[รีวิว] Incantation: ศูนย์รวมความน่ากลัว
Our score
8.0

Release Date

08/07/2022

ความยาว

110 นาที

[รีวิว] Incantation: ศูนย์รวมความน่ากลัว
Our score
8.0

Incantation

จุดเด่น

  1. หนังสยองขวัญที่น่ากลัวจริง ๆ ที่ดูแล้วคงอยากบอกต่อ

จุดสังเกต

  1. มีการใช้เทคนิคที่ทำให้กลัว เช่นเล่นกับอาการโรคกลัว บางคนอาจไม่เหมาะ มีฉากที่ทำให้ตกใจบ้างนิดหน่อย พากย์ไทยแปลได้อารมณ์กว่าซับไทย
  • บท

    8.5

  • โปรดักชัน

    8.0

  • การแสดง

    7.5

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    8.0

เรื่องย่อ: 6 ปีก่อนหญิงสาวคนหนึ่งออกล่าท้าผีกับเพื่อนที่บ้านเกิดของแฟนหนุ่ม และได้พบพิธีกรรมที่อธิบายไม่ได้ ในตอนนี้เธอต้องหาทางช่วยลูกสาวที่เหมือนจะถูกหลอกหลอนจากคำสาปทั้งที่อยากจะลืมเหตุการณ์ในตอนนั้น

หนังเรื่องนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนังทำเงินสูงสุดในปี 2022 และยังครองแชมป์หนังสยองขวัญที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในไต้หวัน แน่นอนว่าหนังผี-หนังสยองขวัญที่ปลุกความกลัวในใจคน ยิ่งเข้าถึงความกลัวที่เป็นสากลได้มากเท่าไร ก็ยิ่งจะตรึงหัวใจผู้ชมหมู่มากได้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น และหนังที่ประสบความสำเร็จเชิงรายได้สูงเรื่องนี้ก็เช่นกัน เหมือนว่าผู้กำกับ เค่อเหมิ่งหรง (Kevin Ko) ที่เคยเดบิวต์อาชีพด้วยหนังสยองขวัญเกรดบีอย่าง ‘Invitation Only’ (2009) ก่อนจะพักไปทำหนังแนวโรแมนติกอยู่หลายเรื่อง ได้กลับไปทำการบ้านมาอย่างดีว่าคนมักจะกลัวอะไรและเลือกผสมมันมาใช้ได้อย่างชาญฉลาดทีเดียว

Incantation

หนึ่ง ฐานของความกลัวของมนุษย์ย่อมมาจากความไม่เข้าใจ หรืออธิบายไม่ได้

หนังเรื่องนี้ก็นำความสับสนคลุมเครือมาใช้ได้อย่างดี ตั้งแต่ฉากเปิดที่อิงเรื่องการรับรู้แบบวิทยาศาสตร์ว่าเราอาจตีความภาพที่เห็นได้หลายแบบ แล้วโยงเข้าสู่เรื่องเหนือธรรมชาติว่าเหล่าความเชื่อเองก็สามารถถูกมองได้หลายแง่มุมเช่นกัน เป็นการดึงผู้ชมที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ค่อย ๆ กลืนไปกับเรื่องเหนือธรรมชาติและสับสนต่อความจริงที่รับรู้ไปพร้อมกันด้วย

และแม้จะเปิดมาแต่ต้นว่าสิ่งต่าง ๆ ที่จะได้ดูต่อไปนั้นคือเรื่องราวที่ตัวเอกอย่าง หลี่รั่วหนาน ได้เผชิญมานานแล้วและเป็นผลพวงจากประสบการณ์ล่าท้าผีกับเพื่อนในสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็ตาม ทว่าหนังก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากมายนัก เพียงแต่ความรุนแรงของภาพที่อัดกระหน่ำมาให้รู้สึกว่ามันซีเรียสขนาดไหน และการเลือกตัดสลับเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เธอพร่ำพูดราวถูกผีสิงอยู่หน้ากล้อง กับอดีตไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่เธอรับลูกสาวมาอยู่ด้วยกันหลังจากพรากกันไปด้วยเหตุผลบางอย่าง และก็ยังตัดสลับกับอดีตเมื่อ 6 ปีก่อนที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างที่หมู่บ้านในชนบท

Incantation

ด้วยข้อจำกัดการรับรู้ที่ไม่ลำดับเวลา ข้อมูลที่ตัวเอกไม่ทราบหรือไม่บอก รวมถึงการรับรู้ผ่านเรื่องราวทั้งหมดผ่านกล้องวิดีโอแฮนดี้แคมที่ถูกใช้บันทึกภาพการล่าท้าผี และโฮมวิดีโอที่รั่วหนานอยากเก็บความทรงจำกับลูกสาวเอาไว้ ทำให้ผู้ชมไม่สามารถรับรู้เรื่องราวเมื่อกล้องไม่ได้บันทึกแต่เกิดขึ้นอยู่เช่นกันได้ เหล่านี้ล้วนเล่นต่อจิตใจคนที่ไม่เข้าใจต่อเหตุการณ์ และเมื่อเจอสถานการณ์พิธีกรรมที่ไม่มีคำอธิบายและเกินตรรกะทั่วไปก็ถือเป็นจุดสำคัญที่ความไม่เข้าใจสร้างความกลัวที่หนังต้องการพาไปให้ถึง

ความกลัวต่อสิ่งที่ไม่เข้าใจนี้ยังเกี่ยวเนื่องถึงตัวคาถาที่ตัวละครพร่ำสวดตลอดเรื่องด้วยเสียงที่ไม่เป็นภาษา และโทนต่ำดูน่ากลัว ทั้งยังเป็นกลลวงที่หนังตั้งใจนำมาใช้เฉลยเพื่อสร้างความขนหัวลุกในตอนท้ายด้วย

Incantation
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือภาพในหัวของแต่ละคน จากช่องว่างที่หนังเปิดให้เราเติมเต็ม

สอง ความกลัวอย่างไม่มีเหตุผล (Phobia)

หนังจงใจใช้โรคกลัวที่พบว่ามีคนเป็นค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีอาการมากน้อยก็แล้วแต่คน ทั้งอาการกลัวรู (Trypophobia) ที่นำมาใช้เป็นอาการของการถูกคำสาปอย่างรุนแรงจนผิวหนังพรุนเป็นรังผึ้ง หรืออาการกลัวที่แคบ (Claustrophobia) ที่เราต้องติดตามตัวละครเข้าไปสำรวจอุโมงค์ต้องห้ามขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีแง่มุมของความกลัวอื่น ๆ อีกทั้งความกลัวต่อสิ่งที่ไม่มีใบหน้า กลัวการถูกจ้องมอง กลัวความมืด กลัวตุ๊กตา กลัวภาพความตาย ศพ หรือความกลัวจากสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดเดาเช่น อุบัติเหตุ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสมองของบางคนและยากที่จะสะกดกั้นได้ ซึ่งผู้สร้างก็วางไว้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างฉากต่าง ๆ ขึ้นมา

ใครที่มีความกลัวต่อสิ่งที่ว่ามารุนแรงก็ต้องระวังในการชมสักหน่อย

Incantation

สาม ความใกล้ชิด

ความสมจริงที่ทำให้คนดูรู้สึกว่าน่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้รวมถึงตัวเราเอง หนังใช้ปมความสัมพันธ์ที่เข้าใจได้ไม่ยาก ความรักของแม่ที่มีต่อลูกน่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ทุกคนเข้าใจได้ทันทีว่าการกระทำที่เกิดจากความรักนี้ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ ก้ช่วยสร้างความเชื่อให้ผู้ชมมากขึ้น

นอกจากนี้ตัวหนังยังอ้างว่าสร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริงของครอบครัวหนึ่งในเมืองเกาสงของไต้หวันเมื่อปี 2005 ด้วย เมื่อใดที่หนังอ้างว่าอิงจากเรื่องจริงหนังเรื่องนั้นก็มักจะได้แต้มต่อพิเศษในการสร้างความเชื่อต่อผู้ชมขึ้นมา แม้มันจะเต็มไปด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่ไม่ได้พบในชีวิตประจำวัน แต่ความไร้เหตุผลนั้นมันก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นเพราะมันถือว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

Incantation

และน่าสนใจว่าสำหรับผู้ชมชาวไทย ผี หรือ เทพ ในเรื่องนั้นก็ดูคุ้นเคยจากวัฒนธรรมร่วมของจีน แถมยังอิงว่ามีพื้นฐานความเชื่อแนวลัทธิจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยก็ยิ่งทำให้ผีนั้นยิ่งใกล้ชิดเรามากขึ้น ซึ่งหนังไต้หวันก็มองเห็นจุดแข็งของผีจากโซนบ้านเรา ที่เต็มไปด้วยความขลัง และความยากอธิบายมาแล้ว อย่างใน ‘The Rope Curse 2’ (2020) ที่อ้างถึง พรายมหาภูต วิญญาณที่ร้ายที่สุดในประเทศไทย (ตามที่หนังอ้าง) เป็นต้น จริง ๆ ถ้าผลักดันจุดแข็งนี้ออกไปอีกก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่น่าสนใจ อย่างน้อยก็ในตลาดไต้หวันหรือเอเชียด้วยกัน

Incantation

สี่ ศาสตร์ทางภาพยนตร์ที่สาดใส่ภาพและเสียงอย่างหนัก

หนังผียุคหลัง ‘The Blair Witch Project’ (1999) ก่อให้เกิดแนวทางแบบสารคดีปลอม (Mockumentary) ที่กลมกลืนระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งจนแยกออกได้ยาก คุณภาพของงานสร้างไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการประดิษฐ์ให้สวยงาม แต่เป็นการประดิษฐ์ให้สมจริง เทคนิคการถ่ายถือกล้องแบบแฮนด์เฮลด์ช่วยเลี่ยงหลบพวกความไม่สมบูรณ์ได้เฉกเช่นเดียวกับการถ่ายโหมดกลางคืนที่กลบรายละเอียดไปได้มาก ทั้งตัวภาพที่สีแปลกประหลาด มืดทึม และความสั่นไหวก็สะท้อนภาวะความไม่มั่นคงไปสู่ใจของผู้ชมได้เด่นชัด

Incantation

น่าสนใจว่าหนังเรื่องนี้สามารถผสมระหว่างการถือกล้องถ่ายที่สั่นไหว และการตั้งกล้องนิ่งเพื่อให้เห็นภาพกว้างของเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสม โดยให้เห็นว่าตัวละครเป็นผู้ตั้งกล้องเองทำให้ผู้ชมไม่ข้องใจในที่มาของมุมกล้องต่าง ๆ แม้ว่าความเป็นจริงหลายมุมกล้องที่เกิดขึ้นผู้สร้างก็แอบโกงไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้ถ่ายอยู่เช่นกัน แต่ก็เพื่อให้การเล่าเรื่องราบรื่นนั่นเอง ที่เราไม่ได้เอะใจมากก็เพราะส่วนอื่น ๆ ของเรื่องมันช่วยดึงความสนใจเราออกไปได้อยู่

นอกจากนี้ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างคือการใช้เสียงที่ส่งพลังและสร้างบรรยากาศได้อย่างน่าขนลุก มีเสียงโทนต่ำของเสียงสวดผสมกับเสียงก้อง ๆ เหมือนลมที่ไหลผ่านไปตามอุโมงค์ลึก นี่เป็นอีกสูตรสำเร็จที่หนังคอยสอดใส่มาตลอด และคลุมโทนของเรื่องไว้ได้อย่างลงตัว แน่นอนว่าเมื่อถึงช่วงเฉลยในภายหลังเสียงสวดนี้ก็ยิ่งติดังในหูผู้ชม ส่งความน่ากลัวให้หลอนมากยิ่งขึ้นไปอีก

Incantation

‘Incantation’ หรือ ‘มนตรา’ จึงเป็นหนังไต้หวันที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยกลวิธีที่คิดมาอย่างดีว่าจะสร้างความกลัวให้ผู้ชมได้มากที่สุด และเหมาะกับการศึกษาแง่มุมความกลัวได้อย่างดี ถ้าจะมีแนะนำอย่างหนึ่งคือควรดูพากย์ไทยมากกว่า เพราะแปลได้ดีกว่าซับไทย

Incantation

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส