กำกับ
Jasmeet K. Reen
ความยาว
2 ชม. 14 นาที
ช่องทางรับชม
NETFLIX
Our score
6.7[รีวิว] Darlings : ดาร์กคอมเมดี้สีเทาเข้มและจัดดราม่ามาแบบหนักหน่วง
จุดเด่น
- เป็นภาพยนตร์เสียดสีที่ปวดร้าว โดยเฉพาะถ้าผู้ชมเป็นผู้หญิงที่เผชิญสภาวะเดียวกันนี้มาก่อน รับรองว่าอินได้ง่าย ๆ สะเทือนใจแน่นอนค่ะ
- เอาจริง ๆ แล้วบทเรื่องนี้มีความหนักหน่วง ถ้าทำให้รันทดและอัดหนักกว่านี้ รับรองว่าอินเนอร์สตรีเพศจะมาเต็ม น้ำตาแตกกันทั้งเรื่องแน่นอน
จุดสังเกต
- การดำเนินเรื่องในบางช่วงยืดเยื้อและใไม่จำเป็น จนทำหให้หนังขาดเสน่ห์ที่ควจะมีไปมากพอสมควร เสียดายจัง
- จุดจบของเรื่องชวนตะลึงอยู่นะคะ แอบโล่ง แอบหวาดและสงสาร หลายอารมณ์ทีเดียวกับฉากจบสั้น ๆ ที่เป็นบทสรุป
-
บท
6.5
-
โปรดักชัน
7.0
-
นักแสดง
8.0
-
การดำเนินเรื่อง
5.5
-
ความสนุกตามแนวหนัง
6.5
ผลงานใหม่ล่าสุดของ ‘อาเลีย บาตต์’ (Alia Bhatt) ควบด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง ที่ผลิตโดยโปรดักชันเฮาส์ใหม่ของเธอ ภาพยนตร์ตลกร้ายเสียดสีปมปัญหาครอบครัวที่มาพร้อมอารมณ์ขันเบา ๆ ที่ขำไม่ออก เรื่องราวของการแก้แค้นสุดเจ็บแสบของสองแม่ลูก ที่แสบจริง เจ็บจริงไม่จกตา เมื่อสามีขี้เหล้าจองสันดานเลวทรามไม่แบ่งใคร งานนี้ศรีภรรยาจำต้องเอาคืนให้รู้ซะบ้างว่า อย่าเล่นกับหัวใจดวงเล็ก ๆ ของผู้หญิง “จำไว้”
‘Darlings’ เล่าเรื่องราวของ ‘พทรู’ (Alia Bhatt) เธอแต่งงานกับ ‘ฮัมซา’ (Vijay Varma) สองคนรักกันอย่างหวานชื่นจนตัดสินใจแต่งงานกัน แต่หลังจากแต่งงานเพียงไม่กี่ปี ฮัมซากลับไม่ใช่ฮัมซาที่สวีตหวานเหมือนเมื่อก่อน เขาติดเหล้าและมักจะทุบตีเธออยู่บ่อยครั้ง และโทษว่าเป็นเพราะเหล้าทำให้เขาเปลี่ยนไป แม้ว่า ‘ศัมศู’ (Shefali Shah) แม่ของเธอจะพร่ำบอกให้เธอเลิกกับเขา หรือแม้แต่ ‘ซุลฟี’ (Roshan Mathew) พ่อค้าของมือสองที่สนิทสนมกับสองแม่ลูกจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ แต่เธอก็ยังหลงคารมของเขาจนใจอ่อนเข้าจนได้ ด้วยหวังว่าวันหนึ่งสามีของเธอจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เพราะเชื่อว่าเขารักเธอมากมายซะเหลือเกิน จนกระทั่งวันชี้ชะตาได้ดำเนินมาถึง เมื่อเกิดการสูญเสียที่ไม่อาจยอมรับได้ การเอาคืนสามีสุดที่รักจึงเกิดขึ้นอย่างเจ็บปวดรวดร้าว สะบักสะบอม
ดราม่าเสียดสีที่ติดกลิ่นคอมเมดี้มานิดเดียว
บทเรื่องนี้บอกเลยว่าหนักหน่วงค่ะ และตัวอย่างที่เห็นเป็นเพียงกระบองเล่มโตที่สร้างขึ้นมาเพื่อ “ตีหัวเข้าบ้าน” เพราะเนื้อแท้ข้างในนั้น บรรจุไปด้วยความดราม่าที่จัดหนักจัดเจ็บมาแบบจุก ๆ และใส่ความรุนแรงในครอบครัวมาแบบเต็มเหนี่ยว เรื่องดำเนินมาตามแบบความรักฉบับกระเป๋า ด้วยการเริ่มเสิร์ฟความหวานซึ้งให้เราตายใจในช่วงแรก แล้วตัดฉับมาที่ความคลั่งรักของนางเอกฝ่ายเดียว เพราะเธอจะโดนสามีซ้อมจนสะบักสะบอม ก็ถ้าไม่คลั่งคงทนสามีที่เห็นเธอเป็นกระสอบทราย และผีเข้าผีออกแบบนี้ไม่ได้
ฮัมซา สามีของเธอเป็นข้าราชการการรถไฟ มีหน้าที่เก็บตั๋ว ส่วนพทรูผู้เป็นภรรยาจะเป็นเพียงแม่บ้าน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีสามีทุกเมื่อเชื่อวัน ทำกับข้าวให้เขา ดูและบ้าน ตามประสาแม่บ้านอินเดีย ตกเย็นเขาจะดื่มและเมื่อกลับมาถึงบ้าน หากเห็นว่ามีอะไรผิดหูผิดตานิดหน่อย หรือแม้แต่เมียรักพูดจาไม่เข้าหูหรือขัดคำสั่ง ผีนักมวยก็จะพุ่งเข้าไปสิงพระเอกของเรื่องนี้ทันทีเลยจ้ะ สายตาของเขาจะเกรี้ยวกราดและมองเป็นเมียเป็นเพียงต้นกล้วยในป่าชื้น ไร้หัวจิตหัวใจแต่แตกยับอยู่ร่ำไป แต่เมื่อถึงเวลาเช้าเขาจะเปลี่ยนเป็นคนละคน จะออนอ้อน ออเซาะขอโทษขอโพย ที่รักจ๋าผมผิดไปแล้ว ผมไม่ควรทำแบบนั้นกับคุณ ผมไม่รู้ตัวเลยจริง ๆ ผมรักคุณมากนะ คุณคือสุดที่รักของผม จ้า รักแบบนี้ไม่ต้องรักก็ได้จ้า
บทเขียนให้นางเอกเป็นผู้หญิงที่อึด ถึก ทน หากมองจากมุมของบุคคลที่สาม จะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า จะทนไปทำไมกับผู้ชายพรรค์นี้ แต่บทที่น่าอึดอัดใจสำหรับเราและความสามารถในการสื่อภาษากายของ อาเลีย บาตต์ ทำให้เราเข้าใจตัวละครตัวนี้ขึ้นมาหน้าตาเฉย ทั้ง ๆ ที่อยากทะลุจอไปบอกว่า หนีไปเถอะ อย่าไปเชื่อเขา อย่าใจอ่อนสิเธอ แต่หากมองไปถึงบริบทสังคมที่หนังกำลังตั้งใจเสียดสี เราจะเห็นได้อีกแง่มุมว่า ความอดทนที่เธอเผชิญนอกจากความรักที่หญิงคนหนึ่งจะมีให้กับชายผู้เป็นสามีอย่างท่วมท้นล้นประตูแล้ว การหย่าร้างยังคงเป็นตราบาปที่สังคมพร้อมจะมอบให้กับเธอทุกเวลา
ความหวาดกลัวที่เธอแสดง บอกเลยว่าสงสาร เราลืมภาพคังคุไบไปได้เลยค่ะ เพราะการกลับมาคราวนี้ อาเลีย บาตต์มารับบทนางบอบช้ำโดยแท้ เธอสวมบทเป็นพทรูได้อย่างแนบเนียนและลบภาพคังคุไบไปหมดสิ้น อาจเป็นเพราะฝีมือการแสดงของเธอเยื่อมยอดอยู่แล้ว หรืออาจเป็นเพราะบทของหนัง ที่จูงใจให้เราคล้อยตามไปกับชะตากรรมของนางเอก จนลืมไปเสียสิ้นว่าสาวสวยคนนี้เคยเป็นมาเฟียสาวจากภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งมาก่อน
ความอดทนที่นางเอกเรื่องนี้เธอยอมแบบไม่รู้ว่าจะยอมทำไม ความใจอ่อนที่เธอเป็นและความรักมากมายที่มีต่อสามีของเธอ ทำให้เธอหลงคารมณ์สามีอยู่ร่ำไป มันบังตาเธอจนมิดและมองข้ามความเลวของเขาไปอย่างสิ้นเชิง อีกอย่าง ผู้หญิงที่หย่าสามี ยังคงไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมมากนัก ก็ต้องทนมือทนเท้าให้น่วมกันไปข้าง แต่ใครเลยจะทนทุกข์อยู่กับชีวิตแบบนี้ไปได้ตลอดชีวิต บทจึงเขียนเกมพลิก ๆ ที่เราไม่คาดคิดออกมาในช่วงกลางเรื่องจนถึงท้ายเรื่องที่ต้องบอกว่าพีคที่สุด และเป็นดั่งปมเฉลยถึงความอัดอั้น ความจำยอม และชีวิตที่ต้องอยู่อย่างหลอกหลอน ของผู้หญิงที่อาจมีอยู่ในสังคมอินเดีย จากการตัดสินใจที่ไร้ทางออก
การดำเนินเรื่องที่ขัดใจและความดาร์กสีเทาเข้ม
เอาจริง ๆ มันดาร์กกว่านี้ได้อีก ยังได้อีกและมีที่เหลือให้เติมสีดำลงไปอีกเยอะ แต่ภาพยนตร์เลือกที่จะไม่เติมและใส่สีสันสดใสเข้ามาแทน ด้วยมุกตลกที่หากไปอยู่ในภาพยนตร์คอมเมดี้เพียว ๆ มันจะเรียกเสียงฮาได้เลยละ แต่เมื่อมาอยู่ในดาร์กคอมเมดี้เรื่องนี้ ที่เนื้อแท้ของบทช่างหนักหน่วง ผู้เขียนจึงขำไม่ออกและเกิดความรู้สึกตลกฝืดขึ้นมาทันที ความเสียดายนี้จึงตกอยู่บนความรู้สึกที่ว่า ทำไมไม่เข้มกว่านี้อีกหน่อยล่ะ หรือถ้าหากเปลี่ยนเป็นดราม่าจัดหนัก อารมณ์ของการรับชมมันจะถึงและดึงอารมณ์ร่วมได้มากกว่านี้ไหม
การดำเนินเรื่องที่พยายามใส่เหตุผลของการทนอยู่ให้ผู้ชมเข้าใจนางเอก กลับกลายเป็นแผลใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ การเลือกใช้วิธีบรรยายความหวาน ด้วยการปล่อยภาพชีวิตรื่นรมย์ช่วงสั้น ๆ ออกมานั้น ขาดความโดดเด่นน่าติดตามไปชั่วอึดใจหนึ่งเลยทีเดียว ดีที่ยังไม่ถึงขั้นให้เราต้องเลื่อนผ่าน เพราะมันทำให้ทั้งเราและนางเอกในเรื่องเข้าใจได้ว่าผู้ชายบางคนมันก็คือแมงป่องพิษดี ๆ นี่เอง และสิ่งที่แม่เล่าให้ฟังมันคือเรื่องจริง
หากจะมีใครสักคนคิดและคาดหวังว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนังแก้แค้น ที่ภรรยาเอาคืนสามีตัวร้ายอย่างถึงพริกถึงขิง สาแก่ใจอีช้อยแน่ ๆ บอกเลยว่าไม่ใช่ และคุณจะอึดอัดใจแล้วถามนางเอกว่า “นี่คือแก้แค้นแล้วเหรอ” เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้สังคมรับรู้ว่า ในมุมหนึ่งของเมืองใดเมืองหนึ่งบนโลก ยังมีครอบครัวที่ภรรยาต้องทนทุกข์ด้วยความซื่อสัตย์ต่อชายอันเป็นที่รักอยู่จริง ๆ และทางออกของพวกเธอมีไม่มากมายนัก อย่าให้พวกเธอต้องถึงทางตันเลย สงสารกันบ้าง เห็นรอยบอบช้ำเหล่านั้นไหม เห็นแววตาที่หวาดหลัวและคาดหวังการกลับใจของเธอบ้างรึเปล่า
พวกเธอถูกผูกมัดด้วยขนบ ด้วยสายตาของผู้คนในสังคม เธออยากจะเลือกแต่บางครั้งมันก็เลือกยาก และหากว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เธอเลือกทำ มันอาจจะเป็นเรื่องสาสมและสมควร แต่มันก็จะกลายกระสุนฝังในที่ย้ำเตือนความรู้สึกของเธออยู่ดี แต่ความพยายามของหนังที่จะสื่อและจุดประสงค์นี้ที่ผู้เขียนสัมผัสได้ มันกลับเบาบาง ภาษาปากก็เรียกได้ว่าทำไม่ถึง เข้าใจแหละว่าพยายามจะนำเสนอในมุมซอฟต์ ๆ เคล้าไปกับอารมณ์เบาสมองเพราะเนื้อแท้ข้างในมันไม่ซอฟต์เอาซะเลย แต่สิ่งของที่ใส่มามันกลับเกินจำเป็นจนน่าเสียดายเอามาก ๆ และทำให้เวลาของภาพยนตร์ยืดยาวไปถึง 2 ชั่วโมงแน่ะ ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องถึง
เสียดสีแต่ยังมีเหตุผล
ถ้าเปรียบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นจดหมายสักฉบับหนึ่ง เนื้อหาในจดหมายก็คงจะเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ว่า สังคมของประเทศฉันยังเป็นสังคมที่ชายเห็นใหญ่อยู่นะ ค่านิยมนั้นมันยังอยู่ไม่เคยหายไปไหนและสตรีก็เรียกร้องอะไรจากบุรุษไม่ได้มาก แม้แต่ความเคารพในความเป็นคนเท่ากัน ฉันยังไม่เคยได้มันมาเลย แต่อย่าเพิ่งตกใจไป นี่เป็นเพียงบางจุดเท่านั้น เป็นบางซอกหลืบที่คนภายนอกอาจมองไม่เห็น เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีบุรุษอีกมากมายที่ไม่ได้เป็นอย่างเขา เหมือนซุลฟี และเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ นั่นไงล่ะ ฉันก็แค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่รักเขาอย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้นเอง จนกว่าจะถึงจุดแตกหักนั่นแหละ
ซึ่งการดำเนินเรื่องทั้งหมด เป็นการดำเนินเรื่องแบบไบโพลาร์มาตลอด แล้วสรุปจบแบบที่เราไม่ทันนึกถึง จุดนี้เรียกเสน่ห์ให้กลับคืนมาได้อีกนิดและเป็นจุดที่ดีที่สุดของหนังก็ว่าได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส