วันฉาย
20 / 8 /2022
แนว
แอ็กชัน, ดราม่า, การเมือง
เวลา
125 นาที
ผู้กำกับ
ฟุมิฮิโกะ โซริ
เรตผู้ชม
PG-13
Our score
6.8Fullmetal Alchemist: The Revenge of Scar
จุดเด่น
- เดินเรื่องไว ไม่ทิ้งช่วงให้เบื่อ
- เนื้อหาทำตามการ์ตูนเป๊ะ ถอดแบบกันมาเลย
- ยามาดะปล่อยมุกโบ๊ะบ๊ะมาก ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนในการ์ตูนดี
- นักแสดงเล่นดีสุด ๆ แทบไม่มีซีนเล่นใหญ่แบบที่เจอตามละคร
จุดสังเกต
- เนื้อหาดำเนินเร็วเกินไป ทำให้คนดูจับประเด็นไม่ทัน
- CG ที่ไม่เนียนตา
- นักแสดงไม่ตรงกับเชื้อชาติของตัวละคร บางครั้งทำให้รู้สึกเหมือนดูคอสเพลย์มากกว่า
-
คุณภาพด้านการแสดง
7.0
-
คุณภาพโปรดักชัน
7.0
-
คุณภาพของบท
7.0
-
คุณภาพของความบันเทิง
6.5
-
ความคุ้มเวลาในการชม
6.7
Fullmetal Alchemist: The Revenge of Scar เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ฉลองครบรอบ 20 ปี ของการ์ตูนเรื่อง ‘แขนกล คนแปรธาตุ’ ซึ่ง The Revenge of Scar เป็นภาพยนตร์คนแสดงลำดับที่ 2 จากไตรภาคไลฟ์แอ็กชัน และถือเป็นภาคต่อโดยตรงจากไลฟ์แอ็กชัน Fullmetal Alchemist ที่ฉายเมื่อปี 2017
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจาก เอ็ดเวิร์ด และ อัลฟองเซ เอลริค 2 พี่น้องนักเล่นแร่แปรธาตุที่สูญเสียร่างกายจากการพยายามชุบชีวิตแม่ พวกเขาจึงออกเดินทางเพื่อตามหาวิธีเอาร่างกายกลับคืนมา และในภาค The Revenge of Scar จะเป็นเนื้อหาที่ต่อจากไลฟ์แอ็กชันในปี 2017 โดยในภาคนี้เอ็ดเวิร์ดได้เลื่อนขั้นเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุของทางการ และกำลังเดินทางไปที่เซ็นทรัลซิตี้พร้อมกับอัลฟองเซ ในขณะนั้นพวกเขาก็ได้เจอกับ หลิน เหยา โอรสแห่งราชอาณาจักรชิน ผู้ออกตามหาศิลานักปราชญ์เพื่อเอาไปต่อรองในการขึ้นเป็นจักรพรรดิ และยังมี เหม่ย จาง องค์หญิงแห่งตระกูลจาง ก็ได้เดินทางมาที่นี่เพื่อแย่งชิงตำแหน่งจักรพรรดิเช่นกัน
ในขณะนั้นเอ็ดเวิร์ดก็พบว่า เอนวีศัตรูเก่ายังไม่ตาย ซ้ำร้ายยังปรากฏตัวพร้อมกับโฮมุนครูสกลุ่มใหม่ ที่จะทำให้ทั้งประเทศลุกเป็นไฟ ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็มาแทรก เมื่ออยู่ ๆ ก็มีชายชื่อสการ์ ออกตามล่านักเล่นแร่แปรธาตุของทางการ ซึ่งเอ็ดเวิร์ดก็คือหนึ่งในเป้าหมายของสการ์ และที่เขาทำไปทั้งหมดก็เพื่อแก้แค้นให้กับชาวอิชวาล ชนชาติของตนที่ถูกทางการสั่งกวาดล้างเมื่อหลายปีก่อน
ใช่ครับ นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์อันยุ่งที่เกิดขึ้นใน Fullmetal Alchemist ซึ่งผู้แต่งวางปมของเนื้อหาได้ดีมาก วางปูมหลังให้เห็นถึงแรงผลักดันของเอ็ดเวิร์ด แถมผสานเนื้อหาการเมืองที่ทำให้เราเข้าใจการกระทำของทุกฝ่าย แม้ว่าพล็อตจะดูยุ่งเหยิงแต่ก็เรียงร้อยเนื้อหาได้ดีและไม่ชวนงง
ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับอาจารย์ฮิโรมุ อารากาวะ (Hiromu Arakawa) ผู้เขียนมังงะที่แต่งเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเวอร์ชันไลฟ์แอ็กชันก็เพียงแค่หยิบเนื้อหาจากการ์ตูนมาร้อยเรียงเป็นบทคนแสดง แบบเดินเรื่องเหมือนกันแทบทุกกระเบียดนิ้ว
หากนับว่าหนังสือการ์ตูน Fullmetal Alchemist เป็นเนื้อหาต้นฉบับแล้วล่ะก็ เวอร์ชันคนแสดงนี้ก็นับเป็นรอบ 3 ที่แขนกล คนแปรธาตุได้ถูกดัดแปลงออกมาสู่จอแก้ว เพราะก่อนหน้านี้มังงะ Fullmetal Alchemist เคยถูกดัดแปลงมาแล้ว 2 ครั้ง นั่นก็คืออนิเมะภาค 2003 ที่สร้างตอนจบใหม่ได้อย่างตราตรึง และภาครีเมกตามมังงะต้นฉบับอย่าง Brotherhood ก็ส่งให้เรื่องนี้กลายเป็นอนิเมะระดับตำนาน ซึ่งไม่ว่าจะเวอร์ชันไหน ก็สร้างความประทับใจให้กับแฟนการ์ตูนไม่แพ้กัน และที่สำคัญ Fullmetal Alchemist: Brotherhood คืออนิเมะซีรีส์ที่ได้คะแนนสูงสุดจาก IMDb ดังนั้นแล้วความคาดหวังของแฟนการ์ตูนเรื่องนี้จึงมีสูงมาก ๆ
ด้วยความที่ทีมงานกลัวว่าหากดัดแปลงมากเกินไป อาจจะโดนแฟนการ์ตูนถล่มยับได้ จึงพยายามเดินเรื่องให้เหมือนหนังสือการ์ตูนที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ทว่ามันก็ได้สร้างปัญหาให้กับเวอร์ชันคนแสดงอยู่เช่นกัน นั่นคือการที่หนังยัดทุกประเด็น เก็บครบทุกโมเมนต์เข้ามาในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ตัวหนังจึงไม่มีจังหวะให้คนดูได้พักหายใจ อัดใส่ประเด็นใหม่ ๆ เข้ามาไม่ยั้ง ซึ่งถ้าเป็นภาพยนตร์ที่ดูเอามัน คงดูเพลิน ๆ ได้ แต่อย่างที่ได้เล่าเนื้อหาไปใน 3 ย่อหน้าแรก คุณผู้อ่านก็จะพบว่า เนื้อหามันมีตัวละครออกมาเต็มไปหมด และเป็นความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงมาก การยัดทุกอย่างมาใน 2 ชั่วโมงจึงทำให้คนดูจับประเด็นแทบไม่ทัน
อีกสิ่งหนึ่งที่ชวนขัดใจเล็ก ๆ คือการที่หนังเรื่องนี้ถูกดัดแปลงด้วยญี่ปุ่นนี่แหละ เพราะจริง ๆ แล้วพื้นเพของตัวละครใน Fullmetal Alchemist นั้นคือกลุ่มคนหลากสัญชาติ ซึ่งมีทั้งคนดำ ผิวขาว หัวทอง เอเชีย เดินกันให้ควั่ก แต่ทว่าคนหลากสัญชาติเหล่านั้นกลับถูกทดแทนด้วยนักแสดงญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะลักษณะทางกายภาพมันไม่เหมาะสมกับตัวละครเอาซะเลย และเมคอัพที่โปะมาก็ทำให้ตัวละครกลายเป็นคอสเพลย์ไปโดยปริยาย
ในด้านงาน CGI นั้น ญี่ปุ่นก็ยังคงเส้นคงวาในด้านความไม่เนียนตาอยู่เช่นเคย และถ้าคุณผู้อ่านเคยดูเวอร์ชันอนิเมะมาแล้ว อาจจะรู้สึกหงุดหงิดในความอลังการของวิชาแปรธาตุมาก ๆ เพราะไลฟ์แอ็กชันไม่สามารถประดิษฐ์ซีนให้ไปถึงขั้นนั้นได้เลย แม้จะมีคิวบู๊มาช่วย แต่การเคลื่อนไหวของตัวละครก็ยังไม่ได้รวดเร็วแบบในการ์ตูนอยู่ดี
น่าเสียดายที่นักแสดงหลักอย่าง ยามาดะ เรียวสุเกะ (Yamada Ryosuke ) และ แม็คเคนยู อาระตะ (Mackenyu Arata) นั้นค่อนข้างตั้งใจแสดงเอามาก ๆ แต่ด้วยคาแรกเตอร์ที่พวกเขารับบทดันไม่ตรงกับอิมเมจที่ตัวละครควรเป็น ซ้ำร้าย CG กับเมกอัปที่ใส่มาก็ยังไม่เนียนตา มันจึงเป็นเพียงงานคอสเพลย์ที่ออกมาสนองนี้ดผู้สร้างก็เท่านั้น
อันที่จริงในภาค 2017 ก็มีปัญหาแบบนี้เช่นกัน และคนดูอย่างเรา ๆ ก็คิดว่าหนังคงปิดประตูภาคต่อไปแล้ว แต่ทว่าพี่ก็ยังกล้าเข็นภาคต่อตามมา ถามจริงว่าพี่ทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร พอภาค The Revenge of Scar มาแนวนี้แล้ว เราคงไม่ได้หวังว่าภาคสุดท้ายอย่าง The Final Alchemy นั้นจะดีกว่านี้หรอก เพราะพี่ก็คงเก็บเนื้อหาได้ครบตามมาตรฐานนั่นแหละ แต่ความสนุกเนี่ยคงไม่คาดหวังแล้ว ซึ่งแฟนการ์ตูนอย่างเราก็หวังให้สักวันหนึ่งฮอลลีวูดหยิบไปรีเมกซักทีนะ เพราะเนื้อหาของ Fullmetal Alchemist เหมาะจะสร้างโดยฮอลลีวูดมาก ๆ
โดยรวมแล้ว Fullmetal Alchemist: The Revenge of Scar เป็นเหมือนงานคอสเพลย์ที่มีทุนหนา ทำตามการ์ตูนทุกทาง แต่ดันยัดเนื้อหาทุกอย่างเข้ามาในเวลา 2 ชั่วโมง จนทำให้จังหวะของหนังเร่งรีบเกินไป สำหรับแฟนแขนกล คนแปรธาตุนั้นก็ดูให้พอหายคิดถึงได้ แต่สำหรับแฟนคลับหน้าใหม่ที่ดูแล้ว งง ๆ ว่าหนังเล่าเร็วเกินไป แนะนำว่าไปดูอนิเมะอย่าง Fullmetal Alchemist: Brotherhood จะดีกว่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส