เมื่อพูดถึงการ์ตูนระดับตำนานอย่าง ‘Dragon Ball’ เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างดี ที่แม้แต่คนที่ไม่ดูการ์ตูนต่างรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงคนมีอายุ ซึ่งหลายคนก็ทราบกันดีว่าเรื่องราวในการ์ตูนเรื่องนี้ได้จบลงไปแล้วเมื่อปี 1995 แต่ในปัจจุบันตัวการ์ตูนได้มีภาคต่อออกมาในชื่อ ‘Dragon Ball Super’ ที่ยังคงความสนุกและเนื้อเรื่องที่ยังตื่นเต้นอยู่ไม่เปลี่ยน และเมื่อเราหันกลับมาที่วงการเกมเมื่อเราพูดถึงซีรีส์เกมอย่าง ‘Dragon Quest’ หลายคนที่ได้เห็นตัวละครในเกมซีรีส์นี้ ต่างก็รู้ทันทีว่าตัวละครจากเกมนี้ถูกวาดโดยอาจารย์อากิระ โทริยามะ (Akira Toriyama) จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมหน้าตาของตัวละครของทั้งสองเรื่องนี้จึงค่อนข้างคล้ายกัน และนอกจากหน้าตาตัวละครที่บังเอิญไปคล้ายกันแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลายอย่างที่การ์ตูน ‘Dragon Ball’ ไปยืม ‘Dragon Quest’ มา แบบใครที่เป็นแฟนของทั้งสองซีรีส์นี้จะเห็นความเหมือนนั้นได้ทันที เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างที่ ‘Dragon Ball’ ไปยืม ‘Dragon Quest’ มาใช้ อ่านกันสนุก ๆ ไม่ต้องไปจริงจังมาก ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาดูกันเลย
วิชาเคลื่อนย้ายในพริบตา กับคาถา ลูร่า
เริ่มต้นวิชาแรกที่เป็นเอกลักษณ์เด่นของ ซุน โกคู (Son Goku) ที่เรียกว่าวิชาเคลื่อนย้ายในพริบตา ที่วิชานี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถเดินทางหายตัวจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่งได้ ด้วยการจับคลื่นพลังของคน ๆ นั้นแล้วหายตัวไปหา ที่แม้จะไกลขนาดไหนขอแค่จับพลังได้ก็สามารถไปหาได้หมด ซึ่งวิชานี้โกคูได้ร่ำเรียนมาจากมนุษย์ต่างดาวชาวยาโดแรต ที่ยานของโกคูนั่งมาตกที่นี่หลังการต่อสู้กับ ฟรีเซอร์ (Freeza) จึงทำให้เขาได้ร่ำเรียนวิชานี้พร้อมกับวิชารวมร่าง ซึ่งในภายหลังในภาค ‘Dragon Ball Super’ เบจิต้า (Vegeta) ก็ได้มาเรียนที่ดาวนี้และได้วิชานี้ไปเช่นกัน (แต่เจ้าตัวบอกว่าจะไม่ใช้อีกเพราะไม่อยากไปใช้ซ้ำกับโกคู) และในภาค ‘Dragon Ball Super’ ได้เพิ่มเงื่อนไขในการเคลื่อนย้ายอีกอย่างว่า นอกจากการจับพลังแล้วต้องเป็นสถานที่ที่เราเคยไปจึงจะไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับคาถาในเกม ‘Dragon Quest’ ที่ชื่อคาถาลูร่า (ルーラ) หรือ Return กับ Zoom ในภาษาอังกฤษ ที่การใช้งานเหมือนกันทุกอย่าง นั่นคือการย้ายตัวเอง (พวก) ไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่เงื่อนไขคือต้องเป็นสถานที่ที่เราเคยไปมาแล้วเช่นเมืองหรือจุดสำคัญ ๆ ในเกม ที่เวทมนตร์นี้จะมีอาชีพพ่อมดกับผู้กล้าที่สามารถใช้ได้ โดยข้อดีของคาถานี้เราจะสามารถหายตัวมายังโรงแรมได้เลยเป็นการย่นระยะการเดินทางได้เป็นอย่างดี ที่บางภาคคาถานี้ก็เป็นตำนานที่ต้องผ่านพิธีก่อนจะใช้ได้ก็มี นับเป็นการยืมมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมเพราะในการ์ตูนเราจะเห็นโกคูใช้ท่านี้บ่อยมากทั้งตอนต่อสู้ตอนไปหาใครจนเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปเลย
ชุดที่เหมือนกัน
คราวนี้มาดูการออกแบบชุดของตัวละครกันบ้าง ที่ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์ ‘Dragon Quest Your Story’ หรือเคยเล่นเกม ‘Dragon Quest V’ คงจะรู้สึกได้ทันทีว่าชุดของพระเอกของเราในภาคนี้ (ตัวเอกในเกม ‘Dragon Quest’ จะไม่มีชื่อเราต้องตั้งเอง) มันช่างคล้ายกับชุดของจอมปีศาจ พิคโกโร่ (Piccolo) ในการ์ตูน ‘Dragon Ball’ มาก ๆ ซึ่งที่มาของชุดพิคโกโร่นั้นต้องย้อนไปในอดีตสมัยที่พ่อของเขาลี้ภัยจากดาวนาเม็กมายังโลกมนุษย์ ก่อนจะตัดสินใจแยกร่างด้านดีกับด้านชั่วออกมาเป็นพระเจ้าและราชาปีศาจ ซึ่งร่างมารก็สร้างความวุ่นวายไปทั่วโลกจนผู้คนจดจำและหวาดกลัวจอมปีศาจตนนี้ ซึ่งสุดท้ายก็ถูกโกคูในตอนเด็กฆ่าตาย แต่วินาทีที่จอมมารจะตายมันได้ให้กำเนิดลูกชายขึ้นมา และเขาได้กลับมาแก้แค้นแทนพ่อ แต่การเปิดเผยตัวตนว่าตัวเองคือราคาปีศาจพิโกโร่ก็ดูจะเร็วไป พิคโกโร่จึงต้องสวมเสื้อผ้าปกปิดตัวตนเพื่อกันคนอื่นรู้ จนมันกลายเป็นชุดประจำตัวไปในที่สุด ส่วนชุดของพระเอกในเกม ‘Dragon Quest V’ นั่นคือชุดของนักเดินทาง ที่สื่อถึงนักบวชผู้ใช้เวทมนตร์ในการรักษาและเวทพายุที่เป็นเอกลักษณ์ของอาชีพนี้ และนอกจากชุดนี้แล้วก็มีชุดของ หยำฉา (Yamcha) ในช่วงแรกที่เขาปรากฏตัว ตัวชุดก็เหมือนกับชุดนักกังฟูในเกม ‘Dragon Quest lll’ อีกด้วย เหมือนแค่ไหนดูรูปเปรียบเทียบเอา
คาถาและพลังในการรักษา
มาต่อกันที่พลังในการรักษาบาดแผลกันบ้าง ซึ่งถ้าใครที่เล่นเกม ‘Dragon Quest’ มาจะทราบดีว่าตัวเกมนั้นมีเวทมนตร์ในการรักษาหลัก ๆ อยู่หนึ่งวิชานั่นคือคาถา โฮอิมิ (ホイミ) ที่เป็นคาถาพื้นฐานที่เหล่านักบวชทุกคนต้องมีติดตัวตั้งแต่ต้น โดยคาถานี้จะช่วยรักษาอาการบาดเจ็บได้นิดหน่อย แต่เมื่อเราเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ก็จะเรียนคาถาที่สามารถรักษาได้มากขึ้นจนถึงขนาดที่ว่าพลังชีวิตกลับมาเต็ม 100% ก็มี แต่นั่นต้องแลกด้วยพลังเวทมนตร์หรือ MP จำนวนมากในการใช้ อย่างคาถา เบโฮมาซึน (ベホマズン) ที่จะฟื้นพลังทุกคนในทีมจนเต็มซึ่งผู้ใช้วิชานี้ได้ต้องเป็นระดับนักปราชญ์ที่อยู่จุดสูงสุดของอาชีพนักบวชและพ่อมดจึงจะใช้ได้ ซึ่งวิชารักษาอย่างโฮอิมินี้ก็คือวิชาพื้นฐานที่ผู้กล้าทุกคนต้องมีเช่นกัน ส่วนในเรื่อง ‘Dragon Ball’ ก็มีคนที่ใช้คาถาฟื้นพลังอยู่หลัก ๆ 2 คนนั่นคือ เดนเด้ ‘Dende’ ชาวดาวนาเม็กที่สืบเชื้อสายในการให้กำเนิดลูกหลานต่อไป (ชาวนาเม็กมีแต่เพศชายและออกลูกเป็นไข่) เขาจึงมีพลังในการรักษา กับอีกหนึ่งตัวละครที่เพิ่มมีพลังในการรักษานั่นคือ ทรังคซ์ (Trunks) ลูกชายในอนาคตของเบจิต้าที่เราคุ้นเคย เขาปรากฏตัวอีกครั้งในภาค ‘Dragon Ball Super’ ที่ตัวของเขานั้นคือผู้ช่วยของไคโอชินจึงทำให้ได้รับพลังการรักษาติดตัวมาด้วย ซึ่งการใช้งานก็เหมือนกันนั่นคือการดึงพลังของผู้ใช้ในการรักษาบาดแผล แต่ไม่สามารถพื้นพลังกายให้กับคน ๆ นั้นที่เหมือนกับในเกมที่เพิ่มแค่ค่า HP แต่ไม่เพิ่มค่า MP นั่นเอง
ปีศาจที่ถูกผนึก
มาที่ด้านเนื้อเรื่องที่เหมือนกันบ้าง กับเรื่องราวของราชาปีศาจที่ถูกปิดผนึกเอาไว้ในอดีตได้หลุดออกมาสร้างความวุ่นวาย โดยในเกม ‘Dragon Quest ll’ นั้นได้พูดถึงจอมปีศาจ ‘Malroth Master of Destruction’ เอาไว้ว่าในอดีตนั้นมันเคยสร้างความวุ่นวายจนถูกเหล่าผู้กล้าปิดผนึกเอาไว้ จนวันเวลาผ่านไปหลายร้อยปีมหาปุโรหิตปีศาจ ฮาร์กอน (High Priest Hargon) ได้ทำการเปิดผนึกปีศาจแห่งการทำลายล้างให้ตื่นขึ้นมา ซึ่งตัวของฮาร์กอนนั้นก็ได้รับความดีความชอบด้วยการเป็นเหยื่อสังเวยรายแรกเมื่อราชาปีศาจตื่นขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาตรงนี้ก็คล้ายกับเรื่องราวของการ์ตูน ‘Dragon Ball’ ที่เราได้เล่าค้างเอาไว้ในหัวข้อก่อนเรื่องพระเจ้าที่แยกร่างดีกับชั่วออกมา ซึ่งร่างชั่วนั้นก็ตั้งตนเป็นจอมมารปีศาจและได้สร้างความวุ่นวายไปทั่ว จนอาจารย์ของผู้เฒ่าเต่าต้องใช้วิชา ‘The Evil Containment Wave’ หรือในชื่อไทยที่คุ้นหูคือ “คลื่นกักปีศาจ” ซึ่งเป็นวิชาต้องห้ามที่มนุษย์ห้ามใช้เพราะมันจะดูดพลังชีวิตผู้ใช้ไปจนหมด ซึ่งอาจารย์ของผู้เฒ่าเต่าก็สังเวยชีวิตผนึกจอมมารจนสามารถปิดผนึกมันไปได้ แต่สุดท้ายก็มีคนปลอดปล่อยปีศาจออกมาจนผู้เฒ่าเต่าต้องใช้วิชานี้จนตัวเองเสียชีวิตก่อนจะทำสำเร็จ ซึ่งในภาค ‘Dragon Ball Super’ โกคูก็ได้ไปขอเรียนวิชานี้เพื่อใช้ปราบศัตรูที่เป็นอมตะ ซึ่งแน่นอนว่าระดับโกคูใช้วิชานี้ได้อย่างสบาย และถ้าเราดูช่วงเวลาที่เกม ‘Dragon Quest ll’ วางจำหน่ายก็เป็นช่วงเดียวกับที่การ์ตูนฉายถึงตอนศึกราชาพิโกโร่พอดีจะเรียกว่ามับเอิญหรือจงใจก็ไม่อาจทราบได้
Death Balls ท่าไม้ตายของ Freeza กับคาถา เมราโซม่า
คราวนี้มาดูคาถาสุดรุนแรงกันบ้างกับพลังที่เรียกลูกไฟขนาดใหญ่ขึ้นมาจากปลายนิ้ว ก่อนจะบีบอัดเป็นมวลลูกบอลที่สร้างพลังโจมตีที่รุนแรง ที่ในเกมซีรีส์ ‘Dragon Quest’ จะเรียกคาถานี้ว่า เมร่า (メラ) ที่เป็นคาถาเรียกลูกบอลไฟขนาดเล็กยิงใส่ศัตรู 1 ตัว ซึ่งเป็นวิชาของเหล่าพ่อมดจะมีติดตัวตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเราสามารถเรียนรู้พลังนี้ได้ถึง 4 ขั้นซึ่งขั้นสุดท้ายจะเรียกว่า เมราไกอา (メラガイアー) ที่เป็นการเรียกลูกบอลไฟขนาดใหญ่โจมตีศัตรูที่รุนแรงที่สุดในคาถานี้ ซึ่งมีเพียงนักปราชญ์กับมอนสเตอร์รับดับสูงเท่านั้นที่จะทำได้ ซึ่งมันก็ช่างคล้ายกับท่า ‘Death ball’ ของฟรีเซอร์มาก ๆ ซึ่งท่านี้ฟรีเซอร์ก็ใช้อยู่หลายครั้ง และครั้งซึ่งเป็นที่จดจำของแฟน ๆ คือตอนที่ใช้ท่านี้ระเบิดดาวไซย่า กับอีกครั้งที่ใช้ตอนต่อสู้กับโกคูบนดาวนาเม็ก ที่เรียกว่าเป็นท่าไม้ตายที่ทำลายใกล้เคียงกันเลยทีเดียว
ความเหมือนที่ไม่แตกต่าง
คราวนี้ขอกลับด้านมาที่ฝั่ง ‘Dragon Quest’ ไปยืม ‘Dragon Ball’ มาบ้าง กับตัวละครชาวเผ่าสวรรค์หรือที่ในเกมเรียกว่า ‘Havens Above’ ที่มีชนเผ่าโบราณที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งที่นี่ก็มีความเกี่ยวเนื่องของตัวผู้กล้าในอดีตที่ปกป้องโลกในฐานะผู้เฝ้าดู ซึ่งถ้าเราดูรูปลักษณะของชนเผ่านี้ไม่ว่าจะดูตรงส่วนไหนมันก็ช่างคล้ายกับจอมมารบู (Majin Buu) ร่างอ้วนมาก ๆ จะต่างแค่ดวงตาเท่านั้น และชนเผ่านี้ก็มีหลายช่วงอายุที่ต่างกันด้วย ตั้งแต่เด็กวัยกลางคนไปจนถึงแก่ (รูปประกอบด้านล่าง) ซึ่งจอมมารบูนั้นในอดีตมันคือจอมปีศาจในร่างตัวเล็ก แต่ภายหลังมันได้ดูกลืนผู้ที่มีพลังแข็งแกร่งเอาไว้มากมายจนร่างของมันเปลี่ยนไป ซึ่งร่างอ้วนที่เราเห็นนี้คือการดูดร่างของไดไคโอชินเมื่อราว ๆ 5 ล้านปีก่อนไป เพราะมันสู้กับไดไคโอชินคนนี้ไม่ได้จึงดูดมารวมร่างจนกลายเป็นจอมมารบูที่จิตใจเหมือนเด็กเพราะได้จิตใจของไดไคโอไปนั่นเอง และเขาได้ปรากฏตัวอีกครั้งใน ‘Drasgon Ball Super’ ด้วย
ลูกคือคนพิเศษ
กลับมาที่ด้านเนื้อเรื่องอีกครั้งซึ่งคราวนี้ตัวเกม ‘Dragon Quest’ และการ์ตูน ‘Dragon Ball’ ได้ให้ความสำคัญกับลูกชายที่เกิดออกมาเหมือน ๆ กัน แถมตัวลูกชายยังมีบทบาทที่เป็นกุญแจแห่งชัยชนะโดยที่ตัวพ่อต้องเสียสละตัวเองเพื่อให้ลูกเติมโตมาคล้าย ๆ กันอีกด้วย โดยเราขอยกตัวอย่างของเกม ‘Dragon Quest V’ ก่อน ที่ถ้าใครเคยเล่นเกมภาคนี้จะรู้ว่าตัวเราที่ได้เล่นมาตั้งแต่ต้นนั้นไม่ใช่ผู้กล้า แต่เราจะเป็นผู้มีชะตาในการให้กำเนิดผู้กล้า ซึ่งพลังและสีผมของผู้กล้าจะเปลี่ยนไปตามแม่ (เจ้าสาวที่เราเลือก) แต่หลัก ๆ ก็คือสีเหลือง ซึ่งหลังจากที่ผู้กล้าเกิดมาตัวเราและภรรยาก็จะถูกสาปให้เป็นหินอยู่หลายปี จนลูกชายเติบโตเป็นผู้กล้ามาช่วยเราจากคำสาปก่อนจะร่วมมือกันไปปราบจอมมาร เหมือนกับเรื่องราวใน ‘Dragon Ball Z’ ที่โกคูก็ฝากความหวังไว้ที่ ซุน โกฮัง (Son Gohan) ในการปราบปีศาจ เซล (Cell) ที่สุดท้ายโกคูของเราก็ต้องเสียสละตัวเองเพื่อช่วยโลก แถมทั้งสองตัวละครอย่างผู้กล้ากับโกฮังตอนเด็กและตัวพ่ออย่างโกคูและพระเอกในเกม ‘Dragon Quest’ยังมีหน้าตาคล้ายกันอีกด้วย ซึ่งเมื่อดูช่วงเวลาที่เกมและการ์ตูนฉายนั้นก็เป็นช่วงปีเดียวกันพอดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองตัวละครนี้จะมีหน้าตาคล้ายกันนั่นเอง
ตัวละครใหม่ใน Dragon Ball Super ที่คล้ายกับในเกม Dragon Quest
ด้วยความที่ตัวการ์ตูนเรื่อง ‘Dragon Ball’ มีการสานต่อไปยังภาค ‘Dragon Ball Super’ ที่เป็นเรื่องราวต่อจากตอนจบในปี 1995 กับการต่อสู้ครั้งใหม่ระดับจักรวาลอื่น (ในเรื่องนี้มี 12 จักรวาล) ที่แต่ละจักรวาลก็จะมีเทพแห่งการทำลายล้างเทพผู้สร้างทุกสรรพสิ่งไปจนถึงนักสู้เก่ง ๆ อีกหลายจักรวาลที่มาต่อสู้กัน ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบแถมยังทวีความสนุกมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้มีตัวละครใหม่ออกมาอีกหลายคน หนึ่งในนั้นก็มีตัวละครที่คล้ายกับตัวละครในเกม ‘Dragon Quest’ อย่างตั้งใจอยู่ด้วยอย่าง ‘Galactic King’ ราชาแห่งกาแล็กซีผู้ปกครองของกาแล็กซีทางช้างเผือกของจักรวาลที่ 7 (โลกใน ‘Dragon Ball Super’ อยู่ในจักรวาลที่ 7 จากทั้งหมด 12 จักรวาล) ซึ่งหน้าตาของราชาแห่งกาแล็กซี่ก็คงไม่ต้องไปสืบไกลว่าหน้าตาของเขาช่างเหมือนกับ โฮอิมิสไลม์ (Hoimi Slime) หรือ (Healslime) ในภาษาอังกฤษมาก ๆ กับอีกหนึ่งตัวละครที่มาจากภาค ‘Dragon Ball Super’ เหมือนกันนั่นคือชาวดาวชาวยาโดแรตที่ก็เหมือนกับสไลม์ (Slime) ที่มีแขนขามาก ๆ ดูรูปประกอบจะเข้าใจ ซึ่งถ้าให้เดาตัวราชาแห่งกาแล็กซีน่าจะได้รับการออกแบบมาจากมนุษย์ต่างดาวทั่วไปตามสื่อ แต่บังเอิญไปคล้ายกับโฮอิมิสไลม์ ส่วนชาวยาโดแรตนี่น่าจะจงใจให้เหมือนมากกว่า (เป็นการคาดเดาจากผู้เขียน)
ท่าไม้ตายสุดยอด Genki Ball กับ Thordain
มาที่ท่าไม้ตายสุดยอดในเกม ‘Dragon Quest’ กับในการ์ตูน ‘Dragon Ball’ กันบ้างที่ทั้งสองท่าที่ตัวเอกอย่างโกคูและผู้กล้าใช้นั้นแม้จะมีรูปแบบของพลังที่ต่างกัน แต่ที่มาและการใช้นั้นเหมือนกันเป็นอย่างมาก เริ่มจากฝั่ง ‘Dragon Ball’ กันก่อนที่เราคงรู้จักชื่อนี้กันดีในชื่อท่าบอลเกนกิ (Genki Ball) ที่เป็นการขอยืมพลังจากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก (นอกโลก) ในระยะที่พลังไปถึง มารวมกันเป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่อัดแน่นไปด้วยพลังทำลายล้าง ที่แม้แต่ความชั่วร้ายที่สามารถคืนชีพร่างได้ก็ต้องตายแบบไม่ฟื้นเมื่อเจอพลังนี้ โดยวิชานี้โกคูมักจะใช้ยามที่หมดหนทางจริง ๆ อย่างตอนที่สู้กับเบจิต้าครั้งแรกหรือตอนสู้กับฟรีเซอร์ แต่ตอนที่หลายคนจดจำมากที่สุดก็คือตอนที่สู้กับจอมมารบูครั้งสุดท้าย ที่เป็นการรวมพลังจากคนทั้งโลกให้มาช่วยจัดการปีศาจตนนี้ ซึ่งมันก็เหมือนกับรูปแบบพลังเวทมนตร์ที่มีเฉพาะผู้กล้าเท่านั้นที่สามารถทำได้ กับเวทมนตร์ไรดีน (ライデイン) คาถาสายฟ้าอันรุนแรงที่มีแต่ผู้กล้าซึ่งถูกพระเจ้าเลือกเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมพลังจากสวรรค์นี้ได้ ซึ่งในท่าสุดท้ายของพลังนี้จะเป็นการขอยืมพลังเพื่อน ๆ ในกลุ่มมาโจมตีในทีเดียวที่เรียกว่าคาถามินาดีน (ミナデイン) ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในเกม ‘Dragon Quest lV’ ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Thordain” ที่เป็นการรวมใจกันของทุกคนเพื่อเรียกสายฟ้าอันรุนแรงฟาดใส่ศัตรู ซึ่งการใช้ก็มีความเสี่ยงและผลที่ได้เหมือนกันอีกด้วย ใครที่เคยเล่นในซีรีส์ ‘Dragon Quest’ คงจะทราบดีถึงความเสี่ยงในการใช้คาถานี้
ตัวละครในเกม Dragon Quest และ Dragon Ball ที่หน้าตาเหมือนกัน
ปิดท้ายกับการเก็บตกตัวละครหน้าเหมือนกัน ซึ่งถ้าใครที่เป็นแฟนการ์ตูน ‘Dragon Ball’ แล้วมาเห็นตัวละครในเกม ‘Dragon Quest’ ต่างก็ต้องแซวกันขำ ๆ ว่าตัวละครตัวนี้หน้าเหมือนคนนี้เลย โดยเริ่มมาจากผู้กล้าใน ‘Dragon Quest Xl’ ที่เหมือนกับแอนดรอยด์ 17 (Android 17) หรือชื่อไทยที่เราคุ้นเคยคือ “มนุษย์ดัดแปลงหมายเลข 17” ที่เหมือนแค่ไหนก็ไปดูรูปกันเอาเอง อีกคนที่มาจากภาค ‘Dragon Ball Super’ กับพลังใหม่ของโกคูในชื่อ ‘Super Saiyan Blue’ ที่เมื่อมาเทียบกับผู้กล้าในเกม ‘Dragon Quest Vl’ แล้วก็ช่างเหมือนกันจริง ๆ ทั้งผมตั้ง ๆ สีฟ้าหน้าตาที่ก็เหมือนกับโกคู(รูปประกอบด้านล่าง) ที่แค่เปลี่ยนหัวกันก็สามารถเป็นตัวละครเดียวกันได้เลย หรือจะเป็นโกคูในตอนเด็กที่มีหน้าตาคล้ายกับผู้กล้าในเกม ‘Dragon Quest lll’ ที่ในยุคนั้นหลายคนก็คงจะถูกตกด้วยหน้าปกนี้ เพราะคิดว่านี่คือเกม ‘Dragon Ball’ ภาคใหม่ที่เมื่อซื้อมากลับเป็นเกมภาษาไปเสียอย่างนั้น และนี่ก็เป็นแค่บางส่วนเท่านั้นยังมีอีกหลายตัวละครที่หน้าเหมือนกัน อย่างตัวละครเทพเจ้ามังกรทั้งสองฝ่ายที่หน้าตาก็เหมือนกัน จะต่างกันตรงที่ขนาดความยาวของตัวเท่านั้น ซึ่งเอาไว้มีโอกาสเราจะหยิบยกเรื่องเหล่านี้มานำเสนอยังไงก็ติดตามกันได้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 10 เรื่องราวความเหมือนของทั้งสองซีรีส์ที่มีอะไรหลายอย่างคล้ายกัน ซึ่งหลายอย่างที่มีในเกมและการ์ตูนทั้งสองเรื่องนั้นก็คือความจงใจของทีมพัฒนาในยุคนั้น ที่จงใจใช้ชื่อเสียงของการ์ตูน ‘Dragon Ball’ มาเป็นจุดขายให้เด็ก ๆ ที่ชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาซื้อเกม ‘Dragon Quest’ ไปเล่น จนวันเวลาผ่านไปตัวเกม ‘Dragon Quest’ ก็พิสูจน์ให้แฟน ๆ เห็นว่าตัวเกมนั้นก็สนุกโดยที่ไม่ต้องใช้ตัวละครจาก ‘Dragon Ball’ มาเป็นจุดขายเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ตอนนี้ลายเส้นของอาจารย์โทริยามะก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ไปเสียแล้วสำหรับเกมซีรีส์นี้ จนเราแทบคิดไม่ออกเลยว่าถ้าเกม ‘Dragon Quest’ ไม่ใช่ลายเส้นอาจารย์โทริยามะจะเป็นอย่างไร (ในการ์ตูน ‘Dragon Ball Super’ อาจารย์เป็นคนแต่งเรื่องแต่ให้คนอื่นเขียน) และถ้าใครมีเรื่องราวที่ทั้งสองเกมนี้เหมือนกันตรงไหนอีกก็บอกกันมาได้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับอะไรวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส