[รีวิว] RRR: น้องกูอยู่ไหน! มันหยดโคตรโม้ เพลงโชว์เอาออกจากหัวก็ไม่ได้
Our score
9.0

Release Date

20/05/2022

ความยาว

187 นาที

[รีวิว] RRR: น้องกูอยู่ไหน! มันหยดโคตรโม้ เพลงโชว์เอาออกจากหัวก็ไม่ได้
Our score
9.0

RRR

จุดเด่น

  1. เอกลักษณ์หนังแอ็กชันแบบอินเดียใต้ที่โม้สุดแต่ก็มันสุด ยิ่งผสมโปรดักชันชั้นยอดที่ผสมศาสตร์และศิลป์ภาพยนตร์อย่างลงตัว ไม่นับเรื่องดารานักแสดงชั้นนำของอินเดียอีกคับคั่งเนื้อเรื่องสุดมหากาพย์อีก นี่คือหนังที่อินเดียภูมิใจนำเสนอชาวโลกอย่างแท้จริง

จุดสังเกต

  1. ซีจีมีทั้งสวยมากสมจริงมากไปจนถึงติดการ์ตูนดูลอย ๆ และหนังมีความยาว 3 ชั่วโมงต้องหาเวลาว่างยาว ๆ มานั่งดู เสียดายน่าจะมีพากย์ไทยเสริมความมันเร้าใจจะยิ่งเจ๋งไปอีก
  • บท

    8.0

  • โปรดักชัน

    9.0

  • การแสดง

    8.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    10.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    10.0

เรื่องย่อ: ในทศวรรษ 1920 อินเดียอยู่ใต้การปกครองจากสหราชอาณาจักร ผู้ปกครองผิวขาวที่ถูกส่งมามองคนอินเดียต่ำยิ่งกว่ามนุษย์ กดขี่และไล่ต้อนจนผู้คนต่างเก็บซ่อนความแค้นเอาไว้ภายใน หากแต่ภายใต้กองกำลังทหารและอาวุธของพวกชาวตะวันตกก็ทำให้ชาวอินเดียทำอะไรมากไม่ได้ จนกระทั่งเรื่องราวแตกหักเกิดขึ้นเมื่อชาวอังกฤษไปพรากเด็กสาวจากชนบทมาเก็บไว้ราวสัตว์เลี้ยง ปลุกให้นักสู้ของหมู่บ้านต้องออกตามเด็กสาวกลับมาแม้จะต้องเผชิญหน้ากับตำรวจเพื่อนร่วมชาติที่ทิ้งอุดมการณ์ หรือกองทัพอังกฤษก็ตาม

ท่ามกลางกระแสความนิยมหนังอินเดียแบบขีดสุดในบ้านเรา จากหนังโสเภณีมาเฟียแห่งมุมไบ ‘Gangubai Kathiawadi’ หนังอีกเรื่องที่ถูกพูดถึงตามมาและกลายเป็นประโยคบอกเล่าปากต่อปากถึงความสนุก คงไม่พ้น ‘RRR’ ซึ่งมี อาเลีย บาตต์ (Alia Bhatt) หรือคังคุไบมาร่วมแสดงด้วยเรื่องนี้นี่เอง

RRR

หนังเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลัก 2 คน คือ ราม รับบทโดย ราม จารัน (Ram Charan) นายตำรวจผู้เคร่งขรึมจริงจังที่รับใช้พวกอังกฤษเพื่อหวังไต่เต้าขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วยเพราะมีปมฝังใจในวัยเด็ก แม้จะทำผลงานได้โดดเด่นอย่างการฝ่ากองทัพชาวบ้านที่เดือดดาลและล้อมโรงพักไว้ด้วยมือเปล่าจนจับหัวโจกได้ ทว่าเขาก็ยังถูกอคติจากหัวหน้างานที่เลื่อนตำแหน่งให้แค่พวกชาวตะวันตกด้วยกันเท่านั้น หนังนำเสนอความโกรธแค้นที่รามพยายามกดข่มไว้ราวกับเปลวเพลิงที่รอวันระเบิด

RRR

อีกด้าน ภีม รับบทโดย เอ็น.ที. รามา เรา จูเนียร์ (N.T. Rama Rao Jr.) เป็นชายชาวพื้นเมืองที่อยู่ในชนบท ชีวิตผูกสัมพันธ์กับลำธารและผืนป่า รวมถึงการเอาตัวรอดจากสัตว์ร้ายทั้งสุนัขป่าหรือเสือโคร่ง เขาถูกขนานนามเป็นนักรบที่ปกป้องดูแลเผ่าให้ปลอดภัยอยู่เสมอ ครั้นเมื่อมีเด็กสาวถูกผู้ปกครองอังกฤษที่มาเที่ยวป่าลักพาตัวไปเลี้ยง ภีมจึงต้องออกจากป่าเข้าเมืองมาเพื่อพาเด็กสาวกลับบ้าน เรื่องราวตรงนี้ให้นึกภาพ ‘องก์บาก’ หรือ ‘ต้มยำกุ้ง’ ก็ไม่ผิดนัก ต่างตรงที่ภีมนั้นเป็นคนอารมณ์ดีใจซื่อยิ้มง่าย คล้ายกับน้ำที่ฉ่ำเย็น หากแต่ยามคับขันเขาก็เหมือนน้ำป่าที่เชี่ยวกรากได้เช่นกัน

RRR

แน่นอนว่าที่สุดทั้งคู่ต้องมาเจอกัน ในระหว่างที่รามได้รับภารกิจสืบหานักรบชนเผ่าที่จะมาเอาเด็กคืน ซึ่งหากสำเร็จเขาจะได้ลัดขั้นตอนเลื่อนขั้นได้เลยเป็นความหวังหลังถูกมองข้ามหัวมานาน รามก็ได้มาพบเหตุการณ์ที่รถไฟตกรางจนเด็กชายคนหนึ่งอยู่ในอันตรายกลางกองเพลิง และที่เดียวกันนั้นภีมก็อยู่ด้วย ชายสองคนที่ไม่รู้จักกันมองตาแล้วเข้าใจกันแทบในทันที ทั้งคู่ร่วมมือกันจนช่วยเด็กชายคนนั้นไว้ได้ และก่อเป็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของพี่น้องต่างสายเลือด รามและภีม โดยที่ทั้งคู่ไม่รู้เลยว่าต่างมีตัวตนที่ซ่อนไว้แถมยังเป็นปฏิปักษ์กันด้วย คนหนึ่งเป็นตำรวจ อีกคนเป็นกบฏ ให้คนดูลุ้นตัวโก่งกับการเฉี่ยวกันไปคลาดกันมาที่จะรู้ความจริง

RRR

และนี่คือที่มาของชื่อเรื่อง RRR ที่หมายถึง Rise Roar Revolt เป็นการสร้างตัวละครสมมติขึ้นมาเป็นตัวแทนเพื่อสดุดีเหล่าวีรชนที่ต่อสู้กับพวกจักรวรรดิ์อังกฤษในยุค 1920 ก่อนอินเดียจะได้รับเอกราชในท้ายสุด

ในแง่ที่เราเป็นผู้ชมที่คงไม่ได้อินไปกับเรื่องราวการต่อสู้ของคนอินเดีย ยิ่งเหล่าวีรบุรุษของเขาที่ปรากฏในเพลงตอนท้ายยิ่งไม่คุ้นหน้าสักคนก็ต้องบอกว่า หนังเรื่องนี้ถึงจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แต่ก็เป็นการชวนเชื่อที่สนุกมาก ด้วยวิธีการนำเสนอแบบเกินจริงสไตล์หนังอินเดียใต้ที่โอเวอร์แต่ก็ถูกจริตแฟนตาซี เปรียบไปก็คล้ายหนังกำลังภายในของ โจว ซิงฉือ (Stephen Chow) ที่ดูทั้งตื่นตาตื่นใจ ดุดันและมีอารมณ์ขันแผงอยู่ในนั้นด้วย

RRR

แต่ความสำเร็จจริง ๆ ของหนังอาจต้องบอกว่า คือการทำให้คนดูอินกับการนำเสนอตัวร้ายได้อย่างน่าเอาน้ำมันทอดโรตีสาดหน้ามาก ๆ เพราะคู่สามีภรรยาผู้ปกครองชาวอังกฤษที่ฝ่ายสามีก็มักมีประโยคเด็ดอย่าง “รู้ไหมว่ากระสุนของอังกฤษลูกหนึ่งมีมูลค่าเท่าไหร่ พวกชาวบ้านนี่ไม่มีค่าขนาดนั้นไปหาวิธีอื่นประหารซะ” หรือตัวภรรยาที่เล่นหน้าเล่นตาน่าหมั่นไส้เป็นปี่เป็นขลุ่ยกับสามี พอตัวร้ายมันทำได้ถึง การเล่าเรื่องที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว คนดูพร้อมอวยเอาใจช่วยพวกพระเอกสุดลิ่มทิ่มประตู

RRR

ฝั่งพระเอกก็สามารถนำเสนอความเท่ จากทั้งการถ่ายภาพร่างกายล่ำ ๆ หรือการโพสท่าสวย ๆ อย่างกับหนังฮีโรแทบทั้งเรื่อง และจากการแสดงที่แม้จะคาแรกเตอร์ขัดกันแต่ก็เคมีเข้าคู่ได้น่ารักรู้สึกเป็นเพื่อนหรือพี่น้องต่างสายเลือดที่สนิทกันจริง ๆ อีกส่วนที่หนังทำดีมากจนน่าประทับใจคือการสร้างฉากแอ็กชันต่าง ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ใช้ซีจีได้เหมาะสมและมีสไตล์มาก ๆ เห็นความเป็นศิลปะในนั้นอย่างฉากที่ชาวบ้านมาออรอบโรงพักแล้วเขย่าลูกกรงจนโย้ไปมา มันใช้ความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ของภาพยนตร์ที่ปลุกเร้าโสตประสาทผู้ชมได้ดี หรืออย่างฉากที่พระเอกสู้กันด้วยไฟกับน้ำที่มีจรวดพุ่งกับท่อน้ำสะบัดเป็นฉากหลังคือสวยงามมากเช่นกัน

RRR

และแน่นอนพูดถึงหนังอินเดียขาดไม่ได้เลยคือเพลงและโชว์การเต้นรำ เป็นอีกเรื่องที่ทำเพลงออกมาได้ไพเราะไม่ว่าจะฉากฮึกเหิมตื่นเต้นหรือฉากดราม่าน้ำตาท่วมจอ และที่สำคัญท่อนฮุกก็เล่นซะติดหูแม้จะฟังไม่ออก ในขณะเดียวกันการออกแบบฉากเต้นรำต่าง ๆ ก็ทำได้ยิ่งใหญ่มาก ขนาดไม่ได้ดูหนังอินเดียบ่อยนักยังรับรู้ถึงศิลป์และศาสตร์ที่เขาทำต่อยอดจนกลายเป็นงานคราฟต์ในปัจจุบันนี้ได้อย่างดี

RRR

สมมูลค่าทุนสร้าง 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดของหนังอินเดียที่เคยสร้างมา และทำเงินคืนมาได้กว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของหนังในอินเดียตลอดกาลด้วย เรียกว่าเป็นหนังที่ตั้งใจมาทำลายสถิติในทุกแง่มุมจริง ๆ

จากที่ว่ามาต้องบอกว่าทั้งเนื้อเรื่องที่มีความขัดแย้งพลิกผันน่าเอาใจช่วยตัวละครทั้ง 2 ตลอดเวลา ประกอบกับการออกแบบฉากต่าง ๆ ทั้งการต่อสู้ ฉากเต้นหรือฉากดราม่า ผ่านทั้งภาพและเพลงที่เพลินสุด ๆ ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าความยาวกว่า 3 ชั่วโมงของหนังแทบไม่เป็นอุปสรรคเลยแม้แต่น้อย

RRR

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส