นิยายสืบสวนสอบสวนที่ถูกนำกลับมาพูดถึงใหม่อีกรอบเป็นอย่างมากในช่วงนี้ คือเรื่อง ‘บ้านวิกล’ นั่นเอง ถึงแม้ตัวนิยายจะมีการออกวางขายฉบับแปลไทยมาสักพักแล้วก็ตาม จนมีมาถึงนิยายเล่มที่ 2 ทว่าเวอร์ชันดัดแปลงที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และมังงะ 3 เล่มจบ ดันถูกนำเข้ามาที่ไทยพร้อม ๆ กันในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องนี้จึงถูกนำกลับมาพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง แต่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเรื่องนี้มาก่อน (ผมด้วย) มาลองดูไปพร้อม ๆ กันดีกว่า ว่า ‘บ้านวิกล’ ในแต่ละเวอร์ชันนั้นแตกต่างกันยังไง แล้วควรจะตามเสพเวอร์ชันไหนบ้างดีนะ ?
เรื่องราวของบ้านวิกลมีอะไรกันบ้าง ?
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก ‘บ้านวิกล (変な家)’ ในเวอร์ชันต้นฉบับกันก่อน นั่นก็คือ ‘นิยาย’ นั่นเอง โดยผู้เขียน คุณอุเก็ตสึ (Uketsu) มีผลงานสร้างชื่อจากเรื่องนี้ ในฐานะของนิยายสืบสวนสอบสวนที่นำมาเล่าให้ฟังบนช่องยูทูบเพื่อโปรโมตนิยายเรื่องนี้ จนมีคนให้ความสนใจกันเยอะมาก เพราะพล็อตเรื่องที่สุดแสนจะแตกต่าง ผังบ้านประหลาดที่เหมือนจะมีความลับซ่อนเอาไว้ สำหรับใครที่อยากลองสัมผัสประสบการณ์นั้น สามารถตามไปดูได้จากในวิดีโอด้านล่างได้เลย (แต่เป็นภาษาญี่ปุ่นนะ)
เรื่องย่อ: นักเขียนอิสระคนหนึ่งได้รับคำไหว้วานขอคำปรึกษาจากคนรู้จัก เกี่ยวกับผังบ้านที่เขาต้องการจะซื้อ และมีห้องแปลกประหลาดปรากฏอยู่บนผัง และห้องนั้นไม่มีทางเข้าให้เข้าไปได้ เป็นเหมือนเพียงโพรงว่างเปล่า และไม่รู้จุดประสงค์ในการสร้าง ว่าเอาไว้ทำอะไรกันแน่ ดังนั้นนักเขียนอิสระคนนั้นจึงได้นำเรื่องราวของ ‘บ้านวิกล’ นี้ไปปรึกษากับบุคคลผู้หนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกผู้ชื่นชอบเรื่องลึกลับ อย่างคุณคุริฮาระ
หลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสิ่งก่อสร้างอย่าง คุณคุริฮาระได้ดูผังบ้านแปลกประหลาดนี้ เขาก็ได้ค้นพบจุดที่ผิดปกติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้องเด็กชั้นสองที่ไม่มีหน้าต่างสักบาน, ห้องนอนที่เกินจำนวนสมาชิกในบ้านของเจ้าของคนเเก่า, จำนวนหน้าต่างรอบบ้านที่เยอะจนผิดปกติ, ห้องปริศนาที่ไม่มีทางเข้าออก และความลับอีกมากมายที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ จนเกิดเป็นสมมติฐานแปลก ๆ ขึ้นมา อย่างบ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างการ…หรือเปล่านะ ?
ที่สนุกยิ่งกว่านั้น คือการที่คนอ่านอย่างเราค่อย ๆ ค้นพบความลับไปพร้อมกับตัวเอกในการดำเนินเรื่องอย่าง นักเขียนอิสระ คนนี้ และค่อย ๆ ค้นพบความจริงสุดตื่นเต้นที่ทำให้เนื้อเรื่องนี้สมกับชื่อเรื่องอย่าง ‘บ้านวิกล’ จริง ๆ
ทว่าอีกกิมมิกหนึ่งที่ถูกซ่อนไว้ คือชื่อนิยายเรื่องนี้ในภาษาญี่ปุ่น เขียนว่า 変な家 (Hen na ie) ซึ่งแปลได้ตรงตัวว่า บ้านอันแปลกประหลาด ถ้านำมาแปลแบบสวยงามหน่อยก็จะเป็น ‘บ้านวิกล’ นั่นเอง แต่ในเวอร์ชันนิยายแปลไทยนั้น ได้มีการเพิ่มชื่อเรื่องขึ้นมาเป็น ‘บ้านวิกล คนประหลาด’ อย่างมีนัยสำคัญ คำว่าคนประหลาดนั้นจะสื่อถึงความหมายยังไง มีที่มายังไงกันแน่ ทุกคำตอบจะถูกค้นพบในนิยายเล่มนี้นั่นเอง
บ้านวิกลมีกี่เวอร์ชัน แตกต่างกันยังไงบ้าง ?
หลังจากนิยายเริ่มสร้างชื่อเสียงขึ้นมาระดับหนึ่ง ก็ได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นเวอร์ชันต่าง ๆ ตามมาในภายหลัง โดยอ้างอิงเนื้อหาจากในส่วนของนิยายทั้งเล่ม แต่จะมีการดัดแปลงบางส่วน เช่น คาแรกเตอร์ตัวละคร หรือการดำเนินเรื่องให้แตกต่างออกไปบ้าง มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละเวอร์ชันนั้นแตกต่างกันยังไงบ้าง
01. ฉบับนิยาย ‘บ้านวิกล คนประหลาด’
เล่มเดียวจบ สำนักพิมพ์ Biblio
เป็นเวอร์ชันต้นฉบับของบ้านวิกล ที่จะเน้นการบรรยายผ่านมุมมองของตัวละคร ‘นักเขียนอิสระ’ เป็นหลัก และในนิยายระบุชัดเจนเลยว่าเป็นผู้หญิง เพราะใช้คำลงท้ายว่า คะ ค่ะ เวลาพูดตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจุดที่ทำให้แตกต่างจากการอ่านนิยายแบบทั่วไป คือรูปแบบในการเล่าเรื่องด้วยการพูดคุยกันระหว่างตัวละครเป็นหลักหรือที่เรียกกันว่าบทสนทนา เสมือนกับว่าเรากำลังเป็นฝ่ายพูดคุยด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากนิยายทั่วไปที่จะมีการผสมผสานระหว่างการเล่าบรรยากาศ การกระทำ และคำพูด
ตรงจุดนี้ต้องเรียกได้ว่า อาจจะเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะมีทั้งคนที่ชอบการอ่านแบบนี้ เนื่องจากว่าเป็นรูปแบบใหม่ และเข้ากันได้ดีกับการค้นหาความจริงด้วยการไล่ถามหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ของนักเขียนอิสระคนนี้ แต่อีกมุมหนึ่งก็จะมีคนที่ไม่ชอบไปเลยเช่นกัน เพราะรู้สึกแปลก ๆ ที่ต้องอ่านแต่คำพูดคุยกันตลอดเวลา นึกลักษณะท่าทางหรือการกระทำของตัวละครไม่ออก ไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่บ้างระหว่างพูดคุย (อาจจะไม่ค่อยจำเป็นสำหรับเรื่องนี้) จนทำให้รู้สึกเบื่อในการดำเนินเรื่องแบบนี้
ถึงจะมีแต่การพูดคุยกันอย่างเดียว ก็ใช่ว่าเราจะมองภาพไม่ออก ว่าในการวิเคราะห์ผังบ้านแต่ละขั้นตอนที่ตัวละครกำลังคุยกันอยู่นั้น พูดถึงจุดไหนบ้าง การที่จะต้องมานั่งพลิกหน้าไปมาเพื่อดูผังบ้านทุกครั้งเวลาพูดถึงก็คงเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับใครหลายคนแน่นอน ดังนั้นคุณอุเก็ตสึผู้แต่ง จึงได้แทรกภาพผังบ้านระหว่างบทสนทนาในเนื้อเรื่องเข้าไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งผังบ้านฉบับตัวเต็ม หรือผังบ้านเฉพาะห้องตอนที่กำลังพูดถึงห้องนั้น ๆ อยู่ ทำให้ระหว่างที่อ่านไป เชื่อได้เลยว่าไม่ติดปัญหาสงสัยแน่นอน ว่าตัวละครกำลังพูดถึงจุดไหนอยู่นะ (แต่อ่านจบไว เพราะภาพเยอะนี่แหละ)
02. ฉบับมังงะ ‘บ้านวิกล’
3 เล่มจบ สำนักพิมพ์ Phoenix Next
เวอร์ชันดัดแปลงมาจากต้นฉบับนิยาย 1 เล่ม เอามาทำให้เป็น 3 เล่มจบ โดยอ้างอิงเนื้อหาแทบจะทั้งหมดมาแบบไม่ดัดแปลงให้แตกต่าง เพียงแต่ในมังงะเราจะได้ลุ้นมากกว่าเดิมด้วยการเล่าเรื่องแบบเห็นภาพมากยิ่งขึ้น (แอบหลอน) ในการค่อย ๆ ทำความเข้าใจผังบ้านสุดแปลกประหลาดนี้ไปพร้อมกันกับตัวละครหลักอย่าง ‘นักเขียนอิสระ’ แต่รอบนี้ไม่มีการระบุเพศอย่างชัดเจน ไม่ชัวร์ว่ามีผลต่อเนื้อเรื่องหรือเปล่านะ
อีกตัวละครที่น่าสนใจและแสดงความฉลาดให้เราเห็นแบบชัดเจนก็คือ ‘คุณคุริฮาระ’ ที่มาในลุกของสถาปนิกหล่อเท่ ที่ชื่นชอบในการวิเคราะห์เรื่องลึกลับ และการอนุมานแต่ละอย่างของเขาในเวอร์ชันมังงะ ผมรู้สึกได้เลยว่ามันดูน่าลุ้นยิ่งกว่าในนิยายที่มีแต่การพูดคุยอย่างเดียวซะอีก อาจจะเพราะรูปแบบการเล่าเรื่องที่แตกต่างไปจากการพูดคุยผ่านบทสนทนาอย่างเดียว เลยทำให้เรารู้สึกลุ้นตามเวลาพลิกอ่านไปทีละหน้าตลอดเวลา
ปัจจุบันมังงะยังออกมาไม่ครบ (แปลไทยเพิ่งจะออกมาเล่มเดียว) เพราะงั้นอาจจะต้องรอลุ้นกันอีกที ว่าเนื้อเรื่องระหว่างทาง (โดยเฉพาะบทจบ) ทางมังงะจะทำการดัดแปลงไปในทางไหนบ้างมั้ย จะแตกต่างจากเวอร์ชันนิยายหรือเปล่า ถ้าพูดกันตรง ๆ ผมรู้สึกเฉย ๆ กับบทสรุปของเวอร์ชันนิยายอยู่นิดหน่อย เพราะเป็นการเล่าเรื่องผ่านการอ่านจดหมายอย่างเดียว ในจุดที่เฉลยทุกอย่าง เพราะงั้นมารออ่านในฉบับมังงะกันดีกว่าว่าจะออกมาแบบไหน
03. ฉบับภาพยนตร์ ‘บ้านวิกล’
หนังแนว สืบสวน – สยองขวัญ วันเข้าฉายที่ไทย 29 สิงหาคม 2567
ฉบับนี้เรียกได้ว่ามีการดัดแปลงออกไปจากต้นฉบับเยอะที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยจุดที่แตกต่างที่สุดเลยคือ คาแรกเตอร์ตัวละครหลักนั่นเอง ตัวเอกของเราจะเป็นชายหนุ่มที่ทำอาชีพยูทูบเบอร์คอยหาคอนเทนต์เล่าเรื่องลึกลับแปลกประหลาดลงช่อง ดังนั้นคราวนี้สิ่งที่เราจะได้พบเจอในเรื่อง จะไม่ใช่เพียงแค่การพูดคุยกันอย่างเดียวเหมือนในหนังสืออีกต่อไป แต่จะเป็นการลงสนามไปบันทึกวิดีโอที่บ้านนั้นจริง ๆ ซึ่งบอกได้เลยว่าหลอนสมชื่อบ้านวิกลของแท้
ส่วนอีกตัวละครหนึ่งที่แอบแตกต่างจากบุคลิกในมังงะเป็นอย่างมากเลยก็คือ ‘คุณคุริฮาระ’ มาในลุกของสถาปนิกที่ไม่ใช่หนุ่มหล่อเท่ แต่เหมือนเป็นคนที่หมกหมุ่นในเรื่องลึกลับและอินโทรเวิร์ตเป็นอย่างมากซะมากกว่า (ผมชอบมังงะมากกว่านะ) ดังนั้นเวลาการเฉลยเรื่องราวแต่ละอย่างจากคุณคุริฮาระ ก็จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากมังงะหรือนิยายค่อนข้างมากเลยทีเดียว
อีกเรื่องที่ไม่พูดถึงเลยก็คือ การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการดำเนินเรื่อง ที่สอดแทรกความอยากรู้อยากเห็นในการทำคอนเทนต์ของยูทูบเบอร์เข้ามา เพื่อให้ทำการเข้าไปล้วงความลับด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น ข้อดีคือทำให้เราได้ลุ้นไปด้วยเวลาตามสืบ ว่าพระเอกของเราจะพบเจอความลับอะไรบ้าง ความแปลกประหลาดของบ้านหลังนั้นจะพาเราไปเจอจุดไหน โดยเฉพาะช่วงจุดจบของเรื่อง ที่เรียกได้ว่าแตกต่างไปจากเวอร์ชันต้นฉบับมาก เพราะพระเอกของเราเข้าไปเผชิญเรื่องราวเสี่ยงอันตรายเหล่านั้นด้วยตัวเอง และควรจะต้องเรียกเวอร์ชันนี้ว่า ‘คนประหลาด’ มากกว่าในนิยายซะอีก
แต่ด้วยความโอเวอร์แอ็กติงตามสไตล์หนังญี่ปุ่น อาจจะทำให้คนดูหลายคน โดยเฉพาะคนที่เคยอ่านนิยายมาก่อนแล้วไม่ชอบส่วนนี้เท่าไหร่ เพราะทั้งการแสดงที่ดูล้น การดำเนินเรื่องที่เปลี่ยนไปจากต้นฉบับ คาแรกเตอร์ตัวละครที่เหมือนคนละคน ซึ่งอันนี้ต้องแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนแล้วว่า จะชอบในเวอร์ชันไหนมากกว่ากัน โดยส่วนตัวแล้วผมเอนไปทางชอบนะ
ผลงานเรื่องอื่นของ อุเก็ตสึ
นอกจากบ้านวิกลแล้ว คุณอุเก็ตสึผู้แต่งยังได้มีการแต่งเรื่องอื่นเพิ่มเติมมาถึงอีกสองเรื่องอีกด้วย ใครที่ชื่นชอบผลงานการเขียนนิยายในสไตล์นี้แล้ว ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดอย่างมาก โดยที่ไทยได้มีการวางจำหน่ายฉบับแปลไทยครบทุกเล่มจากทางสำนักพิมพ์ Bibilo เช่นเดิม
01. บ้านวิกล คนประหลาด 2
เล่มเดียวจบ สำนักพิมพ์ Biblio
เรื่องราวจะต่อจากเล่มที่ 1 โดยบทบาทของ ‘นักเขียนอิสระ’ ที่เป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่องนั้น คุณอุเก็ตสึใช้แทนตัวเอง เพราะเหตุการณ์ในเรื่องดำเนินต่อเนื่อง หลังจากที่นักเขียนอิสระคนนั้นได้วางจำหน่ายหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘บ้านวิกล คนประหลาด’ ออกไปแล้ว
ทำให้มีคนติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะอยากพูดคุยเกี่ยวกับผังบ้านประหลาดของตัวเองด้วยเช่นกัน ดังนั้นในเล่มที่ 2 นี้ มีผังบ้านให้เราได้ทำการไขปริศนามากถึง 11 หลัง เพิ่มมาจากเล่มแรกถึงเกือบ 3 เท่าเลยทีเดียว แต่ละหลังจะเกี่ยวข้องกันยังไง จะมีความลึกลับขนาดไหน ในเล่มนี้ได้ทำการแบ่งแยกออกเป็นบท รวมทั้งสิ้น 11 บทในการพูดคุยกับเจ้าของผังบ้านแต่ละหลัง และจบบทสุดท้ายด้วยการพูดคุยกับคุณคุริฮาระ จะเป็นยังไงต้องลองไปอ่านกันเองอีกทีแล้วแหละ
02. ภาพวาดปริศนากับการตามหาฆาตกร
เล่มเดียวจบ สำนักพิมพ์ Biblio
หลังจากคุณอุเก็ตสึมีชื่อเสียงจากบ้านวิกลขึ้นมา คราวนี้ในผลงานชิ้นที่ 2 เขาได้เขียนเรื่องราวของการสืบคดีเกี่ยวกับรูปภาพแทนผังบ้านประหลาด โดยจะแบ่งเนื้อหาเป็น 4 บท บทที่ 1 – 3 สามารถอ่านแยกกันได้ อยากอ่านบทไหนก่อนก็ได้ แล้วมาอ่านบทที่ 4 เป็นบทสุดท้าย ซึ่งจะเป็นการขมวดปมทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวละครคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘คุริฮาระ’ เช่นเดิม (แต่วัยรุ่นขึ้นนะ)
โดยเรื่องราวแต่ละบทล้วนเกี่ยวข้องกับภาพวาดเป็นหลัก แต่จะแยกเป็นเซตภาพคนละชุดที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ยกตัวอย่างจากบทแรก ที่มีให้ทดลองอ่านฟรี จะเห็นได้ว่าตัวละครหลักถูกคุริฮาระเชิญชวน ให้ลองไปอ่านบล็อกของคนเขียนคนหนึ่งที่เขียนบันทึกประจำวันเกี่ยวกับแฟนสาวของเขาที่กำลังจะมีลูก และรูปแบบในการนำเสนอจะเสมือนกับเราากำลังไล่ตามอ่านบล็อกเช่นเดียวกับตัวเอก ในตอนแรกก็เป็นบล็อกธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีอะไร แต่กลับถูกเก็บซ่อนความลึกลับและแปลกประหลาดเอาไว้ในความธรรมดานั้นอย่างเนียน ๆ แนะนำให้ลองสัมผัสประกบการณ์นั้นด้วยตัวเองจากการทดลองอ่านได้เลย
สรุป
เรื่องราวของ ‘บ้านวิกล’ ผลงานของ คุณอุเก็ตสึนั้น เริ่มต้นมาจากในเวอร์ชันนิยาย ที่ใช้บทสนทนาและภาพประกอบผังบ้านในการบรรยายเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะถูกใจทุกคนขนาดนั้น จากนั้นผลงานเล่มเดียวจบนี้ถูกนำไปดัดแปลงต่อเป็นเวอร์ชัน มังงะ 3 เล่มจบ และภาพยนตร์ โดยในมังงะจะอ้างอิงเรื่องราวที่ตรงกับต้นฉบับมากกว่า แต่ภาพยนตร์จะทำการเปลี่ยนแปลงบุคลิกตัวละครและเนื้อเรื่องให้แตกต่างออกไป ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเสพเรื่องนี้ ถ้าเรียงตามลำดับความชอบส่วนตัวแล้ว ผมคงยกให้ เวอร์ชันมังงะ นิยาย และภาพยนตร์ตามลำดับ