[รีวิวซีรีส์] Man vs. Bee: แท้จริงคือตลกร้าย ของชายที่เป็นอดีตมิสเตอร์บีน
Our score
7.0

Release Date

24/06/2022

ความยาว

9 ตอน ตอนละประมาณ 20 นาที

[รีวิวซีรีส์] Man vs. Bee: แท้จริงคือตลกร้าย ของชายที่เป็นอดีตมิสเตอร์บีน
Our score
7.0

Man vs. Bee

จุดเด่น

  1. การแสดงเน้นตลกท่าทางของศิลปินตลกอัจฉริยะแห่งยุคที่ห่างหายไปนาน พลอตง่าย ๆ ที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย เป็นตลกที่ดูง่ายและไร้พิษภัยสุด ๆ

จุดสังเกต

  1. มีความเชยและคาดเดาง่ายอยู่บ้าง แต่ละตอนอาจให้เวลาสั้นมากไปหน่อย
  • บท

    6.5

  • โปรดักชัน

    8.0

  • การแสดง

    9.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.5

เรื่องย่อ: คน ??‍♂️ + ผึ้ง ? + น้องหมา ? = ปังปินาศ ? เมื่อพนักงานรับดูแลบ้านคนหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับการรุกรานของผึ้งน้อยตัวหนึ่งจนเหตุการณ์ขยายบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ใครก็จินตนาการไม่ออก

ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ตอนละ 20 นาที แบบดูยาว ๆ 9 ตอนจบ ที่สามารถดูเพลิน ๆ ไหล ๆ แป๊บเดียวก็จบแล้ว จุดสนใจของเรื่องนี้อยู่ตรงเป็นผลงานที่ห่างหายหน้าจอไปนานของ โรแวน แอตคินสัน (Rowan Atkinson) ที่โด่งดังจากการสวมบท มิสเตอร์บีน (Mr. Bean) ตัวละครตลกท่าทางเล่นหน้าตายอดนิยมจนเป็นไอคอนในระดับโลก ซึ่งผลงานหลัง ๆ ที่เราพอจำได้คือต้องย้อนไปถึงหนังเรื่อง ‘Johnny English Strikes Again’ (2018) กันเลยทีเดียว

และสำหรับโปรเจกต์หวนคืนครั้งนี้เขาจึงเข้าคู่กับมือเขียนบท วิล เดวีส์ (Will Davies) ซึ่งเคยเขียนบทให้แอตคินสันได้หลุดพ้นจากการเป็นคุณบีนมาเป็นสายลับจอห์นนีถึง 3 ภาคมาแล้ว โดยมอบหมายให้ผู้กำกับ เดวิด เคอร์ (David Kerr) ที่ร่วมงานกันใน ‘Johnny English Strikes Again’ มาทำหน้าที่คุมการเล่าเรื่อง

เหมือนว่าโจทย์ของทีมสร้างคือต้องใช้จุดเด่นในการเล่นตลกแบบแอตคินสัน แต่ต้องสลัดภาพของมิสเตอร์บีนให้ได้ด้วย บทสรุปจึงออกมาที่การสร้างตัวละครใหม่ที่ชื่อ เทรเวอร์ ชายซื่อ ๆ ที่ล้มเหลวในการเป็นผู้นำครอบครัว แต่ได้โอกาสในการกอบกู้ศรัทธาของภรรยาและลูกสาวคืนมา ด้วยการหางานใหม่เป็นผู้รับดูแลเฝ้าบ้านหรูที่ต้องทำหน้าที่ครั้งแรกให้ลุล่วงให้ได้ มันจึงมีสิ่งที่ต่างจากบุคลิกของพวกขี้แพ้แบบไม่มีแต้มต่อที่สร้างความมั่นใจแปลก ๆ อย่างในมิสเตอร์บีนที่ดวงแข็งทำอะไรพลาดก็กลายเป็นดี หรือสายลับจอห์นนีที่มีอุปกรณ์สายลับไฮเทคกับการพกดวงมาแบบสุด ๆ และทำให้เทรเวอร์ยอดมนุษย์ดวงซวยนี้เป็นตัวละครใหม่ ๆ ที่แอตคินสันจะได้ลองนำเสนอดู

Man vs. Bee

และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการจะต้องดึงความโดดเด่นในการใช้ท่าทางเล่าเรื่องแทนคำพูดของแอตคินสันออกมา ก็ทำให้ทีมสร้างคิดสถานการณ์ประหลาดที่คนกับสัตว์ (ในที่นี้คือผึ้งกับน้องหมา) ต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เมื่อไม่มีคนอื่นให้ต้องสนทนาด้วยมากนัก พลังการแสดงของแอตคินสันก็จะเฉิดฉายได้เต็ม ๆ ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ทีมสร้างคิดมาได้ฉลาดทีเดียว ที่จะช่วยหนีข้อครหาว่าย่ำเท้าอยู่ในบทบาทเดิม ๆ ของแอตคินสันเอง

จุดที่ดีคือแม้จะมีพลอตที่ไม่ซับซ้อนอะไรมากแต่หนังก็สร้างความสงสัยให้คนดูอยากติดตามด้วย โดยเปิดเรื่องจากฉากในศาลที่ทำให้เห็นว่าเทรเวอร์กำลังเผชิญชะตากรรมลำบากในฐานะจำเลย จนชวนให้สงสัยว่าเขาไปทำอะไรร้ายแรงมา แล้วจึงค่อย ๆ ย้อนหลังเรื่องราวทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ดูมีลีลาการเล่าเรื่องมากขึ้น

Man vs. Bee

ซีรีส์แนวนี้จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ตรงที่จะประเคนสถานการณ์ใส่ตัวละครได้มากขนาดไหน ถี่ขนาดไหน และดูยุ่งยากขนาดไหน ยิ่งวอดวายมากเท่าใด เรื่องราวก็ยิ่งสนุกขึ้นเท่านั้น และทีมสร้างก็ทำในจุดนี้ได้ดีช่วงเวลาแค่ไม่กี่วันในเรื่อง ตัวละครต้องเจอสารพัดความวายป่วงแบบไม่เว้นว่างกันเลยทีเดียว

ทว่าจุดที่น่าเสียดายคือถึงปริมาณจะมาก แต่คุณภาพของมุกหรือสถานการณ์ที่ใส่เข้ามาก็ต้องดีด้วยถึงจะสมบูรณ์แบบ ต้องยอมรับว่าแม้มุกส่วนใหญ่จะเล่นกับข้าวของไฮเทคที่อยู่ในบ้านหรูเป็นหลัก เพื่อให้เทรเวอร์ที่เป็นคนยุคบูมเมอร์ที่ไม่ถนัดเทคโนโลยีแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ว่าสุดท้ายเนื้อในของมุกก็ยังเป็นมุกแบบคลาสสิกเดิม ๆ ประมาณแมวกัดกับหนูเช่นใน ‘Tom and Jerry’ ซึ่งแค่เปิดแต่ละมุกมาก็พอเดาผลลัพธ์กันได้แล้ว มันเลยขาดความรู้สึกเกินคาดซึ่งเป็นสูตรสำเร็จหนึ่งในศิลปะการสร้างอารมณ์ขัน

Man vs. Bee

ปัญหาอีกอย่างที่เราไม่ค่อยรู้สึกกับผลงานก่อนหน้าของแอตคินสัน คือความอยากเอาใจช่วยที่หดหายไปมาก ตัวละครอย่างเทรเวอร์เข้าข่ายสร้างปัญหาให้ตัวเอง หรือจะบอกเรื่องราวมันแย่ก็เพราะความโง่ไม่รอบคอบของเขาเองมากเสียกว่าว่าโชคชะตากลั่นแกล้งอย่างที่เกิดในมิสเตอร์บีน เทียบกันคือระหว่างคนที่วิ่งเข้าไปเก็บหมวกที่ปลิวไปในอาคารแล้วดันเกิดไฟไหม้พอดี เราก็อยากเอาใจช่วยมากกว่าคนที่เห็นไฟไหม้แล้ววิ่งเข้าใส่เองเพราะดูน่าสนุกอยู่แล้ว นี่ก็เป็นอะไรที่คล้ายกันและทำให้เข้าใจง่ายว่าทำไมเรารักมิสเตอร์บีน แต่อาจไม่รู้สึกชอบเทรเวอร์เท่าไหร่นัก

และจากจุดนี้ก็น่าสนใจดีเหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นผึ้ง (Bee) ที่เป็นคู่ปรับกับแอตคินสันในครั้งนี้ ถ้ามองว่าเขากำลังสู้รบปรบมือกับภาพจำที่ก้าวไม่พ้นสักที มันก็อาจเป็นการเล่นคำว่าเขากำลังสู้กับนายบีน (Bean) ที่เสียงคล้ายกันอยู่ก็ได้

Man vs. Bee

หากมองข้ามเรื่องของการเป็นซีรีส์ตลกที่ถือว่าทำได้ผ่านมาตรฐานแต่อาจไม่ได้น่าประทับใจนักไป แล้วมองไปที่แอตคินสันเป็นศูนย์กลาง ซีรีส์เรื่องนี้ก็เหมือนการเปลือยความรู้สึกของเขาในวันที่ความนิยมหรือทักษะของเขาอาจไปไม่ทันกับโลกยุคใหม่เสียแล้ว เร็ว ๆ นี้เขาเพิ่งบ่นว่าการเล่นตลกในยุคนี้มันยากเพราะทุกอย่างเป็นประเด็นอ่อนไหวแตะต้องไม่ได้ ไปหมด ถึงเราจะเห็นด้วยกับเรื่องความเท่าเทียมความหลากหลายต่าง ๆ แต่ในมุมของวงการตลกก็ต้องยอมรับว่าไอ้การล้อเลียนหรืออาจเข้าขั้นเหยียดด้วยนั้นมันคือสูตรสำเร็จของความขำขันในภาษาสากล ตลกบางคนยังต้องหันไปล้อเลียนตัวเองแทนทั้งที่รู้ว่าไม่ตลกเท่าที่ล้อคนอื่นแต่ก็เห็นได้บ่อยครั้งในยุคนี้

Man vs. Bee

อีกทั้งสื่อยุคนี้ก็รวดเร็วฉาบฉวยขึ้นคนไม่อยากดูรายการตลกยาว ๆ เป็นครึ่งชั่วโมงแล้วในเมื่อคลิปสั้น ๆ ในติ๊กต็อกมันก็ฮาได้แล้ว ตอนที่ดูซีรีส์นี้ก็มีคำถามเหมือนกันว่ามันตัดรวมเป็นหนังยาวเรื่องหนึ่งได้เลยนะทำไมต้องมาหั่นหลายต่อนขนาดนี้ แต่พอมองในแง่ที่ว่าคนดูฉาบฉวยขึ้นและถูกล่อลวงด้วยจำนวนตอนสั้น ๆ หลายตอนได้ดีกว่าหนังยาวเต็มเรื่อง มันก็เหมือนทีมสร้างเขาทำมันแบบเย้ยหยันโลกความจริงของการรับชมของคนยุคใหม่อยู่ไม่น้อยเลยเหมือนกัน

หนัง ‘Man vs. Bee’ ถ้ามองให้ลึกมันก็คือ ตลกยุคเก่า vs. โลกยุคใหม่ แอตคินสันที่ต้องสู้กับมุกตลกของคนรุ่นใหม่แบบ 9gag หรือมีมต่าง ๆ ก็ไม่ต่างกับเทรเวอร์ที่เจอกับบ้านไฮเทคแล้วไปไม่เป็นเหมือนกัน ถึงเขาจะมีประสบการณ์ดูแลบ้านตัวเองหลายสิบปีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย มองในแง่นี้เราก็แอบเชียร์แอตคินสันให้โลดแล่นต่อไปยาว ๆ เหมือนกัน ในฐานะที่เขาเป็นศิลปินตลกอาชีพ ไม่ใช่แค่คนที่ตลกแล้วอยู่ในคลิป 10 ล้านวิวที่เป็นกระแสอยู่ไม่ถึงเดือนแค่นั้น

Man vs. Bee

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส