Release Date
18/08/2022
แนว
สารคดี/ชีวประวัติ
ความยาว
1.34 ช.ม. (114 นาที)
เรตผู้ชม
PG
ผู้กำกับ
ซารา โดซา (Sara Dosa)
SCORE
8.2/10
Our score
8.2Fire of Love | ทัณฑ์รักจากลาวา
จุดเด่น
- ตัวฟุตเตจถ่ายภาพมาได้ Cinematic สวยงาม มีพลังมาก ๆ
- วางสมดุลเรื่องราวความรู้ และประวัติบุคคลได้ค่อนข้างดี
- ใช้กรรมวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลาย แต่เรียบง่ายไม่แย่งซีนกัน
- ตัวหนังมีการหยอดสีสัน มุกตลกพอยิ้ม ๆ
- มิแรนดา จูลาย สามารถถ่ายทอดเสียงได้อย่างไม่แย่งซีน แต่ฟังง่าย
- เป็นหนังที่คอธรณีวิทยา คนรักภูเขาไฟน่าจะชอบได้ไม่ยาก
จุดสังเกต
- ตัวหนังอาจเรียบง่ายและเชื่องช้า เว้นจังหวะเยอะไปหน่อยสำหรับคอหนังสายรีบ
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.6
-
คุณภาพโปรดักชัน
9.0
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.7
-
ความบันเทิง
6.9
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
9.0
หากดูเผิน ๆ ‘Fire of Love’ ก็อาจจะดูเป็นสารคดีอีกเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับภูเขาไฟ การเคลื่อนของเปลือกโลก อันตรายของลาวา ฯลฯ อะไรจำพวกนี้ แต่พอฟังชื่อไทยที่ตั้งอย่างละมุนว่า ‘ทัณฑ์รักจากลาวา’ พร้อมกับจั่วหัวว่า นี่คือเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับคู่รักคู่หนึ่งที่อุทิศชีวิตให้กับภูเขาไฟ อุทิศทั้งจิตวิญญาณและความรักให้กับการศึกษาและเก็บภาพภูเขาไฟ และอุทิศชีวิตในอุบัติเหตุภูเขาไฟ ก็ชวนให้นึกถึงเรื่องราวโศกนาฏกรรมทำนองเดียวกันกับ ‘โรมีโอและจูเลียต’ ที่ใช้ความตายมาเป็นพยานแห่งรักของทั้งคู่อะไรทำนองนั้นได้เหมือนกันนะครับ
แต่ไม่ว่าจะนึกถึงอะไรก็ตามแต่ สารคดีเรื่องนี้ก็มีความน่าสนใจมาก ๆ ตรงที่เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ว่าด้วยเรื่องของ มอริซ คราฟท์ (Maurice Krafft) และ คาเทีย คราฟท์ (Katia Krafft) คู่รักนักภูเขาไฟวิทยา (Volcanologists) ชาวฝรั่งเศส ทั้งคู่อุทิศชีวิตให้กับการเดินทางเพื่อไล่เก็บบันทึกภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าหลงใหลและอันตรายของภูเขาไฟทั่วโลกอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ก่อนที่พวกเขาจะจบชีวิตในเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1991 เหลือไว้เพียงแต่มรดกองค์ความรู้ด้านภูเขาไฟที่ทั้งคู่บันทึกเอาไว้ผ่านหนังสือ ฟุตเทจฟิล์ม 16 มม. ความยาวนับร้อยชั่วโมง และภาพนิ่งนับพันช็อต และได้นักแสดงและผู้กำกับอย่าง มิแรนดา จูลาย (Miranda July) มาเป็นผู้บรรยาย
ตัวสารคดีรับหน้าที่กำกับและเรียบเรียงโดย ซารา โดซา (Sara Dosa) ที่เอาฟุตเทจ ภาพนิ่งที่เป็นมรดกของทั้งคู่ มาปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้ากับเสียงสัมภาษณ์ของทั้งคู่ตอนมีชีวิต ผสมกับการเล่าเรื่องด้วยแอนิเมชัน เสียง Foley มาเรียงร้อยต่อกันได้อย่างลงตัว จนสามารถคว้ารางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม จากงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปีล่าสุด (Sundance Film Festival 2022) ก่อนที่ค่าย National Geographic Documentary Films จะซื้อสิทธิ์ไปจัดจำหน่ายทั่วโลก ที่น่าตะลึงอีกอย่างก็คือ คะแนน Tomatometer ของเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ที่ไต่ระดับได้ตั้ง 99% แน่ะ
สิ่งที่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ก็คงเป็นการร้อยเรียงฟุตเทจภูเขาไฟที่ทั้งคู่ทิ้งเอาไว้ให้นี่แหละครับ และที่สำคัญคือ ตัวสารคดีไม่มีการเติมบทสัมภาษณ์แบบ Talking Head เหมือนที่คุ้นเคยลงไปเลย มีเพียงเรื่องราวและเสียงจากฟุตเทจถูกเอามาร้อยเรียงให้ถูกจังหวะมากขึ้น เลียบเคียงไปกับเสียงบรรยายของจูลายค่อย ๆ เล่าเรื่องผ่านการเดินทางไปตามล่าภูเขาไฟตามที่ต่าง ๆ และเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ และไม่แย่งซีน ประโยคไหนที่เอามาจากข้อความในหนังสือ ก็ใช้วิธีเอาชายหญิงชาวฝรั่งเศสมาอ่านภาษาฝรั่งเศสแบบเซอร์ ๆ กันไปเลย และหลายครั้งตัวหนังก็เลือกที่จะปล่อยให้คนดูเห็นภาพความยิ่งใหญ่ของภูเขาไฟจากฟุตเตจแบบดิบ ๆ โดยที่ไม่ใส่เสียงอะไรลงไปรบกวนเลยแม้แต่น้อย
แล้วด้วยความที่ทั้งคู่เองจริง ๆ ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มตัว แต่เป็นนักภูเขาไฟวิทยาที่มีภารกิจในการเก็บตัวอย่างมาศึกษา และเก็บภาพภูเขาไฟ (หรือถ้ายุคนี้คงเรียกว่าเป็นนักถ่าย Stock Image สายภูเขาไฟ ไรงี้) เพื่อเอาฟุตเทจและภาพนิ่งไปขาย ตัวของทั้งคู่ก็เลยมีมุมมองทางศิลปะที่ดีไปด้วย เพราะฟุตเทจที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้มันช่าง Cinematic จัด ๆ เลยครับ หลายช็อตเราจะเห็นว่ามอริซเองก็น่าจะได้มุมกล้องและวิธีการเล่าเรื่องที่มีกลิ่นอายแบบหนังหัวก้าวหน้าของฝรั่งเศส หรือ French New Wave อยู่พอสมควร จนหลายครั้งเราเองก็ลืมนึกไปว่า ไอ้ภูเขาไฟนี่มันคือพญามัจจุราชชัด ๆ (และอย่าลืมว่า ฟุตเทจพวกนี้ถ่ายด้วยกล้องหนัง 16 มม. + ภาพนิ่งจากกล้องฟิล์ม SLR ด้วยนะ)
กลายเป็นว่า ภาพที่ได้มากลับสวยงามและน่าทึ่งมาก ๆ บางช็อตนี่ผู้เขียนก็แทบจะไม่เชื่อว่าถ่ายมาได้ยังไง (วะ) ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็อาจจะมาจากองค์ความรู้ที่ทั้งคู่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูเขาไฟอย่างมาก รู้ว่าตรงไหน ช่วงเวลาไหนที่จะเกิดอันตราย จังหวะไหนที่เข้าใกล้ได้หรือไม่ได้ ไม่งั้นคงได้ตกลาวาตายไปตั้งแต่แรก ๆ แล้ว แถมในหนังยังมีการใส่ช็อต Outtake ที่ถ่ายเล่น ๆ เอาไว้ด้วย ตัวหนังก็เลยเจือความขบขันเฮฮาของทั้งคู่ และเบื้องหลังการทำงานที่ดูสนุกสนานกิงก่องแก้ว บวกกับความอารมณ์ดีของมอริซและคาเทียที่มีนิสัยคุยเล่นคุยหัวอยู่แล้ว พอได้เห็นทั้งคู่และทีมงานทำงานไปเล่นไปบนภูเขาไฟที่กำลังระเบิดนี่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังไปกวนตีนใส่หน้าพญามัจจุราชอะไรแบบนั้นเลยแหละ
ในอีกพาร์ตหนึ่ง ตัวหนังเองก็ยังต้องถ่ายทอดเรื่องราวประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวชีวิตของทั้งคู่ และความรู้เรื่องเกี่ยวกับภูเขาไฟ ธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรากฏการณ์สังคมที่มีต่อนักภูเขาไฟของทั้งสองคน (ซึ่งถือว่าเป็นคนดังในยุคนั้นเหมือนกัน) และความรู้สึกนึกคิดของทั้งคู่ที่มีต่อปรากฏการณ์ภูเขาไฟ และความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดด้วยหลายวิธีการ ทั้งฟุตเตจและเสียงบทสัมภาษณ์ บทความจากหนังสือ ส่วนพาร์ตความรู้ ตัวหนังก็ใช้แอนิเมชันสไตล์ฮิป ๆ มาช่วยเล่า ช่วยถ่ายทอดความรู้เนิร์ด ๆ ให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น
ทำให้ตัวหนังตลอดทั้ง 1 ชั่วโมงครึ่งไม่ได้แค่สะท้อนภาพเรื่องราวของทั้งคู่ และความยิ่งใหญ่เลื่อนลั่นของภูเขาไฟที่สวยงามและอันตรายแต่เพียงอย่างเดียว ตัวหนังเหมือนกำลังจะพยายามเล่าเรื่องทั้งสองฝั่งเข้าหากันอย่างเรียบง่ายที่สุด ในครึ่งแรกเราจะได้เห็นการสะท้อนภาพสุขนาฏกรรมที่เกิดจากความรักของทั้งคู่ที่มีต่อกัน ความรักที่มีต่อภูเขาไฟ การเผชิญหน้ากับภูเขาไฟที่เปรียบเหมือนการผจญภัยอันตื่นตาและขบขัน ในขณะที่ครึ่งหลัง ตัวหนังกลับสะท้อนภาพของภูเขาไฟที่เปรียบเหมือนกับพญามัจจุราชที่ปล่อยลาวา กลุ่มควัน ขี้เถ้า ออกมาคร่าทุกชีวิตและทุกสิ่งที่กีดขวางทางมัน กลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่แสนเศร้าตรมและไร้ทางแก้ และไม่มีทางรู้ล่วงหน้า จนในที่สุด มัจจุราชก็หันมาคร่าชีวิตของทั้งคู่ไปจนได้
แต่อย่างที่ผู้เขียนบอกล่ะครับ ตัวหนังเองถูกเล่าอย่างเรียบง่าย และไม่ดราม่าฟูมฟายจนกลายเป็น Docu-Drama จนเกินงาม แต่ตัวหนังใช้วิธีการสลับอารมณ์ทั้งสนุกสนาน โรแมนติก และน่ากลัวอย่างเรียบง่าย เพลงประกอบที่ใช้ก็เรียบง่ายมาก ทำให้โทนของตัวหนังไม่ได้กระโตกกระตาก แต่มันยังสะท้อนภาพของธรรมชาติที่อันตรายเกินกว่าจะควบคุม และมันก็สะท้อนให้เห็นภาพของคนสองคนที่มีให้ต่อธรรมชาติ ที่มีให้ต่อความหลงไหล และความรักที่มีให้แก่กัน รวมถึงความรักในการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และอันตรายของภูเขาไฟเอาไว้เป็นมรดกแก่ผู้คนด้วย
โดยรวมแล้ว ‘Fire of Love’ แม้จะถูกวางตัวให้เป็นสารคดี-ประวัติบุคคล แต่ด้วยการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ได้พยายามวางตัวเป็นสารคดีที่วางตัวเองให้เป็นผู้รู้ ไม่ได้เป็นโชว์เคสที่มานั่งอวดว่าทั้งคู่เจ๋งขนาดไหน แน่นอนว่า ภาพสารคดีในหนังและเรื่องราวของทั้งคู่นั้นมันช่างตื่นตาตื่นใจเสียเหลือเกิน แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นการสะท้อนภาพของคู่รักที่ทำออกมาได้น่าหลงไหล น่าชื่นใจแกมอิจฉา
ผู้เขียนเชื่อว่า คงไม่มีใครใจแข็งมากพอที่จะไม่รู้สึกถึงความเร่าร้อน ทรงพลัง น่ากลัวของภูเขาไฟ และความรักของคนบ้า ๆ 2 คนที่ขึ้นชื่อว่าเคยได้อุทิศความรักให้กับธรรมชาติ และโลกใบนี้ไว้อย่างลึกซึ้งและแผ่วเบา อย่างที่สารคดึ และคู่รักคู่นี้ได้ทิ้งเอาไว้ให้กับเราหลังดูจบอย่างแน่นอน
‘Fire Of Love ทัณฑ์รักจากลาวา’ ฉายรอบปกติตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เฉพาะที่โรงภาพยนตร์ SF เซ็นทรัลเวิลด์, SF MBK ,เมญาเชียงใหม่, House สามย่าน, Doc Club & Pub., Lido Connect และเข้าฉาย 20-21 สิงหาคม ที่ SF ภูเก็ต – ขอนแก่น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส