กำกับ
ซานเจ ลีลา บันซาลิ
ดัดแปลงจาก
เรื่องเล่าในหนังสือ : Mafia Queen of Mumbai
ความยาว
2 ชั่วโมง 33 นาที
Our score
10.0[รีวิว] Gangubai Kathiawadi : มาเฟียควีนกับส่าหรีขาวของเธอ
จุดเด่น
- เป็นหนังความยาว 2 ชั่วโมง 33 นาที ที่ยังไม่อยากให้จบ
- การแสดงของตัวเอก ถ่ายทอดความเป็นคังคุไบได้ดีจน อยากให้มีสำนักพิมพ์ไหนสักสำนักพิมพ์ ช่วยเอาหนังสือมาแปลไทยทีเถอะ
- บรรยากาศและการสื่ออารมณ์จูงใจคนดูได้อย่างว่าง่าย โดยเฉพาะฉากรักที่น่าเห็นใจเป็นที่สุด
จุดสังเกต
- เต็มสิบไม่หักค่ะ ชอบมากและยังไม่อยากมูฟออนออกมาเลย
-
คุณภาพงานสร้าง
10.0
-
คุณภาพนักแสดง
10.0
-
ความสมบูรณ์ของบท
10.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
10.0
-
ความคุ้มค่าในการรับชม
10.0
‘Gangubai Kathiawadi’ ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องเล่าในหนังสือ ‘Mafia Queen of Mumbai’ ของ “ฮุสเซน ไซดี” (Hussain Zaidi) นักเขียนชาวอินเดียและอดีตนักข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ตีแผ่ชีวิตสังคมโสเภณีในมุมไบและแน่นอนว่าตัวเอกของเรื่องนี้มีตัวตนจริง ๆ “คังคุไบ กาเฐียวาดี” เป็นโสเภณีระดับมาม่าที่อุทิศชีวิตเพื่อหญิงสาว 4,000 คนใน ‘กามธิปุระ’ เมืองที่เต็มไปด้วยหญิงสาวโสเภณีจนถูกเรียกขานว่า นายหญิงแห่งกามธิปุระ (Madam of Kamathipura)
เสียดายมากที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีแปลไทย วอนสำนักพิมพ์ไหนสักสำนักหยิบเอามาแปลสักหน่อยก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างสูง เพราะผู้เขียนอยากอ่านใจจะขาด
‘คงคา’ (อเลีย บาตต์) เป็นหญิงสาวที่เกิดมาในครอบครัวมีฐานะ พ่อของเธอเป็นทนาย แต่เธอก็มีความฝันอยากเป็นนักแสดง ซึ่งความฝันที่สวยงามของคงคาในครั้งนี้ ‘รามนิก’ คนรักของเธอรู้ดีอยู่แก่ใจเขาจึงใช้ความฝันนั้นหลอกลวงว่าเธอคือคนที่ใช่ มีคนเห็นแววของเธอและเธอจะได้เป็นนักแสดงที่โด่งดัง จนกระทั่งเธอตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อมาพบกับความจริงที่ว่า ความฝันที่จะได้เป็นนักแสดงในโรงหนังไม่มีจริง และค่าแห่งความไว้ใจที่เสียรู้ให้กับชายคนรักของเธอในครั้งนี้ มีค่าเพียง 1,000 รูปี เท่านั้น ด้วยการที่เขาขายเธอให้กับซ่องแห่งหนึ่งในย่านเสื่อมโทรมของเมืองที่มีชื่อว่า ‘กามธิปุระ’ แห่งนครมุมไบ
เธอกลับบ้านไม่ได้อีกแล้ว พ่อแม่จะเอาหน้าไว้ที่ไหน เธอแปดเปื้อนเกินกว่าสังคมของเธอจะยอมรับ ชีวิตของเธอจากนี้ไม่มีวันที่จะเหมือนเดิม สิ่งที่เธอจะได้รับก็คือการลงโทษที่สาหัสจากสังคมของเธอเท่านั้นแหละ ชีวิตต่อจากนี้คือจำใจรับสภาพที่ถูกยัดเยียดให้เป็นหญิงขายบริการ และเมื่อแขกคนแรกเรียกเธอว่า ‘คังคุ’ ทำให้เธอตัดสินใจแล้วว่าความเศร้าไม่ช่วยอะไร แต่เธอจะใช้ชีวิตด้วยหัวใจแกร่ง ๆ เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอเองและหญิงสาวนับพันในกามธิปุระให้ได้ ในสักวันหนึ่ง
บ้านเลขที่ 290
‘ซ่อง’ ในกามธิปุระมีมากมาหลายร้อยซ่อง หรือจริง ๆ แล้วอาจจะมากกว่านั้น เพราะถนนเส้นนั้นเต็มไปด้วยบรรดาสาวงามที่ต้องยอมพลีกายแลกเงินเพียงไม่กี่รูปี พวกเธอยึดอาชีพขายบริการ สร้างความผ่อนคลายให้บรรดาชายทั้งหลายที่ยอมจ่ายเงินให้เธอ แต่ในบ้านเลขที่ 290 ที่หัวมุมถนนต่างออกไปตรงที่ บ้านหลังนี้มี ‘คังคุ’ โสเภณีที่โด่งดัง เป็นที่ขึ้นชื่อชนิดบรรดาแขกเหรื่อต้องจองคิวรอ และที่สำคัญมากไปกว่านั้น แม่เล้าประจำซ่องยังต้องเกรงใจเธอ
จุดเริ่มต้นของคังคุมันน่าเศร้า แต่เธอไม่เอาความเศร้านั้นมาทำให้ตัวเองตกต่ำ แต่กลับใช้ความฉลาดในการเอาตัวรอดมาทำให้ตัวเองได้มิตรภาพยาวนานจากเพื่อนร่วมอาชีพ จากแขก จากผู้คนอีกมากมายแม้กระทั่งมาเฟียขาโหดอย่าง ‘คาริม ลาลา’ (อชัย เทวคัน) ที่ยกให้เธอเป็นน้องสาว และเมื่อชีวิตมันต้องเดินไปทางนี้ การเคารพในอาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถึงสังคมจะไม่ยอมรับแต่การยอมรับตัวเองก็สำคัญยิ่งกว่าอะไร และการทำให้ทุกคนรู้ว่าผู้หญิงทุกคนและทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีในตัวเองทั้งนั้น เป็นเรื่องที่เธอมุ่งมั่นที่จะทำมันให้ถึงที่สุด จนเธอกลายเป็น คังคุไบ (แม่เล้า) คนแรกของกามธิปุระที่ได้ครอบครองรถเบนท์ลีย์ ราคาแพงหูฉี่อีกด้วย
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างออกมาให้เห็นทำให้สัมผัสได้ว่า โสเภณีไม่ได้ทำอะไรผิด พวกเธอไม่สมควรได้รับคำดูถูกเหยียดหยามจากใครทั้งนั้น เพราะถ้าหากเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นโสเภณี และการที่เราจะต้องพบกับสภาพที่น่าขยะแขยง อึดอัด ระทมทุกข์ การหม่นเศร้าและโทษชีวิตโทษโชคชะตาไม่ช่วยอะไร แต่การรับมือกับมันให้ได้และใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีสติ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เหมือนกับที่คังคุไบจะไม่ปลอบใจใครทั้งนั้น ว่าเธอถูกหลอก เธอน่าสงสารจัง แล้วก็จับเข่าทนทุกข์ไปด้วยกัน แต่เธอใช้วิกฤติเป็นแรงผลักดันและบอกกับตัวเองและคนอื่น ๆ ว่า ชีวิตต่อจากนี้จะรับมือกับมันยังไงต่างหากล่ะ
ไม่รู้จะให้หัวใจไปกี่ดวงดีกับ Gangubai Kathiawadi ภาพยนตร์บอลลีวูดที่เจ๋งอีกแล้ว บอกตามตรงว่าผู้เขียนดูหนังอินเดียไม่กี่เรื่องเองค่ะ และดีใจที่หนังอินเดียแต่ละเรื่องที่เคยดูมาให้ความรู้สึกถึงความเจ๋ง เก่งและน่าปรบมือให้ไม่ว่าจะเป็น PK , The Lunchbox ,The White Tiger แต่ละเรื่องนี่ต้องขอยกนิ้วให้ในความอาร์ต บทและการดำเนินเรื่อง ล้วนแต่สร้างความประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้และ Gangubai Kathiawadi ก็เป็นอีกเรื่องที่อยู่ในระดับเดียวกัน
เสน่ห์ของหนังอินเดียที่จะอยู่คู่กันไปตลอดกาล
พูดถึงเสน่ห์ของหนังแต่ละประเทศก็ย่อมมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป แต่สำหรับหนังอินเดียเมื่อพูดถึงเสน่ห์ของเขาแล้วแน่นอนว่า เพลงจังหวะสนุกสนานและการเต้นระบำที่พลิ้วไหวเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นที่สุดจนแค่พูดถึงก็เห็นภาพ และเราจะได้เห็นในหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่แตกต่างกันออกไปจากหนังอินเดียเรื่องอื่น ๆ ก็คือ ทุก ๆ การบรรเลงในแต่ละช่วงของเรื่องล้วนมีความหมาย และเป็นการถ่ายทอดที่ถูกที่ถูกเวลา ลงตัว จนเกิดเป็นภาพสวยงามน่ามองแถมยังสื่ออารมณ์ในฉากนั้น ๆ ได้ดีอีกต่างหาก
โดยเฉพาะในหลายช่วงหลายตอนของฉากที่ทำให้เห็นว่า คังคุไบได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้หญิง 4,000 คนในกามธิปุระ หนังชูความใจใหญ่ของคังคุไบอย่างให้เกียรติเอามาก ๆ ผ่านบทเพลง ผ่านการเต้นระบำเฉลิมฉลองในคืนนวราตรี ด้วยการจูงอารมณ์ของเราในแต่ละฉากไปเรื่อย ๆ ให้รู้ถึงหัวใจที่ปราถนาในรักแท้แต่ต้องสะกดใจไว้ หัวใจที่เสียสละแม้ตัวเองจะเจ็บปวดและหัวใจที่ไม่ยอมอ่อนแอจนปล่อยเวลาให้ความเศร้ากำชัยชนะ เมื่อชีวิตมันต้องเลือกเอาสักทาง
ตัวตนของคังคุไบในส่าหรีสีขาว
คังคุไบเป็นเจ้าของซ่องโสเภณีคนเดียวเลยด้วยมั้งของกามธิปุระที่สวมส่าหรีสีขาว ก็ไม่ทราบว่าเป็นธรรมเนียมของซ่องนี้ซ่องเดียวหรือเปล่า แต่แม่เล้าคนเก่าก็ไม่ได้แต่งแบบนี้นี่นา ผู้เขียนสงสัยจัดว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ในนั้นไหม คิดว่ายังไงก็น่าจะมีแต่ก็คิดออกแค่ว่า สีขาวในความรู้สึกของคังคุไบช่างหลากหลาย ขาวเหมือนมุก ขาวเหมือนเปลือกหอย ขาวเหมือนปุยเมฆและอีกสารพันขาวที่เธอจะนึกถึง กำลังบอกถึงหัวใจข้างในลึก ๆ ของเธอว่า ใจเธอช่างบริสุทธิ์ เธอต้องการเป็นคนที่ผุดผ่อง ถึงแม้ว่าร่างกายภายนอกจะแปดเปื้อนราคีคาวก็ตาม
และการแสดงออกอย่างรักศักดิ์ศรีดุจมาเฟียสาว ก็สร้างความแข็งแกร่งให้กับเธอ ชนิดที่ชายอกสามศอกยังไม่กล้าต่อกร ทั้งตบ เตะ ถีบ ระเบิดอารมณ์ในมาดนิ่ง ๆ สุดก๋ากั่น กับวาทะร้อนแรงแถมยังคมคายที่ทำให้คนมากมายต้องปรบมือให้ แน่นอนว่านั่นคือเกราะกำบังที่เธอสร้างมันขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่เราใช้เกราะนั้นอย่างชำนาญมันจะเป็นปราการปกป้องที่คุ้มกันเราไปได้ตลอดรอดฝั่ง โดยเฉพาะถ้าเราใช้มันอย่างชาญฉลาดจนมีมาเฟียอย่าง คาริม ลาลา เป็นพี่ชายและมีนักข่าวอย่าง ‘อามิน เฟซี’ (จิม ซาร์บ) เป็นมิตรที่มาได้ถูกที่ถูกเวลากับเขาจนได้
หนังถ่ายทอดแต่ละฉากให้เราได้เห็นตัวตนของคังคุไบอย่างเฟี้ยวฟ้าวเลยละค่ะ บอกกับเราอย่างชัด ๆ เลยว่าทุกการจัดการของเธอผ่านกระบวนการความคิดมาอย่างดีแล้ว และไม่ลืมที่จะใส่อารมณ์ความรู้สึกอย่างมนุษย์สามัญเข้าไปด้วย เศร้าก็ระบาย อึดอัดก็เมามาย ถุยชีวิตแต่ไม่คิดแง่ลบ เป็นตัวละครที่มีมิติอย่างน่าทึ่ง เพราะทุกบททุกตอนที่ถ่ายทอดอารมณ์ออกมา ทำให้เราเผลอคิดไปว่าเราเข้าใจคังคุไบและเคารพเธอเหลือเกิน ไม่ต่างจากหญิงสาวในกามธิปุระที่เคารพเธอมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องของ Gangubai Kathiawadi มีอีกมากมายที่น่าค้นหา ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราคิดแบบนั้น เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีอรรถรสและประกอบไปด้วยองค์ประกอบศิลป์ที่สวยมาก ๆ ทั้งแสง สี มุมกล้องสวยงามไปหมด แม้กระทั่งแอ็กติงของตัวเอกอย่าง อเลีย บาตต์ จนอยากจะไปหาดูอีกทีซิว่านางเอกสาวคนนี้เล่นเรื่องไหนอีกบ้างนะ ถึงออกแบบท่าทางของมาเฟียสาวได้ถึงอารมณ์ขนาดนี้และทำให้ภาพลักษณ์ของโสเภณีที่เป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรีให้กับผู้หญิงทั้งประเทศ ลามไปจนถึงผู้ประกอบอาชีพขายบริการน่าชื่นชมขึ้นมาได้
จนถึงขนาดที่ได้รับฉายาว่าเป็น ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ (The Mafia Queen of Mumbai) เพราะทุกสิ่งที่เธอทำส่งให้เธอเป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือของชาวอินเดียโดยเฉพาะผู้คนในเขตกามธิปุระเป็นอย่างมาก แถมในชีวิตหนึ่งที่ไม่น่าจะมีอีกแล้วสำหรับชีวิตของโสเภณีคนหนึ่งที่จะได้เข้าพบกับ ‘ชวาหะร์ลาล เนห์รู’ (Jawaharlal Nehru)” อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดีย คังคุไบก็ทำให้เห็นมาแล้วอีกด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส