[รีวิวซีรีส์] Uncoupled ตลก/รัก/สัปดน ผสมตามสูตร Sex and the City เวอร์ชันเกย์

Release Date

29/07/2022

8 Episodes

Created by Darren Star, Jeffrey Richman

Starring: Neil Patrick Harris, Tisha Campbell, Brooks Ashmanskas

[รีวิวซีรีส์] Uncoupled ตลก/รัก/สัปดน ผสมตามสูตร Sex and the City เวอร์ชันเกย์
Our score
7.0

[รีวิวซีรีส์] Uncoupled ตลก/รัก/สัปดน ผสมตามสูตร Sex and the City เวอร์ชันเกย์

จุดเด่น

  1. ความบันเทิงและมุกตลกที่ดูเพลิน แม้จะมีเรื่องสัปดนแต่ไม่มีภาพที่อุจาด เสน่ห์ของทีมนักแสดงและแมนฮัตตันร่วมกันสร้าง Vibe ที่ดี

จุดสังเกต

  1. บทและตัวละครหลักค่อนข้างอ่อน วนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน เน้นแต่สถานการณ์รอง ยังขาดเส้นเรื่องหลัก
  • การแสดง

    8.0

  • โปรดักชัน

    7.0

  • บท

    5.0

  • ความบันเทิง

    8.0

  • คุ้มเวลาในการชม

    7.0

ย้อนกลับไปในยุค 90s ชื่อ แดร์เรน สตาร์ (Darren Star) ติดตาทุกคนบนเครดิตของซีรีส์ดังแห่งยุคอย่าง ‘Beverly Hills, 90210’, ‘Melrose Place’ และแน่นอน ‘Sex and the City’ ที่ปรากฎพร้อมกับตำแหน่งครีเอเตอร์และเอ็กเซ็กคูทีฟโปรดิวเซอร์มาโดยตลอด ชื่อของสตาร์หายไปพักใหญ่ก่อนจะกลับมาในซีรีส์ ‘Emily in Paris’ ของ Netflix ที่ฉายมาแล้ว 2 ซีซันและกำลังถ่ายทำอีก 2 ซีซัน

หลังจากพาเราไปปารีส สตาร์พาแฟนคลับกลับมาที่เกาะแมนฮัตตัน ในมหานครนิวยอร์กอีกครั้งกับซีรีส์ของ Netflix เรื่อง ‘Uncoupled’ ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ 8 ตอนจบ (ตอนละ 30 นาที) ที่เล่าเรื่องของไมเคิล (นีล แพทริก แฮร์ริส – Neil Patrick Harris) เกย์หนุ่มนายหน้าอสังหาวัย 40 กว่า ที่ถูกคอลิน (ทัก วัตกินส์ – Tuc Watkins) แฟนหนุ่มใหญ่วัย 50 ปีบอกเลิกแบบสายฟ้าแลบ เก็บของย้ายออกไปโดยไม่บอกสาเหตุใด ๆ ไมเคิลจึงต้องเผชิญกับภาวะ “ไร้คู่” อย่างไม่ทันตั้งตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เขาพยายามหาทางออกด้วยการมองหาคนใหม่เพื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์อีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันก็มักเกิดเหตุการณ์ที่เข้ามาสะกิด “แผลสด” จนทำให้จิตใจของเขาหวนกลับไปหมกมุ่นกับคนรักเก่าอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าคนที่แบกซีรีส์ไว้มากที่สุดคือหนุ่มแฮร์ริส นักแสดงวัย 49 ที่บริหารเสน่ห์ได้ดีเช่นเคย โชคดีที่เขาเป็น “ที่รัก” ของคนดูอยู่แล้วนับตั้งแต่ซีรีส์ ‘How I Met Your Mother’ จึงไม่ยากที่ตัวละครไมเคิลจะตกเราได้ตั้งแต่ตอนแรก ๆ (ยกเว้นว่าคุณจะไม่ชอบเขาเป็นทุนเดิม นั่นจะกลายเป็นความน่ารำคาญไปในทันที) ผงชูรสของซีรีส์ต้องยกให้ ทิชา แคมป์เบล (Tisha Campbell) ในบทซูซาน เพื่อนสาวคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอารมณ์ดีที่ทำธุรกิจร่วมกับไมเคิล คาแรกเตอร์ของเธอเต็มไปด้วยสีสัน สร้างเคมีกับแฮร์ริสได้ดี แบบที่ไม่ล้นจนเกินไปและยังมีพื้นหลังของตัวละครที่จับต้องได้ นอกจากนี้ยังมี บรูกส์ แอชแมนสกาส์ (Brooks Ashmanskas) ในบท สแตนลีย์ และ เอเมอร์สัน บรูกส์ (Emerson Brooks) ในบทบิลลี สองเพื่อนเกย์ในก๊วนของไมเคิลที่ทั้งคอยปลอบประโลม แดกดัน และสร้างเสียงหัวเราะ สุดท้ายคือนักแสดงรุ่นใหญ่ มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน (Marcia Gay Harden) ในบทแคลร์ ไฮโซสาวใหญ่ที่เพิ่งถูกสามีทิ้งและกลายมาเป็นลูกค้าของไมเคิล แคลร์เป็นทั้งตัวแปรและตัวแปลก (แยก) ที่เข้ามาสร้างสมดุลให้กับกลุ่มตัวละครหลัก ฮาร์เดนเล่นแบบนิ่ง ๆ น้อย ๆ แต่มีพลัง

‘Uncoupled’ ใช้สูตรสำเร็จของสตาร์แบบไม่ต้องเสียวัดชั่งตวงใหม่ หรือพูดให้ชัดเจนคือเดินตามรอยสูตรสำเร็จของ ‘Sex and the City’ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอกที่เป็นชนชั้น Upper Class (มีอันจะกิน แต่ไม่ได้รวย) กลุ่มเพื่อนสามสี่คน บทพูดที่เต็มไปด้วยมุกตลกสัปดน (แต่ไม่อุจาด) ผสมกับมุกตลกที่อัดแน่นด้วยวัฒนธรรมป๊อป และลีลาการตอบโต้แบบ [ทำมือเป็นเครื่องหมายคำพูด] “นิวยอร์กเกอร์” และแน่นอนบรรยากาศของเมืองแมนฮัตตัน ที่เสมือนเป็นตัวละครสำคัญของซีรีส์เช่นเดียวกับ ‘SATC’ (หรือนครปารีส ใน ‘Emily in Paris’) ผลที่ออกมาแม้ไม่เกินความคาดหมาย แต่ก็ไม่ถือว่าน่าผิดหวัง ‘Uncoupled’ เป็นซีรีส์ที่สร้างความบันเทิงได้ดี หลายฉากทำให้คุณปล่อยเสียงฮาดังลั่นแบบไม่ตั้งตัว ด้วยความยาวตอนละครึ่งชั่วโมง ดูเพลิน ๆ แป๊บเดียวก็จบซีซันแล้ว แต่สิ่งที่ต้องพัฒนา (หากจะสร้างซีซัน 2) คือบทที่วนอยู่กับที่ ไม่ไปไหน ถือเป็นจุดอ่อนเดียวกับ ‘EIP’ ที่เส้นเรื่องหลักไม่เดินไปไหน มีแต่การเล่าเส้นเรื่องรอง การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ไปวัน ๆ (แต่อย่างน้อยตัวละครใน ‘Uncoupled’ ก็มีความรู้สึกนึกคิดที่ “ฉลาด” กว่า – ขอโทษนะ – เอมิลี) 

หากตัดเรื่อง “เกย์” ออกไป ใคร ๆ ก็ดูซีรีส์ชุดนี้และหัวเราะไปกับมันได้ (ถ้าคุณดูผู้ชายจูบกันได้) เพราะเอาเข้าจริงก็คือเรื่องราวความรักของคนคนหนึ่งที่พยายามก้าวออกจากความสัมพันธ์ที่เพิ่งจบลง อีกประเด็นที่ซีรีส์พูดถึงพอ ๆ กับเรื่องเกย์คือเรื่อง “วัย” เพราะไมเคิลและตัวละครรอบข้างล้วนอยู่ในวัย 40-50 ปี ดังนั้นการ Move On จากอดีตที่บอบช้ำและเริ่มต้นใหม่จึงไม่ง่ายเหมือนกับคนวัย 20-30

จนถึงการตั้งคำถามว่า “เราจำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ไหม?” หรือ “เราจะอยู่คนเดียวต่อไปแบบนี้?” นั่นก็เป็นสิ่งที่ตัวละครครุ่นคิด ในเมื่อเราพยายามจะตามหาอะไรมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ท้ายที่สุดแล้วหากมันไม่สามารถทดแทนกันได้ เรายังจำเป็นต้องมีมันอยู่หรือไม่

แน่นอนว่า ‘Uncoupled’ ยังห่างไกลจาก ‘SATC’ อยู่หลายขุม แต่ก็ดูเพลินได้เหมือน ‘EIP’ เหมือนคุณได้กลับไปกินอาหารจานโปรดสูตรเดิม ในร้านอาหารใหม่ โดยเชฟคนใหม่ และใช้วัตถุดิบใหม่ อาจไม่เอร็ดอร่อยเหมือนเดิม แต่ก็รู้สึกดีที่ได้กิน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส