจะเป็นการเล่าถึงสังคมฮีโร่ในช่วงหลังจบสงคราม ทั้งผลกระทบต่อบ้านเมือง ทั้งต่อตัวบุคคล รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนยูเอย์ที่เป็นตัวละครหลักอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าบทสรุปจริง ๆ จะดำเนินไป ตั้งแต่มังงะในตอนที่ 424 จนถึงตอนที่ 430 และตรงบทสรุปนี้นี่แหละ ที่เราจะนำมาพูดถึงกันว่าแต่ละจุดเป็นยังไง ?

ส่วนในเวอร์ชันอนิเมะนั้น ปัจจุบันในซีซันที่ 7 กำลังดำเนินอยู่ในเรื่องราวการต่อสู้ในสงครามสุดท้ายอยู่ ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนว่าจะมีการสร้างซีซัน 8 ต่อมั้ย หรือจบลงที่ซีซันที่ 7 เลย คิดว่าข้อมูลน่าจะถูกอัพเดทอีกทีในช่วงหลังจากอนิเมะซีซันที่ 7 จบลงไป (แต่ไม่นับ The Movie 4 ภาคที่เป็นภาคแยกนะ)


เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงสังคมที่ฮีโร่ ‘ว่างงาน’

อาจารย์โฮริโคชิได้ตัดสินใจใช้จำนวนตอนในมังงะมากถึง 6 ตอนในช่วงท้าย (424 – 429) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสังคมฮีโร่หลังจบสมครามไปไม่นาน แทนที่จะเป็นการไทม์สคริปไปเล่าเรื่องราวของตัวละครต่าง ๆ ในช่วงตอนโตเลย ซึ่งตรงจุดนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่าอาจารย์แกจงใจนำเสนอให้แตกต่างจากในตอนจบของเรื่องอื่น ๆ และยังทำให้เราได้สัมผัสบรรยากาศในช่วงเวลานั้นอีกด้วย ว่าแต่ละตัวละครตลอดทั้งเรื่องที่ผ่านมา พวกเขาได้รับผลกระทบอะไรกันบ้าง ?

แทนที่จะเน้นไปที่การเล่าเรื่องราวของทางฝั่งฮีโร่อย่างเดียว อาจารย์กลับเลือกที่จะเขียนเพื่อบรรยายความรู้สึกต่าง ๆ ในมุมมองของชาวบ้านผู้ได้รับการช่วยเหลือจากทางฝั่งของฮีโร่ด้วย ว่าตัวตนของพวกเขาที่ต้องถูกปกป้องเอาไว้ อยากจะเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ว่าจะรอพึ่งพาเหล่าฮีโร่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะมีความมืดบางอย่างที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาในมุมที่ฮีโร่ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

ดังนั้นคำว่า ‘ว่างงาน’ ของฮีโร่ที่อาจารย์ต้องการสื่อ คือ การพัฒนาของประชาชนที่อาศัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งฮีโร่ที่คอยปกป้อง หรือ ชาวเมืองผู้ถูกปกป้อง ถ้าทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาสังคมให้ไปในถึงจุดที่ ‘ว่างงาน’ ได้ ตัวตนในความมืดอย่าง สมาพันธ์วิลเลิน หรือว่าชิงาราคิ โทมุระ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้น้อยลงตามไปด้วย โดยอาจารย์ได้สื่อประเด็นนี้ผ่านคุณยายคนหนึ่ง ที่กล้าจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กหนุ่มที่ดูจะเป็นอันตรายต่อสังคมในอนาคต (และอาจจะกลายเป็นชิการาคิรุ่นถัดมา) ด้วยคำสั้น ๆ ที่ทุกคนถูกรับสืบทอดต่อมาจากสัญลักษณ์แห่งสันติภาพอย่างคำว่า

ไม่เป็นไรแล้วนะจ๊ะ เพราะ ‘ยายอยู่นี่’ แล้ว


บทสรุปของ ‘วิลเลิน’ ที่ต้องการทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง

แล้วทางฝั่งของตัวร้ายผู้จุดประกายสงครามในการทำลายล้างสังคมนี้ขึ้นมาล่ะ จะเป็นยังไงต่อ ?

ตัวร้ายสูงสุดอย่าง ‘ชิงาราคิ โทมุระ’ ที่เหมือนเป็นผู้รับช่วงต่อจากตัวร้ายในอดีตอย่างออลฟอลวันมา แรกเริ่มเขาเป็นเพียงแค่เด็กหนุ่มที่ถูกทำร้ายจิตใจเท่านั้น และมิโดริยะก็พยายามที่จะช่วยเด็กหนุ่มคนนั้นจนสุดความสามารถแล้วจริง ๆ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาได้กระทำมาก่อนหน้านั้นก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถอภัยให้ได้เช่นกัน เพราะงั้นในบทสรุปของเขาที่จบลงที่ความตายและสลายไปพร้อมกับออลฟอร์วัน อันนี้ผมถือว่าค่อนข้างยอมรับได้ระดับนึงเลย เพราะมันจะถือว่าเป็นการจบลงแล้วจริง ๆ

แต่เหล่าวิลเลินที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ ก็ยังมีทั้งผู้เหลือรอดและผู้ที่เสียชีวิต ผมขอเริ่มต้นที่ ‘ดาบิ’ ลูกชายคนโตของเอนเดเวอร์ที่เป็นผลกระทบซึ่งเกิดจากความผิดพลาดของผู้เป็นพ่อ ที่ต้องการสร้างลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดขึ้นมา แม้สุดท้ายความสัมพันธ์ในครอบครัวจะพังทลายลงไป แต่เอนเดเวอร์ก็เลือกที่จะยอมรับความผิดของตัวเอง และหันหน้าเข้าหาสิ่งตัวเองทำลงไปในอดีต เพื่อแก้ไขปัญหานั้นไปตลอดชีวิตพร้อมกับปรับความเข้าใจกับ ‘โทยะ’ อีกครั้งนึง ซึ่งหลังจากนี้ก็คาดว่าพัฒนาการของครอบครัวโทโดโรกิจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทีละเล็กน้อยไปต่อแน่นอน

ส่วนอีกคนที่เหลือรอดก็คือ ‘สปินเนอร์’ คนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่เคยไม่ยอมรับผู้มีอัตลักษณ์ ‘รูปร่างผิดมนุษย์’ เขาได้ต่อสู้กับหนึ่งในนักเรียนห้อง A ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดเหมือนกัน และได้รับความรู้สึกของอีกฝั่งที่แม้จะโดนกระทำแบบเดียวกัน แต่ก็ไม่ยอมรับในความรุนแรงเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ดี จนทำให้แม้จะมีความคิดฝังหัวที่ได้รับผลกระทบจากชิงาราคิอยู่บ้าง แต่เขาก็เลือกที่จะเชื่อเด็กหนุ่มคนนั้น และยอมรับผลการกระทำของตัวเองลงไป

ส่วนตัวละครอื่น ๆ แม้จะจบลงที่การเสียชีวิต แต่เพราะเลือกที่จะทำตามอุดมการณ์ของตัวเองแม้จะต้องสู้กับสังคมก็ตาม นั่นทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในช่วงหลังจบสงครามก็ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แม้ว่าจะยังมีคนที่ไม่เข้าใจการกระทำของพวกวายร้ายอยู่ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ยอมรับการเรียกร้องนี้ ถึงจะเป็นการเรียกร้องที่รุนแรงเกินไป ทว่าบางทีมันอาจจะเกิดจากจุดเล็ก ๆ ที่สั่งสมกันมานานก็เป็นไปได้ เพราะงั้นในการเปลี่ยนแปลงนี้จึงถูกส่งต่อไปที่หัวข้อแรกที่ผมกล่าวถึง นั่นคือ สังคมที่ฮีโร่ ‘ว่างงาน’ นั่นเอง


เหล่านักเรียนในโรงเรียนยูเอย์

ตัวละครที่จะไม่กล่าวถึงในบทสรุปไม่ได้ก็คือ ‘เพื่อนร่วมชั้น’ ที่ร่วมชะตากรรมในสงครามกันมา แม้ว่าพวกเขาจะยังเป็นเพียงแค่นักเรียน ม.ปลาย ปีหนึ่งเท่านั้น แต่การกระทำของพวกเขาก็ส่งผลให้บทสรุปของสงครามนี้ออกมาได้ด้วยดี และเมื่อโลกกลับมาสงบลงพวกเขาก็ต้องกลับไปทำหน้าที่เป็นนักเรียนอีกครั้ง โดยอาจารย์โฮริโคชิ เลือกเล่าในจังหวะที่พวกนักเรียนปีหนึ่งรวมถึงมิโดริยะเลื่อนชั้นขึ้นไปนักเรียนชั้นปีสอง ว่ามีเหตุการณ์อะไรพัฒนาขึ้นบ้าง ซึ่งจะเป็นการเล่าแบบภาพรวม ไม่ได้เจาะลึกไปที่ตัวละครทุกตัว

ตรงจุดนี้ผมมองว่าเป็นเพราะตัวละครที่มีเยอะมากเกินไปของเรื่องนี้ด้วย ในการที่เลือกจะเล่าให้เห็นถึงบทสรุปของทุกตัวละครจึงเป็นเรื่องที่อาจจะยากและกินเวลานานจนเกินไป และในเมื่ออาจารย์อยากจะเน้นเล่าไปที่สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า จึงทำให้บทสรุปของนักเรียนแต่ละคนออกมาสั้นมาก และจบด้วยการไทม์สคริปข้ามไปในอีก 8 ปีข้างหน้า และแอบบอกใบ้ด้วยภาพหน้าคู่หน้าเดียว ว่าแต่ละคนเติบโตไปในรูปแบบไหนบ้าง เพื่อให้คนอ่านอย่างเราสามารถไปตีความต่อได้เองอีกทีนึง ซึ่งการเลือกบทสรุปแบบนี้ก็ไม่ถือว่าแย่ในมุมมองผม

แต่สำหรับบางคนที่อยากจะให้เล่าถึงเหล่านักเรียนให้สมกับชื่อเรื่องว่า ‘อคาเดเมีย’ อันนี้ก็เข้าใจได้เช่นกันว่าอาจจะไม่พอใจบ้างที่ไม่ได้เห็นบทสรุปของนักเรียนแต่ละคนอย่างชัดเจนขนาดนั้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนเช่นกัน ผมมองว่าอีกจุดนึงที่ทำให้เรื่องนี้ไม่สามารถเจาะลึกไปที่ทุกตัวละครได้ขนาดนั้นเพราะเรื่องนี้สเกลมันขยายขนาดไปถึงระดับโลกแล้ว ทำให้มีตัวละครทั้งฝั่งรุ่นพี่ ฝั่งฮีโร่ ฝั่งวิลเลิน และอื่น ๆ อีกมากมาย และในการที่จะจบบทสรุปทั้งหมดลงในแค่ 7 ตอนนั้น อาจารย์ต้องเลือกที่จะเล่าถึงจุดที่ต้องการจะเล่า และต้องเลือกตัดทิ้งบางช่วงออกไปเหมือนกัน


การเปลี่ยนแปลงจากเด็กหนุ่มนิสัยเสีย ‘บาคุโก คัตสึกิ’

หนึ่งในตัวละครหลักที่อาจารย์เลือกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลง ที่ถ้ามองย้อนไปในตอนแรกอาจจะถือได้ว่า ‘บาคุโก คัตสึกิ’ เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีพัฒนาการเยอะที่สุดคนนึงเลย ทั้งที่ในสมัยเด็กเขาชอบกลั่นแกล้งมิโดริยะ พร้อมกับล้อเลียนเรื่องที่ไม่มีอัตลักษณ์ แต่เขาก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาจนสามารถเอ่ยคำว่า ‘ขอโทษ’ ในเรื่องที่ทำลงไปทั้งหมด พร้อมทั้งรับรู้อีกด้วย ว่าสิ่งที่ตัวเองทำลงไปมันโหดร้ายต่ออีกฝั่งขนาดไหน และร้องไห้ให้กับการกระทำเหล่านั้น

ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าทุกคนน่าจะคิดเหมือนกันแน่ ๆ ว่าบาคุโกนั้นเติบโตขึ้นแล้วจริง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่านิสัยหยาบคายของเขาที่มีมาก่อนหน้านั้นจะถูกสลัดทิ้งไปและกลายเป็นคนใหม่ในทันที บาคุโกก็ยังเป็นบาคุโกอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เขาเติบโตขึ้นในด้านของจิตใจ ดังนั้นเราจะยังเห็นว่าก็ยังมีช่วงที่บาคุโกยังปากร้ายอยู่เหมือนกันแม้จะผ่านไป 8 ปีจนกลายเป็นฮีโร่มืออาชีพแล้วก็ตาม แต่ตัวเขาที่เติบโตขึ้นก็ไม่ได้ละทิ้งมิโดริยะที่ไร้ซึ่งอัตลักษณ์อีกต่อไป เขาพยายามหาหนทางช่วยทุกวิธีเพื่อที่จะให้มิโดริยะได้กลับมาเป็นฮีโร่อย่างที่อยากเป็นได้อีกครั้ง (ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่มีทางแน่ ๆ)


ฮีโร่ผู้เสียสละเพื่อคนอื่นก่อนเสมอ ‘อุราระกะ โอชาโกะ’

อีกหนึ่งตัวละครที่มีบทสำคัญต่อจิตใจของมิโดริยะมาตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องอย่าง ‘อุราระกะ โอชาโกะ’ เธอนั้นเปรียบได้กับเป็นฮีโร่ของฮีโร่อีกทีหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีพลังการต่อสู้ที่เก่งกาจอย่างเช่นคนอื่น แต่ในทุกจังหวะสำคัญที่มิโดริยะต้องการความช่วยเหลือ เธอมักจะเป็นคนที่เข้ามาช่วยเหลือเขาเสมอ และในจุดนี้อาจารย์เลือกเล่าให้อุราระกะได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่อัดอั้นออกมาต่อหน้ามิโดริยะ แม้ปกติจะพยายามเป็นเข้มแข็งเพื่อไม่ให้คนอื่นเป็นห่วง แต่เธอก็ยังเป็นเพียงเด็กสาว ม.ปลายคนนึงเท่านั้น

ตรงจุดนี้ถือได้ว่าเป็นการเติบโตขึ้นไปอีกขั้นระหว่างความสัมพันธ์ของมิโดริยะกับอุราระกะ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่อัดอั้นออกมาต่ออีกฝ่ายได้เหมือนกัน ในการที่ต่างคนต่างมองว่าอีกฝ่ายเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้ตัวเองในเหตุการณ์หลังจากนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นบทลงเอยของสองคนนี้ที่อาจารย์แกแอบซ่อนเอาไว้เป็นกิมมิกเล็ก ๆ แล้ว (ถึงจะไม่ได้เขียนแบบชัดเจนลงในเรื่องก็ตาม)

ดังนั้นแล้วใครที่คิดว่า ‘ทำไมมิโดริยะถึงไม่ได้ลงเอยกับอุราระกะ’ อันนั้นผมมองว่าเป็นบทสรุปแบบปลายเปิดนะ ที่อาจารย์จงใจไม่เล่าแบบชัดเจน เพราะไม่ได้เน้นอธิบายช่วงไทม์สคริป 8 ปีเยอะมากเท่ากับช่วงหลังสงคราม แต่ก็สามารถคิดได้เหมือนกันว่าทั้งคู่อาจจะไปได้ด้วยดีแล้ว (จากหน้ากากที่เหมือนของฮีโร่เดกุ ที่อุราระกะห้อยคอเอาไว้) ซึ่งจุดนี้เราอาจจะต้องรอลุ้นอีกทีว่าอาจารย์จะเลือกเล่าเป็นส่วนเสริมในฉบับรวมเล่มสุดท้ายเพิ่มอีกหรือเปล่า ?


เรื่องราวของสุดยอดฮีโร่อย่าง ‘มิโดริยะ อิซึคุ’

คิดว่าถ้าถามถึงสิ่งที่หลายคนไม่พอใจอันดับต้น ๆ ของบทสรุปเรื่องนี้ ผมว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องบทสรุปของ ‘มิโดริยะ อิซุคุ’ พระเอกของเรื่อง และเป็นคนสุดท้ายที่จัดการบอสใหญ่อย่างออลฟอลวันและชิงาราคิลงไปได้ แต่ในอนาคตหลังจากไทม์สคริปไป 8 ปี เขากลับเป็นได้แค่อาจารย์สอนในโรงเรียนยูเอย์แบบธรรมดาเท่านั้น ทำไมบทสรุปถึงจบลงไม่เหมือนอย่างที่พระเอกควรจะเป็นเลยล่ะ ทั้งที่เสียสละมาตั้งขนาดนั้น

ตรงส่วนนี้ผมแอบไม่เห็นด้วยและก็เห็นด้วยไปพร้อมกัน อย่างแรกเลยจุดที่ไม่เห็นด้วยในช่วงแรก คือ การที่มิโดริยะไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร ทั้งที่เขาเสียสละมาตั้งมากมายเพื่อนำเอาอนาคตอันสงบสุขมาให้ทุกคน ไม่ต้องถึงขั้นกลายเป็นสัญลักษณ์สันติภาพอย่างรูปปั้นออลไมท์ก็ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ออลไมท์ใช้เวลาหลายสิบปีในการสร้างมันขึ้นมา จนถูกเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์จริง ๆ แต่อย่างน้อยน่าจะยังสามารถทำงานซัพพอร์ทฮีโร่ในแบบอื่น ๆ ได้ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการต่อสู้จริงตอนนั้นมาใช้ หรือการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมายเพื่อเพิ่มความสามารถโดยรวมของสังคมฮีโร่โดยที่ตัวเองไม่จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ก็ได้ จะได้สมกับที่เคยเกริ่นมาตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเป็น ‘สุดยอดฮีโร่’ หน่อย

ส่วนจุดที่พอมากลั่นกรองความคิดแล้วเห็นด้วยคือ ถ้าในกรณีที่ ‘มิโดริยะเลือกที่จะเป็นอาจารย์ด้วยตนเองล่ะ’ เขาอาจจะต้องการพัฒนาหรือฟูมฟักเด็กรุ่นใหม่ให้กลายเป็นฮีโร่ในแบบที่ควรจะเป็น เหมือนที่อาจารย์ไอซาวะ หรือ อาจารย์ออลไมท์เคยทำก็ได้ อันนี้ก็พอจะยอมรับได้หน่อย ว่าถึงแม้ตำแหน่งอาจารย์จะดูไม่หวือหวาหรือได้รับความนิยมขนาดนั้น แต่ก็เป็นตำแหน่งสำคัญที่จะส่งต่ออนาคตให้แก่เด็ก ๆ รุ่นใหม่ ซึ่งตัวของมิโดริยะคิดว่าเขาจะสามารถทำได้ดีในฐานะของคนที่ไม่มีอัตลักษณ์

จุดนี้เสียงแตกเป็นสองฝั่งระหว่างคนอ่านที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งผมเอนไปทางฝั่งที่ชอบบทสรุปแบบนี้อยู่นะ เพราะถ้ามองในอีกมุมหนึ่งก็คือ อาจารย์ผู้เขียนจงใจย้อนกลับไปเหมือนตอนสมัยแรกที่มิโดริยะไม่มีอัตลักษณ์ เพื่อสื่อให้เห็นว่าร่างกายยังคงขยับไปตามสัญชาติญาณ แม้ตัวเองจะไม่มีความสามารถทางด้านกายภาพพอที่จะช่วยเหลืองานฮีโร่ได้อีกต่อไปแล้วก็ตาม ซึ่งจุดนั้นจะถูกส่งต่อไปที่เรื่องราวของ ‘ชุดสูทที่ถูกพัฒนาขึ้นมา’ เพื่อทำให้เขาสามารถกลายเป็นฮีโร่ได้อีกครั้งด้วยความร่วมมือจากเพื่อนพ้องของเขา (ตรงนี้อาจจะเล่าสั้นไปหน่อย เพราะอาจารย์ไม่ได้เน้นในส่วนไทม์สคริปมากนัก อย่างที่เกริ่นไปในช่วงแรก) เพราะงั้นขอยกไปพูดถึงในหัวข้อถัดไปแทน


สังคมที่จำเป็นต้อง ‘มีอัตลักษณ์’ ในการเป็นฮีโร่

มาถึงหัวข้อสุดท้าย ว่าสิ่งที่อาจารย์โฮริโคชิต้องการจะสื่อ คือ สังคมฮีโร่หลังจากนั้นเป็นสังคมที่ ‘
จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์’ เพื่อทำหน้าที่ฮีโร่จริง ๆ มั้ยนะ ?

หลังจากไทม์สคริป 8 ปี ที่อาจารย์มิโดริยะ ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากการเป็นอาจารย์และคอยติดตามเหล่าพรรคพวกในห้องทำหน้าที่ฮีโร่อย่างห่าง ๆ ทำให้บทสรุปชีวิตของมิโดริยะนั้นดูน่าเศร้ามาก ทั้งที่ตัวเองก็ยังอยากเป็นฮีโร่อยู่ แต่เพราะไร้ซึ่งอัตลักษณ์ เลยไม่สามารถเป็นฮีโร่ได้

ตรงจุดนี้ อย่างที่กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้า ว่ามิโดริยะน่าจะเลือกมาเป็นอาจารย์ด้วยตนเองมากกว่าการที่จะไปซัพพอร์ทฮีโร่ในส่วนอื่น ๆ อาจจะด้วยความหลงใหลก็เป็นไปได้ เพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้วด้วยความร่วมมือกันอย่างลับ ๆ ของเพื่อนคนอื่น ที่สร้างชุดมาเพื่อให้เขาสามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ ‘หน้างาน’ ได้อีกครั้ง ทำให้เขาเลือกที่จะไม่ปฏิเสธน้ำใจนั้น และยอมรับความสามารถนั้นอีกครั้ง (แต่ถ้าถามว่ามิโดริยะจะกลับไปทำงานอาจารย์ต่อมั้ย อันนี้ผมค่อนข้างชัวร์ว่ายังเป็นอาจารย์อยู่แน่นอน)

อีกทั้งอาจารย์โฮริโคชิยังเกริ่นในเนื้อหาตอนสุดท้ายมาด้วยอีกว่า เหล่านักเรียนรุ่นใหม่นั้นได้เติบโตไปแตกต่างจากพวกมิโดริยะและบาคุโกในมังงะตอนที่ 1 เพราะทุกคนไม่ได้อยากเลือกอาชีพในอนาคตเป็นฮีโร่แค่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ทุกคนมีความหลงใหลที่ต่างกันในแต่ละหน้าที่ซึ่งสามารถช่วยซัพพอร์ทสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็น แผนกออกแบบไอเทมซัพพอร์ต, แพทย์ผู้รักษาคนที่ไม่น่าจะรักษาหายได้, หรือแม้กระทั่งการเขียนโปรแกรม สิ่งเหล่านั้นยิ่งเป็นการตอกย้ำเพิ่มขึ้นไปอีก ว่าจริง ๆ แล้วมิโดริยะสามารถเติบโตไปในเส้นทางเหล่านั้นได้มากกว่าการที่จะมาเป็นอาจารย์ แต่การที่แสดงให้เห็นว่าเขาอยู่ในตำแหน่งนี้ นั่นคือ สิ่งที่เขาเลือกที่จะเป็นจริง ๆ

เพราะงั้นถ้าถามว่า สังคมหลังจากนี้ ‘จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์’ เพื่อทำหน้าที่ฮีโร่มั้ย ผมคิดว่าอาจารย์โฮริโคชิต้องการสื่อออกมาว่า ‘ไม่จำเป็นเลย’ ทุกคนสามารถช่วยเหลือกันและกัน จนทำให้กลายเป็นสังคมที่ฮีโร่ว่างงานได้ ฝ่ายสนับสนุนซัพพอร์ตที่ไม่ได้ออกไปต่อสู้หน้างาน ก็สามารถมีบทบาทมากขึ้นจนเด็กรุ่นใหม่ต่างหลงใหล ทุกสิ่งทุกอย่างหลังจากผ่านไป 8 ปี ล้วนถูกพัฒนาไปจนถึงจุดนั้นแล้ว แต่การที่สุดท้ายยังต้องมอบ ‘พลัง’ ให้มิโดริยะเพื่อกลายเป็นฮีโร่นั้น ผมมองว่าทั้งหมดเพื่อที่จะให้ บทสรุปของมิโดริยะนั้นยอมออกมาต่อสู้ร่วมกับเหล่าพรรคพวกอีกครั้งในแนวหน้า

อย่างที่บอกว่าเรื่องราวอันยาวนานกว่าสิบปีของ มายฮีโร่ อคาเดเมียนั้น ได้ขยายจักรวาลฮีโร่และตัวละครไปกว้างขวางมาก เพราะงั้นบทสรุปที่อาจารย์แกต้องการสื่อออกมานั้นอาจจะไม่ได้ตรงใจใครทุกคนขนาดนั้น บางคนไม่ชอบ บางคนคิดว่ายังมีปมที่ไม่เคลียร์ แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญก็ขึ้นอยู่กับว่าอาจารย์ต้องการจบมันตามความตั้งใจของตัวเองแล้วหรือเปล่าแล้วนั่นเอง