[รีวิว] บึงกาฬ: หนังพลังจินตนาการผู้ชม อัดแน่นไปด้วยปริศนาที่ไม่อยากหาคำตอบ
Our score
3.5

Release Date

18/08/2022

ความยาว

105 นาที

[รีวิว] บึงกาฬ: หนังพลังจินตนาการผู้ชม อัดแน่นไปด้วยปริศนาที่ไม่อยากหาคำตอบ
Our score
3.5

The Lake บึงกาฬ

จุดเด่น

  1. ดีเป็นส่วน ๆ เช่น ฉากสัตว์ประหลาดกลางสายฝนเหมือนในหนังสปีลเบิร์กทำเลียนแบบได้ดี ฉากแสดงอารมณ์ของตัวละครส่งพลังได้ดี หนังมีศักยภาพที่จะเป็นหนังที่น่าสนใจได้ถ้าเอาไปตัดต่อใหม่หรือวางแผนการเล่าเรื่องใหม่ว่าอยากเน้นอะไรแน่

จุดสังเกต

  1. ดีเป็นส่วน ๆ แต่เอามารวมกันได้เละเทะ จับต้นชนปลายได้ยาก ตัดต่อเล่าเรื่องขั้นย่ำแย่ ต้องเอาจินตนาการของคนดูหาทางเชื่อมระหว่างฉากและหาเหตุผลให้กับสิ่งที่ปรากฎบนจอเอาเอง
  • บท

    2.5

  • โปรดักชัน

    6.5

  • การแสดง

    7.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    1.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    2.5

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ: สัตว์ประหลาดยักษ์ในทะเลสาบออกตามหาไข่ของมัน จนคนทั้งเมืองต้องอพยพหนีตาย

แนวหนังสัตว์ประหลาดดูน่าจะเป็นแนวน่าขยาดของวงการหนังไทย ยิ่งถ้าว่าเป็นแนวหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่เพราะการสร้างภาพนั้นก็ยากตามไปด้วย จะหลบมุมกล้องเอาตลอดก็เป็นไปไม่ได้ ครั้นจะให้เห็นตัวก็ออกแบบฉากยากเพราะขนาดตัวของมันบังคับให้ไม่ทำหุ่นขนาดใหญ่ก็ต้องพึ่งพาซีจี ไม่ว่าจะแบบไหนก็ใช้เงินทุนมหาศาลและเสี่ยงกับการโดนหาว่าภาพหลอกตาถ้าทำไม่ถึงทั้งนั้น

The Lake บึงกาฬ

แต่ก็ต้องยอมรับในความกล้าของผู้กำกับ วิษณุพงษ์ ลีทองคํา ที่เคยมีผลงานแนวระทึกขวัญเรื่อง ‘The Maid สาวลับใช้’ และมาขอยกระดับความหวาดผวาในหนังแนวไคจู หรือสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นก้าวที่ทะเยอทะยานไม่น้อย

ทั้งการไปดึง จอร์ดู เชลล์ (Jordu Schell) นักออกแบบสัตว์ประหลาดในหนัง ‘Cloverfield’ (2008) และ ‘Avatar’ (2009) มาช่วยสร้างสัตว์ประหลาดในบึงใหญ่ที่ผสมระหว่างปลาดุก จระเข้ และงู โดยใช้วิสัยทัศน์การนำเสนอที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังอย่าง ‘Jurassic Park’ (1993) หรือ ‘Godzilla’ (1998) ที่คุ้นตากับฉากสัตว์ร้ายกลางสายฝนและความมืดดำของค่ำคืนสลับแสงฟ้าผ่าและไฟฉุกเฉินในบรรยากาศเมืองต่างจังหวัดของไทยได้อย่างลงตัว และตอกย้ำว่าผู้สร้างเองก็แม่นยำในการคุมมู้ดและโทนของหนังพอสมควร

The Lake บึงกาฬ

รวมถึงการเลือกนักแสดงที่สามารถแบกฉากของตนเองได้ทั้ง ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง ในบทพี่สาวคนโตของบ้านริมทะเลสาบที่พบไข่สัตว์ประหลาด, อาร์ตี้-ธนฉัตร ตุลยฉัตร ในบทน้องชายของออมที่ล้มเหลวจากเมืองกรุงกลับมาบ้านเกิด, ปู-วิทยา ปานศรีงาม ในบทหัวหน้าตำรวจประจำจังหวัดที่รับผิดชอบตัดสินใจสั่งการทุกอย่าง, ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล ในบทสารวัตรที่ตามคดีนี้มาแต่แรก และสุพรรณษา เวชกามา หรือรู้จักกันในนาม ลำไย ไหทองคำ ที่มารับบทลูกสาววัยขบถของตุ้ย แม้รูปลักษณ์ของเธอกับตุ้ยไม่ได้ดูห่างขนาดจะเป็นพ่อกับลูกแต่เอาจริงแล้ว เธอก็ดูไม่ขัดเขินเกินไปที่จะเป็นเด็กมัธยมปลาย น่าจะเป็นว่าตุ้ยดูยังหนุ่มเกินวัยเสียมากกว่า

The Lake บึงกาฬ

ที่ว่ามาจัดว่าล้วนเป็นข้อดีของหนังที่น่าชื่นชม

ด้วยข้อดีที่ว่ามาที่ผู้สร้างพยายามอย่างยิ่งให้ปรากฏออกมา ประกอบกับเงื่อนไขกรอบจำกัดการทำงานที่พอเข้าใจได้จากผลงานที่สำเร็จแล้ว ทั้งปัญหาเรื่องทุน เวลา การประสานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุนจีน และความยากโดยพื้นฐานของหนังสัตว์ยักษ์เป็นทุนเดิม ล้วนเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจอยู่แล้ว มันจึงทำให้หนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่เราเกลียดไม่ลง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามันคือการฝืนทนดูไปพร้อมความหงุดหงิดใจหลายประการตลอดเรื่องเช่นกัน

The Lake บึงกาฬ

อาจพูดได้ว่าหนังมี 3 เรื่องสั้นที่น่าสนใจในตัวเองอยู่ในนั้นและคงจะดีถ้าต่างคนต่างอยู่กันไปมากกว่าที่จะเอามารวมกันแล้วดูไม่ส่งเสริมกันอย่างที่เป็น หนังสั้นทั้งสามเรื่องคือ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของครอบครัวชาวบ้านชนบทที่มีชีวิตพึ่งพาเกษตรกรรม วันหนึ่งลูกสาวคนเล็กเกิดพบไข่ลึกลับและทำให้เธอรู้สึกพิเศษกว่าใครเธอหวงแหนมันมาก ทว่าไข่ใบนี้ทำให้ชาวบ้านคนอื่นต่างต้องเจอกับการรุกรานของปีศาจร้าย ไม่เว้นแม้แต่พี่สาวกับพี่ชายของเธอที่สุดท้ายแม้รอดชีวิตได้แต่ก็ต้องติดเชื้อจากเลือดพิษทำให้เชื่อมจิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของปีศาจโดยไม่รู้ตัว ครั้งใดที่ชาวบ้านพยายามจะแทงใส่สัตว์ประหลาดมันก็เหมือนแทงใส่ตัวพวกเขาไปด้วยราวคำสาปร้าย เรื่องสั้นนี้มีทั้งการเปรียบเปรยซ่อนสัญญะและนำเสนอประเด็นถกเถียงเชิงปรัชญาและจริยธรรมที่น่าสนใจ โดยอ้างอิงของเรื่องนี้อาจเป็น ‘The Host’ (2006) และ ‘Stranger Things’ (2022)

The Lake บึงกาฬ

เรื่องที่สอง เรื่องของสารวัตรที่เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวหลังภรรยาเสียไปแล้วทิ้งลูกสาวที่กำลังอยู่ในวัยต่อต้านเอาไว้ โดยที่เขาก็อยากดูแลเธอให้ดีที่สุดแต่ด้วยความเป็นผู้ชายแข็งกระด้างและภาระงานตำรวจเขาจึงไม่มีโอกาสเปิดใจคุยกับลูกสาว เลยกลายเป็นความห่างเหินไป จนกระทั่งบังเอิญที่สองพ่อลูกต้องตกอยู่ท่ามกลางการจู่โจมของปีศาจร้ายอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้พวกเขาได้รู้ว่าต่างฝ่ายต่างรักกันมากเพียงใด หนังมีโอกาสเปรียบเปรยความรักของพ่อแม่ระหว่างคนกับสัตว์ประหลาดได้อีกชั้นหนึ่งด้วย โดยอ้างอิงของเรื่องนี้อาจเป็น ‘A Quiet Place’ (2018)

The Lake บึงกาฬ

และเรื่องที่สาม ว่าด้วยเรื่องของวิทยาศาสตร์และความเชื่อ นายตำรวจใหญ่ที่ดูแลทั้งจังหวัดพบเจอกับสถานการณ์ที่เกินมือ เขาต้องตัดสินใจโดยมีความปลอดภัยของประชาชนที่หวังพึ่งเขาเป็นเดิมพัน เมื่อสิ้นไร้หนทางเขาบอกให้ประชาชนหันหน้าเข้าหาศาสนาเป็นที่ยึดถือสุดท้าย ในขณะที่อีกทางนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนที่มาศึกษาพฤติกรรมสัตว์ร้ายพยายามทำความเข้าใจสังเกตจนหาทางรอดได้และพยายามหาทางบอกกับนายตำรวจ เรื่องสั้นนี้ยังอาจนำเสนอในแง่ของการวิพากษ์อำนาจรัฐกับการแก้ปัญหาได้อีกด้วย โดยอ้างอิงของเรื่องนี้อาจเป็น ‘Shin Godzilla’ (2016)

The Lake บึงกาฬ

ซึ่งเอาจริงก็ไม่รู้หรอกว่าผู้สร้างคิดอะไรแบบนี้ไว้ไหม แต่สังเกตจากร่องรอยของตัวหนังนั้นพอจะคาดคะเนได้ จึงเห็นทั้งโอกาสที่มันอาจเป็นได้ รวมถึงพอเดาได้ว่าผู้สร้างอยากจะทำอะไรคิดภาพแบบไหนในหัวกับฉากที่หยอดมาแบบนี้แต่ไม่ได้สานต่อ คือดูแล้วทั้งสามเรื่องมีประเด็นและเส้นเรื่องที่แข็งแรงมากพอ บางอย่างอาจไม่ใหม่มีเดินไปตามสูตรบ้างแต่ก็เห็นร่องรอยแห่งการต่อยอดอย่างมีชั้นเชิงได้ ทว่าพอเอาสามเรื่องนี้มาทำเป็นหนังยาวเรื่องเดียว มันเต็มไปด้วยแผลตัดแต่งตัดต่อเหมือนซากศพของแฟรงเกนสไตน์ที่ขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สมประกอบก็ไม่ปาน

The Lake บึงกาฬ

หนำซ้ำผู้สร้างยังประเมินขนาดของหนังผิดอย่างร้ายแรง เราพออนุมานได้ว่านี่เป็นเหตุการณที่สั่นสะเทือนทั้งจังหวัดอย่างรวดเร็วโดยภัยร้ายนั้นมาจากภูเขาและทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ดูลึกลับ แต่ถ่ายภาพมาเหมือนบึงหรือสระในสวนสาธารณะมากกว่า การเล่าด้วยภาพก็มีภาพกว้างน้อยมากจนเล่าเรื่องแทบไม่ได้ พวกต้องหลบมุมกล้องพวกฉากสัตว์ประหลาดนั้นพอเข้าใจได้บ้างแต่เวลาไปจับภาพพวกคนก็เล่นแต่ภาพแคบหมดจนไม่ได้พักสายตา จะว่าวางแผนการสร้างผิดพลาดจนไม่มีพวกฉากเปิดสถานที่หรือให้คนดูเข้าใจพื้นที่ภาพรวม (Establishing Shot) มากพอ หรือเป็นความจงใจให้ดูอึดอัดก็ตอบยาก แต่บกพร่องเรื่องการเล่าเรื่องนั่นเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาแน่นอน

The Lake บึงกาฬ

ในปี 2560 ตามท้องเรื่องที่เป็นยุคของไอโฟน 7 เข้า 8 ทำไมจังหวัดนี้ผู้คนเหมือนไม่รู้จักว่าโทรศัพท์มือถือหรือการถ่ายคลิปลงโซเชียลมีเดียคืออะไร แทบจะใช้วิทยุไร้สายคุยกันเอาด้วยซ้ำ จะบอกเป็นโลกแฟนตาซีก็ใส่อ้างอิงความสมจริงมาหนักแน่นเกินไป พลอยทำให้ข้อสรุปตอนท้ายดูเบาปัญญาไปด้วย

และการคุมมู้ดหนังที่ทำได้ดีก็ยังมีรอยแหว่งประหลาด ๆ เช่น ฉากฝนตกกับฟ้าแจ้งแทบจะตัดสลับกันเลยราวกับอยู่คนละโลกทั้งที่จังหวัดเดียวกัน ถ้ามองถึงอารมณ์หนังทำเป็นฉากฝนตกทั้งเรื่องน่าจะเข้ากันกว่าเสียอีก

The Lake บึงกาฬ

ตอกย้ำซ้ำร้ายไปอีกว่าโครงเรื่องจากการผสมร่างไม่แข็งแรงแล้ว การตัดต่อเล่าเรื่องยิ่งดูแย่ไปอีก หลายฉากขาดความต่อเนื่องทางอารมณ์ เช่น ภาพแรกตัวละครอาจสั่นกลัวราวสติจะหลุดแต่พอตัดภาพที่สองตัวละครยืนนิ่งไร้อารมณ์ไปเสียแล้ว คนดูก็จะไบโพลาร์ตาม

The Lake บึงกาฬ
ฉากก่อนหน้าที่สองตำรวจมาดื่มกินคลายทุกข์ราวไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฉากก่อนหน้าคือคนตายกลางถนนเป็นสิบแล้ว

ที่หนักกว่านั้นหนังขาดความต่อเนื่องทางลำดับเหตุผล คือหลายฉากโดดไปมา เหมือนมันขาดสักหนึ่งหรือสองฉากที่ต้องมีเชื่อมอยู่เสมอเลย สมมติว่า ปกติต้องเล่า A B C แต่หนังมักจะตัดแบบ A C แล้วปล่อยให้ B เป็นหน้าที่คนดูใส่เข้าไปเอง คือถ้ามันจงใจทำเพื่อสร้างชั้นเชิงมันก็ดูเก๋ดี แต่พอมันก็เดินไปตามสูตรหนังมาตรฐาน เราจึงรู้สึกเหมือนคนสร้างโยนความรับผิดชอบให้คนดูมากไปว่า เราเจอข้อจำกัดเยอะถ่าย B มาใส่ไม่ได้ แต่พวกคุณก็น่าจะเติมกันเองได้เนอะ ซึ่งพอมันเยอะ ๆ เข้าแทบทั้งเรื่องมันเลยเหมือนเราไปดูคอนเสิร์ตที่นักร้องร้องประโยคหนึ่งแล้วก็ชอบหันไมค์มาให้เราร้องแล้วก็ดึงกลับไปร้องประโยคหนึ่งสลับไปแบบนี้ และดันทำอย่างนี้ทั้งคอนเสิร์ต แน่นอนเพลงนี้เรารู้เนื้อเราร้องได้ เพลงก็เพราะดี แต่เจอแบบนี้มันชวนน่าหงุดหงิดใจมากเสียกว่า

The Lake บึงกาฬ

และบางจุดของหนังเองก็เว้นข้ามไปจนเราไม่เข้าใจเจตนาของหนังเลยก็มี โดยเฉพาะพวกปมที่เป็นจุดสำคัญทั้งหลาย อย่างสัตว์ประหลาดคืออะไร? มันล่าเหยื่อจากอะไรมองเห็นได้กลิ่นหรือได้ยิน มีพฤติกรรมยังไง? การติดเชื้อแล้วจิตใจเชื่อมกันคืออะไรแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อไป? รัฐใช้อำนาจตามท้ายเรื่องได้อย่างไร? การเดินทางของตัวละครของตุ้ยคืออะไรเพราะเขาเห็นอะไรรู้อะไร? สรุปแล้วสัตว์ประหลาดต้องการอะไรแน่? เป็นสัญญะของอะไรไหมเพราะดูยังไม่ชัดเจน

The Lake บึงกาฬ

เต็มไปด้วยปริศนา ที่ว่าไปตามจริงก็เหนื่อยจะหาคำตอบหลังจากต้องนั่งจินตนาการฉากมาเชื่อมช่วยหนังตลอดทั้งเรื่อง และสุดท้ายก็ไม่ได้อยากจะรู้ขนาดนั้นแล้วด้วย ลืมตัวหนังไปแล้วเหลือทิ้งไว้แค่ว่าครั้งหนึ่งหนังไทยเราลองทำอะไรใหม่ ๆ ให้ชื่นใจพอแล้วและหนังเรื่องนั้นชื่อ ‘บึงกาฬ’

The Lake บึงกาฬ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส