เรื่องของเสียงเพลงและเสียงดนตรี คงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ที่จะทำให้ อนิเมะ เรื่องใดเรื่องหนึ่งมีความน่าสนใจหรือจดจำได้ง่าย ซึ่งเพลงหรือดนตรีแต่ละประเภทนั้นก็มีวิธีการเรียกและการใช้งานแตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น ในวันนี้ ผมจะมาอธิบายวิธีการจำแนกประเภทของเพลงหรือดนตรีกันว่าเพลงหรือดนตรีแบบไหนมีชื่อเรียกว่าอะไรกันบ้างนะครับ
มาทำความรู้จักกันเลยสำหรับเพลงประเภทต่างๆ
OP หรือ Opening Song
มาที่เพลงประเภทแรกกันก่อนเลยกับเพลงที่เมื่อเริ่มต้นอนิเมะ แทบจะทุกเรื่องเราจะต้องได้ยินได้ฟังเสมอ กับ Opening Song เป็นเพลงที่มีความสำคัญมากๆเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นสิ่งแรกที่เราจะได้ยินก่อนที่จะได้ดูอนิเมะเรื่องนั้น มีส่วนที่ทำให้เราจดจำอนิเมะเรื่องนั้นได้เป็นอย่างดี ยิ่งเพลงดีเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ผู้ฟังสามารถจดจำได้มากเท่านั้น ในสมัยก่อนเนื้อหาในเพลง OP จะมีทั้งที่สื่อถึงอนิเมะเรื่องนั้นๆค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่อาจจะไม่ได้สื่อถึงเนื้อหาในอนิเมะมากนัก แต่ก็ยังคงให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกันอยู่ เราจะจำอนิเมะเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้รึเปล่าส่วนหนึ่งก็จะขึ้นอยู่เพลง OP นี่แหละครับ ยกตัวอย่างเช่น เพลง Butter – Fly ที่แค่ได้ยินเราก็รู้แล้วว่าเป็นเพลงจากเรื่อง Digimon Adventure นั่นเองครับ
ED หรือ Ending Song
มีเพลงเปิดเรื่องแล้วก็ต้องมีเพลงปิดเรื่องกับ Ending Song (ซึ่งบางเรื่องอาจจะไม่มีแล้วแต่กรณี) เพลง ED นั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับเพลง OP เพราะเป็นที่ส่งท้ายเรื่องเมื่อจบแต่ละตอน โดยส่วนใหญ่จะเป็นเพลงที่มีจังหวะที่ช้ากว่า เพลง OP และจะให้ความหมายที่เศร้าๆหน่อย บางเพลงอาจจะใช้เพื่อสื่อถึงความรู้สึกหรือเรื่องราวของตัวเอกของเรื่อง หรือ นางเอกของเรื่อง แต่ก็มีอีกหลายเพลงที่มีจังหวะสนุกๆ แล้วแต่แนวของแต่ละเรื่องนั่นเอง (บางเพลงอาจจะเร็วและเดือดกว่าเพลง OP ของเรื่องนั้นๆก็เป็นได้)
อย่างเพลง ED ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะจดจำกันได้เป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้นเพลงสนุกๆอย่างเพลง Hare Hare Yukai จากเรื่อง Suzumiya Haruhi no Yutsu ที่สร้างกระแส Haruhi Dance ไปได้ทั่วโลกเลยทีเดียว
Insert Song
นอกจากเพลง OP ในช่วงเริ่มเรื่อง และ เพลง ED ในช่วงจบแล้ว ก็มีเพลงอีกประเภทที่มีหน้าที่สร้างบรรยากาศในระหว่างเนื้อเรื่องด้วย นั่นก็คือเพลง Insert Song นั่นเอง ซึ่งเพลง Insert Song เหล่านี้ มักจะขึ้นมาเมื่อเหตุการณ์สำคัญต่างๆของเรื่อง อย่างอนิเมะแนวดนตรีก็จะมีเพลง Insert Song ที่ร้องโดยตัวละครในเรื่องออกมาเป็นระยะ หรือบางเรื่องที่ต้องการบรรยากาศในเรื่องที่มากขึ้นก็จะใช้เพลง Insert Song นี้มาช่วย เช่นในเรื่อง Gundam Seed ในฉากเปิดตัว Freedom Gundam จะมีเพลง Meteor ขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งเพลงเหล่านี้ก็มีส่วนให้เราจดจำฉากเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีนั่นเอง ยิ่งเพลงและฉากนั้นๆเข้ากันมากเท่าใด เราจะยิ่งจดจำฉากนั้นๆได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
Ost หรือ Original Sound Track
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เลยในอนิเมะแต่ละเรื่องนอกจากเพลง OP ED หรือ Insert Song แล้ว
Ost หรือ Original Sound Track ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลย เพราะ Ost แสดงถึงเอกลักษณ์ของเรื่องนั้นๆ และยังจะช่วยทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงบรรยากาศหรืออารมณ์ของฉากนั้นๆได้ ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฉากต่อสู้ ฉากเศร้าชวนร้องไห้ ฉากปล่อยมุก ถ้าได้ Ost มาช่วยก็จะทำให้เข้าถึงได้มากขึ้นหรือบางครั้ง ตัวละครบางตัวก็จะมี Ost ประจำตัว ที่พอได้ยินเราก็จะนึกถึงตัวละครนั้นทันที นับว่าเป็นอีกส่วนที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว ลองนึกภาพตาม ถ้าอนิเมะเรื่องนึงไม่มี Ost ประกอบเลยจะเป็นอย่างไร มันคงจืดชืดมากเลยละ สำหรับ Ost ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงบรรเลง แต่ก็มีบางครั้งที่เป็นเพลงแบบมีคนร้อง ขึ้นอยู่กับลักษณะที่ผู้ประพันธ์และอนิเมะเรื่องนั้นๆต้องการนำเสนอ อย่างเช่นเรื่อง Guilty Crown หรือ Koutetsujou No Kabaneri เป็นต้น
Character song
ถัดจากเพลงที่อยู่ในเรื่อง ก็มาที่เพลงที่ไม่ได้อยู่ในเรื่องแต่มีความเกี่ยวข้องกับอนิเมะกันบ้าง Character Song ทำความเข้าใจง่ายๆคือเพลงตัวละครในเรื่องนั้นร้อง คือเพลงที่บ่งบอกถึงความรู้สึก คาแรคเตอร์ของตัวละครนั้นๆ หรืออะไรหลายๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร โดยเพลงนั้นจะไม่เรียกชื่อคนร้องเป็นชื่อนักพากย์แต่จะเรียกเป็นชื่อตัวละครตัวนั้นขึ้นก่อนแล้วค่อยบอกว่าใครเป็นคนพากย์อีกที ยกตัวอย่างแบบเห็นภาพก็ให้ไปลองฟังเพลง Character Song ของพระเอกเรื่อง Kyokai no Kanata ที่เนื้อเพลงพี่ท่านจะวนอยู่แต่เรื่องแว่นตาอย่างเดียว เพราะลักษณะตัวละครนั้นเป็นคนบ้าสาวแว่นนั่นเองหรืออย่างเพลง Character Song ของ เรื่อง Shirokuma Cafe ซิงเกิ้ลของ ตัวสล็อต ที่พากย์เสียงโดย Taniyama Kishow ในเพลงชื่อ Shirokuma cafe song เวอร์ชั่น สล็อต คุณคิโชวก็ร้องได้เป็นตัวสล็อตจริงๆ แบบว่า ดนตรีจบแล้ว เนื้อเพลงเพิ่งร้องไปได้ครึ่งเดียวเอง
และนี่ก็คือประเภทเพลงหลักๆที่ผมเอามานำเสนอกัน ซึ่งลักษณะของเพลงเหล่านี้บอกเลยว่าไม่ได้มีลักษณะที่ตายตัวมากนัก บางครั้ง OP อาจจะเป็นเพลง ED ในบางตอนหรือ Character Song บางเพลงอาจจะนับเป็น Ost ก็ได้ ซึ่งอยู่ที่วิธีการใช้งานของแต่ละเรื่องมากกว่า เพราะปัจจุบันลักษณะของเพลงจะค่อนข้างแตกต่างและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งนี้อยู่ที่การใช้งานและวัตถุประสงค์ของแต่ละเรื่องว่าจะให้เรียกแบบไหนมากกว่ากันครับ ถ้าใครที่ชื่นชอบหรืออยากพูดคุยกฌสามารถเข้ามาได้ที่ Facepage WhatTheFlat หรืออยากให้ผมเขียนเรื่องอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนิเมะก็บอกมาได้ครับ
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก: https://myanimelist.net/