Release Date
01/09/2022
แนว
ตลก/ดราม่า/โรแมนติก
ความยาว
2.39 ช.ม. (139 นาที) + พักครึ่ง (Interval)
เรตผู้ชม
PG-13
ผู้กำกับ
แอดแวต จันดาน (Advait Chandan)
SCORE
7.4/10
Our score
7.4Laal Singh Chaddha | ลาล ซิงห์ จั๊ดด้า | लाल सिंह चड्ढा
จุดเด่น
- เคารพโครงเรื่อง จิตวิญญาณ กิมมิก ข้อคิดของหนังต้นฉบับไว้ได้ครบถ้วน แต่มีเส้นเรื่องในแบบของตัวเอง
- แทรกมุกตลก ดราม่า และประเด็นหนัก ๆ สไตล์อาเมียร์ ข่าน เอาไว้ได้อย่างพอดี ดูเพลิน แต่ไม่กลวง
- สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของอินเดียหลาย ๆ ด้านได้ออกมาสนุก
- อาเมียร์ ข่าน แบกหนังทั้งเรื่องได้น่ารักน่าชัง ตลกหน้านิ่งยังคงใช้ได้ มีความเป็นเด็กกว่าฉบับ ทอม แฮงก์ส
- งานโปรดักชันดี สมจริง ถ่ายภาพโลเกชันทั่วอินเดียได้ออกมาสวยงาม
จุดสังเกต
- หนังค่อนข้างยาวและเดินเรื่องช้า ถ้ากระชับเนื้อเรื่องได้มากกว่านี้จะดีมาก
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.1
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.5
-
คุณภาพของบทภาพยนตร์
8.2
-
ความบันเทิง
7.1
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
7.0
6 กรกฎาคม ปี 1994 โลกได้รู้จักและประทับใจกับเรื่องราวเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ของ ‘ฟอเรสต์ กัมพ์’ (Forrest Gump) จนทำให้ภาพยนตร์ ‘Forrest Gump’ (1994) หรือ ‘อัจฉริยะปัญญานิ่ม’ คว้ารางวัลออสการ์ได้ถึง 6 สาขา ส่วนนักแสดงนำอย่าง ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks) ก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นตัวที่ 2 ติดต่อกันได้สำเร็จ 28 ปีต่อมา อาเมียร์ ข่าน (Aamir Khan) โปรดิวเซอร์และนักแสดงซูเปอร์สตาร์บอลลีวูดหน้าซื่อ ที่สร้างชื่อจากการตั้งคำถามและตีความประเด็นสังคมผ่านผลงานหนังบอลลีวูด คราวนี้เขาเล่นใหญ่ด้วยการหยิบเอาหนังที่คนทั้งโลกรักเรื่องนี้ มารีเมกใหม่ในแบบฉบับหนังบอลลีวูดในชื่อ ‘Laal Singh Chaddha’ หรือ ‘ลาล ซิงห์ จั๊ดด้า’ เรื่องนี้แหละครับ
เล่นใหญ่เบอร์นี้ จะว่ากล้าหาญก็ใช่ครับ แต่มันก็เสี่ยงเหมือนกันในการเอางานคลาสสิกที่คนทั้งโลกรักมาตีความใหม่ในทางที่คาดไม่ถึงขนาดนี้ แถมยังใช้เวลานานถึง 20 ปีด้วยกว่าจะเริ่มสร้าง เพราะ 10 ปีแรก อตุล คุลคาร์นี (Atul Kulkarni) ผู้ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ใช้เวลาดัดแปลงบทต้นฉบับที่เขียนโดย อีริก รอธ (Eric Roth) ให้เข้ากับบริบท สังคม และประวัติศาสตร์การเมืองอินเดีย และอีก 10 ปีต่อมาในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ทั้งจากสตูดิโอ พาราเมาต์ พิกเจอร์ส (Paramount Pictures) และวรรณกรรมต้นฉบับ กว่าจะได้ถ่ายทำจริงก็ปาเข้าปลายปี 2019 โดยได้ แอดแวต จันดาน (Advait Chandan) ผู้กำกับคู่ใจ อาเมียร์ ข่าน มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์
‘Laal Singh Chaddha’ เล่าเรื่องของ ‘ลาล ซิงห์ จั๊ดด้า’ (Aamir Khan) หนุ่มชาวซิกข์ที่มีความผิดปกติทางด้านร่างกายและสติปัญญา ที่กำลังเดินทางโดยรถไฟพร้อมกับกล่องขนมปานิปูรี (นี่แหละกล่องช็อกโกแลตล่ะ) ในระหว่างเดินทาง ลาลได้เล่าเรื่องชีวิตของตนเองให้ผู้โดยสารคนอื่น ๆ ได้ฟัง ตั้งแต่วัยเด็กที่เติบโตมากับแม่ ‘กูร์ปรีท’ (Mona Singh) รักแรกที่เขาอุทิศให้กับ ‘รูปา ดีซูซา’ (Kareena Kapoor) การได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองอินเดีย และสิ่งที่เขาทำตลอดทั้งชีวิต ที่จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตให้ได้ขบคิดต่อ
แน่นอนว่าหลายคนอาจรู้สึกแหยง ๆ ว่า บอลลีวูดจะเอาหนังฮอลลีวูดมายำใหม่ เล่าเองเออเองจนรสชาติเพี้ยนเละเทะไปเลยหรือเปล่า แต่เมื่อได้ชมแล้ว อันนี้ผู้เขียนก็ต้องยืนยันครับว่า ตัวหนังค่อนข้างเคารพบทหนังต้นฉบับอยู่มากทีเดียว ยังเคารพโครงเรื่อง จิตวิญญาณ และกิมมิกจากหนังต้นฉบับเอาไว้ได้แทบจะครบถ้วน คือถ้าคุณเป็นคนที่ดูหนังต้นฉบับมาแล้ว แทบจะไม่ต้องเดาเลยว่าจะตัวหนังจะเดินเรื่องและมีบทสรุปอย่างไร เพราะมันก็ไม่ได้เพี้ยนจากที่เราเคยดูหนังต้นฉบับมาก่อนนั่นแหละครับ ดูแล้วเทียบเคียงตามได้ไม่ยากว่าใครเป็นใคร อะไรเป็นอะไร กิมมิกไหนที่มีการตีความ ปรับเปลี่ยนจากหนังต้นฉบับ อันไหนเป็น Easter Egg จากหนังต้นฉบับ และอะไรที่ยังคงเอาไว้เหมือนเดิม
แต่ถึงกระนั้น ตัวหนังก็ไม่ได้ถึงกับรีเมกมาแบบช็อตต่อช็อตขนาดนั้น เพราะตัวหนังเองก็ยังมีเรื่องราว ทิศทาง และสไตล์แบบของตัวเองอย่างชัดเจนนะครับ เอาเข้าจริง ๆ ตัวหนังเองคงไม่ได้จะตั้งตัวว่าจะขายความสดใหม่ชวนว้าวอะไรขนาดนั้น แต่มันน่าสนใจตรงการลองเอาสูตรที่ดีมาเขย่าใหม่แล้วเสิร์ฟด้วยวิธีแบบบอลลีวูดมากกว่า จุดหนึ่งที่ตัวหนังทำออกมาได้ดี นอกจากการคงเอาไว้ซึ่งการสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับชีวิตและการมองโลกก็คือ กิมมิกการสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีต ซึ่งตัวหนังเลือกที่จะขยายออกมาเป็นซับพล็อต และสอดแทรกบริบท วัฒนธรรม สังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนา ความบันเทิงของอินเดียลงไปคลุกเคล้าได้น่าสนใจ ใครรู้เกร็ดพวกนี้ก็จะดูสนุกขึ้น แต่ใครไม่รู้ก็ยังคงดูได้แบบไม่งงนัก
อีกจุดที่ต่างออกไปจากหนังต้นฉบับก็คือ การที่ตัวหนัง Dramatize เรื่องราว ใส่มุกตลก แอ็กชัน ดราม่า โรแมนติกที่เข้มข้นจัดจ้านกว่าหนังต้นฉบับครับ ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามแบบฉบับหนังบอลลีวูดนี่แหละ ที่ต้องมีความบันเทิงฉาบหน้าไว้ก่อน ซึ่งถือว่าทำได้ดีเลยครับ โดยเฉพาะพวกมุกตลกจังหวะนรก หรือมุกแซวอะไรที่เกี่ยวกับอินเดียนี่คือฮามาก จังหวะดราม่าก็น้ำตารื้นแบบพอดี แม้จะเล่นใหญ่ตามฉบับหนังอินเดีย แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเวอร์วัง อยู่ในจังหวะแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ช้าเนิบแบบบอลลีวูด เป็นจังหวะเฮฮา ตื่นเต้น ดราม่าแบบเพลิน ๆ ไม่ได้กระชากฟีลบีบคั้นจนถึงขั้นตับแตก
อีกสิ่งที่ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยคือการตีความตัวละคร ฟอเรสต์ กัมพ์ ครับ ตัวของ ลาล ซิงห์ จั๊ดด้า นั้นต่างกับ ฟอเรสต์ กัมพ์ ต้นฉบับของ ทอม แฮงก์ส ก็ตรงที่ตัวของลาลนั้นมีความเป็นเด็กมากกว่า คิดซับซ้อนน้อยกว่า คิดแล้วทำเลย แน่นอนว่า ความสมจริงในฐานะคนป่วยโรคออทิสติกอาจน้อยกว่าต้นฉบับ แต่มันก็เอื้ออำนวยให้ อาเมียร์ ข่าน หยอดมุกหน้าตายแบบซื่อ ๆ ในสไตล์ของเขาเองเข้าไปเพิ่ม เพื่อใช้แบกหนังทั้งเรื่องไปได้แบบตลอดรอดฝั่ง
และก็ยังเอื้อให้ตัวหนังแทรกลายเซ็นของเขา นั่นก็คือการสะท้อนและจี้จุดประเด็นถกเถียงในสังคมของของคนอินเดียลงไปในหนัง ทั้งประเด็นความเชื่อ สังคม ความโลภ การเมือง หรือแม้แต่ศาสนา (โดยเฉพาะศาสนาซิกข์ที่ลาลนับถือ) ได้อย่างน่าสนใจ และเป็นการเติมความหมายใหม่ ๆ ให้ตัวหนังมีความแตกต่างออกไปจากต้นฉบับด้วย แม้อาจจะไม่ได้เอามาจี้จุดกันแบบเน้น ๆ เหมือน ‘3 Idiots’ (2009) และ ‘PK’ (2014) แต่เพียงแค่นี้ก็กลายเป็นปมให้หนังโดนกระแสบอยคอตในอินเดียไปแล้วเรียบร้อย
ถ้าจะมีจุดสังเกตอยู่บ้าง จริง ๆ ก็ถือว่าไม่ได้ใหญ่โตอะไรครับ แม้จะมีฉากประกอบเพลง เข้ามาแทนที่ฉากเต้นรำสไตล์บอลลีวูด (เข้าใจว่าเพื่อให้ขายได้ทั่วโลก) ซึ่งตัวเพลงก็เพราะดี และตัวหนังก็ยังมีบทที่บันเทิง และการแสดงของ อาร์เมีย ข่าน ที่น่ารักน่าชัง คอยประคองเนื้อเรื่องให้ดูได้เรื่อย ๆ ได้อย่างไม่น่าเบื่อ แต่ความยาวของหนังก็ยังชวนให้รู้สึกถึงความเนิบช้าและยืดยาวจนต้องมีการพักครึ่ง (Interval) คั่นกลางตามสไตล์หนังอินเดีย หากกระชับได้มากกว่านี้ก็อาจจะเพลินกับหนังได้มากกว่านี้อีก กับอีกจุดคือ งานด้านโปรดักชันที่จริง ๆ แล้วทำออกมาได้ยิ่งใหญ่มากนะครับ โดยเฉพาะฉากวิ่งทั่วประเทศอินเดียกว่า 100 โลเกชัน ที่ถ่ายทอดออกมาได้ออกมาสวยงามมาก เป็นหนังโปรโมตการท่องเที่ยวอินเดียได้เลย แต่ก็มีติดบ้างตรงงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่ผู้เขียนรู้สึกว่ายังมีบางชิ้นที่ดูลอย ๆ แต่โดยรวมถือว่าไม่แย่
โดยรวม ‘Laal Singh Chaddha’ น่าจะจำกัดความคำว่า “ถ้าบทดี หนังก็ดีไปแล้วครึ่งหนึ่ง” ได้เห็นภาพที่สุดแล้วล่ะแน่นอน คงไม่อาจพูดได้ว่าหนังต้นฉบับหรือเวอร์ชันนี้อันไหนดีหรือแย่กว่า สำหรับผู้เขียน นี่คงเป็นเวอร์ชัน 2.0 ของฟอเรสต์ กัมพ์ ที่สามารถเก็บและรื้อสร้าง ตีความใหม่ได้ถูกที่ทาง รักษาแกนเรื่องไว้ได้เกือบครบ แต่มีเรื่องราวและจังหวะเป็นของตัวเอง แฝงด้วยประเด็นสังคมน่าคิด โปรดักชันดี การแสดงครบรสแบบเรียบง่ายอะไรแบบนี้มากกว่า คนไม่ชอบหนังบอลลีวูดอาจไม่คุ้นกับจังหวะช้าเนิบ เพลงประกอบ หรือจังหวะพักครึ่ง แต่ถ้าคุณสนใจ และรัก ฟอเรสต์ กัมพ์ หนังเรื่องนี้ก็ยังคงสามารถมอบพลังบวก แรงบันดาลใจ ดูแล้วออกจากโรงด้วยรอยยิ้ม อิ่มอกอิ่มใจ และน่าจะตกหลุมรัก ฟอเรสต์ กัมพ์ เวอร์ชันปานิปูรี ได้อย่างไม่ยากเย็นเช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส