ในขณะที่แอนิเมชันกำลังขยายออกไปในหลายๆประเทศทั่วโลก จากหลายๆแห่ง แต่แฟนๆในต่างประเทศหลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือเคยสัมผัสกับแอนิเมชันญี่ปุ่น จนกระทั่งพวกเขาได้พบในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาได้รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งด้วยความสดใหม่ของมัน แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เรียกว่า “แอนิเมชัน” นั้นมีอายุยืนยาวอยู่ในประวัติศาสตร์มานานมาก อาจจะนานกว่า “วันวานอันหวานอยู่” ของใครหลายๆคนในยุค 1980s เสียอีกด้วยนะครับ
คลิปวิดีโอที่จะให้สัมผัสกับประสบการณ์ประวัติศาสตร์ 100 ปี ศิลปะแอนิเมชันญี่ปุ่น!!!
แอนิเมชันญี่ปุ่นที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดของโลกนั้นคือเรื่อง Nakamura Gatana ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี 1917 ที่ยังคงมีต้นฉบับเหลืออยู่ และนั่นเองคือจุดที่เราใช้นับว่ามันมาถึง 100 ปีแล้วในปี 2017 นี้ และสมาคมแอนิเมชันญี่ปุ่น (Association of Japanese Animations) ได้เฉลิมฉลองด้วยคลิปวิดีโอความยาว 15 นาที เพื่อบอกเล่าทุกก้าวเดินของแอนิเมชันญี่ปุ่น นับจากวันที่ Nakamura Gatana ได้เกิดขึ้นมานะครับ
ภายในคลิปประกอบด้วยแอนิเมชันกว่า 122 เรื่อง (รวมถึงงาน stop motion และงานภาพเคลื่อนไหวหุ่นดิน) เรียงตามเวลาที่ถูกเผยแพร่ออกมา แม้การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของแอนิเมชัน จะทำให้เราไปถึงยุค 1960s กันตั้งแต่นาทีแรกๆแต่อย่างน้อยก็ยังมีช่องว่างให้กับแอนิเมชันเรื่องหนึ่งในปี 1958 ซึ่งเป็นแอนิเมชันญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ถูกทำออกมาเป็นภาพสี นั่นคือเรื่อง “Hakujaden” หรือ “ตำนานนางพญางูขาว” นั่นเองนะครับ
ตลอดคลิปวีดีโอจะไม่มีเสียงบรรยายแต่อย่างใด แต่ผู้ชมจะถูกเพลง Tsubasa wo Motsumono ~Not an angel Just a dreamer~ ที่ร่วมกันขับร้องโดยศิลปินอนิซองกว่า 30 ชีวิต พาเราไปสัมผัสกับประวัติศาสตร์ของแอนิเมชันได้อย่างเต็มอรรถรส โดยไม่มีการชี้นำด้วยคำพูดปรุงแต่งแต่อย่างใดเลย
เมื่อเข้าถึงยุค 1960s ผู้ชมจะได้พบกับยุคแห่งวิทยาศาสตร์และหุ่นยนต์ เช่น Tetsujin 28-gou (1962), Tetsuwan Atomu (1963), Cyborg 009 (1966) และ Mach GoGoGo (1967)
ต่อมาเป็นช่วงเวลาที่กีฬากำลังเป็นที่ได้รับความนิยม เพราะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงหลังจากพ้นสงครามได้ฟื้นตัวแล้ว พร้อมกับการมาถึงของวงการสื่อมวลชน เช่น Kyojin no Hoshi (1968), Attack No.1 (1969)} Ashita no Joe (1970) และ Touch (1985)
เข้าสู่ยุคของสาวน้อยเวทมนตร์ เริ่มตั้งแต่ฉายเดี่ยวไปจนถึงมาเป็นรูปแบบทีม อีกทั้งยังมาพร้อมเนื้อหาที่มืดมนผิดกับภาพลักษณ์ที่สดใส เช่น Mahou no Princess Minky Momo (1982), Mahou no Tenshi Creamy Mami (1983), Bishoujo Senshi Sailor Moon (1992), Precure (2004) และ Mahou Shoujo Madoka Magica (2011)
การ์ตูนแนวโชเน็งหรือแนวต่อสู้ที่กลายมาเป็นพิมพ์เขียวของวงการอุตสาหกรรมแอนิเมชัน ที่ยังคงขายดีได้อยู่เสมอ เช่น Dragon Ball (1968), City Hunter (1987), YuYu Hakusho (1990), One Piece (1999), Naruto (2002) และ Bleach (2004)
เคยมีคำกล่าวหนึ่งที่ว่าผลงานจะไปต่อได้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของฐานแฟนคลับ การ์ตูนเหล่านี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าแฟนคลับหญิงจนมาถึงจุดนี้ได้เช่นกัน เช่น Bara no Versailles (1979), Tiger and Bunny (2011), Yowamushi Pedal (2013) และ Osomatsu-san (2015)
มาถึงผลงานแอนิเมชันที่สามารถสะเทือนความรู้สึกของผู้ชมได้จนได้รับความนิยมในระดับสากลนอกประเทศญี่ปุ่น เช่น Akira (1988), Toki wo Kakeru Shoujo (2006), Kimi no Na wa (2016) และ Kono Sekai no Katasumi ni (2016)
แอนิเมชันที่ดูยังไงก็เห็นว่าสร้างมาเพื่อขายของเล่นชัดๆแต่กลับคว้าเอาหัวใจของผู้ชมไปได้จนกลายเป็นที่รู้จัก อย่างเช่น Digimon (1999), Yu-Gi-Oh! (2000) และ Pokemon (1997)
ผลงานที่ถ่ายทอดการเลียนแบบซึ่งกันและกัน ระหว่างชีวิตและศิลปะ อย่างเช่นไอดอลนักร้องจนกลายมาเป็นแอนิเมชันไอดอล อย่างเช่น THE iDOLM@STER (2008) และ Love Live! (2013)
แม้จะเป็นคลิปที่รวมเอาผลงานแอนิเมชันเด่นๆเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ครบทุกเรื่อง เช่นผลงานทั้งหลายของปู่ Miyazaki Hayao จากสตูดิโอ Ghibli หรือแม้แต่ Shinseiki Evangelion, Macross หรือแม้แต่ผลงานของ อ.Takahashi Rumiko เช่น Urusei Yatsura, Maison Ikkoku, Ranma 1/2 และ Inuyasha ก็ไม่ได้ปรากฎในคลิปวิดีโอนี้แต่อย่างใดครับ
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาถกเถียงกันเลยครับ เพราะทางสมาคมแอนิเมชันญี่ปุ่นเองก็ได้มีการหารือกันมาก่อนที่จะทำคลิปวิดีโอนี้ขึ้นมาแล้ว โดยมี 2 ประเด็นสำคัญคือ ต้องเป็นผลงานที่โดดเด่นในยุค และ ไม่ติดปัญหาลิขสิทธิ์ ดังนั้น แม้ผลงานในใจของเพื่อนๆ บางเรื่องอาจจะหายไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันแย่หรือไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ถ้าจะให้หยิบเอาผลงานแอนิเมชันที่ถูกผลิตขึ้นในรอบ 100 ปีนี้มาใส่ให้หมด ผมคิดว่าคงดูกันไม่ไหวอย่างแน่นอนครับ
ถ้าเพื่อนๆคนไหนสนใจความเป็นมาของแอนิเมชันญี่ปุ่นสามารถมาร่วมพูดคุยหรือแบ่งปันความคิดเห็นกันได้ที่ Fanpage WhatTheFact นะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://en.rocketnews24.com/และ https://myanimelist.net/