[รีวิว] Bullet Train –  รถไฟบ้า นักฆ่ารั่ว มึน ๆ นัว ๆ ไม่กลัวตกราง
Our score
6.9

Release Date

11/08/2022

แนว

แอ็กชัน/ทริลเลอร์/ตลก

ความยาว

2.06 ช.ม. (126 นาที)

เรตผู้ชม

R (18+)

ผู้กำกับ

เดวิด ลิตช์ (David Leitch)

SCORE

6.9/10

[รีวิว] Bullet Train –  รถไฟบ้า นักฆ่ารั่ว มึน ๆ นัว ๆ ไม่กลัวตกราง
Our score
6.9

Bullet Train | ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

จุดเด่น

  1. เล่าเรื่องได้มันมือมาก วางจุด วางปม ปู ชง เก็บละเอียดยิบ ค่อย ๆ คลายปมทีละเปลาะอย่างมีชั้นเชิง
  2. หยิบเอาประเด็นเกี่ยวกับชะตาชีวิต ความบังเอิญ ดวงดี ดวงซวย มาเล่าตีความได้สนุกมาก ๆ
  3. แบรด พิตต์ เท่มาก ลุงชิเหน๋ โคตรเท่ ส่วนคู่หูผลไม้ก็กวงติงดี
  4. แขกรับเชิญบาน รับรองเซอร์ไพรส์แน่นอน

จุดสังเกต

  1. เดินเรื่องอืดไปหน่อย ถ้าเร่งมากกว่านี้ หรือสั้นกว่านี้ อาจเล่าแบบรวดเดียวจบได้แบบมัน ๆ กว่านี้
  2. ประเด็นเรื่องความบังเอิญกลายเป็นเหมือนดาบสองคมเหมือนกัน ทำให้ปมเรื่องราว การกระทำของตัวละครดูบังเอิญ ดูง่ายไปหมด
  3. งาน VFX ยังไม่ค่อยเนียน สู้หนังยุคนี้ไม่ได้ แต่เข้าใจว่าทุนคงหนาไม่เท่า ซีจีกลางคืนสวยกว่ากลางวัน
  • คุณภาพด้านการแสดง

    7.1

  • คุณภาพโปรดักชัน

    6.0

  • คุณภาพของบทภาพยนตร์

    7.6

  • ความบันเทิง

    6.8

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.1


สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

‘Bullet Train’ หรือในชื่อไทย ‘ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า’ หนังแนวแอ็กชันคอมมีดี้สีสันจัดจ้านเรื่องล่าสุดของ โซนี่ พิกเจอร์ส (Sony Pictures) และ โคลัมเบีย พิกเจอร์ส (Columbia Pictures) ที่คราวนี้เลือกหยิบเอาความเป็นมาตุภูมิ บ้านเกิดเมืองนอนของโซนี่อย่างประเทศญี่ปุ่นมาเล่าในรูปแบบของหนังคอมมีดี้แอ็กชัน โดยเฉพาะการหยิบเอาเรื่องราวจากหนังสือนิยายแนวอาชญากรรมขายดีของญี่ปุ่น ที่มีศูนย์กลางของเรื่องก็คือรถไฟหัวกระสุน หรือรถไฟ ‘ชิงกังเซน’ ชื่อกระฉ่อนที่คนทั้งโลกรู้จักกันดีนั่นเอง

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

แซ็ก โอลเกวิคซ์ (Zak Olkewicz) ผู้เขียนบทหนังเรื่องนี้ ดัดแปลงบทมาจากเรื่องราวในหนังสือนิยายแนวแอ็กชันของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ‘Maria Beetle’ (2010) ผลงานของ อิซากะ โคทาโร (Kotaro Isaka) ซึ่งเรื่องดั้งเดิมเป็นการเล่าเรื่องการดวลกันของนักฆ่าบนรถไฟชิงกังเซน ซึ่งถ้าใครถ้าอยากหามาอ่านก่อนดูหนัง ก็สามารถติดต่อสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ถามหาหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลไทยในชื่อว่า ‘รถไฟสายนักฆ่า’ หนังสือลำดับที่ 2 ในชุด ‘ไตรภาคนักฆ่า’ จากผู้เขียนคนเดียวกันได้เลยนะครับ

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

หนังเรื่องนี้ได้ผู้กำกับสายแอ็กชันอย่าง เดวิด ลิตช์ (David Leitch) มากำกับให้ครับ ที่บอกว่าสายแอ็กชันก็เพราะว่างานของเขานี่เด่นไปทางหนังแอ็กชันระดับบล็อกบัสเตอร์ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่ ‘John Wick’ (2014) (กำกับร่วมกับ แชด สตาเฮลสกี (Chad Stahelski)) ‘Atomic Blonde’ (2017), ‘Deadpool 2’ (2018) และ ‘Fast & Furious: Hobbs & Shaw’ (2019)

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

และไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ เพราะนักแสดงนำอย่าง แบรด พิตต์ (Brad Pitt) และ แซนดรา บุลล็อก (Sandra Bullock) ที่เคยเจอกันไปแล้วในหนัง ‘The Lost City’ (2022) ก็วกกลับมาเจอกันอีกครั้งในหนังเรื่องนี้ด้วยนะครับ คราวที่แล้ว พิตต์ไปรับเชิญให้หนังของบุลล็อก ครั้งนี้บุลล็อกก็เลยมารับเชิญให้หนังของพิตต์บ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วแต่เดิมบทนี้เป็นของ เลดี กาก้า (Lady Gaga) แต่เสียดายที่ตารางงานเจ๊แกไปชนกับ ‘House of Gucci’ (2021) ซะก่อน

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

เรื่องราวย่อ ๆ ของหนังเรื่องนี้ ว่าด้วยเรื่องราวของนักฆ่าหนุ่มนาม ‘เลดี้บัก’ (Brad Pitt) (ชื่อน่ารักมุ้งมิ้งเชียว (555) เลดี้บักเป็นนักฆ่าประสบการณ์โชกโชน แต่มักจะพบกับจังหวะชีวิตเฮงซวย เจอเรื่องดวงกุดอยู่บ่อย ๆ ก็เลยอยากจะพักงาน สงบจิตใจ เดินเที่ยวเมืองญี่ปุ่นบ้างอะไรบ้าง แต่แล้วเขาเองก็ต้องจำใจรับภารกิจจาก ‘มาเรีย บีเทิล’ (Sandra Bullock) ให้ไปฉกกระเป๋าปริศนาใบหนึ่งบนรถไฟหัวกระสุนชิงกังเซน

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

แต่แทนที่จะฉกแล้วชิ่งออกมาง่าย ๆ กลายเป็นว่า เขากลับต้องติดอยู่ในขบวนรถไฟชิงกังเซนความเร็วสูงสุด 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่มีจังหวะหยุดพักสั้นมาก แถมยังหยุดพักครั้งละไม่ถึงนาที แถมเขาเองยังก็ต้องพบว่า ขบวนรถด่วนคันนี้ไม่ได้แค่เร็วธรรมดา ๆ แต่ยังเร็วทะลุนรก เพราะเต็มไปด้วยนักฆ่าคาแรกเตอร์แปลก ๆ ทั้ง ‘แทนเจอรีน’ (Aaron Taylor-Johnson) และ ‘เลมอน’ (Brian Tyree Henry) นักฆ่าฝาแฝดผลไม้ (ฝาแฝดโลกไหนว้า)

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

‘วูลฟ์’ (Bad Bunny) มือมีดเม็กซิกันสุดเข้ม ‘พรินซ์’ (Joey King) เจ้าชายนักฆ่าในร่างเด็กหญิง (?) ‘คิมุระ’ (Andrew Koji) นักฆ่าผู้ต้องการล้างแค้น ‘ผู้เฒ่า’ (Hiroyuki Sanada) ลุงดาบซามูไร (ชิเหน๋…) ‘ไวต์เดธ’ (Michael Shannon) ยากูซ่าสมญามัจจุราชขาว และน้อน ‘โมโมมอน’ (Momomon) นักฆ่าในคราบมาสคอต (!) แม้พวกเขาจะมีจุดประสงค์ และความแค้นแตกต่างกัน แต่พวกเขาต่างก็มีเป้าหมายและจุดหมายปลายทางเดียวกันอย่างน่าบังเอิญ ทำให้พวกเขาต้องมาตามไล่ล่าฆ่ากันบนรถไฟสายนรกสายนี้

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

สิ่งแรกที่สัมผัสได้ตอนดูหนังเรื่องนี้ก็คือ ตัวหนังไม่ได้พยายามจะบังคับเราให้เป็นหนังแอ็กชันเครียด ๆ ในสถานการณ์ปิดตายที่หนีลำบากอะไรขนาดนั้นนะครับ แต่ตัวหนังพยายามจะเป็นหนังแอ็กชันคอมมีดี้ที่ซัดกันด้วยพล็อตที่ค่อนข้างซับซ้อน จังหวะการเล่าเรื่องแบบเอามัน เอาเบียว เอาเพี้ยนเข้าว่า และฉากแอ็กชันถึงเลือดถึงเนื้อ รุ่มรวยคำหยาบคายสไตล์เรตอาร์ และมุกตลกที่ขนมาทุกเรตทั้งมุกน่ารัก มุกหยาบคาย และแน่นอนว่าต้องมีมุกจิกแซะวัฒนธรรมญี่ปุ่น (ซึ่งบางมุกนี่ก็แอบเชยสะบัดอยู่เหมือนกัน)

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

ตัวหนังในองก์แรก เอาจริง ๆ ถือว่าย่อยไม่ง่ายนะครับ ถ้าเทียบกันหนังแอ็กชันทั่ว ๆ ไป เพราะตัวหนังนั้นแทบจะมีจังหวะการเล่าเรื่องเป็นของตัวเอง และเป็นการเล่าที่เหลือร้ายมาก เพราะเป็นการเล่าแบบไม่แคร์อะไรใด ๆ อยากเล่าอันไหนก็เล่า อันไหนไม่ถึงเวลาก็ยังไม่เล่า ก็เลยทำให้ตัวหนังเล่าเรื่องอย่างกระชับ พาคนดูค่อยแกะปมคลายประเด็น เชื่อมโยงเรื่องราวและความสัมพันธ์ของตัวละครให้คนดูค่อย ๆ เข้าใจไปทีละน้อย ในขณะที่ตัวหนังก็ทิ้งปมเอาไว้ให้สงสัยกันไปก่อน จนกว่าหนังจะกลับมาเฉลยปมนั้นอีกครั้ง ตรงไหนที่สงสัยหนังก็ตามมาเก็บกลับเกือบหมด ซึ่งนั่นก็เรียกร้องพลังการตั้งใจดูอยู่มากเหมือนกัน ถ้าเผลอหลับป๊อกไปสักนาทีนี่คือตกขบวนแน่นอน

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

แต่ถึงอย่างนั้น ตัวหนังก็ถือว่าไม่ได้เดินเรื่องไวนะครับ ตรงข้าม ตัวหนังค่อนไปทางอืดด้วยซ้ำ เพราะพอตัวหนังถูกวางให้เป็นหนังแอ็กชันคอมมีดี้ที่เน้นความเพี้ยน ฮา เบียว ฯลฯ ตัวหนังก็เลยพยายามจะทีเล่นทีจริง แบบที่น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากหนังแอ็กชันจังหวะเล่าเรื่องมัน ๆ สไตล์ กาย ริชชี (Guy Ritchie) จังหวะแอ็กชันโหดเลือดสาด และบทสนทนายาว ๆ กวน ๆ ก็อาจพอจะเทียบเคียงกับหนังของป๋า เควนติน ตารันติโน (Quentin Tarantino) ส่วนคิวแอ็กชันที่เน้นลีลาและความตลกนี่ก็ชวนให้นึกถึงหนังของเฉินหลงได้อยู่เหมือนกัน

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

โดยเฉพาะจังหวะสับรางเล่าเรื่องข้างเคียงเพื่อคลายปมความเป็นมาของแต่ละ Conflict ของตัวละคร และบทสนทนากวน ๆ ของฝาแฝดผลไม้ ที่ผู้เขียนรู้สึกว่ามันออกจะยืดมากเกินไปจนพาให้จังหวะหนังเนือยอืดในบางจังหวะอยู่เหมือนกัน ยังดีที่หลาย ๆ องค์ประกอบของหนัง ทั้งการแสดง ฉากแอ็กชันโหดสะใจ ติดโม้นิด ๆ ความกวนทีนของตัวละคร และปมเรื่องที่ขมวดชวนให้สงสัยใคร่รู้ และมีจังหวะที่เฉพาะตัวมาก ๆ รวมทั้งการถ่ายทำ มุมกล้องที่หวือหวาแหวกแนว คอยช่วยกันเลี้ยงให้หนังมีความบันเทิงได้อยู่ ตัวหนังอาจไม่ใช่หนังแอ็กชันที่ดูง่ายย่อยง่ายมากนัก ต้องให้เวลาในการปะติดปะต่อในช่วงแรก ๆ เยอะหน่อย แต่พอต่อติดได้แล้วก็วิ่งฉิวแบบรวดเดียวจบแบบยาว ๆ ไปเลย

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

อีกจุดที่ผู้เขียนชอบก็คือ การนำเสนอเรื่องในธีมของความบังเอิญ โชคชะตา ความโชคดีโชคร้ายของคนนี่แหละ โดยมีนักฆ่าเลดี้บักเป็นแกนกลาง ก่อนจะค่อย ๆ ขยายออกไปเป็นธีมของเรื่องที่ไปขมวดจบตอนองก์สุดท้ายได้อย่างน่าสนใจเลยแหละ แม้ว่าในอีกมุมหนึ่ง มันก็อาจจะทำให้พล็อตบางส่วนเกิดอาการเล่นท่าง่าย เอาเล่นง่าย เล่นบังเอิญเข้าว่า ขนาดจุดหักมุมตอนท้ายเรื่องก็ยังหักกันแบบบังเอิญ ๆ เลย ซึ่งก็อาจมองว่าตัวบทเอาง่ายเข้าว่าก็ได้แหละ แต่พอซูมออกมาดูภาพรวม ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ตัวเรื่องพยายามจงใจจะเล่นกับโชคชะตาของตัวละครตามธีมของหนังต่างหาก

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

อีกองค์ประกอบที่หนังเรื่องนี้ทำเอาไว้ได้ดีก็คือ การออกแบบตัวละครและ Conflict ต่าง ๆ ครับ เรียกว่าเป็นการออกแบบตัวละครที่ไม่ได้แค่เอาแค่ความเบียว มึน เน้นความเฮี้ยนเพี้ยนละเอียดแต่อย่างเดียว แต่ตัวละครทุกตัวนั้นมีที่มาที่ไป และมีความเชื่อมโยงกันอยู่ เข้าใจว่าตัวหนังเองก็เอาจุดแข็งนี้มาจากต้นฉบับหนังสือนิยายด้วยล่ะ เชื่อได้ว่าผู้ที่ดูต้องสงสัยในตัวละครบางตัวที่ดูล้น ๆ งง ๆ หรือมาแค่แป๊บเดียว) ว่า “มาแค่นี้เนี่ยนะ ?” เหมือนผู้เขียนอย่างแน่นอน แต่พอตัวเนื้อเรื่องค่อย ๆ ปูเรื่องความสำคัญของตัวละครทีละตัวให้เห็น ถึงได้ร้องอ๋อว่าทำไมพี่มาแค่แป๊บเดียว

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

ส่วนในแง่ของการแสดงถือว่าโดยรวมก็โอเคครับ แบรด พิตต์ (Brad Pitt) นี่ ต่อให้รุมยำหรือโดนรุมยำก็ยังเท่ แถมพี่แกยังเล่นแอ็กชันเอง 95% เชียวนะ อีกตัวละครที่เด่นมาก ๆ ก็คือคู่หูผลไม้ ‘เลมอน-แทนเจอรีน’ ครับ อันนี้เรียกว่ากวงติงกันตั้งแต่คาแรกเตอร์ ไตอะล็อก และแอ็กติงเลย ส่วนอีกคนที่เท่โคตร ๆ เป็น MVP ของเรื่องได้เลยก็คือลุง ฮิโรยุกิ ซานาดะ (Hiroyuki Sanada) ครับ เท่มาก ๆ แต่จะ “ชิเหน๋…” หรือไม่ อันนี้ต้องไปดูกันเอาเอง

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

อีกอย่างที่เด่นของหนังก็คือ การย้อมญี่ปุ่นให้มีความไซเบอร์พังก์ คือตอนแรกผู้เขียนก็แอบหวั่น ๆ ว่า งาน VFX จะไปรอดมั้ยเนี่ย ซึ่งแม้ตัวหนังเองจะเน้นถ่ายทำภายในขบวนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีช็อตโชว์ภายนอกขบวนไปด้วยเป็น Cutaway ซึ่งอันนี้แหละที่ต้องทั้งชมทั้งติว่า ช็อตหนังที่เริ่มต้นเรื่องตอนกลางคืนนั้นทำได้ค่อนข้างดี แต่สุดท้ายดันมาตายตอนช็อตกลางวันตอนเข้าองก์ที่ 3 ที่ลอยกันแบบเห็น ๆ ซึ่งปกติมันก็เป็นจุดตายของงาน VFX ที่ซีนกลางวันมักจะทำยากกว่าซีนกลางคืน ก็เลยออกมาดูลอย ๆ ตามงบประมาณ 90 ล้านเหรียญของหนังนั่นแหละครับ

Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

โดยรวมแล้ว ‘Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า’ นี่คือหนังที่เกิดมาสำหรับคอแอ็กชันวินาศสันตะโรที่เบื่อพล็อตเรียบ ๆ ล่ะครับ เพราะตัวหนังเล่าได้ร้ายกาจมาก ๆ ปู ชง เก็บได้อย่างมีชั้นเชิง รวมทั้งยังนำเสนอความฮา มึน เพี้ยนของเหล่านักฆ่าได้แบบโบ๊ะบ๊ะ มีมุกฮาให้ได้ขำประปราย (บางอันก็เช้ยเชย) เล่าธีมชีวิตเฮงซวยได้น่าชม ส่วนฉากแอ็กชันก็ดุเดือดไม่ทิ้งลายผู้กำกับ ‘John Wick’ ถ้าไม่นับจังหวะแวะข้างทางอืด ๆ หนังเรื่องนี้ก็ถือว่าน่าจะถูกใจคอแอ็กชันได้ไม่ยาก ถ้าเป็นรถไฟสักขบวน คันนี้ก็น่าจะเป็นรถไฟหัวกระสุนหน้าตาแปลกที่เน้นวิ่งเอาเร็วไว้ก่อน อาจจะมีมึน ๆ นัว ๆ บ้าง แต่มันก็ยังออกมาสนุกตรงที่มันวิ่งเร็วโคตร ๆ แต่ไม่ตกรางนี่แหละ


Bullet Train ระห่ำด่วน ขบวนนักฆ่า

ปล. ผู้เขียนแนะนำว่าถ้าจะดูหนังให้เข้าใจครบถ้วน ดู IMAX เอามันซักรอบ แล้วค่อยไปซ้ำเนื้อเรื่องในโรงปกติก็ได้นะครับ
ปล.2 มีเครดิตกลางเรื่องด้วยนะครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส