[รีวิวซีรีส์] The Lord of the Rings: The Rings of Power (2 ตอนแรก) อลังการแฟนตาซีในแบบที่ไม่มีมานาน แต่ยังกั๊กไปหน่อย
Our score
8.5

Release Date

02/09/2022

ความยาว

1 ซีซัน 8 ตอน (เริ่ม 2 กันยายน และทยอยออกสัปดาห์ละตอน)

[รีวิวซีรีส์] The Lord of the Rings: The Rings of Power (2 ตอนแรก) อลังการแฟนตาซีในแบบที่ไม่มีมานาน แต่ยังกั๊กไปหน่อย
Our score
8.5

The Lord of the Rings: The Rings of Power

จุดเด่น

  1. โปรดักชันดีงามมาก มันคือคุณภาพหนังโรงที่เอามาฉายลงทีวีเลยบางครั้งก็เสียดายงานซีจีงานภาพที่ไม่ได้ขึ้นจอใหญ่ ดนตรีอลังการ ได้ขยายเก็บรายละเอียดจักรวาลของ เจ.เจ.อาร์. โทลคีน เต็มอิ่มขึ้น

จุดสังเกต

  1. เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อนมาก แม้หลายเส้นเรื่องแต่ยังเป็นธรรม-อธรรมที่พอเห็นเด่นชัด
  • บท

    7.6

  • โปรดักชัน

    9.0

  • การแสดง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.5

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    9.0

เรื่องย่อ: ตำนานแห่งยุคสมัยที่ 2 ของดินแดนมัชฌิมโลกที่ยังไม่เคยถูกเล่าถึง เกิดขึ้นนับย้อนไปหลายพันปีก่อนเหตุการณ์ใน ‘The Hobbit’ และ ‘The Lord of the Rings’ เป็นห้วงเวลาที่จอมมารพ่ายแพ้และหายสาปสูญ เหล่าเอลฟ์ มนุษย์และเผ่าพันธุ์อื่นต่างมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างยุคที่รุ่งเรืองอีกครั้ง ทว่าความชั่วทั้งเก่าก่อนและเกิดใหม่ยังเร้นกายรอการหวนคืน นี่คือช่วงเวลาสำคัญในการก่อกำเนิดแหวนครองภิภพที่เราคุ้นเคย

ซีรีส์ ‘The Lord of the Rings: The Rings of Power’ ถูกหมายมั่นว่าจะเป็นจอมทัพเรือธงแฟนตาซีของฝั่ง Amazon Prime Video ที่ดูตั้งใจเอามาชนกับซีรีส์แฟนตาซีธีมยุคกลางซึ่งดัดแปลงจากหนังสือและมีกำหนดฉายในปีนี้เช่นเดียวกันของแพลตฟอร์มอื่น อย่าง ‘House of the Dragon’ ของ HBO Go, ‘The Witcher: Blood Origin’ ของทาง Netflix และ ‘Willow’ ของ Disney+

The Lord of the Rings: The Rings of Power

ดูจากชื่อชั้นแต่ละเรื่องก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันดีทีเดียว ต่างมีจุดแข็งจุดอ่อนที่ก็อาจเป็นอันดับ 1 ในทางของตนเองได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าวัดจาก 2 ตอนแรกของ ‘The Rings of Power’ ที่ปล่อยออกมาตั้งต้นก่อนจะทยอยฉายสัปดาห์ละตอนหลังจากนี้ ก็ต้องบอกว่าในแง่หนึ่งเรื่องนี้คงไม่ถูกใจบางคนนัก แต่ขณะเดียวกันก็จะได้ใจคนอีกกลุ่มใหญ่ไปไม่น้อยเช่นกัน

ด้อยแต่ก็เพราะรู้เงื่อนไขของตนเอง

ในแง่ที่ด้อย ถ้าพูดในเชิงเปรียบเทียบกับ ‘House of the Dragon’ ซึ่งออกมาก่อนและทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องราวหลายร้อยหลายพันปีก่อนหน้าแฟรนไชส์หลักเหมือนกัน อันพอจะอิงเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ ต้องบอกว่า ‘The Rings of Power’ ยังมีความบีบเค้นของการเล่าเรื่องให้ติดหนึบน้อยกว่าอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้ง 2 เรื่องต่างใช้ประโยชน์จากจักรวาลที่แข็งแรงในซีรีส์หรือหนังที่เคยฉายมาก่อนหน้า (และอาจรวมถึงหนังสือนิยายที่เป็นที่นิยม) ทำให้ไม่ต้องการคำอธิบายปูมบางอย่างให้มากความ แต่ ‘The Rings of Power’ ใช้จักรวาลจากปลายปากกาของ เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน (J.R.R. Tolkien) ที่ใหญ่กว่าในเชิงพื้นที่และตัวละคร มันจึงต้องเสียเวลากว่า 2 ตอน รวมเวลากว่า 2 ชั่วโมงไปกับการปูภูมิหลังของตัวละครใหม่ ๆ จำนวนมากกว่าจะครบ

The Lord of the Rings: The Rings of Power

รวมถึงฉากหลังของมิดเดิลเอิร์ธ หรือ มัชฌิมโลกในยุคที่ 2 เป็นเรื่องราวหลังการพ่ายแพ้ของจอมอสูรมอร์กอธที่เป็นเจ้านายของเซารอน และยังไม่ได้กำเนิดแหวนทั้ง 20 วงขึ้น แม้มันจะเคยถูกพูดถึงอย่างบางเบามาก ๆ ในแฟรนไชส์หนัง แต่ก็ถือว่ายังเป็นเรื่องสดใหม่แปลกตาสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้เป็นแฟนเดนตายจากหนังสือนัก เอาแค่ว่าปูเรื่องใหม่นี้ถึงจะย่อยให้เข้าใจง่ายมากแล้ว ก็เล่นเอาจำตัวละครเหนื่อย

เส้นเรื่องหลากหลายทั้งดั้งเดิมและแต่งเติมใหม่

เราจะได้เจอหลากเส้นเรื่องที่เดินไปพร้อมกัน โดยฝั่งเอลฟ์จะมีเส้นเรื่องของ กาลาเดรียล และ เอลรอนด์ ในวัยหนุ่มวัยสาวก่อนที่จะกลายเป็นราชินีและจอมทัพของเอลฟ์ในฉบับหนังไตรภาค (ตัวละครที่เคยแสดงโดย เคท แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) และ ฮิวโก วีฟวิง (Hugo Weaving))

The Lord of the Rings: The Rings of Power

โดยกาลาเดรียลในวัยสาว (รับบทโดย มอร์ฟิด คลาร์ก (Morfydd Clark)) ยังคงเชื่อว่าเซารอนไม่ได้ตายไปตามนายของมัน และเธอยังออกตามล่าล้างแค้นให้พี่ชายที่ถูกเซารอนสังหาร โดยไม่สนคำทัดทานของเอลฟ์ตนอื่นที่เชื่อว่าเซารอนตายแล้วในเวลานั้นและทอดทิ้งให้เธอออกเดินทางตามลำพัง

The Lord of the Rings: The Rings of Power

ส่วนเอลรอนด์ (รับบทโดย โรเบิร์ต อะรามาโซ (Robert Aramayo)) เอลฟ์ลูกครึ่งมนุษย์ได้รับมอบหมายภารกิจจากราชาเอลฟ์ให้ต้องเดินทางไปฟื้นสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าที่เป็นราชาคนแคระนาม ดูริน ที่นครใต้ผืนพิภพ เพื่อช่วยให้ฝั่งเอลฟ์สามารถสร้างสิ่งของสำคัญอย่างหนึ่งขึ้นมาได้

The Lord of the Rings: The Rings of Power

ทางฝั่งชายขอบเมืองมนุษย์ที่มีป้อมระวังภัยของเอลฟ์คอยระวังภัยจากจอมมาร ทหารเอลฟ์ผิวดำนาม เอรอนเดอร์ (รับบทโดย อิสมาเอล ครูซ คอร์โดวา (Ismael Cruz Cordova)) ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังออกเพราะไม่พบสัญญาณของพวกอสูรมานานมาก แต่เขากลับมีพันธะทางใจให้กับมนุษย์หญิงหม้ายลูกติดนาม บรอนวิน (รับบทโดย นาซานิน บอนิอาดี (Nazanin Boniadi)) อยู่ทำให้ตัดใจจากไปยากลำบาก

The Lord of the Rings: The Rings of Power

ทว่าทันใดนั้นก็เกิดอาเพศขึ้นหลายอย่างในหมู่บ้านเป็นสัญญาณถึงการกลับมาของพวกออร์ก ซึ่งเป็นข่าวสำคัญที่ต้องรีบแจ้งเตือนดินแดนอื่น และทำให้ทางชีวิตของเอรอนเดอร์และบรอนวิน รวมถึง ธีโอ ลูกชายของบรอนวินต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

The Lord of the Rings: The Rings of Power

นอกจากนี้เรายังจะได้รู้ว่าฮอบบิตเองก็มีหลายเผ่าพันธุ์ ที่ผ่านมาทั้งโฟรโดและบิลโบล้วนแต่เป็นเผ่าที่ชื่อว่าฟอลโลไฮด์ส ซึ่งอพยพมามิดเดิลเอิร์ธในภายหลัง ส่วนเผ่าฮอบบิตกลุ่มใหญ่ที่มาตั้งรกรากในมิดเดิลเอิร์ธก่อนนั้นคือ ฮาร์ฟุตส์ เราจะได้ติดตามเด็กชาวฮาร์ฟุตนาม โนริ (รับบทโดย มาร์เคลลา คาเวนาจ์ (Markella Kavenagh)) กับ ป็อปปี ที่ราวถอดบุคลิกมาจากโฟรโดกับแซมอย่างไรอย่างนั้น

The Lord of the Rings: The Rings of Power

โนริฝันใฝ่ที่จะออกไปผจญภัยโลกกว้างผิดนิสัยของพวกฮาร์ฟุตส์ที่รวมกลุ่มไม่แตกแถว จนวันหนึ่งโนริก็พบดาวตกลงมาจากฟ้าและทำให้พบกับชายปริศนาผู้ไร้ความทรงจำ (รับบทโดย โจเซฟ มาว์ลี (Joseph Mawle)) ที่จะพาเธอออกไปจากวิถีชีวิตเดิมตลอดกาล

The Lord of the Rings: The Rings of Power

นี่คือเรื่องราวแค่ปูตัวละครแต่ละกลุ่มที่จะพาไปประกอบภาพใหญ่ของเรื่องราว จะเห็นว่ามีตัวละครและความสัมพันธ์เกิดขึ้นมากมาย มีการหยิบใช้จากหนังสือของโทลคีนก็ไม่น้อย แต่มากเท่าไรก็คงไม่พอและเข้าใจได้ถ้าหากแฟนเดนตายของตัววรรณกรรมจะรู้สึกว่าน่าจะมีอันนั้นอันนี้เพิ่มอีก และอาจมีประเด็นเรื่องของตัวละครที่แต่งขึ้นมาใหม่ปรากกตัวเป็นครั้งแรกก็เช่นกันที่คงเป็นประเด็นพูดถึงได้อีกมาก ทว่าเงื่อนไขของเวลาและงบประมาณกับการคุมเรื่องราวให้อยู่มือก็คือปัจจัยที่เข้าใจและเห็นใจทีมสร้างได้เช่นกัน

The Lord of the Rings: The Rings of Power

ดีแล้วแต่ยังติดกั๊ก ชวนคาดหวังในตอนที่เหลือ

แต่ข้อดีคือผู้กำกับ เจ.เอ. บาโยนา (J.A. Bayona) จาก ‘The Impossible’ (2012) และ ‘A Monster Calls’ (2016) ซึ่งเขาเด่นในทางดราม่าและไม่เกรงกลัวงานซีจียาก ๆ มากำกับ 2 ตอนแรกก็รู้จุดสำคัญดีว่า ‘The Lord of the Rings’ มันเป็นเรื่องราวเพื่อปลุกหัวใจแห่งการผจญภัยแบบดั้งเดิม โดยมีธีมคลาสสิกอย่างธรรมชนะอธรรมที่อาจเปรียบเปรยถึงธรรมชาติภายในของมนุษย์ได้บ้าง ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปมีบทสนทนาดราม่าเคร่งเครียดหรือมืดหม่นลึกซึ้งอย่างสมัยนิยม แต่ก็รุ่มรวยในภาษาและความงามตามแบบวรรณกรรม

The Lord of the Rings: The Rings of Power

เขาเลยมุ่งในการสร้างภาพจินตนาการให้ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยดีไซน์ตัวละครหลายเผ่าพันธุ์ที่น่าสนใจ โลกทัศน์ที่ตะลึงพรึงเพริศ อย่างนครแห่งแสงของเอลฟ์หรือเหมืองใต้พิภพของคนแคระ และสัตว์ประหลาดที่น่าจดจำ ไม่ว่าจะยักษ์บนยอดปราการภูเขาน้ำแข็ง ไปจนถึงสัตว์ประหลาดในทะเลอันดำมืด ที่สำคัญและทำได้ดีมากคือโปรดักชันในการนำเสนอนั้นไม่มีเขียม เป็นโปรดักชันระดับหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ชวนเสียดายไม่น้อยที่ไม่ได้รับชมบนจอภาพยนตร์ แถมยังจัดหนักด้วยภาพระยะกลางและระยะไกลแบบไม่กลัวว่าต้องหลอกมุมซีจีอะไรเลย คืออลังการเต็มตามาก พอรวมกับเรื่องราวที่เรียบง่ายคุ้นเคยดี และดนตรีที่เรียบเรียงมาอย่างบรรจง

The Lord of the Rings: The Rings of Power

มันจึงเป็นซีรีส์แฟนตาซีที่ทำหัวใจเราพองโตได้ตลอดเวลาการรับชม และเป็นผลงานที่ไม่มีพิษมีภัยรับชมได้อิ่มเอมทั้งครอบครัวอย่างที่ไม่ค่อยรู้สึกมานานแล้ว

และแม้จะดูไม่ค่อยมีอะไรให้ซับซ้อน แต่ผู้กำกับบาโยนาก็ยังเก่งในการฮุกหมัดหนัก ๆ ด้วยฉากเล็ก ๆ ที่กระแทกใจได้ อย่างที่เขาเคยทำในฉากไดโนเสาร์คอยาวร่ำร้องบนเกาะที่กำลังล่มสลายใน ‘Jurassic World: Fallen Kingdom’ (2018) มาแล้ว เราอาจแอบน้ำตาซึมให้กับฉากบอกรักแบบคนปากแข็งของเอลฟ์ผิวดำหรือฉากปรับความเข้าใจระหว่างเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ได้เลย

The Lord of the Rings: The Rings of Power

แต่แม้จะมีจุดดีหลายอย่างที่เด่นในทางแฟนตาซีดูสนุกได้ทั้งครอบครัว แต่ก็ยังไม่อาจบอกได้ว่าดีสุด ๆ เพราะ 2 ตอนแรกตั้งเป้าในการวางฐานความเข้าใจให้มากที่สุดก่อนจะพาไปอินกับการเดินเรื่องจริงต่อไป ดังนั้นมันเลยมีความกั๊กอยู่มาก โดยเฉพาะฉากแอ็กชันที่เปิดตัวสัตว์ประหลาดแต่ละทีมีได้ลุ้น แต่เอาจริงก็ไม่ได้มีฉากสู้มัน ๆ อลังการให้ตามที่หวังเท่าใดนักอย่างน่าเสียดาย อาจเพราะต้องทำเวลาในการเล่าเรื่องหรือไม่อยากเร่งกราฟความตื่นเต้นให้สูงมากแต่แรก

The Lord of the Rings: The Rings of Power

คงต้องรอดูต่อไปว่าในตอนที่เหลือที่จะเปลี่ยนมือผู้กำกับไปเป็น เวย์น ยิป (Wayne Yip) ที่เคยผ่านงานซีรีส์แนวแฟนตาซีมาหลายเรื่องเช่น ‘The Wheel of Time’ (2021) รวมถึงผู้กำกับหญิง ชาร์ลอตต์ แบรนด์สตรอม (Charlotte Brändström) ที่เคยผ่านงานซีรีส์ ‘The Witcher’ (2019) ซึ่งจะมาทำตอนปิดท้ายของซีซันแรกนั้น ทั้งคู่จะมีแนวทางการเล่าเรื่องแบบไหน ถ้าเลิกกั๊กแล้วใช้พลังของซีจีคุณภาพสูงที่หนุนหลังอยู่ได้เข้มข้น น่าจะได้ใจคอแฟนตาซีที่โตขึ้นด้วยไม่ใช่แค่ขโมยหัวใจพวกเด็ก ๆ อย่างที่เปิดตัวมา

คาดหวังและรอชมต่อไปครับ

The Lord of the Rings: The Rings of Power

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส