เรื่องย่อ

ณ ตัวเมืองโตเกียว ที่กำลังนับถอยหลังสู่งานโอลิมปิก ปี 2020 ได้เกิดกิจกรรมคว่ำบาตรเฉพาะกิจที่เรียกันว่า “ยุทธศาสตร์เพื่อความสงบ” ขึ้น และเริ่มมีกระแสว่า ควรจะมีการกำจัดสิ่งที่มีมลทิน สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจออกไป ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ นักเขียนการ์ตูน ฮิบิโนะ มิกิโอะได้เสนอผลงานสยองขวัญ “Dark Walker” ทว่าการได้ลงซีรีส์ภายใต้สภาพสังคมที่ปิดกั้นการแสดงออกเช่นนี้ ผลงานของเขาจะออกมาทิศทางเช่นไรกัน? ผลงานช็อกแวดวงอันเปี่ยมล้นด้วย “อิสระการแสดงออก” จนสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นทั่ววงการ!

ผลงานนิยายภาพ (Co-Novel) ที่เพิ่งวางแผงในบ้านเราของอาจารย์ สึสึอิ เท็ตสึยะ นักเขียนมังงะแนววิพากษ์สังคม ที่เคยมีผลงานดังสำหรับคอมังงะรุ่นใหญ่บ้านเราจากเรื่อง Prophecy (ฆาตพยากรณ์) และสำหรับในญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็ดังจนได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวที ในขณะที่เมืองนอกฝั่งยุโรปชื่อของอาจารย์แกก็เป็นที่รู้จักเช่นกันโดยเฉพาะฝรั่งเศส กลับมารอบนี้ สยามอินเตอร์คอมมิกส์ จึงนำผลงานเรื่องอื่น ๆ ของอาจารย์สึสึอิ มาทำเป็นนิยายภาพขนาดบิ๊กบุ๊กด้วยกระดาษกรีนรี้ดอย่างดี โดยวางแผงในช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินี้ถึง 3 เรื่องด้วยกัน ตั้งแต่งานเก่าจนถึงใหม่ ทั้ง Manhole (2006), Poison City (2014) และผลงานล่าสุด Noise (2018)

ซึ่งในครั้งนี้ขอยกเรื่อง Poison City มาพูดถึงก่อน ด้วยความที่ตัวประเด็นนั้นร่วมยุคร่วมสมัย ทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้ในทุกสังคม โดยตัวมังงะเป็นแนวมังงะซ้อนมังงะอีกที ว่าด้วยนักเขียนนาม มิกิโอะ ผู้ทุ่มเทสร้างผลงานใหม่หวังว่าจะได้รับการลงนิตยสารยาว จนในที่สุดเขาก็ได้สร้างสรรค์งานที่เป็นที่พอใจของตนเองและกองบรรณาธิการ ด้วยเรื่องเกี่ยวกับชายผู้หนึ่งที่ไม่ได้ออกมาดูโลกภายนอกเป็นเวลานานจนเมื่อได้ออกมาก็พบว่าโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว มีโรคประหลาดที่ทำให้ผู้คนที่ติดเชื้อจะกลายเป็นมนุษย์กินคนในยามค่ำคืน และเมื่อถึงเช้าก็จะกลายเป็นคนปกติที่ไม่มีความทรงจำเรื่องเมื่อคืนอีกครั้ง แต่ระหว่างที่มิกิโอะหมกตัวอยุ่ในห้องพยายามสร้างงานที่เป็นตัวตนของเขาอยู่นั้น โลกภายนอกก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเขาต้องตั้งสติรับมือไม่ต่างกับตัวละครของเขาเช่นกัน เมื่อเข้าเดินไปที่สวนสาธารณะและพบว่ามีกลุ่มม็อบวัฒนธรรมที่รวมตัวกันทำลายรูปปั้นเด็กฉี่ (แมนิเกนพีส) โดยประกาศว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน

Play video

มิกิโอะ ได้รับการเตือนจาก บก. ให้แก้ไขงานก่อนลงตีพิมพ์ เพราะว่าขณะนี้สังคมญี่ปุ่นได้มีมาตรการควบคุมสิ่งพิมพ์ทั้งหลายอย่างเข้มงวด เพื่อหวังสะสางผลงานวัฒนธรรมที่เป็นหน้าเป็นตาประเทศ โดยเฉพาะมังงะ ให้กลับมาสะอาดบริสุทธิ์ อวดสายตาชาวโลกที่จะมารวมกันในงานโอลิมปิกปี 2020 นี้ โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจ 13 ท่าน โดยรวมมาจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศและระดับโลกหลายท่านด้วยกัน ซึ่งเมื่อมองตามนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐของประเทศใด ๆ ที่อยากออกมาคิดแทนประชาชนของตนเองว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ด้วยบรรทัดฐานความเชื่อแบบยุคสมัยที่พวกผู้นำเติบโตมา มิกิโอะแม้จะแก้งานอย่างดีแล้วก็ยังไม่วายถูกร้องเรียนและทำให้นิตยสารทั้งหมดต้องถูกเรียกคืน

ระหว่างทางการสร้างสรรค์งานศิลปะของมิกิโอะนั้น เขาจะได้เข้าไปรับรู้แง่มุมต่าง ๆ ระหว่างผลงานศิลปะกับความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งเรื่องราวการถกเถียงกันของคณะกรรมการ 13 ท่านที่มีทั้งฝ่ายหนุนฝ่ายค้านซึ่งแสดงเหตุผลกันได้แบบคิดได้ว่ามันไม่มีตัวร้ายในเรื่องนี้ มีแต่คนที่เชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องทั้งสองฝ่าย หากแต่เพียงทัศนคติของโลกยุคเก่ากับเด็กยุคใหม่มันยืนบนหลักคิดคนละตัวกัน และครั้งหนึ่งที่มิกิโอะต้องไปเยี่ยมอดีตนักเขียนที่เคยถูกกำหนดให้ผลงานเป็นสิ่งพิมพ์ต้องห้าม เขาก็ได้รับรู้อีกแง่มุมที่เขาไม่เคยคิดถึงมาก่อนในฐานะศิลปินที่อยากสร้างความสนุกให้ผู้อ่านเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงภาระความรับผิดชอบต่อสังคมเลย

 

มังงะเรื่อง Poison City จึงเป็นการโยนความเห็นคัดค้านกันไปมาระหว่างความเชื่อความถูกต้อง 2 แบบ ที่ท้าทายและหาจุดลงตัวกัน ซึ่งนอกจากจะฉุดให้เราคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ในตัวมังงะและในสังคมจริงของเรา มันยังคือการชวนคิดหาคำตอบว่า คนรุ่นเก่า กับ คนรุ่นใหม่ สุดท้ายจะยืนอยู่ในสังคมเดียวกันด้วยทัศนคติที่เติบโตมาในโลกยุคต่างกันอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญด้วยครับ

ข้อเสียของหนังสือที่เจอ มีบ้างตรงที่มีการแปลผิดพิมพ์ผิดราว ๆ 2-3 จุด ส่วนคุณภาพกระดาษและความคมชัดถือว่าดีครับสำหรับราคา 170 บาท

สามารถทดลองอ่านได้ที่นี่ครับ https://siamintercomics.com/poison-city-1-try-reading/