[รีวิว] Broker: ขันขื่น งานชิ้นโบแดงของ ไอยู แต่โบรอง ๆ ของโคเรเอดะ
Our score
8.0

Release Date

22/06/2022

ความยาว

129 นาที

[รีวิว] Broker: ขันขื่น งานชิ้นโบแดงของ ไอยู แต่โบรอง ๆ ของโคเรเอดะ
Our score
8.0

Broker

จุดเด่น

  1. นักแสดงหลักขั้นเทพ รวมถึงการเฉิดฉายของไอยูในฐานะตัวละครหลัก นอกจากนี้ยังมีดารารับเชิญที่คอเกาหลีจะรู้สึกคุ้มจัด ๆ การกำกับและเล่าเรื่องของโคเรเอดะเจ้าพ่อหนังรางวัลในแบบที่เบาลงกลมกล่อมมีอารมณ์ขันและมองโลกสวยงามขึ้นแล้ว น่าจะเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น

จุดสังเกต

  1. ยังมีบางจุดที่ไม่ค่อยอินรู้สึกเชื่อเท่าไรนัก ด้วยความจงใจให้ตัวละครพบทางออกที่ดีมากไปสักหน่อย ดดยสังเขปคือยังไม่รวดร้าวสาแก่ใจคอหนังโคเรเอดะแบบเดิม ๆ นัก
  • บท

    8.0

  • โปรดักชัน

    9.0

  • การแสดง

    9.5

  • ความสนุก

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.0

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ: ซังฮยอน เป็นเจ้าของร้านซักรีดและเป็นอาสาสมัครทำงานให้โบสถ์ใกล้บ้าน ใคร ๆ ต่างก็มองว่าเขาเป็นคนใจบุญ แต่ลับหลังนั้นเขาและดงซู ลูกน้องคนสนิท กลับขโมยเด็กจากกล่องทารกของโบสถ์ (กล่องที่โบสถ์ทำไว้สำหรับให้พ่อแม่นำทารกที่ตนไม่พร้อมเลี้ยงดูมาวางไว้) แล้วนำเด็กไปขายในตลาดมืด ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีแทบทุกครั้ง จนกระทั่งมีแม่คนหนึ่งชื่อ โซยอง ที่ดันเปลี่ยนใจกลับมาเอาลูกน้อยของเธอคืน ซังฮยอนและดงซูจึงพยายามโน้มน้าวให้หญิงสาวเปลี่ยนใจ ในขณะเดียวกันตำรวจหญิงสองคนกำลังสะกดรอยตามแก๊งค้าเด็กและหมายจะเข้าจับกุมซังฮยอนให้ได้คาหนังคาเขา

ผลงานของผู้กำกับ โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ (Koreeda Hirokazu) ในวัย 60 ปี ที่หากเป็นอาชีพอื่นก็คือวัยเกษียณอายุ แต่ในฐานะศิลปินที่ถ่ายทอดโลกอันหม่นเศร้าเขายังคงโลดแล่นได้อย่างมีแง่มุมประสบการณ์ที่มากขึ้น ยิ่งก่อนนี้เขาประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้ารางวัลปาล์มทองคำในปี 2018 จาก ‘Shoplifters’ ที่ตั้งคำถามกับคำว่าครอบครัวและความเป็นพ่อแม่ที่ดูต่อยอดจากหนังอย่าง ‘Like Father, Like Son’ (2013) และหนังก่อนหน้าของเขาได้อย่างน่าสนใจ และในช่วงเวลาที่ใกล้กันเขาก็ล้มเหลวจากการทำหนังฝรั่งเศสที่ถือว่าออกจากเซฟโซนของตัวเองอย่างมากใน ‘The Truth’ (2019) ที่ถูกพูดถึงอย่างเบาบางและไม่ค่อยมีใครจดจำ

Broker
โคเรเอดะ ฮิโรคาสุ

หนังเรื่อง ‘Broker’ เรื่องนี้จึงน่าสนใจว่าเขาตกผลึกอะไรมาจากช่วงเวลาที่ว่ามาบ้าง และสิ่งที่ปรากฏคือเขาได้หวนกลับมาเส้นทางที่อยู่มือ ด้วยการทำหนังแนวครอบครัวที่อิงจากเค้าโครงเรื่องจริง โดยในครั้งนี้เป็นข่าวเรื่องกล่องทารก (Baby Box) ของเกาหลีใต้ที่ว่ามีโบถส์ในกรุงโซลตั้งกล่องรับเด็กทารกที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูให้มาวางทิ้งไว้ได้ ซึ่งเป็นอีกข่าวที่มีแง่มุมสะท้อนเรื่องของนิยามคำว่าครอบครัวในสังคมปัจจุบันที่ดูสับสนและขมขื่นได้อย่างดี และยังเป็นการท้าทายเซฟโซนของโคเรเอดะเองอีกครั้งในการทำงานนอกวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คุ้นชิน แต่รอบนี้เขาขอขยับมาเป็นเกาหลีที่แม้มีความแตกต่างแต่ก็ยังร่วมวัฒนธรรมแบบเอเชียตะวันออกเหมือนกัน ทำให้การนำเสนอค่อนข้างอยู่มือและเป็นตัวเอง เป็นการแก้ปมในใจครั้งฝรั่งเศสของเขาได้อย่างละมุนละม่อม

Broker

โจทย์ของโคเรเอดะที่น่าสนใจคือเขาจะเล่าเรื่องกล่องทารกอย่างไร ในเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้ามีหนังสารคดีอย่าง ‘The Drop Box’ (2015) ของผู้กำกับอเมริกัน ไบรอัน เทตซูโร ไอวี (Brian Tetsuro Ivie) ทำประเด็นนี้ออกมาได้อย่างน่าสนใจมากแล้ว และในขณะเดียวกันแง่มุมเชิงสังคมต่าง ๆ ทั้งแง่บวกและแง่ลบก็ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนมามากมายเช่นกัน

Broker
ภาพกล่องทารกของจริงจากสารคดี The Drop box

ผลคือโคเรเอดะเลือกใช้ต้นเรื่องเพื่อขยายความ มาเป็นสถานการณ์บททดสอบความคิดของคุณแม่คนหนึ่งที่ยืนอยู่บนหลายแพร่งแห่งทางเลือก เมื่อเธอตัดสินใจทิ้งเด็กไปแล้วครั้งหนึ่งแต่ยังได้โอกาสเลือกใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่เธอและคนดูก็ไม่รู้ว่าเวลาในการเลือกครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นตอนไหน คำตอบที่กลายเป็นครั้งสุดท้ายอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็ได้เพียงแต่มันหมดเวลาการเลือกเสียก่อน ซึ่งในหนังคือการทำงานของตำรวจคู่หูที่ต้องปิดคดีและฝั่งของสมาชิกแก๊งอาชญากรรมที่ต้องการตัวเด็กทารกไปขายเช่นกัน ตรงนี้ทำให้หนังน่าสนใจขึ้นมาก

Broker

และแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีชื่อเรื่องที่สื่อไปถึงตัวละครที่เป็นโบรกเกอร์หรือนักค้าเด็กทารก ที่ส่งให้การแสดงของ ซงคังโฮ (Song Kang-ho) ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากคานส์ แต่เอาเข้าจริงแล้วเขาทำหน้าที่เป็นภาชนะชั้นดีที่สามารถใส่ผสมสารเคมีหลากหลายในนั้นให้ทำปฏิกิริยาได้อย่างตื่นตา ซึ่งหมายถึงการแสดงของเขาอุ้มชูหนังให้นักแสดงคนอื่น ๆ สามารถแผลงฤทธิ์ทางการแสดงได้มากขึ้น ในทางเดียวกันก็ต้องชม แบดูนา (Bae Doona) ที่ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระฝั่งผู้หญิงได้ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน แม้สำหรับคนดูหนังทั่วไปอาจไม่รู้สึกความสำคัญของทั้งคู่มากนัก

Broker

ในแง่ผู้ชมที่ดูโดยทั่วไปจึงไม่แปลกที่อาจตราตรึงใจกับการแสดงของบทคุณแม่ยังสาวอย่าง อีจีอึน (Lee Ji-eun) หรือที่รู้จักกันในนาม ไอยู (IU) มากเสียกว่า และเธอเองก็สามารถฉวยโอกาสที่รุ่นพี่และผู้กำกับเตรียมพื้นที่ไว้ให้วาดลวดลายออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งความกังวล ความขมขื่น สับสน และเป็นทั้งความสิ้นหวังและความหวังผ่านสายตาของตัวละครนี้ไปยังผู้ชมได้ตลอดเรื่อง เป็นงานที่ตัวเธอเองและแฟนคลับน่าจะภูมิใจมากครั้งหนึ่ง และเธอน่าจะเป็นตัวแทนของคำว่า Broken ที่ชื่อหนังคล้ายจะเล่นคำไปถึงไม่น้อย

Broker

และแม้นักแสดงทั้งหลักและรับเชิญมากมายจะทำหน้าที่ได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเพราะผู้กำกับอย่างโคเรเอดะเองก็สร้างเวทีการแสดงไว้ดีมากเช่นกัน แม้ว่าเขาจะเป็นผู้กำกับที่มีสไตล์ชัดเจนโดดเด่นในการสร้างฉากและบทสนทนาว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ จู่โจมผู้ชมให้สะเทือนใจโดยไม่รู้ตัว และมักมีรสความนิ่งแบบญี่ปุ่นแต่ก็น่าสนใจว่าการได้ผู้กำกับภาพ ฮงคยองพโย (Hong Kyung-pyo) ที่ผ่านงานร่วมกับผู้กำกับเกาหลีดัง ๆ มาหมดทั้ง ‘Snowpiercer’ (2013) ‘The Wailing’ (2016) ‘Burning’ (2018) ‘Parasite’ (2019) ก็ทำให้หนังมีกลิ่นเกาหลีเข้มมากขึ้น และเกิดฉากที่คุ้น ๆ จากหนังทั้งฉากเปิดที่นึกถึงซอยชนชั้นปรสิตในวันฝนตกน้ำท่วม หรืองานปาร์ตี้ในสวนของบ้าน ตลอดจนฉากแสงส้มย้อมมือและใบหน้าของตัวละครขณะพร่ำเพ้อหลุดไปในห้วงความคิด เป็นต้น

Broker

แต่หากจะพูดถึงในแง่ที่สัมผัสหนังของโคเรเอดะในแนวใกล้กันมาหลายเรื่อง ต้องยอมรับว่านี่เป็นหนังที่กลมกล่อมย่อยง่าย มีอารมณ์ขันแทรกเป็นระยะ มีคามิโอที่แฟนวงการบันเทิงเกาหลีต้องตื่นตาตื่นใจจากทั้ง ‘Itaewon Class’ ‘Crash Landing on You’ ‘Reply 1988’ หรือ ‘The World of the Married’ และมีการมองโลกที่สดใสขึ้น ตัวละครมีทางเลือกและชะตากรรมที่ไม่โหดร้ายนัก เรียกว่าโคเรเอดะในวัย 60 ปี ดูใจดีกับตัวละครและผู้ชมมากขึ้น เห็นความหวังมากกว่าเรื่องอื่น ๆ พอสมควร อาจจะเหมาะกับการเชิญชวนผู้ชมหน้าใหม่ที่สนใจดราม่าแบบเกาหลีให้มารู้จักกับโคเรเอดะ ในขณะที่แฟนเก่าก็ได้แก้กระหายความคิดถึงและได้เห็นพัฒนาการในแบบมองโลกแง่บวกอย่างใน ‘Like Father, Like Son’ มากขึ้น แต่ส่วนตัวก็ยังคิดถึงฮุกหนัก ๆ จุก ๆ ใจร้ายกับตัวละครมากหน่อยแบบใน ‘Nobody Knows’ (2004) หรือ ‘Shoplifters’ อยู่เหมือนกัน

และแม้ว่าหนังค่อนข้างกลมกล่อม แต่ก็ยังมีบางจุดที่รู้สึกหนังมักง่ายในการเดินเรื่อง ขาดความสมจริงในการกระทำไปบ้างในช่วงหนึ่งเป็นแบบหนึ่งแต่อีกช่วงกลับละเลยไป มีท่าที่ความคิดแบบทุ่งลาเวนเดอร์อยู่บ้าง ทั้งที่ทั้งเรื่องตั้งท่าโทนซีเรียสจริงจังสมจริงมาแต่ต้น แต่อันนี้ก็อาจเป็นเรื่องรสนิยมและความคาดหวังก่อนรับชมของแต่ละท่านด้วย

Broker

หนังค่อนข้างยาวและค่อย ๆ กร่อนกำแพงหัวใจคนดูอย่างเรียบช้า เหมาะกับการชมในโรงภาพยนตร์ที่ช่วยเพิ่มสมาธิในการเก็บรายละเอียด หากมีโอกาสก็แนะนำให้รีบดูก่อนลาโรงครับ

Broker

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส