[รีวิว] Love, Death & Robots Volume 3: สานต่อความดีงามแบบซีซันแรก
Our score
10.0

Release Date

20/05/2022

ความยาว

9 ตอน ตอนละ 10-20 นาทีโดยประมาณ

[รีวิว] Love, Death & Robots Volume 3: สานต่อความดีงามแบบซีซันแรก
Our score
10.0

Love, Death & Robots Volume 3

จุดเด่น

  1. ความก้าวล้ำของแอนิเมชันทั้งด้านเทคนิคและกลวิธีการเล่าเรื่องที่ทะลุกรอบธรรมดาไปไกล ในซีซันนี้ยังกลมกล่อมลงตัวไม่มีตอนไหนที่แผ่วลงไปเลย

จุดสังเกต

  1. ความรุนแรงชนิดท่คนดูหนังโหดประจำยังมีกลืนน้ำลายหายใจไม่ทั่วท้อง แอนิเมชันไม่ใช่เรื่องของเด็กเสมอไปแล้ว และอาจไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ทั่วไปด้วย เรื่องนี้คือคำตอบเลย
  • บท

    9.0

  • โปรดักชัน

    10.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    10.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    10.0

นับจากปี 2019 เน็ตฟลิกซ์เชิญชวนผู้รักในแอนิเมชันได้เปิดประตูแห่งการทดลองครั้งสำคัญ ด้วยโปรเจกต์รวมดาวที่ท้าทายทั้งการนำเสนอเนื้อหาและเทคนิคที่ก้าวล้ำ ทั้งอินดี้ อาร์ต ฉูดฉาด พาสเทล ดำมืด ผสมผสานลูกเล่นที่คาดไม่ถึง ไปจนซีจีที่สมจริงจนแยกไม่ออก ภายใต้ธีมหลักว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง กลไก หัวใจ ดับสูญ หรือ Love Death และ Robots ที่เปิดช่องให้ทั้งไซไฟ ดราม่า จนถึงปรัชญากันเลยทีเดียว

ในซีซันแรกเราอาจได้ว่าคือการปักหมุดยุคใหม่ของแอนิเมชันตะวันตกที่ทะลุกรอบเดิม ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้เห็นความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุดในการนำเสนอจากเรื่องดาวเด่นทั้ง ‘The Witness’ หรือ ‘Ice Age’ ที่เรื่องหลัง ทิม มิลเลอร์ (Tim Miller) จากหนัง ‘Deadpool’ ซึ่งรับบทโปรดิวเซอร์หลักของซีรีส์นี้ลงมากำกับเอง และในซีซัน 2 มันคือการขยายพื้นที่สู่ความตระหนักทางปัญญาแบบอื่น ๆ ที่อาจย่อยยากขึ้นสักนิด กับงานอย่าง ‘The Drowned Giant’ ที่มีความเป็นปรัชญา กวีและเสียดสีด้วยการนำเสนอภาพที่ชวนอึ้ง

Love, Death & Robots Volume 3

รีวิวซีซันแรก อ่านได้ที่นี่เลย

รีวิวซีซันที่ 2 อ่านได้ที่นี่เช่นกัน

ในซีซันที่ 3 นี้ เหมือนว่าทีมสร้างจับได้ว่า ซีซันที่ 2 มีจุดพร่องอยู่ในเรื่องการเลือกเรื่องมานำเสนอในจำนวนที่พอต้องจำกัดจำนวนจะหว่านแหไม่ได้เยอะเท่าซีซันแรก ซึ่งบังเอิญเรื่องที่เลือกมาก็ย่อยยากไปสักนิดหรือเอื่อยมากไปสักหน่อย มาซีซันนี้เลยเอาความรู้สึกของการเดินชมนิทรรศการศิลปะแนวทดลองที่กลืนง่ายขึ้น ตื่นตาได้มาก และเร้าโสตประสาทคนดูแบบไม่ยั้งอย่างในซีซันแรกกลับมา และหลายเรื่องก็ทำให้นึกถึงหรือจะบอกว่าเป็นทายาทจากในซีซันแรกก็ว่าได้เหมือนกัน

Love, Death & Robots Volume 3
ตอน Mason’s Rats ที่เหมือนเป็นทายาททางอ้อมกับตอน The Dump ในซีซันแรก

ดังนั้นไม่แปลกใจเลยที่เรื่องที่ต้องแนะนำให้ดูในซีซันนี้บางเรื่องจะมีชื่อคุ้นหูคุ้นตาผู้กำกับมาจากซีซันแรกด้วย อย่าง ผู้กำกับ อัลเบอร์โต มิเอลโก (Alberto Mielgo) ในเรื่อง ‘Jibaro’ ซึ่งในซีซันแรกเขาเคยกำกับตอนที่ชื่อ ‘The Witness’ จนตราตรึงใจผู้ชมมาแล้ว โดยในตอนนี้ยังมีชื่อทีมงานคนไทยอย่างคุณวีรพงศ์ จังสมบัติศิริ ที่เคยมีผลงานใน ‘Avengers: Infinity War’ รวมถึงคุณณัชพัฒน์ แจ่มทักษา และคุณสาวิตรี สวนมิ ที่เคยมีผลงานใน ‘นาคี 2’ ร่วมในการสร้างด้วยน่าภูมิใจมาก ๆ

Love, Death & Robots Volume 3

สำหรับ ‘Jibaro’ ว่าด้วยเรื่องราวของกองทหารอัศวินยุคกลางที่ออกตามหาสมบัติจนมาพานพบกับปีศาจสาวเสียงมรณะแห่งลุ่มน้ำอย่าง ไซเรน ที่ยามใดเธอกรีดร้องออกมาชายทั้งหลายต้องบ้าคลั่งหลงใหลและยื้อแย่งวิ่งหาความตายสู่ใต่ก้นบึงทุกราย มีเพียงอัศวินหูหนวกที่รอดชีวิต ความประหลาดใจที่เสียงของเธอไม่ได้ผลทำให้เธอสนอกสนใจชายหนุ่มจนกลายเป็นความรัก

Love, Death & Robots Volume 3

ด้วยเทคนิคการนำเสนอภาพแบบผสมผสานงาน 2 มิติบน 3 มิติ ที่สีสันฉูดฉาดมีรายละเอียดสูง การออกแบบโมชันของตัวละครที่ราวกับดูการแสดงร่ายรำของมืออาชีพที่ชวนพิศวง พอมาหลอมรวมกับเรื่องราวความรักต้องห้ามที่ไม่ต้องมีคำอธิบายก็เข้าใจได้ ทั้งยังมีแง่มุมนัยว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่ต่างคอยทำร้ายกันเข้าไปอีก ปฏิเสธได้ยากเลยว่าแอนิเมชันเรื่องนี้จึงคาบเกี่ยวระหว่างความบันเทิงที่น่าจดจำกับงานศิลปะชั้นดีที่ประเทืองปัญญายากจะลืมเลือน ยิ่งฉากถอดเครื่องประดับไซเรนนี่บาดหัวใจมากจริง ๆ

Love, Death & Robots Volume 3

นอกจากนี้งานที่อาจต้องแนะนำอีกเรื่องเป็นดาวเด่นของซีซันนี้คือ ‘Bad Travelling’ ที่เป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งนับตั้งแต่หนัง ‘Se7en’ (1995) ของมือเขียนบทแนวฟิล์มนัวร์ แอนดรูว์ เควิน วอล์กเกอร์ (Andrew Kevin Walker) กับผู้กำกับขวัญใจคอหนัง เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ซึ่งอำนวยการผลิตซีรีส์นี้มาตั้งแต่ซีซันแรกแล้วคงเกิดคันมืออยากลงสนามเองบ้าง

แล้วผลลัพธ์ที่ได้ต้องบอกว่าส่วนตัวชอบมากกับบทที่เล่นกับเล่ห์เหลี่ยมความคิดมนุษย์ที่ดำมืดอย่างแหลมคม ผ่านการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มลูกเรือที่ภูมิหลังต่างกันกับสัตว์ประหลาดยักษ์กินคนจากใต้สมุทร เข้ากันได้ดีกับงานภาพและการออกแบบที่ดูมืดมน ที่สำคัญโหดแบบไม่ยั้งใจว่ามีเด็กเล็กเผลอมาดูกันเลย แต่กับเด็กหนวดนี่คงต้องบอกว่าสาแก่ใจยิ่งนัก บทเข้ม ๆ แบบนี้จะมากลัวความรุนแรงก็เสียดายของไปสักหน่อย

Love, Death & Robots Volume 3

ส่วนผลงานที่แนะนำว่าห้ามพลาดในซีซันนี้ก็แทบจะคือที่เหลือทุกเรื่องนั้นเลย ไม่มีอันไหนที่ตกมาตรฐานจนมองข้ามได้ เช่นตอนที่เชื่อมโยงทุกซีซันกับการหาคำตอบว่ามนุษย์สูญพันธุ์ได้อย่างไรของเหล่าหุ่นมากความสงสัยที่ต้องเจอแมวกวนใจมาตลอดใน ‘Three Robots: Exit Strategies’ และตอนที่ระดับความกวนพอกัน และชวนให้นึกถึงงานโลกจิ๋วใน ‘Ice Age’ ของซีซันแรก ผ่านการนำเสนอวันโลกแตกด้วยมุมมองของภาพแนว Miniature Effect ที่แปลงโลกความจริงให้กลายเป็นฉากจำลองของเล่นย่อส่วน ในตอนที่ชื่อ ‘Night of the Mini Dead’ ที่ไฮไลต์คงเป็นเรื่องที่ว่ามีฉากหนึ่งเป็นประเทศไทยด้วย

Love, Death & Robots Volume 3
Love, Death & Robots Volume 3
Love, Death & Robots Volume 3

ไม่แน่ใจว่ารู้สึกไปเองหรือไม่แต่ตลอดการรับชมซีซันที่ 3 นี้ รู้สึกกรอบจำกัดความรุนแรงด้านภาพมันแทบไม่มีเลย อาจเป็นซีซันที่โหดเอาเรื่องที่สุด ภาพอย่างชิ้นส่วนอวัยวะ เลือด เครื่องในกระจุยกระจายกลายเป็นอะไรที่ทำได้อย่างสามัญไปเลย ตรงนี้คงมีข้อถกเถียงกันได้หลายมิติ แต่ส่วนตัวคือถ้าเนื้อหามันรองรับเหมาะสม ความรุนแรงนั้นก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลไม่ได้เป็นความยัดเยียดหรือเกินเลย อย่างไรก็ดีก็ต้องย้ำกับผู้รับชมที่เป็นเด็กเล็กว่าอาจจะยังไม่ถึงวัยต้องมามีภาพติดตาเหล่านี้ไปฝันร้ายเปล่า ๆ แต่ถ้าวัยวุฒิถึง แยกแยะได้ว่าเป็นศิลปะในความรุนแรงแล้วล่ะก็ แนะนำเลย

Love, Death & Robots Volume 3

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส