Release Date
04/05/2022
แนว
ซูเปอร์ฮีโร / แอ็กชัน / ผจญภัย / สยองขวัญ
ความยาว
2.06 ชม. (126 นาที)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
แซม ไรมี (Sam Raimi)
Our score
7.6Doctor Strange in the Multiverse of Madness | จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย
จุดเด่น
- เนื้อเรื่องผสมความสยองขวัญและความคัลต์ในแบบของแซม ไรมีได้แปลกใหม่และน่าสนใจ
- งานซีจียังคงตระการตาเหมือนภาคแรก แต่แตกต่างด้วยความสดใหม่
- นักแสดงเล่นกันได้ดีทุกคน แต่ยกให้ 'อลิซาเบธ โอลเซน' เป็น MVP
- 'โซชิตล์ โกเมซ' ในบท 'อเมริกา ชาเวส' ขึ้นกล้องมาก สวยยยยย มีอนาคตใน MCU แน่นอน
จุดสังเกต
- เดินเรื่องเป็นเส้นตรง เนื้อเรื่องไ่มได้ซับซ้อนมาก
- การกระทำ แรงจูงใจตัวละครบางตัวยังดูไม่เมกเซนส์
- แอบเสียดายเซอร์ไพรส์ รู้สึกว่าเสียของไปหน่อย
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
7.7
-
คุณภาพงานสร้าง
7.8
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
6.7
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
7.9
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.8
หลังจากที่ Marvel Studios ได้พาเราไปท่องเที่ยวตามแนวคิดพหุจักรวาล (Multiverse) หรือที่เรียกว่ามัลติเวิร์ส ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์หลักของ MCU (Marvel Cinematic Universe) เฟสที่ 4 ในตอนนี้ สถานการณ์เริ่มทวีความวุ่นวายโกลาหลและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เอง หมอแปลกจึงต้องขอกลับมาร่ายมนต์เพื่อแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้นใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ หรือ ‘จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย’
อย่างที่ทราบว่า หมอแปลกที่กลายมาเป็นจอมเวทใน ‘Doctor Strange’ (2016) และไปโผล่ในฐานะสมาชิกอเวนเจอร์ส (Avengers) ในภาพยนตร์หลายเรื่อง มาถึงตอนนี้ หนังเดี่ยวภาคที่ 2 ของหมอแปลกก็มาถึงเสียที พร้อม ๆ กับการจับธีมมัลติเวิร์สมาเล่ากันแบบเต็ม ๆ โดยไม่ต้องเล่าปูพื้นอะไรให้วุ่นวาย บวกกับธีมหนังสยองขวัญที่มาพร้อมกับเรื่องราวของตัวแปรของหมอแปลก และตัวละครอื่น ๆ ที่มาจากมิติเดียวกัน และจากต่างมิติ
นั่นก็เลยเป็นเหตุให้ทาง Marvel Studios เรียกใช้ทีมงานที่ถือว่า “โดนเส้น” อย่างแรง ทั้ง ‘แซม ไรมี’ (Sam Raimi) ที่เคยกำกับทั้งภาพยนตร์สยองขวัญ ทั้งไตรภาค ‘Evil Dead’, ‘Drag Me to Hell’ (2009) และกำกับหนังฮีโรไตรภาค ‘Spider-Man’ เวอร์ชัน ‘โทบีย์ แมกไกวร์’ (Tobey Maguire) มากำกับหนังเรื่องนี้ แถมได้ ‘ไมเคิล วอลดรอน’ (Michael Waldron) ผู้เขียนบท ‘Loki’ ที่ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับมัลติเวิร์สมาก่อน มาเขียนบทให้อีกด้วย ไม่เรียกว่าโดนเส้นก็ไม่รู้ว่าจะเรียกยังไงแล้วล่ะ
จา่กเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของหมอแปลก หลังกลายเป็นจอมเวทใน ‘Doctor Strange’ (2016) และหลังเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความผิดพลาดต่อมัลติเวิร์สใน ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) ในภาคนี้ หมอแปลกจึงต้องกลับไปแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ นานาที่ส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อมัลติเวิร์ส เมื่อคุณหมอแปลก ‘ดร. สตีเฟน สเตรนจ์ / ดอกเตอร์สเตรนจ์’ (Benedict Cumberbatch) ต้องทรมานจากชีวิตรัก เมื่อ ‘คริสติน พาลเมอร์’ (Rachel McAdams) กำลังจะแต่งงานใหม่กับใครบางคนที่ไม่ใช่เขา
แถมยังต้องทรมานซ้ำสองจากฝันร้าย ในฝันเขาได้เข้าช่วยเหลือ ‘อเมริกา ชาเวซ’ (Xochitl Gomez) สาวน้อยผู้มีพลังในการทะลุผ่านมัลติเวิร์ส ที่กำลังถูกปีศาจจากต่างมิติไล่ดูดพลัง หมอแปลกพบว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดเป็นแผนของ ‘วันด้า แมกซิมอฟฟ์ / สการ์เลต วิตช์’ (Elizabeth Olsen) ที่ต้องการดูดพลังของอเมริกา ชาเวซ เพื่อใช้เดินทางไปพบกับลูกแฝดของเธอ (ที่เธอเชื่อว่ามีอยู่) ในอีกมิติ
ทำให้ดอกเตอร์สเตรนจ์และอเมริกา ชาเวซ ทะลุไปยังลอนดอนที่อยู่ในมิติอื่น จนได้เจอกับตัวแปรของ ‘คาร์ล มอร์โด’ (Chiwetel Ejiofor) อดีตเพื่อนร่วมสำนักคาร์มาทาจ (Kamar-Taj) ที่ไม่น่าไว้วางใจ และตัวแปรของ ‘คริสติน พาลเมอร์’ ที่ทำให้หมอแปลกหวั่นไหว ส่วน ‘หว่อง’ (Benedict Wong) จอมเวทสูงสุด ก็ต้องรับหน้าที่ปราบแม่มดสการ์เลต วิตช์ ที่ตอนนี้สามารถร่ายมนต์เพื่อสร้างความปั่นป่วนได้ในระดับมัลติเวิร์ส เพราะเธอได้ครอบครองคัมภีร์ดาร์กโฮลด์ (Darkhold) คัมภีร์เวทมนตร์ด้านมืดที่มีความอันตรายอย่างมาก
ถ้า ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) และแอนิเมชันซีรีส์ ‘What If…?’ (2021) เปรียบเหมือนการซ้อมรับมือกับมัลติเวิร์ส ใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ ก็คือการลงสนามจริงแบบเต็มตัวล่ะครับ แถมยังเป็นการมาแบบเล่นใหญ่กันตั้งแต่เปิดเรื่องกันเลย เดินเรื่องแบบสายลุยไม่ต้องคุยให้เสียเวลา รวมทั้งสไตล์การกำกับจากไรมีที่ทำให้การดำเนินเรื่องในภาคนี้มีรสชาติที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปจากภาคแรกอยู่มากพอสมควร
ความแตกต่างที่ชัดเจนมาก ๆ ก็คือ การที่ Marvel Studios เองเริ่มจะเอานโยบายเดินเรื่องยาว ไม่เล่าปูมหลังย้อนความให้เสียเวลา ผลก็คือ ตัวหนังสามารถกระชับเรื่องราวและเล่าแบบเร็ว ๆ ได้เลย ด้วยเหตุนี้ ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้เดินเรื่องเร็วมาก แต่ข้อเสียก็คือ หนังเรื่องนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ยังไม่ได้ทำการบ้านด้วยการดูเรื่องอื่น ๆ หรืออ่านคอมิกมาก่อน หรือแค่อยากลองชิมลางหนัง Marvel เฉย ๆ เพราะอาจมีเหวอจนตามไม่ทันว่า ตัวละครแต่ละตัวมีปูมหลัง เชื่อมโยงกันยังไง อะไรที่เราควรจะรู้สึกเซอร์ไพรส์ ถ้าอยากดูจริง ๆ อย่างน้อยก็ต้องทำการบ้านมาในระดับหนึ่ง (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ท้ายบทความครับ)
รวมทั้งการเอาแซม ไรมี ผู้กำกับที่พอจะมีลายเซ็นชัด ทั้งจังหวะสยองขวัญ มุกกวน ๆ มุมกล้อง การตัดต่อ การวางองค์ประกอบภาพแบบที่แฟนหนังคุ้นเคย นำเสนอด้วยกลิ่นอายหนังสยองขวัญคลาสสิกที่ได้อิทธิพลมาจากผลงานเก่า ๆ ของเขาเอง ทั้งไตรภาค ‘Evil Dead’, ‘Drag Me to Hell’ (2009) บวกกลิ่นแฟนตาซีแบบ ‘Oz the Great and Powerful’ (2013) นิดหน่อย ผสมความกวนแบบไตรภาค ‘Spider-Man’ ทำให้โทนโดยรวมมีความเป็นหนังสยองขวัญแบบแซม ไรมี ที่มีความฮา เพี้ยน ระห่ำ (และฉากสยอง) แบบชนเพดานเรต PG-13 มากกว่าจะเป็นหนัง Marvel คลีน ๆ ดูได้ทั้งครอบครัวในแบบที่เราคุ้นเคย
ด้วยส่วนผสมทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า ถ้าในอดีต ‘Evil Dead’ เคยถูกจัดเป็นหนังคัลต์ (Cult) ยังไง หนังเรื่องนี้ก็คือการหยิบเอาวิธีการแบบหนังคัลต์คลาสสิกมาใช้นั่นแหละ รวมทั้งพล็อต การดำเนินเรื่อง แรงจูงใจของตัวละครที่มีความคัลต์อยู่ในตัว ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังฮีโร Marvel ที่แตกต่างด้วยกลิ่นอายของหนังสยองขวัญ และมีความเป็นหนังคัลต์ที่มีครบทั้งความบ้าคลั่ง เพี้ยน กวนเบื้องล่าง แบบที่แฟนหนังแซม ไรมี จะกรี๊ดแน่นอน คือคงสู้หนังสยองขวัญจริง ๆ ไม่ได้หรอก แต่วิธีการนี้ก็ถือว่าโดนเส้น และไปด้วยกันกับเรื่องราวของหมอแปลกแห่ง Marvel ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การดำเนินเรื่อง แม้ตัวหนังจะพยายามบิลต์ว่าเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับมัลติเวิร์สแบบเต็มตัวตามชื่อภาค แต่ผู้เขียนก็แอบรู้สึกว่าการนำเสนอเกี่ยวกับมัลติเวิร์สก็ยังดูกั๊ก ๆ ไปหน่อยนะ ส่วนตัวบท ก็ถือว่าเข้าใจง่าย เป็นเส้นตรง และเป็นสูตรสำเร็จอยู่พอสมควร ยังดีที่ตัวหนังเองยังมีเซอร์ไพรส์ และวิธีการดำเนินเรื่องแบบคัลต์ ๆ สยองขวัญที่มีความดาร์ก บ้า ฮา สยองมาช่วย ทำให้ตัวหนังที่ดูจะเดาง่าย และมีการกระทำบางอย่างของตัวละครที่ดูไม่เมกเซนส์ ยังมีความน่าสนใจอยู่ รวมถึงงานซีจีที่มีกลิ่นอายจากภาคที่แล้ว แต่เพิ่มเติมความแปลกใหม่เข้าไปโดยเฉพาะฉากทะลุมัลติเวิร์ส และฉากร่ายมนต์ที่ตื่นตาและดีงามมาก ๆ
อีกจุดที่ผู้เขียนรู้สึกชอบก็คือ การที่บทพยายามสอดแทรกแก่นเกี่ยวกับชีวิตของคนที่อยู่ต่างมิติ ต่างจักรวาล ซึ่งถือเป็น Conflict หลัก ๆ ของเรื่องเลย อย่างเช่นว่า บางครั้งตัวเราแม้อยู่ต่างมิติ ชีวิต ความคิด ความผิดพลาดก็อาจจะไม่ได้ต่างกันออกไป หรือบางครั้งชีวิตในอีกมิติของเราก็อาจจะไม่ได้ดีเด่กว่าตัวตนของเราที่อยู่ในปัจจุบันเท่าไหร่ หรือแม้แต่มุมมองของคนจากต่างมิติ ที่แม้ว่าจะเป็นคนคนเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ในต่างมิติ ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกัน ซึ่งตรงนี้บทสามารถแทรกเรื่องราวและเป็นบทสรุปของเรื่องได้โอเคเลย
ในแง่ของการแสดง โดยเฉพาะนักแสดงหลัก ถือว่าอวยยศได้ทั้งทีมแบบไม่ขัดเขินเลยครับ ไล่ตั้งแต่ ‘เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์’ (Benedict Cumberbatch) ที่ยังคงเป็นหมอแปลกได้หล่อเท่ มีความกวน รวมทั้งสามารถรับบทตัวแปรแบบต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่งมาก คือเล่นได้แตกต่างกันแบบสุดขั้วจนแทบจะลืมไปว่าพี่เบนเขาเล่นเองนะเนี่ย รวมทั้ง ‘เบเนดิกต์ หว่อง’ (Benedict Wong) จอมเวทสูงสุดในภาคนี้ก็เท่และเก่งขึ้นเยอะมาก ๆ ส่วนน้อง ‘โซชิตล์ โกเมซ’ (Xochitl Gomez) ที่รับบทอเมริกา ชาเวซ ก็น่ารักมาก ๆ ขึ้นกล้องสุด ๆ มีบทบาทในหนังเยอะด้วย บอกเลยว่า มีอนาคตใน MCU ต่อไปในภายภาคหน้าแน่นอน (ต่อให้น้องจะโดนแบนหรือโดนด่าก็เถอะ)
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือวายร้ายหลักอย่างสกาเลต วิตช์ ที่รับบทโดย ‘อลิซาเบธ โอลเซน’ (Elizabeth Olsen) คือ MVP ของหนังเรื่องนี้เลยครับ เพราะบทบาทวันด้า แมกซิมอฟฟ์ ถือว่าเป็นบทที่มีความซับซ้อนอยู่พอตัวเลยแหละ เป็นแม่ที่รักลูกมาก ๆ จนพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่กับลูก แม้ว่ามันจะเป็นภัยร้ายต่อมัลติเวิร์สก็ตาม ซึ่งคุณเค้าสามารถรับบทนี้ได้อย่างเข้าถึง สานต่อและเติมเต็มเรื่องราวจากซีรีส์ ‘WandaVision’ (2021) ได้ดีมาก ๆ ชนิดที่ว่าจะรู้สึกโกรธ สกาเลต วิตช์ และเห็นใจ วันด้า แมกซิมอฟฟ์ ไปพร้อมกันได้ในเวลาเดียวเลยแหละ
โดยสรุป แม้ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ อาจจะไม่ได้ Epic ฮือฮาน้ำตาไหล เซอร์ไพรส์จนร้องว้าวได้เท่ากับ ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) และความคัลต์สยองขวัญของหนังเรื่องนี้ อาจไม่โดนเส้น ไม่ถูกจริตสำหรับบางคน แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนังที่สามารถร่ายมนต์ เปิดประตูสู่มัลติเวิร์สด้วยวิธีการและรสชาติใหม่ ๆ ที่ได้ทั้งเรื่องราวแบบฮีโร และจริตความคัลต์ที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง โหดสยอง และกวนเบื้องล่างตามแบบฉบับของ แซม ไรมี ที่น่าจะทำให้แฟน ๆ MCU โดนเส้นไปกับความบ้าคลั่งนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นครับ
หมายเหตุ – สวัสดีครับ ผู้เขียนจาก Earth-4563 นะครับ เป็นตัวแปรของอีตาคนเขียนรีวิวบนเว็บไซต์ beartai ที่อยู่ใน Earth-616 นี้อีกที พอดีว่าอีตาคนเขียนแกจะเขียนรีวิวหนังหมอแปลกพอดี เลยชวนผมมาให้หมายเหตุ ก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่ยอมเขียนเอง แต่ก็…เขียนให้ก็ได้ เพราะที่ Earth-4563 เขาดูจนสปอยล์ให้เกลื่อนไปหมดแล้ว!
หมายเหตุ 1 – ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนจาก Earth-4563 ขอแนะนำให้ชาว Earth-616 ทำการบ้านก่อนดู ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’
- ‘Doctor Strange’ (2016) อันนี้ยังไงก็ต้องดูอ่ะครับ เพื่อปูเรื่องราวและแรงจูงใจของหมอแปลก ที่มาของการเป็นจอมเวทย์ รวมทั้งเข้าใจนิสัย และเรื่องราวภายในใจของหมอแปลก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องในหนังด้วย
- ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่หมอแปลกทำกับมัลติเวิร์ส แม้เนื้อหาจะไม่ได้ต่อกันโดยตรง แต่เราจะได้เห็นว่า การร่ายมนต์ของหมอแปลกนั้นทำให้มัลติเวิร์สปั่นป่วนได้อย่างไรบ้าง
- WandaVision (2021) ซีรีส์เรื่องนี้ก็ต้องดูครับ เพราะในหนัง จะเป็นผลของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ วันด้า แมกซิมอฟฟ์โดยตรงเลย รวมทั้งที่มาของการที่เธอกลายเป็นแม่มดสการ์เลต วิตช์ การใช้คัมภีร์ดาร์กโฮลด์ และทำความรู้จักกับลูกแฝดของเธออีกด้วยนะ
- ‘What If…?’ (2021) เแอนิเมชันซีรีส์ที่อาจจะไม่ถึงกับต้องดูหมดก็ได้ แต่ดูแล้วจะพอเข้าใจคอนเซปต์ของมัลติเวิร์สอย่างชัดเจน และรวมถึงเรื่องราวของหมอแปลก และตัวละครบางตัวที่อาจจะต้องรู้จักไว้ก่อนด้วย
- ‘Loki’ (2021) เรื่องนี้แม้จะเกี่ยวกับโลกิ แต่การมีหน่วย TVA และแคงผู้พิชิต (Kang the Conqueror) และการแตกแขนงของเส้นเวลา จะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น อ่ะ อย่างน้อย ดูถึงฉากที่มิสมินิต (Miss Minutes) อธิบายเรื่องการแตกแขนงเส้นเวลาให้โลกิฟังก็ยังดี
- ‘Avengers: Age of Ultron’ (2015) เอาไว้ย้อนดู วันด้า แมกซิมอฟฟ์ตอนเปิดตัว ดูก็ได้ ไม่ดูก็ไม่เป็นไร
- ‘Avengers: Infinity War’ (2018) และ ‘Avengers: End Game’ (2019) ย้อนดูการต่อสู้ของหมอแปลกในสงคราม Infinity Wars เพราะในหนังมีการพูดถึงอยู่เหมือนกัน จะไม่ดูก็ได้ แต่ดูแล้วจะเห็นภาพชัดมาก
- หนังของ ‘แซม ไรมี’ อันนี้ดูหรือไม่ดูก็ได้ครับ แต่ดูแล้วก็จะดี จะได้เข้าใจลายเซ็นของเขาแบบชัด ๆ ถ้าเอาแบบเห็นภาพชัด ๆ แนะนำว่าดูไตรภาค ‘Evil Dead’ หรือไตรภาค ‘Spider-Man’ ก็ได้ครับ
หมายเหตุ 2 – มี End Credits 2 ตัวนะครับ โดยเฉพาะตัวที่ 2 นี่ต้องรอดูเลยนะครับ ย้ำว่าต้องรอดูห้ามกะพริบตาเด็ดขาดเลยนะครับ อิอิ
หมายเหตุ 3 – ในหนัง เราจะได้เห็นน้องอเมริกา ชาเวซ และปูมหลังของเธอที่ดัดแปลงมาจากคอมิกด้วย สามารถอ่านสรุปเรื่องราวของเธอได้ที่บทความนี้เลยครับ รู้จักกับ ‘อเมริกา ชาเวซ’ ฮีโรเลสเบียนคนแรกของ MCU ใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’
หมายเหตุ 4 – เซอร์ไพรส์ในหนังก็เจ๋งดีอยู่นะครับ แต่แอบเสียของไปหน่อย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส